Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์27 กุมภาพันธ์ 2549
"ทนง พิทยะ"ช่วย"ชินวัตร"รวย 1.7 หมื่นล้าน บริการหลังการขายรับประกันความถูกต้อง             
 


   
search resources

ทนง พิทยะ




ทนง พิทยะ สร้างบันทึกประวัติศาสตร์อีกครั้งในฐานะขุนคลัง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มหุ้น SHIN กว่า 1.7 หมื่นล้านบาทก่อนขายเทมาเส็ก แถมบริการหลังการขายออกรับถูกต้องทุกกรณี หน่วยงานอย่างสรรพากร-ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ล้วนอยู่ใต้อาณัติแทบทั้งสิ้น อย่างมากเสียค่าปรับแค่ 20 ล้านบาท

การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นครั้งที่ 2 ในชีวิตของทนง พิทยะ โดยครั้งแรกสร้างผลงานที่ทุกคนจะต้องจดจำไปตลอดนั่นคือระหว่าง 21 มิถุนายน-24 ตุลาคม 2540 และเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมพลึกโฉมค่าเงินบาทของไทยที่เปลี่ยนจากระบบคงที่มาเป็นลอยตัว สร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจมากมายและลามมาถึงภาวะเลิกจ้างงานของมนุษย์เงินเดือนในภาคต่าง ๆ

ภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย 2 ทนง พิทยะ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนสลับตำแหน่งกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนเมื่อ 2 สิงหาคม 2548 นับเป็นการนั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงคลังเป็นครั้งที่ 2 แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในระยะแรกแต่เหตุการณ์ในอดีตไม่ได้บั่นทอนกำลังใจของรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันแม้แต่น้อย

โฆษกตระกูลชินอีกคน

สิ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับการเข้ามานั่งเก้าอี้ขุนคลังครั้งที่ 2 กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของประเทศไทย จากกรณีการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น เมื่อ 23 มกราคม 2549 มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาทให้กองทุนจากสิงคโปร์ ไม่เสียภาษีสักบาท โดยได้รับการยกเว้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาตามประกาศกระทรวงฉบับที่ 126 ที่ออกตามประมวลรัษฎากร (23)

แม้กระทั่งความไม่ชอบมาพากล จากรายการโอนหุ้นชิน คอร์ปในบริษัท Ample Rich Investment Ltd. ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างพานทองแท้ และพิณทองทา ชินวัตร ลูกชายและลูกสาวนายกรัฐมนตรี ที่ซื้อขายกันที่ราคา 1 บาทเมื่อ 20 มกราคมก่อนวันขายจริงเพียง 1 วัน ทนงย้ำว่าถูกต้องไม่มีอะไรผิดปกติ

กระทั่งการตอบโต้กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านว่าบริษัท Ample Rich มีสถานที่ตั้งอยู่จริง และอยู่ในเกาะบริติช เวอร์จิ้น เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาทำหน้าที่ยืนยันความบริสุทธิให้กับหัวหน้ารัฐบาลทุกขั้นตอน และกระทำทันทีหลังจากถูกสังคมตั้งคำถาม ก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาจะตัดสินต่างไปจากคำยืนยันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปได้อย่างไร

คุมสรรพากร-ก.ล.ต.-ตลท.

หน่วยงานแรกภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรง และเป็นจุดใหญ่ของปมสงสัยเรื่องการซื้อขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์แต่กลับไม่เสียภาษีสักบาทนั้น ศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ยกข้อกฎหมายต่าง ๆ ออกมาชี้แจงต่อประชาชน แต่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ และกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในวงกว้าง และก่อให้เกิดการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึง 11 กุมภาพันธ์และ 26 กุมภาพันธ์น่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมมากกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ประกาศเข้าร่วมชุมนุมเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก

กรณีการซื้อขายหุ้นชิน คอร์ป ผ่าน Ample Rich อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เบื้องต้นมีแนวโน้มจะมีความผิดเกี่ยวกับการรายงานการถือหุ้น ซึ่งจะต้องมีการลงโทษโดยวิธีการเปรียบเทียบปรับ และที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครต้องโทษถึงจำคุก

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของ ก.ล.ต.จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงการทำงาน แต่คนในก.ล.ต.ก็ทราบดีว่าตำแหน่งดังกล่าวมีบทบาทสำคัญ แถมคนที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการใน ก.ล.ต.เองก็มาจากองค์กรของรัฐ บางท่านเกี่ยวพันกับรัฐบาลชุดนี้

อีกหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) แม้จะดูว่าไกลจากอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่การเยี่ยมตลาดหุ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังก็เป็นเครื่องยืนยันได้ประการหนึ่งว่า ตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องฟังกระทรวงการคลังเช่นกัน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ก็มีคนใกล้ชิดของนายกรัฐมนตรีเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย บางคนเพิ่งได้รับตำแหน่งให้ดูแลหน่วยงานภาครัฐ

ประเด็นเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะกรณีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขายหุ้น ADVANC ออกมาอย่างต่อเนื่องได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นการขายตามปกติหลังจากได้รับหุ้นจากการจัดสรรให้พนักงานและกรรมการ เช่นเดียวกับการขายหุ้นชิน คอร์ป ของ Ample Rich ที่เดิมแจ้งว่าขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แต่สุดท้ายก็พลิกมาเป็นซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์

จะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีการขายหุ้นชิน คอร์ป ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้อำนาจของทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมทั้งสิ้น ดังนั้นดีลประวัติศาสตร์จากการขายชิน คอร์ป จนเกิดกระแสสังคมทั่วบ้านทั่วเมือง ทนง พิทยะ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะตอบได้ชัดเจนที่สุดว่าดีลนี้เป็นดีลที่ชอบธรรมหรือไม่ และถ้าการขายครั้งนี้จะมีอะไรผิดพลาดไปบ้างอย่างมากก็แค่เสียเงินค่าปรับแค่ 20 ล้านบาท ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับ 7.3 หมื่นล้านบาท

เจ้านาย-ลูกน้อง

ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนธันวาคม 2548 ทนง พิทยะ ได้ออกกล่าวในเชิงตำหนิการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นในงานสัมมนาวันตลาดนัดนักลงทุนไทย(3ธ.ค.2548)ว่า อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E RATIO) ของตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่ควรจะเป็น เพราะเชื่อว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยนั้นดีกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แข็งแกร่งกว่ามาเลเซีย แต่ทำไมพี/อี ของตลาดหุ้นยังต่ำกว่าประเทศเหล่านั้น เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นต้องตอบ โดยเฉพาะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม

ช่วงดังกล่าวราคาหุ้นชิน คอร์ป (SHIN) ปิดตลาด(2 ธ.ค.2548) ราคา 37.75 บาท ที่ดัชนี 659.91 จุด เมื่อเปิดตลาดวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ตลาดหุ้นไทยก็พุ่งทะยานด้วยแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศอย่างหนาตา ต่อเนื่องข้ามปีถึงมกราคม 2549 กระทั่ง 23 มกราคม 2549 ดัชนีปิดที่ 750.28 จุด หุ้น SHIN ปิดที่ 48.25 บาท ขณะที่ราคาที่กลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ รับซื้อที่ 49.25 บาท

ไม่มีใครจะคิดว่าความปรารถนาดีของขุนคลังแค่ 30 กว่าวัน จะช่วยให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 90.37 จุด คิดเป็น 13.69% แถมราคาหุ้น SHIN เพิ่มขึ้น 10.5 บาท ก่อนที่จะขายได้ที่ 49.25 บาท ช่วยให้ผู้ถือหุ้นที่ขายไม่ว่าจะเป็นพานทองแท้ พิณทองทา ชินวัตรและบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กำไรเพิ่มกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

พร้อมด้วยบริการหลังการขายที่ออกมาการันตีว่าดีลการขายครั้งนี้ถูกต้องด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าทางด้านภาษีหรือที่มาที่ไปของ Ample Rich ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเมื่อครั้งที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ (ก่อนเป็นชิน คอร์ปอเรชั่น) ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนาย กระทั่งเมื่อเป็นผู้บริหารในธนาคารทหารไทยแล้วแบงก์แห่งนี้มีปัญหาเรื่องเพิ่มทุน กลุ่มชินวัตรก็เข้าไปช่วยซื้อหุ้น ที่มีชื่อของพานทองแท้ ชินวัตร ติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะขายออกไป

จึงไม่แน่ใจว่าความช่วยเหลือเกื้อกูลที่เคยมีกันมา จะส่งผลมาถึงปัจจุบันหรือไม่ ที่ท่านหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและอีกท่านหนึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us