|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นักวิชาการรุมจวก"ทักษิณ " บริหารภายใต้ Conflict of interest ใช้อำนาจรัฐออกกฎหมายเอื้อธุรกิจส่วนตัว และกลุ่มพวกพ้อง แต่ละเลยกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะกม.เกี่ยวกับการแข่งขันเสรี อุ้มธุรกิจผูกขาด แถมเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ชำแหละกฎมายสำคัญที่แก้เพื่อกลุ่มก๊วน จี้หมดเวลานั่งนายกฯ เหตุขาดจริยธรรม!
สารพัดม๊อบขับไล่รัฐบาลทักษิณ ต่างดาหน้ากันออกมาแสดงพลังซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออกไป เนื่องจากรัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของความเป็นผู้นำประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากที่สุดโดยเฉพาะที่ทำให้ทุกคนที่ออกมาขับไล่ทนไม่ได้ก็คือการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนตัวเอง และพวกพ้อง!
ครอบงำการเมือง-ดันกม.เอื้อธุรกิจ
ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้มีความชัดเจนแล้วว่ามีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนตัวเองและพวกพ้อง ทั้งภาคการเมือง ภาคธุรกิจ
ภาคการเมือง มีลักษณะการอาศัยพรรคไทยรักไทยในการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจต่าง ๆ เนื่องจากรัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองเดียว ถือเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งอาศัยช่องว่างของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเรื่องการทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจ
"นี่คืออำนาจรัฐ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้ในการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัทในเครือกลุ่มชินวัตรทั้งทางตรงและทางอ้อม"
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ อาศัยช่องว่างของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ใน 2 มาตรา ในเรื่องการทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ทางการเมืองกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ด้วยคือ
มาตรา 110 ที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่รับสัมปทานจากรัฐหรือไม่รับประโยชน์ใดๆจากรัฐ
มาตรา 209 ที่ห้ามมิให้รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือห้ามไม่ให้รัฐมนตรีกระทำการใดอันมีลักษณะเข้าไปบริหารหรือจัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
"ทั้ง 2 มาตรามีช่องว่าง เพราะห้ามเฉพาะตัวรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ห้ามบุตร และภรรยา ด้วยเหตุนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงโอนหุ้นและกิจการทั้งหลายให้ภรรยาและบุตร ทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง แต่ในความเป็นจริง พ.ต.ท.ทักษิณ คือหัวหน้าครอบครัวของตระกูลชินวัตร ที่มีบริษัทในกลุ่มเครือชินวัตรมากมายเกี่ยวโยงกับการได้รับสัมปทานต่าง ๆจากรัฐ"
ภาคธุรกิจ กลุ่มชินวัตรมีบริษัทในเครือที่สำคัญคือ บริษัทชินคอร์ปเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจที่จำแนกเป็นสายธุรกิจได้ 4 สาย และมีบริษัทสำคัญในแต่ละสายธุรกิจ คือ สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย ได้แก่บริษัทแอดวานว์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
สายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท ชินแชทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) สายธุรกิจสื่อและโฆษณา บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และสายธุรกิจอิเลคทรอนิกส์และธุรกิจอื่น ๆ ได้แก่ บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด(เดิมชื่อชินวัตร ไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด) ทำธุรกิจพิม์และเผยแพร่สมุดโทรศัพท์หน้าขาวและเหลือง,บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค
ที่ผ่านมามีความชัดเจนแล้วว่าในการเข้าสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แท้จริงแล้วคือการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอาศัยอำนาจในการออกกฎหมาย ในการตราพระราชบัญญัติ การออกพระราชกำหนด การออกพระราชกฤษฎีกา มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) มติคณะกรรมการต่าง ๆ รวมถึงอาศัยคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มตนเอง ซึ่งมีทั้งการใช้อำนาจรัฐในประเทศและในการทำข้อตกลงกับต่างประเทศ
ชี้ชัดๆ แก้กฎหมาย.เอื้อกลุ่มชิน
สำหรับการใช้อำนาจรัฐภายในประเทศนั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่านายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อนดังนี้
21 ม.ค.46 ครม.มีมติออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรสามิต พ.ศ.2537 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับผู้รับสัมปทานโทรคมนาคม แทนการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐ ทำให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้รับผลประโยชน์จากการแปรค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต
19 พ.ย.46 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีมติส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียม "ไอพีสตาร์" ของบริษัทชินแซทฯ โดยให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 8 ปี ทำให้ชินแซทฯ ได้รับการยกเว้นภาษีครั้งนี้สูงถึง 16,459 ล้านบาท
14 ธ.ค.46 กระทรวงคมนาคมให้สิทธิการใช้สนามบินแก่สายการบินราคาถูกและเลิกการคุมค่าโดยสารขั้นต่ำ 3.8 บาทต่อกิโลเมตร ทำให้บริษัทไทยแอร์เอเชียได้ผลประโยชน์ต่อนโยบายนี้
30 ม.ค. 47 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ปรับลดค่าสัมปทานกับไอทีวี เป็นเงิน 20 ล้านบาท พร้อมมีคำสั่งให้ สปน.ปรับลดค่าสัมปทานให้ไอทีวี เหลือปีละ 230 ล้านบาท ทำให้ไอทีวีได้ประโยชน์ไปไม่น้อยกว่า 17,000 ล้านบาท
กลางปี 2547 ครม.มีมติอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้รัฐบาลพม่า เพื่อมาทำสัญญาขอใช้บริษัทดาวเทียมไทยคมกับ ชินแซทฯ ซึ่งนอกจากรัฐบาลไทยต้องค้ำประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ให้กับพม่าซึ่งถือเป็นการโอนภาระของ ชินแซทฯ ในฐานะคู่สัญญาโดยตรงมาให้กระทรวงการคลังด้วย
20 ม.ค.2549 ประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 โดยแก้ไขให้คนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ซึ่งเดิมระบุว่าให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% เท่านั้น อีกทั้งมีการตัดเงื่อนไขเรื่องสัดส่วนกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ออกทั้งหมด โดยกม.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ม.ค. 2549 ก่อนที่ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์จะขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ของสิงคโปร์เพียงแค่ 2 วัน คือวันที่ 23 ม.ค.49
นี่คือการแก้กฎหมายในประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มชินวัตรที่เห็นได้เด่นชัดเท่านั้น ไม่รวมกฎหมายลูกอื่น ๆ ที่ออกมาเป็นดอกเห็ด และไม่รวมการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มพวกพ้อง
FTA เอื้อนายทุน-ฝังเกษตรกร
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ใช้อำนาจรัฐในการทำข้อตกลงกับต่างประเทศที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มด้วย โดยเฉพาะกรณีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA)
โดยในการทำ FTA ไทย-จีน มีกลุ่มทุนที่ได้ผลประโยชน์จากที่ไทยต้องลดภาษีผักและผลไม้ให้เหลือ 0% คือกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ที่เชี่ยวชาญด้านตลาดจีน ส่วนกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบทางลบทั้ง เกษตรที่ปลูกหอม กระเทียม ผัก และผลไม้เมืองหนาว
การทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ การทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ มีสาระสำคัญให้ไทยลดภาษีเนื้อและผลิตภัณฑ์นม ขณะที่ออสเตรเลียเปิดรับการลงทุนคมนาคม และลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ให้ไทย ทำให้กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก (ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ) กลุ่มธรกิจนำเข้าสินแร่ กลุ่มบริษัทนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม กลุ่มธุรกิจดาวเทียม และบริษัทโทรคมนาคมฯ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคนมและโคเนื้อได้รับผลกระทบ
คุมองค์กรอิสระเบ็ดเสร็จ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีการขยายอำนาจเข้าไปครอบคลุมวุฒิสภา และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้อำนาจรัฐในการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ
"สภาพการณ์ทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ คือผู้ที่มีความขัดแย้งในทางผลประโยชน์ระหว่าง ความเป็นผู้นำครอบครัวตระกูลชินวัตร กับการเป็นนายกของประเทศไทย ความขัดแย้งดังกล่าวได้ทำลายความชอบธรรมในฐานะที่เป็นนายกของประเทศไทย คงเหลือแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวตระกูลชินวัตรเท่านั้น"
ปิดเส้นทางแข่งขันโทรคมนาคม
นิพนธ์ พัวพงศธร นักวิจัยอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อธุรกิจแล้ว กฎหมายหลายตัวที่ควรจะมีการแก้ไข แต่ก็ไม่มีการแก้ไข หรือออกกฎระเบียบเพิ่ม เนื่องจากจะเป็นการขัดขวางการทำธุรกิจส่วนตัวด้วย ประกอบด้วย การไม่เปิดเสรีโทรคมนาคมในการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA และไม่แก้กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่มีการแก้กฎหมายเปิดเสรีก่อนขายชินคอร์ปขึ้นภายหลัง ถือเป็นการเอื้อประโยชน์กับเอไอเอส ดีพีซี และชินแซท และบริษัทอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกันในการปกป้องธุรกิจจากการแข่งขันจากต่างประเทศ และสามารถทำกำไรได้ในระดับสูงต่อไป
นอกจากนี้ยังไม่ออกกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ทำให้บริษัทเอไอเอส ชินแซทฯ ตลอดจนธุรกิจผูกขาดอื่น ๆ มีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันและควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มอำนาจทางตลาดได้โดยไม่ขัดกฎหมายด้วย
บ.ข้ามชาติไทยขอแจมสิทธิพิเศษ WTO
จักรชัย โฉมทองดี กลุ่มเอฟทีเอวอซ์ท (FTA WATCH) กล่าวว่าในการเจรจา FTA ของรัฐบาลนั้น ขอให้ดูประสบการณ์จากข้อตกลง WTO เรื่องกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ ที่เปิดกลไกให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และไม่ต้องทำตามเงื่อนไขของกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าเอื้อประโยชน์เฉพาะทุนต่างชาติ แต่เมื่อทุนในชาติไทยได้กลายเป็นทุนข้ามชาติเช่นกรณีชินคอร์ปแล้ว ก็เลยเห็นได้ว่าต่อไปกลุ่มทุนข้ามชาตินี้จะได้ประโยชน์ในข้อตกลง WTO ไปอย่างเต็ม ๆ ซึ่งน่าเป็นห่วงมากว่ารัฐบาลไทยในอนาคตจะไม่มีสิทธิควบคุมดูแลในด้านการลงทุนทั้งหมด ตั้งแต่ด้านแรงงาน ไปจนถึงเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผูกแขนผูกขาตัวเอง
ยุคแห่งการฝ่าฝืนกม.-ทำลายความมั่นคงชาติ
นอกจากนายกรัฐมนตรีจะถูกกังขาว่าได้ใช้อำนาจรัฐในการออกกฎหมายเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ทางธุรกิจกลุ่มชินวัตรแล้ว เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือนายกฯ ยังมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายโดยชัดแจ้งด้วย โดยเฉพาะการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์
โดยกิจการโทรคมนาคมถือ เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ เพราะควบคุมการติดต่อสื่อสารของทุกคนในชาติโดยเสรี และจะต้องรักษาไว้เป็นสมบัติชาติไม่ให้รัฐบาลต่างประเทศมาครอบงำ ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีไม่ควรนำธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคมไปขายให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะ สิงคโปร์ ที่มีนโยบายที่ชัดเจนมาตลอดว่าจะเป็นคู่แข่งกับประเทศไทยในการผู้นำ และเป็นฮับต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งสื่อมวลชนของสิงคโปร์ก็มีการลงข่าวที่เป็นข่าวร้ายของประเทศไทยตลอด ทั้งสถานการณ์การเดินขบวน และไข้หวัดนก ถือเป็นการร่วมมือกันของรัฐบาลและสื่อมวลชนในการดันประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำภูมิภาค
"กลุ่มผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมต้องรู้ดีว่าการทำ Due Diligence คือการตรวจสอบทรัพย์สิน หนี้สิน สถานะของบริษัท ฯลฯ ผู้ซื้อจะได้สิทธิล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดส่งดาวเทียมทุกดวง รวมทั้งผังโคจรดาวเทียมของประเทศ สถานีภาคพื้นดิน ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานของการสื่อสารของไทยไปทั้งหมด"
จับตากทช.ไฟเขียว 3G-เทมาเส็กรวย!
แหล่งข่าวในแวดวงโทรคมนาคม กล่าวว่า ประเด็นที่น่าจับตามองคือประเด็นการออกใบอนุญาติให้ใช้ระบบ 3G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโทรศัพท์มือถือ ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช.กำลังจะอนุมัติเร็ว ๆ นี้ โดยคณะกรรมการกทช.ชุดนี้กล่าวกันว่าเป็นคนที่ได้รับไฟเขียวจากบ้านจันทร์ส่องหล้า และทันทีที่ประกาศใช้ บริษัทเอไอเอส จะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมกับ 15 ล้านเลขหมายที่ได้รับสัมปทานทันที ซึ่งหากเก็บเลขหมายละ 100 บาท ก็จะทำให้มีรายได้ 1,500 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 10 ปี จะมีรายได้ 15,000 ล้านบาท
"เชื่อว่าจุดนี้ทำให้เทมาเส็กตัดสินใจซื้อหุ้นชินคอร์ปได้ง่ายขึ้น เพราะรายได้ที่เขาจะได้รับจากคนไทยใน 10 ปี สูงถึง 15,000 ล้านบาท"
อย่างไรก็ดีพฤติกรรมในการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกบรรดานักวิชาการ กลุ่มพลังต่าง ๆ ที่ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า ออกมาเปิดโปงและเคลื่อนไหวที่จะขับไล่ให้ นายกรัฐมนตรี ประกาศ "ลาออก"....เพราะพวกเขาเชื่อว่า นายกฯทักษิณ หมดความชอบธรรมหากปล่อยให้บริหารประเทศต่อไป ผู้ที่จะร่ำรวยและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการเป็นผู้นำ ก็คงมีแต่คนในตระกูลและพวกพ้องเท่านั้น
|
|
|
|
|