Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2540
"วัธนเวคิน รุ่นที่ 3 ถึงเวลาพิสูจน์ฝีมือ!"             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างของการร่วมทุนโครงการ TS.21


   
search resources

เกียรตินาคิน, บง.
นัฎฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล
International




ธุรกิจของกลุ่มวัธนเวคิน กำลังเดินหน้าไปอย่างสวยงาม โดยเฉพาะโครงการระดับนานาชาติ "นิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์ 21" ภาพของงานเซ็นสัญญาอันสวยหรูที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางใบหน้าอันยิ้มแย้มของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และ โก๊ะ จก ตง นายกรัฐมนตรี ประเทศสิงคโปร์ ยังไม่ทันจางหายไปจากความรู้สึก จู่ ๆ บงล. เกียรตินาคิน สถาบันการเงินหลักในกลุ่มวัธนเวคิน ก็ถูกแบงก์ชาติสั่งให้หยุดประกอบธุรกรรมชั่วคราว ภาระหนักของวัธนเวคิน รุ่นที่ 3 เริ่มขึ้นแล้ว ในการที่จะผลักดันธุรกิจในเครือ และความฝันที่จะเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" ต่อไป

ภาพความสัมพันธ์อันชื่นมื่นระหว่าง โก๊ะ จก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธที่มาเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัทน้ำตาลตะวันออกของกลุ่มวัธนเวคินกับริษัทเจทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการทำโครงการ "นิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์" หรือ TS.21 ที่แถลงข่าวใหญ่โต ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ทีผ่านมา ยังไม่ทันจางหายไปจากความรู้สึก

14.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม เป็นเวลาที่ผ่านไปเพียงไม่ถึงเดือนก็มีคำสั่งฟ้าฝ่าจากธนาคารแห่งประเทศไทยปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทหลักของตระกูลวัธนเวคิน เป็นเวลาชั่วคราว

เกิดอะไรขึ้น? กับกลุ่มบริษัทที่นายกรัฐมนตรีของไทยเพิ่งเข้าร่วมงานเซ็นสัญญา ซึ่งเสมือนหนึ่งยืนยันและรับประกันถึงความมั่นคงของบริษัทนั้น และแน่นอนมันได้ตอกย้ำสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนสิงคโปร์เพิ่มขึ้น นี่คือคำถามที่ตามมาติด ๆ

"ถ้าสมมุติว่า บริษัทเราเองประกอบการมีปัญหา การบริหารมีปัญหา หลักเกณฑ์ของแบงก์ชาติก็มีอยู่ชัดเจนแล้วนี่ ชี้แจงมาเลย แล้วสั่งปิดเราจะไม่เสียใจเลย แต่นี่ทางธนาคารชาติเองก็ได้เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะ ๆ แล้วยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่มีปัญหา"

นัฎฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล รองประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ระบายความรู้สึกกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ บงล. เกียรตินาคิดทำให้มีคำถามต่อไปว่า แล้วมันจะเกิดผลกระทบอะไรกับบริษัทในกลุ่มวัธนเวคินหรือเปล่า โดยเฉพาะโครงการ TS.21

"โดนแน่นอน เพราะอย่างน้อยทางหุ้นส่วนก็ต้องมีคำถามแล้วว่าอะไรกันเนี่ย ดีไม่ดีจะมามองว่าเราไปทำให้เขามีปัญหาหรือเปล่าแต่อย่าลืมว่าการที่เขาจะมาร่วมกับเราได ้เขาเองก็ต้องเช็กแล้วเช็กอีกหลายรอบ ในเรื่องของประวัติ และฐานะทางการเงินของเรา นายกฯ เราเองก็ไปยืนพะยี่ห้อให้อยู่แล้วในวันนั้น"

นัฎฐิกาอธิบายต่อว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ร่วมทุน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินในเมืองไทยที่ต้องกู้ยืมเงินมาด้วย ว่าการทำงานของแต่ละบริษัทในเครือแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด นอกจากมีการเข้าไปร่วมในการบริหารเท่านั้น โดยเฉพาะ TS.21 นั้นก็ไม่ได้วางแผนที่จะกู้เงินจากเกียรตินาคิน รวมทั้งเกียรตินาคินก็ไม่ได้เป็นผู้หุ้น เป็นเพียงที่ปรึกษาทางการเงินให้และร่วมเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทเท่านั้น

แต่ภาพที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทั้ง บงล. เกียรตินาคินและบริษัทน้ำตาลตะวันออกมาจากรากเดียวกัน

นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบริษัทผู้ร่วมทุนแล้วภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาของการเมืองไทยที่ยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา จะยังสร้างความมั่นใจให้กลุ่มผู้ร่วมทุนสิงคโปร์หรือไม่ และคิดว่าจะมีปัญหาในการที่จะนำลูกค้าเข้ามาทำเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ในพื้นที่ที่นิคมเตรียมไว้ได้หรือเปล่า?

"ก็อาจจะมานั่งคุยกันใหม่ แต่คงไม่ถึงกับชะลอโครงการ" นัฎฐิกายอมรับ

โครงการ TS.21 ดำเนินการโดย บริษัท เคเค-เจทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทน้ำตาลตะวันออก จำกัด บริษัทอินดัสเตรียลซิตี้ จำกัด บริษัทอีสเทิร์น ชิวยุ จำกัด ในสัดส่วน 60% กับบริษัท เจทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 40% บริษัทเจทีซีไอ เป็นผู้นำกลุ่มด้านอสังหาริมทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ และเป็นบริษัทในเครือของบริษัท จูล่ง ทาวน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันบริษัทนี้มีการลงทุนถึง 15 โครงการใน 7 ประเทศ

การรุกเข้ามาสร้างเมืองนิคมอุตสาหกรรมในเมืองไทยด้วยนั้นเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทางรัฐบาลสิงคโปร์ปูพื้นฐานไว้รองรับทางด้านการตลาด และการผลิตเมื่อเขตเสรีการค้าอาฟตา หรือ AFTA เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2005

ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้วกลุ่มเจทีซีไอ ได้กระจายการลงทุนรวม 15 โครงการใน 7 ประเทศ เช่น "ไชน่า-สิงคโปร์ ชูโฮ" โครงการ "เวียดนาม-สิงคโปร์" ที่ประเทศเวียดนาม โครงการ "คาร์เมทรีย์ อินดัสเทรียลพาร์ค" ในประเทศฟิลิปปินส์

ส่วนโครงการในประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นบุญหล่นทับให้กับกลุ่มวัธนเวคินเช่นกัน เพราะกลุ่มฯ ได้วางแผนที่จะพลิกฟื้นที่ดินซึ่งเป็นที่ดินของโรงงานน้ำตาลเก่านี้อยู่นานหลายปี ดำเนินเรื่องการขอบีโอไอไว้เสร็จสรรพ มีผู้สนใจเข้ามาร่วมทุนทั้งกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศและในประเทศหลายราย แต่กลุ่มฯ ยังคงพิจารณาโดยยังไม่ยอมตกร่องปล่องชิ้นกับใคร

จนกระทั่งได้มีโอกาสรู้จักกับกลุ่มทุนจากสิงคโปร์รายนี้ เมื่อเห็นว่าเป็นผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสม ฝ่ายหนึ่งมีที่ดินในทำเลที่ดี อีกฝ่ายมีความพร้อมทางด้านการตลาด ซึ่งสามารถแบ่งบทบาทกันได้ชัดเจน คือทางด้านการตลาดและด้านการขายพื้นที่สิงคโปร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนวัธนเวคินซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็จะต้องรับผิดชอบหลักในการพัฒนาพื้นที่

มันเหมือนฟันเฟือนที่จะผลักดันกงล้อธุรกิจตัวนี้ให้เดินหน้าไปด้วยดี การตกลงตัดสินใจจึงเกิดขึ้น

ตามแผนงานของการพัฒนาพื้นที่ของโครงการ TS.21 นั้น ในเฟสที่ 1 จำนวน 1,363 ไร่ จะเริ่มประมาณ เดือนกรกฎาคม 2540 เฟสที่ 2 ขนาดพื้นที่ 2,267 ไร่ เริ่มกลางปี 2542 เฟสที่ 3 จำนวน 1,911 ไร่จะต้องเริ่มต้นกลางปี 2545 โดยเฟสที่ 1 นั้นจะแล้วเสร็จในกลางปี 2541 ระยะเวลาที่จะใช้ในการพัฒนาทั้งโครงการ 8 ปี

สำหรับงบประมาณการลงทุนทั้งโครงการประมาณ 130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในทางตรงซึ่งเป็นการเตรียมพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ เรื่องของน้ำใช้ ถนนหนทางในโครงการ และโรงงานสำเร็จรูปสร้างโดยผู้ลงทุน 17,500 ล้านบาท

การลงทุนในทางอ้อม เป็นโรงงานที่สร้างตามความต้องการของนักอุตสาหกรรม 30,000 ล้านบาท และโรงงานและเครื่องจักร สร้างตามนักอุตสาหกรรมอีก 82,500 ล้านบาท

ในเรื่องของเงินที่จะนำเข้ามาพัฒนาโครงการในเฟสแรกนั้นหากไม่มีปัญหา เพราะสถาบันการเงินในประเทศมั่นใจในสถานะของกลุ่มเกียรตินาคินและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ในส่วนของการตลาดนั้น ผู้ร่วมทุนจากสิงคโปร์จะต้องรับภาระหนัก ซึ่งในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมานั้น นัฎฐิกายืนยันว่าทางสิงคโปร์ส่งข่าวมาว่าขณะนี้มีบริษัทตอบรับมาแล้วประมาณ 6 บริษัท

แต่นี่เป็นเพียงบทเริ่มต้น ปลายทางและบทสรุปของโครงการนี้ยังยาวนัก

"คุณพ่อเคยพูดไว้ว่าถ้าจะทำธุรกิจให้ดีต้องเป็นให้เหมือนกระดิ่ง เพราะเสียงกระดิ่งนั้นนอกจากจะเพราะแล้วยังกังวานใสดังไปนาน อย่าให้เป็นเหมือนกลองคือดังจริงแต่ละลุ่งตุ้งแช่ แล้วแช่ไปเลย" นัฎฐิกา เล่าถึงคำพูดของเกียรติ วัธนเวคิน ผู้เป็นบิดา และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มวัธนเวคิน ข้อความนี้มันอาจจะบาดความรู้สึกนักธุรกิจรุ่นใหม่หลายคนที่ทำธุรกิจโด่งดังเหมือนตีกลองที่ว่านั้น

"ดังนั้น สิ่งที่กลุ่มเราระมัดระวังตลอดมาก็คือเรื่องชื่อเสียง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ได้เพราะการขายเครดิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเจอจึงค่อนข้างจะหนักหน่วงและเสียใจว่าสิ่งที่เราทำมา 26 ปีนั้นไม่มีความดีอะไรเลยหรือ"

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 58 แห่ง "ผู้จัดการรายเดือน" คงไม่อธิบายถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะของกลุ่มเกียรตินาคิน เพราะอยู่ระหว่างการส่งแผนฟื้นฟู แต่จะอธิบายภาพของการเริ่มต้นในธุรกิจ การขยายเครือข่ายรวมทั้งแนวความคิดในการทำงานที่ทำให้กลุ่มนี้ยืนยาวอยู่ในวงการธุรกิจมานานเกือบ 40 ปี

"หากเปรียบเทียบไปแล้วคุณเกียรติในตอนนี้ก็คือ เจริญ สิริวัฒนภักดีนั่นเอง เพราะคุณเกียรติอยู่ในวงการธุรกิจด้านสุรามาก่อน ประมูลสุราทั่วประเทศ เรียกว่า เป็นเจ้าพ่อวงการในรุ่นแรก ๆ ถ้าถามว่านานแค่ไหนก็โน่นน่ะ รุ่นที่เขาเรียกว่ารุ่นแม่น้ำสุพรรณ รุ่นสงัด มหาคุณ รุ่นจอมพล ป. จอมพลผิน ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณชาติชาย ชุณหะวัณ" ผู้ใกล้ชิดกับกลุ่มวัธนเวคินคนหนึ่งกล่าว

จากธุรกิจสุรา ก็ได้มาสร้างโรงงานน้ำตาลเมื่อปี 2502 เพื่อจะส่งตัวโมลาสให้กับทางโรงเหล้า พอเริ่มสร้างโรงงานน้ำตาลไปสักระยะหนึ่ง สุราก็หมดอายุสัมปทาน ทางกลุ่มวัธนเวคิน จึงได้หยุดกิจการทางด้านน้ำเมา หันมาพัฒนาโรงงานน้ำตาลเป็นธุรกิจหลักของตระกูลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โรงงานน้ำตาลที่ว่าคือที่ดินในจังหวัดระยอง ซึ่งขณะนี้ได้นำมาพัฒนาเป็นโครงการ TS.21 นั่นเอง โดยที่ในปี 2538 ได้มีการย้ายไปสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเขตจังหวัดสระแก้ว

วัธนเวคินเป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของแลนด์แบงก์จำนวนมากอีกรายหนึ่ง จากความจำเป็นที่ว่าจะต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการสร้างโรงงาน และที่ดินในการปลูกอ้อยเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบ และพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัว ก็ได้ขยายธุรกิจไปทำ บริษัทสากลสถาปัตย์ ซึ่งประมูลงานทางการสร้างทางทั่วประเทศ เมื่อไปสร้างที่ไหนก็ต้องซื้อที่ดินสร้างแคมป์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละครั้งใช้ที่ดินนับ 100 ไร่ และที่ดินเหล่านี้ได้เอามาแบ่งจัดสรรให้คนงานผ่อนเดือนละ 10-100 บาทในเวลาต่อมา

และนี่คือจุดกำเนิดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน

"จริง ๆ แล้วเราไม่ได้คิดจะทำบริษัททางด้านเงินทุนหรอก แต่การที่เราให้ลูกน้องผ่อนที่นั้น ทางราชการเขาก็อาจจะมองได้ว่าเป็นเงินทุนเถื่อนอีกก็เลยไปขอใบอนุญาตมา"

จรรสมร ภรรยาของกียรติซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในเรื่องความสำเร็จของกลุ่มนี้ (อ่านในล้อมกรอบ) เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง เธอบอกว่าในสมัยนั้นไม่มีใครอยากทำธุรกิจทางด้านเงินทุน แต่เธอมองว่าเมื่อขอไม่ยากเลยขอมาคราวเดียวกัน 3 ใบเลย ใบหนึ่งก็เอามาตั้งเป็นบริษัทสากลเคหะ เพื่อการผ่อนบ้านโดยเฉพาะ ซึ่งต่อมาลูกน้องของเกียรติได้ขอไปดำเนินการเอง อีกใบก็ให้เพื่อนฝูงไปและใบสุดท้ายคือเกียรตินาคิน

ความรู้สึกอย่างหนึ่งของจรรย์สมร ที่กระตุ้นให้อยากทำธุรกิจด้านเงินทุนก็คือ การเคยไปขอกู้เงินคนอื่นแล้วไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร "ตอนนั้นดูในเรื่องการสร้างทางซึ่งเหนื่อยมาก โครงการหนึ่ง ๆ ความยาวของถนนเป็นร้อยกิโลเมตร ไกลมาก เวลาไปกู้เงินที ร้อนก็ร้อน น้ำก็ไม่เอามาเสิร์ฟ เรานั่งรอนายแบงก์ตั้งแต่เช้ายันเย็นไม่ยอมออกมาพบสักที"

จากธุรกิจของเม็ดน้ำตาลได้กลายเป็นเม็ดเงินที่ก่อให้เกิดบริษัทในเครือต่าง ๆ ตามมา ซึ่งวันนี้ได้แบ่งเป็นธุรกิจหลักได้ 3 สายใหญ่คือ 1. ทางด้านอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทน้ำตาลตะวันออก บริษัทโชติธนวัฒน์ ที่ดำเนินธุรกิจทางด้านพัฒนา และบริหารคลังสินค้า บริษัทไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ลจำกัด (มหาชน) และบริษัทเคเค-เจทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด

ปัจจุบันโรงงานที่จังหวัดสระแก้ว เป็นโรงงานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีกำลังการผลิต 17,000 ตันต่อวัน มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 200 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 2,482 ล้านบาท

2. ทางด้านการเงิน คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทโตเกียวลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับกลุ่มธนาคาร โตเกียว มิตซูบิชิ และกลุ่มสหพัฒนพิบูล ทำธุรกิจทางด้านลิสซิ่ง

เกียรตินาคินเริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2514 เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2531

3. ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยร่วมกับกลุ่มว่องกุศลกิจ ก่อตั้งบริษัทอัมรินทร์พลาซ่าจำกัด(มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการต่าง ๆ มากมายเช่น โรงแรม แกรนด์ไฮแอทเอราวัณ (กรุงเทพฯ), โรงแรมเจดับบลิว มาริออท (กรุงเทพฯ), เพลินจิตเซ็นเตอร์, แกรนด์อัมรินทร์ทาวเวอร์, อาคารอัมรินทร์พลาซ่า

และได้ร่วมกับกลุ่มนิวบุนนาค เช่าที่ดินของกระทรวงการคลัง ทำโครงการทางด้านโรงแรมและที่พักตากอากาศในอำเภอหัวหิน ซึ่งจะเปิดบริการได้ในเดือนธันวาคม 2541 นี้

การแตกตัวทางด้านธุรกิจของวัธนเวคิน อาจจะไม่หวือหวา เหมือนกลุ่มอื่น ๆ จึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำงานแบบครอบครัวและค่อนข้างอนุรักษนิยมซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า กลุ่มดังกล่าวค่อนข้างระมัดระวังในการขยายธุรกิจ

"จะเห็นได้ว่าเรามีที่ดินเยอะแยะ แต่เราไม่เอาที่ดินตรงนั้นมาสร้างเป็นอาคารสูง เพราะฉันจะดูว่าเงินที่จะลงทุนไปกับระยะเวลาที่ได้กลับคืนมานี่มันไปกันได้หรือเปล่า โครงการใหญ่ ๆ เช่นทางด่วนรถไฟฟ้า ไม่เอาแน่นอนเพราะทุ่มไป ร้อยล้าน พันล้าน กว่าจะได้เงินมามันช้าเกินไป" จรรย์สมรกล่าว

นี่คือวิธีคิดของจรรย์สมร ซึ่งยังมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดก้าวย่างของวัธนเวคิน

แต่กลุ่มนี้ไม่ปิดโอกาสในการเข้าร่วมทุนกับกลุ่มอื่น ๆ และการดึงเอามืออาชีพเข้ามาร่วมงาน ภาพที่เห็นได้ชัดก็คือทางด้านอาคารสูงในส่วนของสายงานอสังหริมทรัพย์นั้น ทางกลุ่มก็ได้เข้าร่วมทุนกับกลุ่มว่องกุศลกิจพันธมิตรเก่าแก่ทุกโครงการส่วนใหญ่เป็นที่เช่ามีทำเลที่ดีในย่านกลางเมือง และส่วนใหญ่พื้นที่โครงการที่เป็นอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้าได้วางแผนให้เป็นการเซ้งเพื่อให้เงินไหลกลับโดยทันที

หรือธุรกิจทางด้านโรงแรม เช่นแกรด์ไฮแอท เอราวัณ ทางกลุ่มก็จะดึงเอากลุ่มต่างชาติเข้ามาเป็นผู้บริหารเลย เช่นเดียวกับการเข้าไปร่วมกับกลุ่มนักพัฒนาที่ดินท้องถิ่นที่หัวหิน ตั้งบริษัทโรงแรมชายทะเลซึ่งเมื่อพัฒนาโครงการเสร็จก็จะดึงเอากลุ่มไฮแอท เข้าไปบริหารเช่นกัน แม้แต่โครงการ TS.21 ที่เข้าร่วมทุนกับทางสิงคโปร์ ก็ใช้วิธีนี้

ด้วยยุทธวิธีดังกล่าว นอกจากเป็นการลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้วโอกาสที่จะทำให้วัธนเวคิน ก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่กลยุทธ์ดังกล่าวแล้วก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันว่า วันนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มนี้จะฟันฝ่าอุปสรรคทางด้านการตลาดไปได้อย่างไร?

ปัจจุบันด้านอสังหริมทรัพย์ กลุ่มมี 2 โครงการใหญ่ที่กำลังดำเนินการขายพื้นที่คือ อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์ที่ประกอบไปด้วยศูนย์การค้าและสำนักงานให้เช่าสูง 24 ชั้นและโครงการพหลโยธินพาร์ค ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินซอย 14 บนพื้นที่รวมประมาณ 21 ไร่เป็นโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมโครงการแรกของกลุ่มนี้ที่ออกมาท่ามกลางอุณหภูมิอันร้อนแรงของการแข่งขันกันขาย และกำลังรอพิสูจน์ฝีมืออยู่เช่นกัน

"เราไม่ทราบว่าคนอื่นมองเราอย่างไร แต่ของเราคนที่จะทำก็ต้องมีความสามารถ พูดง่าย ๆ ว่า เราต้องมีทรัพยากรบุคคลของเราด้วย จุดเริ่มต้นอาจจะเป็นวัธนเวคินก็จริงแต่เมื่อแตกออกไปแล้ว มันอาจจะมีวัธนเวคินอีกหลายคนที่ทำไม่ได้ จำเป็นต้องดึงเอาคนอื่นมาร่วมในตำแหน่งที่เหมาะสม" นัฎฐิกาพูดถึงความเป็นภาพของการทำงานแบบครอบครัว

"ฉันอยากให้คำว่าตระกูลเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง ควรให้ความสำคัญกับทีมเวิร์กมากกว่า เพื่อให้ตัวธุรกิจคงอยู่ก้าวไปตามโลก ในขณะที่วัธนเวคินก็จะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง" จรรย์สมรกล่าวย้ำ

วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ในวันนี้ การผนึกกำลังและระดมสมองของวัธนเวคินรุ่นที่ 3 จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความเป็นมืออาชีพในวันข้างหน้าอย่างแท้จริง!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us