ดูเหมือนว่าเทเลคอมเอเชีย (ทีเอ) จะเป็นธุรกิจแห่งหนึ่งของไทย ที่เดินทางถูกในแง่การปรับโครงสร้างกิจการ
และพลิกฟื้นธุรกิจให้ผ่านพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้สำเร็จ เดือนกันยายน ที่ผ่านมา
ทีเอนำดอกผลจากการขายหุ้นของบริษัทในเครือไปชำระหนี้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ จากยอดหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐ
ที่มีอยู่เดิม 841 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้โดยมีเวริซัน คอมมิวนิเคชันส์ (Verizon
Communications) ซึ่งเป็นผู้ร่วมธุรกิจรายหนึ่งเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการลดต้นทุน และเจรจาปรับวงเงินกู้
เหตุ ที่ทีเอทำได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เพราะตลาดโทรศัพท์ในประเทศ ทั้งแบบติดตั้ง และแบบไร้สายมีอัตราการเติบโตสูงมาก
รายได้จากธุรกิจทั้งสองส่วนในช่วงไตรมาส ที่สองของปีนี้อยู่ ที่ 114 ล้านดอลลาร์
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 36% "เรากำลังไปได้ดี" จอห์น โดเฮอร์ตี (John
Doherty) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเงินกล่าวสรุป
แต่ปัญหาของทีเอก็คือ ตลาดหุ้นไทยไม่ได้สนใจผลประกอบการที่ดีขึ้น เดือนมกราคม ที่ผ่านมา
ราคาหุ้นของทีเออยู่ ที่ 1.86 ดอลลาร์ เพิ่มจากระดับ 15 เซ็นต์ในช่วง ที่เศรษฐกิจดิ่งลงถึงขีดสุดเมื่อเดือนกันยายน
1998 แต่ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัทก็กลับดิ่งลงไปอีกถึงกว่า
60% โดเฮอร์ตีโทษว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สภาวะจิตใจ ที่ย่ำแย่ของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
ซึ่งยังคงกังวลกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับทีเอ ต้องนับว่าเป็นเรื่องไม่ลงตัวเอาเสียเลย เพราะในขณะที่ธุรกิจของบริษัทกำลังดีวันดีคืน
ตามแนวทางการปรับโครงสร้างกิจการ ประกอบกับสัญญาณอื่น เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่คาดว่าจะอยู่ ที่
5% ในปีนี้ ยอดส่งออก ที่อาจเพิ่มขึ้นราว 20% จนคาดกันว่าสภาพเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปีหน้า
แต่ปรากฏว่าตลาดเงิน และตลาดทุนกลับยังคงทรุดดิ่ง โดยนับจากเดือนมกราคมเป็นต้นมา
ค่าเงินบาทลดลงจาก 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอาจจะอ่อนตัวลงอีกราว
5% ในปีนี้ ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลง 44% นับจากต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยติดอันดับประเทศ ที่มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศ ที่มีอนาคตทางธุรกิจ
คำถาม ที่ตามมาก็คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นไปอย่างสุ่มเสี่ยงหรือ?
คำตอบคือ ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะในขณะที่ประเทศเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมียอดส่งออกราว
60% จากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงมักมาจากบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก
อย่างเช่น ฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ไทยยูเนียน โฟรเซ็น โปรดักส์ และเคอีซี
อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยแม้ว่าหุ้นกิจการเหล่านี้จะยังไม่มีราคา อีกทั้งการระดมสินเชื่อจากธนาคารเป็นเรื่องยากเย็น
แต่หลายแห่งก็สามารถระดมทุนเพิ่มได้จากตลาดพันธบัตรในประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ที่สูงขึ้น
ความผิดหวังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ ที่เชื่องช้าอืดอาด อีกทั้งความผันผวนทางการเมือง
ที่ยังต้องรอผลการเลือกตั้งปลายปี ทั้งหมดนี้ทำให้บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยมองว่า
"ประเทศกำลังอยู่ในภาวะกดดันทั้งทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง"
แม้ว่าจะมีผู้คาดการณ์ว่ารัฐบาลชวน หลีกภัยจะถึงบทยุติหลังการเลือกตั้งใหม่
โดยมีผู้นำวงการโทรคมนาคมอย่างทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย สวมตำแหน่งแทน
แต่นักลงทุนก็ไม่สู้จะพอใจกับข้อเสนอของทักษิณ ที่จะเข้าไปแบกรับภาระจากภาคธุรกิจธนาคาร ซึ่งยังชะงักงันจากยอดหนี้ ที่ไม่ก่อรายได้
(เอ็นพีแอล) ถึง 37,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 31% ของเงินกู้ทั้งหมด
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบาย ที่จะซื้อคืนหนี้เสียจากธนาคาร เฉพาะส่วน ที่ได้แปลงหนี้ และหลักทรัพย์
ที่ผู้กู้ยืมค้ำประกันไว้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เอกชนแล้ว แต่ทักษิณกลับชูนโยบาย ที่จะซื้อคืนหนี้เสียโดยไม่มีเงื่อนไข
ซึ่งทำให้นักลงทุนเกรงว่า รัฐบาลไทยจะเข้าไปค้ำประกันหนี้ของธนาคารต่างๆ
หากเกิดวิกฤติการเงินอีก และยังเป็นการลดแรงจูงใจ ที่จะให้เกิดการปฏิรูปวิธีปฏิบัติในการกู้ยืมเงินด้วย
ค่าเงิน ที่ทรุดดิ่งลงแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 27 เดือนก็ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนเช่นกัน
ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดความหวาดวิตกกันว่าจะเกิดวงจรอุบาทว์รอบใหม่ ด้วยเหตุนี้เอง
บรรดาบริษัทธุรกิจไทย ที่หวาดกลัวการลดค่าเงินบาท และมีหนี้สินสกุลเงินดอลลาร์อยู่
จึงพากันเทขายเงินบาทออกถึงราว 9,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา
ส่งผลให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนตัวลงไปอีก นอกจากนั้น ความหวาดวิตกเกี่ยวกับค่าเงินยังทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่นิยมลงทุนในหุ้นของบริษัทไทย
แม้ว่าจะเป็นกิจการที่มีผลประกอบการแข็งแกร่งก็ตาม "คนยังคิดกันว่า "มีแต่พระเจ้าเท่านั้น ที่รู้
ว่าค่าเงินบาทจะดิ่งลงไปถึงไหนในเดือนธันวาคมนี้" ซรียัน ไพเทิร์ซ (Sriyan
Pietersz) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเอเชีย ซีเคียวริตี้ส์ บอก
จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้น มูลค่าทุนจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์รวม ที่เคยอยู่ ที่
248,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติสูงสุด จึงปรับตัวมาอยู่ ที่
31,000 ล้านดอลลาร์ในขณะนี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย ที่เคยอยู่ ที่ 450 ล้านดอลลาร์ต่อวันก็ลงมาอยู่ ที่ราว
40 ล้านดอลลาร์ ตลาดหุ้นจึงอยู่ในอาการโคม่าจนกระทั่งไม่มีการเสนอซื้อขายหุ้นใหม่ในไทยเป็นเวลานานถึงสามปี
จนกระทั่งเจเนอรัล เอ็นไวรอนเมนทอล คอนเซอร์เวชัน (General Environmental
Conservation-เจนโก) นำหุ้นกิจการออกจำหน่ายเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าราคาปิดต่ำกว่าราคาเสนอขายถึง
12.5% ตั้งแต่วันแรกที่ทำการซื้อขาย
แม้ว่าภาวะตลาดหลักทรัพย์จะพาให้นักลงทุนหวนคิดถึงสภาพการณ์ในช่วงวิกฤติปี
2543 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าไทยกำลังเดินหน้าสู่หายนะ ข้อดีประการหนึ่งก็คือ ค่าเงินบาท ที่อ่อนตัวได้สร้างอานิสงส์ให้ผู้ส่งออกจำนวนมาก
อย่างเช่น ฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตแผงวงจรให้กับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศ
เป็นต้น เทอเรนซ์ ฟิลิป เวียร์ (Terrence Philip Wier) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทบอกต้นทุนของฮานาไม่ถึง
60% อยู่ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ และในท้ายที่สุดแล้วรายได้ ที่กลับคืนมาทั้งหมดจะเป็นรายได้ในรูปของดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม หุ้นของฮานากลับดิ่งลงถึง 33% ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา "เรื่องตลกร้ายก็คือ ค่าเงินบาทย่ำแย่เช่นนี้กลับเป็นผลดีกับเรา"
เวียร์บอก นักวิเคราะห์คาดว่าปีนี้ฮานาจะรายงานผลประกอบการราว 39 ล้านดอลลาร์จากรายได้
171 ล้านดอลลาร์
การเกิดขึ้นของตลาดพันธบัตรในประเทศนับเป็นกันชนอย่างหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้ตลาดหุ้นทรุดลง
ทั้งนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ต่ำเพียงราว 2.5% บวกกันนโยบายของธนาคารชาติ ที่จะเปิดกว้างตลาดการเงินมากขึ้น
ปีที่แล้วมีการออกพันธบัตรเป็นมูลค่าถึงราว 7,450 ล้านดอลลาร์ หรือสิบเท่าตัวจากเดิม
บริษัทธุรกิจพากันระดมทุนเพิ่มเติมอีก 2,500 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
ผู้ฝากเงินไทยเองก็สนใจซื้อพันธบัตรดังกล่าวโดยเฉพาะ ที่ออกโดยบริษัทธุรกิจชั้นนำอย่างเช่น
ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งออกพันธบัตร เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 3,500
ล้านดอลลาร์ ภายในเวลาหนึ่งปีครึ่ง
ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยสินเชื่อภาคธนาคาร
หรือการระดมทุนในรูปหุ้นเท่านั้น คำถามก็คือ ภาวะเช่นนี้จะคงต่อเนื่องไปได้นานเท่าไร
เศรษฐกิจไทยไม่อาจจะพึ่งพิงการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดไป อุตสาหกรรมไทยจะต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการผลิตให้ดีขึ้น
ตลาดพันธบัตรเพียงลำพังก็ไม่อาจช่วยระดมทุนได้มากมายหลายพันล้านดอลลาร์ ดังนั้น ภาคธุรกิจธนาคาร และตลาดหลักทรัพย์จึงต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
โดยจะต้องมีแผนการที่เข้มแข็ง ในการสะสางปัญหาทางการเงิน ที่ยังมีอยู่ และหนุนเสริมให้มีการปรับโครงสร้างภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความริเริ่มดังกล่าวก็คงยังชะลอตัวต่อไปจนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งปลายปีนี้