"ในอดีตเราเคยผ่านเหตุการณ์ช่วงปี'23 และปี 27-28 แต่มีผลกระทบต่อรายได้ร.พ.เอกชนน้อยมาก
เพียงแค่โตน้อยลงแทนที่จะโต 15% ก็เป็นเพียง 5-6% แต่ปีนี้หนักมากเฉลี่ยแล้วคิดว่ารายได้ของร.พ.จะลดลงประมาณ
15-20% และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น" น.พ.บุญ วนาสิน เจ้าของร.พ.ในเครือโรงพยาบาลธนบุรี
กล่าว
คำกล่าวของหมอบุญ หรือ กูรูทางเศรษฐกิจ ที่ไกรฤทธิ์ บุญเกียรติ นักการตลาดเลื่องชื่อเคยตั้งฉายาให้สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ใช่ธรรมดาจริงๆ
ก็ขนาด ร.พ.เอกชนที่มีลูกค้าเป็นคนรวยมีเงินถุงเงินถังยังกระทบก็แล้วกัน
นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ Mini MBA in Health ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งจัดอบรมติดต่อกันมาหลายรุ่นแล้ว แต่รุ่นที่ 15 ที่จะเปิดสอนนี้พิเศษตรงที่บนแผ่นพับแนะนำโครงการระบุว่า
"เน้นกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว"
เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมกำลังซื้อของคนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะเดียวกันพฤติกรรมของคนกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อป่วยก็จะเข้าร.พ.เอกชนชั้น
1 ก็เปลี่ยนไปเป็นร.พ.เอกชนชั้น 2 และจาก ร.พ.ของรัฐ ในที่สุดก็จะหันมาซื้อยามาเองมากขึ้น
"เราต้องมาประเมินสถานการณ์กันใหม่" รศ.น.พ.พิชิต สุวรรณประกร
รองคณบดีแพทยศาสตร์จุฬาฯ กล่าวในฐานะเจ้าของโครงการฯ
คำกล่าวนั้นเสมือนให้ ร.พ.เอกชนต่างๆ หันกลับมาทบทวนสถานการณ์ของตนเองอย่างจริงจัง
และหาทางฝ่าไปให้ได้
อย่างแรกคือต้องคงค่ารักษาพยาบาลหรือดีกว่านั้นต้องลดราคา หรือพยายามช่วยคนไข้ลดค่าใช้จ่าย
และรักษาให้เขาหายเร็วที่สุด นี่เป็นข้อสรุปข้างต้นที่ได้จากวิทยากรที่ทางโครงการฯ
เชิญมาบรรยายเรียกน้ำย่อยก่อนที่จะมีการอบรมจริงๆ
โดยวิธีการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องมาควบคุมค่าใช้จ่ายกันขนานใหญ่ เรียกว่าอาจจะถึงการผ่าตัดหรือรีเอ็นจิเนียริ่ง
ร.พ.กันเลยทีเดียว
ร.พ.ล้น-คนไข้ประหยัดขึ้น
ต้องรู้และต้องปรับ
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นการประเมินสถานการณ์ ปัจจุบันดูจะยังเป็นสิ่งจำเป็น
ทางโครงการฯ จึงเชิญ พิศาล มโนลีหกุล เอ็มดี บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย มาวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อให้เห็นความจำเป็นที่ร.พ.เอกชนต้องส่งคนมาอบรมมากขึ้น
ปัจจุบันจะเห็นว่า ร.พ.เอกชนในกรุงเทพฯ ล้นเกินความต้องการ อัตราการเข้าพักอยู่ในระดับ
46% เรียกว่าไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นถ้าใครคิดจะเปิดร.พ.เอกชนในขณะนี้สู้เอาเงินไปฝากไว้กับแบงก์ยังดีเสียกว่า
"เพราะการสร้างร.พ.นั้นถ้าต้องไปกู้เงินแบงก์มาสร้าง ในภาวะปกติแบงก์จะให้เรตติ้งที่
B หรือ B+ แต่โดยภาวะเศรษฐกิจและ ร.พ.เอกชนลดเหลือเพียง C หรือ C+ เท่านั้น
จึงเป็นการยากที่จะได้เงินกู้มา" พิศาล กล่าว
ในความเห็นของวิทยากร ขณะนี้หมดยุคแล้วสำหรับการสร้าง ร.พ.ขนาด 400 เตียง
เนื่องจากการหวังจะให้มีจุดคุ้มทุนภายใน 3 ปีนั้น ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของธุรกิจ
ร.พ.เพราะโดยปกติอัตราเข้าพักปีแรกจะตกประมาณ 50-60 เตียงเท่านั้น ปีที่สอง
ถ้าดีจริงๆ จะขึ้นมาประมาณ 100 เตียงเศษ และปีที่สามจะขึ้นมาที่ 150 เตียง
"ในการทำร.พ.ไม่ใช่ว่าเปิดแล้วคนไข้จะไหลเข้ามาทันที มันขึ้นกับความสามารถและชื่อเสียงของหมอ
รวมทั้งขึ้นกับคนไข้และญาติคนไข้ที่จะไปบอกต่อ ดังนั้น กว่าจะได้จุดที่มีคนไข้
30 รายต่อวันต่อหมอ 1 คนนั้น หมอแต่ละคนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไป"
หมอบุญกล่าว
แต่นอกจากการบอกปากต่อปากและรอให้คนไข้มาหาหมอก็ยังไม่พอ ร.พ.ต้องทำการตลาดเพิ่มโดยแพทย์และพยาบาลต้องเดินเข้าไปหาคนไข้หรือลูกค้ามากขึ้น
อาทิ การทำ Home care ที่ไปตรวจสุขภาพหรือรักษาคนไข้ที่บ้านสำหรับบริการคนไข้ที่ไม่สะดวกที่จะมาร.พ.
ส่วนความคิดของหมอบุญต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เขาให้คำจกัดความว่า "ร.พ.อยู่ในภาวะสงคราม"
จึงต้องมีการเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายสำหรับปีครึ่งหรือ 3 ปี แต่ก็ให้ความหวังในมุมมมองของผู้บริหารว่า
"ในภาวะวิกฤติย่อมมีของดีอยู่ด้วย...ต้องมองให้เห็น"
"การบริหารร.พ.ต้นทุนที่แพงที่สุดคือค่าแรง ซึ่งมี 2 จุดใหญ่ คือ
ค่าบริการงานพยาบาลทั่วไป และค่าแพทย์ เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่ดีในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ที่จะต่อรองกับแพทย์เพราะเขาไม่มีทางเลือก"
หมอบุญกล่าว
โดยปกติเรื่องค่าแรง ถ้าสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับ 40% ของรายได้ ร.พ.ก็จะมีกำไร
แต่ร.พ.ใหม่รายจ่ายส่วนนี้จะตกประมาณ 50% ซึ่งถือว่าขาดทุน เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่น
คือ ค่ายา 20% ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ขึ้นกับแต่ละ ร.พ. อาจจะ 5% หรือ 10% และส่วนอุปกรณ์ต่างๆ
ไม่ต่ำกว่า 10%
"เพราะฉะนั้นเราแทบจะไม่ได้กำไรเลยในการบริหาร ร.พ.ถ้าเราควบคุมค่าแรงไม่อยู่
บางแห่งค่าแพทย์อย่างเดียวขึ้นไปถึง 25% ก็มี ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเกิน 15% ของรายได้ทั้งหมด"
หมอบุญกล่าว
ขณะเดียวกันต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ อาทิ การซักผ้า X-Ray หรือแม้แต่การจ้างพยาบาลอยู่เวรเหล่านี้สามารถร่วมมือกับ
ร.พ.ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ใครทำได้ถูกกว่าก็รับจ้างทำไปเลย หรือ แชร์บุคลากรในงานบางงาน
เป็นต้น
อนึ่ง ขณะนี้ปัญหาอีกอย่างที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นแนวโน้มทั่วโลกคือจำนวนคนไข้ในจะลดลงโดยธรรมชาติ
ขณะเดียวกันคนไข้นอกหรือ out-patient จะเพิ่มขึ้น ยิ่งในภาวะเช่นนี้แล้วจะยิ่งเปลี่ยนแปลงมากกว่าปกติ
เหตุผลหนึ่งคือคนประหยัดมากขึ้น ดังนั้นการบริหารคนไข้ภายในจึงเป็นสิ่งสำคัญ
"วิธีการคือ คนไข้ออกบ่าย 3 โมง คุณก็ไปเก็บเขาวันหนึ่งหรือครึ่งวัน
แล้วพยายามรับให้ได้ตอน 2 ทุ่มเท่ากับห้องหนึ่งเราได้ 2 วัน แทนที่จะได้
1 วัน" หมอบุญกล่าว และเสริมแนวคิดในการฝ่าวิกฤติว่า
"แน่นอนพยาบาลจะเหนื่อยขึ้น แต่ตอนนี้ผมบอกพนักงานผมทุกคนว่าคุณให้ผม
100% ผมไม่พอใจ แล้วในภาวะอย่างนี้ ผมต้องการจากคุณ 120% ต้องบอกอย่างนี้
จะ motivate เขาอย่างไรไม่ว่ากันแต่ต้องบอกว่า comtiment ของพนักงานให้กับบริษัท
ตอนนี้ไม่ใช่ 100% อย่าว่าแต่ 80% เลย คุณต้องทำให้ได้ 8 ชม. แต่เราคาดหวังกับคุณที่
10 ชม. แต่ได้รับเงินเดือนแค่ 8 ชม."
ร.พ.ก็ต้องรู้จักบริหารเงินมากขึ้น
ในการบริหาร ร.พ.เอกชนแนวสมัยใหม่ความรู้ทางด้านการบริหารเงิน ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ
เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญเรื่องสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
จนหลายรายไม่สามารถแม้แต่จะจ่ายดอกเบี้ย
วิธีการบริหารเงินที่น่าจะเหมาะกับธุรกิจ ร.พ.เอกชน มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
อาทิ การเพิ่มทุน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ทำยากที่สุด เพราะหุ้น ร.พ.ตอนนี้ผลตอบแทนไม่ดีนัก,
การทำ refinance ซึ่งขึ้นกับความสัมพันธ์ที่มีกับแบงก์ โดยต้องทำให้แบงก์มั่นใจว่ามีความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ได้
นอกจากนี้ ยังมีวิธีรวมกิจการ (Merging) กับรายอื่นที่มีความแข็งแกร่งกว่า
เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งใกล้เคียงกับการเปิดทางให้รายอื่นเข้ามาร่วมทุนถือหุ้น
(Venture Capital)
โดยสองวิธีหลังนี้ ร.พ. ต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่
เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนรายใหม่ ในขณะเดียวกันต้องมีความชัดเจนในเรื่องการบริหารงานว่ากลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาจะอยู่ในฐานะใด
และต้องการมีอำนาจในการบริหารและตัดสินใจมากน้อยเพียงใดด้วย
หมอบุญให้ตัวอย่างจากเครือ ร.พ.ธนบุรีของเขาซึ่งมีหนี้อยู่ประมาณ 1,200
ล้านบาทว่า ต้องทำ refinance เกือบหมด โดยกำลังเจรจาทั้งในลักษณะร่วมกิจการและเปิดทางให้เข้ามาร่วมถือหุ้น
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หมอบุญกล่าวว่า มีการ firm offer มาแล้ว
3 ราย แต่อยู่ใน
ระหว่างการทำ due diligent ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสรุปได้
"ผมในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ถ้าหุ้นเรา dilute ไป 50% ก็ยอม ขอให้บริษัทอยู่รอดก็พอแล้ว
หรือถ้าเขาอยากบริหารก็ยกให้เขาเลย เพราะอายุเราเท่านี้แล้ว ถ้ามีคนทำได้ดีกว่า
แล้วราคาหุ้นเราสูงขึ้น เรานอนกินเงินปันผลอย่างเดียวก็พอแล้ว เรื่องอะไรเราจะทำให้เหนื่อย"
หมอบุญกล่าว
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและกำลังดิ้นรนหาทางรอด
ซึ่งจะเห็นว่านอกจากการปรับองค์กรและลดค่าใช้จ่ายแล้ว ความร่วมมือของผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมจากสถาบันการศึกษาในสายวิชาชีพ
การร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายต่างๆ หรืออาจเลยไปถึงการรวมกิจการเพื่อความอยู่รอดเหล่านี้อาจจะเป็นทางออกของปัญหาในขณะนี้ก็เป็นได้
ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด ธุรกิจ ร.พ.เอกชนไม่ใช่กลุ่มแรกและคงไม่ใช่กลุ่มสุดท้าย
ที่โดนพิษเศรษฐกิจซบเล่นงาน ก็ต้องมาดูกันต่อไปใครจะเป็นรายต่อไปและจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร