|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ขาย"ชิน คอร์ป" ก่อกระแสปั้นธุรกิจเข้าตลาดหุ้นแล้วขายกิจการเกิด ต่อนี้ไปเลือกจังหวะขายราคาสูงสุด ล้างแนวคิดทำธุรกิจเพื่อลูกหลาน แถมปัจจัยแวดล้อมเอื้อ เทคโนโลยีเปลี่ยน-FTA บีบ หวั่นอีกไม่นานธุรกิจใหญ่ในตลาดหุ้นไร้ของคนไทย
การขายหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คงหนีไม่พ้นคู่ของ "ชินคอร์ป-เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์" มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท เมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังไม่จบถึงเรื่องที่ว่าดีลนี้ควรเสียภาษีหรือไม่ เนื่องจากเป้าหมายการซื้อที่แท้จริงคือต้องการธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ดำเนินการในนาม แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส แต่ใช้วิธีเลี่ยงซื้อในชินคอร์ปแทน
กรณีที่ผู้ถือหุ้นตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้น 49.56% ให้กับกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ เท่ากับเป็นการปิดฉากธุรกิจของตระกูล ที่บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2533 เป็นเวลา 16 ปี รวมถึงการสละบริษัทย่อยต่าง ๆ ไปในตัว ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับว่าสิงคโปร์จะขายกิจการที่ไม่อยากได้ให้กับใคร เช่น ไอทีวีและแอร์เอเชียให้กับใคร
ยกเว้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC ที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะมีรายการขายหุ้นชิน คอร์ปออกมา จากราคา 10.40 บาทกระโดดขึ้นไปที่ราคา 22.40 บาทเพียงแค่ 9 วันทำการ เนื่องจากหลายฝ่ายคาดว่าตระกูลชินวัตร คงหันมาใช้ SC เป็นหัวหอกต่อไป
ปั้นแล้วขายกำไรงาม
ก่อนหน้านี้ได้มีรายการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีนัยยะสำคัญ 2 ราย เริ่มจากกลุ่มเบญจรงคกุลที่ขายหุ้นบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่นหรือ UCOM จำนวน 39.88% ให้กับบริษัทไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ ที่ถือหุ้นใหญ่โดยเทเลนอร์ พันธมิตรดั้งเดิม มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท
ตามมาด้วยตัน ภาสกรนที แห่งโออิชิ กรุ๊ป ขายหุ้น 55% ให้กับบริษัทนครชื่น ของเจริญ สิริวัฒนภักดี และ Bengena International จากบริติช เวอร์จิ้น มูลค่ากว่า 3.3 พันล้านบาท
และรายที่เกิดหลังชินคอร์ป คือบริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด(มหาชน) ขายหุ้น 25.43% ให้กับ เอ.พี.เอฟ.โฮลดิ้งส์ จากญี่ปุ่น เป็นเงิน 345 ล้านบาท
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า การขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ผ่านมานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ กลุ่มสื่อสารชัดเจนว่าเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ 3G มีผลอย่างมากต่อการปรับตัวของผู้ให้บริการ ต้องใช้เงินลงทุนสูงและทำตลาดในเมืองไทยค่อนข้างยาก เพราะอัตราค่าบริการยังเป็นอุปสรรคสำคัญ
UCOM ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับ 2 ได้เปิดฉากขายออกมาก่อน ตามมาด้วยสามารถคอร์ปอเรชั่น ที่ขายบริษัทลูกอย่าง สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด จำนวน 24.42% มูลค่า 1.3 พันล้านบาทให้กลุ่มเทเลคอมมาเลเซีย ส่วนชิน คอร์ป นั้นเป็นปัจจัยเดียวกัน แต่เพิ่มในเรื่องของการลดข้อครหาด้านการเมืองด้วย
โออิชิกรุ๊ป ที่ปั้นชาเขียวขึ้นมาจนติดตลาด ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ถูกกระทรวงพาณิชย์เสนอให้ลดราคาขายต่ำกว่า 20 บาทในช่วงปลายเดือนกันยายน 2548 หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยข่าวกระทรวงพาณิชย์เตรียมขอ BOI งดให้สิทธิพิเศษทางภาษี และอีกไม่นานก็ได้ข่าวการขายหุ้นของตัน ภาสกรนที
เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด(มหาชน) ของกลุ่มว่องกุศลกิจ ที่แนวโน้มค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์อาจจะลดต่ำกว่า 0.25% โดยยูไนเต็ดพึ่งพารายได้จากการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์เป็นหลัก แถมส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับท้าย ๆ
ชิน คอร์ป นำร่องแนวคิด
ฝ่ายวาณิชธนกิจแห่งหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้บ่งบอกได้ค่อนข้างชัดว่า แนวโน้มของการซื้อขายกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยจะเพิ่มมากขึ้น ตามปัจจัยที่บีบรัดในขณะนี้ โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีปัจจัยกระทบที่แตกต่างกัน
"นับจากนี้เราจะได้เห็นการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ขายหุ้นสัดส่วนมาก ๆ ให้เห็นมากขึ้น เนื่องจากกรณีของชิน คอร์ป ถือเป็นตัวนำร่องที่ชัดเจนที่สุด เมื่อธุรกิจไปต่อไม่ได้แล้ว การหาจังหวะขายที่ราคาดีที่สุด ถือเป็นประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น"
เดิมการขายของผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มีออกมาบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก เนื่องจากเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ที่ผู้ก่อตั้งบริษัทจนเติบโตเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากขายออกไปเกรงจะเสียหน้า หรือเกรงว่ารุ่นลูกรุ่นหลานจะไม่มีธุรกิจสืบทอด
ถึงวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป กรณีของโออิชิถือว่าสุดยอด คุณตันปั้นชาเขียวจนติดตลาด เมื่อเจอปัญหาที่รัฐเข้ามาแทรกแซงราคาจึงตัดสินใจขาย จากผู้ถือหุ้นใหญ่ยอมเป็นเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อยแทน เพราะถ้าขายช้ากว่านี้มูลค่าตลาดชาเขียวก็จะลดลง เนื่องจากคู่แข่งมากขึ้นทุกขณะ
แน่นอนว่าอีกไม่นานเจ้าของธุรกิจ ผู้ถือหุ้นใหญ่ จะตัดสินใจเช่นเดียวกับ ยูคอม โออิชิ และชินคอร์ป อีกหลายบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มสื่อสารที่ยังเหลืออยู่ ความจำเป็นจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะเป็นตัวเร่งให้เจ้าของธุรกิจนั้นต้องรีบตัดสินใจ
ถัดมากลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจประกัน ที่จะมีทั้งการหาพันธมิตรใหม่เข้ามา หรือการขายกิจการทิ้งไปทั้งหมด เราคงได้เห็นแน่ แต่จะเมื่อไหร่คงต้องขึ้นกับสถานการณ์ ล่าสุดทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด(มหาชน) ได้ขายหุ้นอีก 16.7% ที่ 77 บาทต่อหุ้น ให้กับบริษัท เอ็นเอชซีที จำกัด ส่งผลให้เอ็นเอชซีทีถือหุ้นในประกันคุ้มภัยเป็น 38.3%
หวั่นไม่เหลือธุรกิจคนไทย
ปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เจ้าของกิจการต้องเร่งตัดสินใจถึงอนาคตทางธุรกิจคือ การเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะภาคเกษตรและบริการรวมถึงการเงิน ที่น่าจะเป็นเป้าหมายหลัก ขึ้นกับประเทศที่เจรจาและกรอบการเจรจาว่าจะเปิดเสรีในด้านใดบ้าง
กรณีที่ผ่านมาถือเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า เมื่อเจ้าของกิจการประเมินแล้วว่าธุรกิจที่ดำเนินการอยู่จะสร้างกำไรได้น้อยลง การตัดสินใจขายหุ้นออกมาบนช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า สามารถนำเงินที่ได้ไปลงทุนในกิจการอื่นที่มีแนวโน้มดีได้ ที่สำคัญคือการตัดสินใจขายหุ้นไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน ถือเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่มีอะไรเสียหาย ดีกว่าการปล่อยให้ธุรกิจที่ทำอยู่แย่ลงจากคู่แข่ง หรือจากการเข้ามาของต่างชาติ แล้วสุดท้ายก็ไม่สามารถรักษาธุรกิจเดิมไว้ได้ ดังนั้นการหาจังหวะขายออกที่ธุรกิจพุ่งสูงสุดแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเจ้าของธุรกิจยุคใหม่
อย่างไรก็ตามแนวโน้มของเจ้าของกิจการคนไทยที่ปั้นธุรกิจ จนประสบความสำเร็จแล้วขายกิจการ ที่นับวันจะมากขึ้นทุกขณะ ทำให้อดห่วงไม่ได้ว่าหากแนวคิดเช่นนี้เบ่งบานธุรกิจของคนไทยอาจจะเปลี่ยนมือไปสู่มือต่างชาติภายใต้ร่างทรงคนไทย
|
|
 |
|
|