ประเดิมส่งออกไทยเดือนม.ค.เจอขาดดุลการค้า 442 ล้านเหรียญสหรัฐ "พาณิชย์"บอกยังดี เพราะเพิ่มต่ำสุดในรอบ 43 เดือน เหตุมาตรการบริหารจัดการนำเข้าได้ผล เผยปีนี้อาจขาดดุลการค้าสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการลงทุนภาครัฐและเอกชน แถมการบินไทยจ่อนำเข้าเครื่องบินอีก 6 ลำ ระบุการเมืองยื้อ กระทบลงทุนระยะยาว
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.2549 การส่งออกมีมูลค่า 8,946 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 9,388 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 43 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2545 ที่นำเข้าลดลง 0.86% ขณะที่ดุลการค้ายังคงขาดดุล 442 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 66.7% จากเดือนม.ค.2548 ที่ขาดดุลการค้า 1,328.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
"การนำเข้าในเดือนม.ค.2549 นี้ ที่เพิ่มขึ้นเพียง 2% นั้น ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่ต่ำสุด และเป็นครั้งแรกในรอบ 43 เดือนเลยทีเดียว ที่อัตราขยายตัวของการนำเข้าไม่ได้เป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งเป็นเพราะกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการบริหารการนำเข้ามาตั้งแต่เดือนก.ค.2548 หลังจากที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 20.32% และพอมีมาตรการออกมาแล้ว ตัวเลขนำเข้าก็ลดลงมาโดยตลอด" นายการุณกล่าว
นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 13.6% เพราะการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรกรรม/อุตสาหกรรมการเกษตร 4.4% และสินค้าอุตสาหกรรม 13.4% โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรที่เพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป อาหารกระป๋อง เป็นต้น สินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ทั้งตลาดเก่าและใหม่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดใหม่ที่เพิ่มขึ้นสูง เช่น ยุโรปตะวันออก เพิ่มขึ้น 70.2% จีน เพิ่ม 44.5% ละตินอเมริกา เพิ่ม 34.9% เป็นต้น
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 2% เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเชื้อเพลิง 13.4% มูลค่า 1,716 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าที่มีมูลค่ามาก คือน้ำมันดิบ 1,451 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 20% ส่วนสินค้าทุน เพิ่ม 10.5% ขณะที่สินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ลดลง 8%
สำหรับสินค้าที่ปีก่อนมีการนำเข้ามาก และกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการนำเข้าลงนั้น ปรากฏว่า ในเดือนม.ค.2549 มีการนำเข้าลดลงมากเทียบกับเดือนม.ค.2548 โดยทองคำ ลดลง 80.8% มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ลดลง 30.4% มูลค่า 547 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คาดปีนี้ว่าจะขาดดุลการค้าประมาณ 6,000-7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของรัฐและเอกชน โดยในปีนี้ ภาคเอกชนจะทยอยลงทุนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งในสาขาปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การบินไทยจะนำเข้าเครื่องบินในปีนี้ 6 ลำๆ ละประมาณ 131 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประมาณ 70,000 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจอื่นๆ อีกรวมแล้วประมาณ 270,000 ล้านบาท รวมถึงการนำเข้าภายใต้โครงการเมกะโปรเจกต์ ที่อาจเกิดขึ้นในปลายปีนี้
"ถือได้ว่าปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุนของไทย จากทั้งของภาครัฐและเอกชน จึงทำให้ไทยยังขาดดุลการค้าอยู่ประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่การนำเข้าดังกล่าวเป็นการสร้างประสิทธิภาพการผลิตเพื่อส่งออกในอนาคต จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ส่วนการส่งออกที่ตั้งเป้าขยายตัว 17.5% ในปีนี้น่าจะไปถึง และเชื่อว่า อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ หากไทยเจาะตลาดตรงจุดมากกว่านี้"นายสุวิทย์กล่าว
ส่วนปัญหาการเมืองในขณะนี้ นายสุวิทย์กล่าวว่า จะไม่กระทบกับการลงทุนในระยะสั้น รวมถึงการส่งออก-นำเข้า เพราะนักลงทุนเริ่มแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจแล้ว แต่หากยังยืดเยื้อต่อไปจะกระทบกับการลงทุนในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีนี้ไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 2,000-3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ดุลบริการได้ดุลประมาณ 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว สำหรับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2,000-2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2-2.5% ของจีดีพีนั้นถือว่ายอมรับได้ และเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพ
|