Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2540
"อดิศัย โพธารามิก ถึงเวลาต้องกลับสู่จุดเริ่มต้น"             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 

 
Charts & Figures

งบการเงินของจัสมิน
ธุรกิจกลุ่มจัสมิน


   
www resources

โฮมเพจ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล

   
search resources

จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล, บมจ.
อดิศัย โพธารามิก
Telecommunications




อดิศัย โพธารามิกได้ชื่อว่ามีความพร้อมในยุทธภูมิธุรกิจสื่อสารมากที่สุดผู้หนึ่ง ความเป็นดีลเมกเกอร์ชั้นเยี่ยม คือที่มาของโครงการโทรศัพท์ต่างจังหวัด 1.5 ล้านเลขหมายและทำให้จัสมินโตแบบก้าวกระโดดกลายเป็นหนึ่งในบิ๊กสื่อสาร แต่แล้วผลงานชิ้นโบแดงในอดีตกำลังกลายเป็นยาขม การลงทุนที่มีอย่างต่อเนื่องทำให้อดิศัยตัดสินใจกลับสู่ยุทธศาสตร์เดิม เพื่อเดิมพันอนาคตอีกครั้ง

หากไม่นับ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้เวลาเพียงแค่สิบปีแหวกฟ้าคว้าดาว พลิกจากธุรกิจเช่าคอมพิวเตอร์เล็ก ๆ จนกลายมาเป็นธุรกิจโทรคมนาคมมีมูลค่านับแสนล้านแล้ว อดิศัย โพธารามิก ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีตำนานการไปสู่ดวงดาวไม่แพ้กัน

ทักษิณ ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางธุรกิจด้วยสายตายาวไกล เข้าไปผูกับขั้วอำนาจในองค์การโทรศัพท ์คว้าสัมปทานที่ปั่นเม็ดเงินมหาศาลในเวลาต่อมา ในขณะที่อดิศัยอาศัยแต้มต่อในเรื่องความรู้ และสายสัมพันธ์สร้างเป็นอาณาจักรจัสมิน

เป้าหมายของทั้งสองไม่ตรงกัน ผิดกันตรงที่ทักษิณนั้นถนัดงานเบื้องหน้า แต่อดิศัยนั้นถนัดงานเบื้องหลัง

"ผู้จัดการรายเดือน" ได้รับการคอนเฟิร์มจากบรรดาผู้ใกล้ชิดแทบทุกคนว่าอดิศัยเป็นคนเก่งมากที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิชาความรู้และสายสัมพันธ์ในแวดวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้จัสมินเติบโตจนทุกวันนี้

ชีวิตในวัยเด็กของอดิศัยค่อนข้างเรียบง่าย อดิศัยมีพี่ชายคนเดียว คือนายแพทย์ยุทธ โพธารามิก ซึ่งปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นแพทย์ประจำพระราชวัง

อดิศัย และพี่ชาย ล้วนเป็นศิษย์เก่าของวชิราวุธ ตามความนิยมของข้าราชการ และพ่อค้าในอดีตที่มักจะส่งลูกหลานเข้าสู่รั้วสถานศึกษาแห่งนี้ ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งสร้างสายสัมพันธ์ที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งในยุคนี้

การที่จัสมินสามารถคว้าโครงการโทรศัพท์ภูมิภาค 1 ล้านเลขหมาย ก็มาจากพันธมิตรที่มาจากเพื่อนพ้องน้องพี่สมัยวชิราวุธทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัทล็อกซเล่ย์ และเพื่อนรุ่นน้องอย่างวิโรจน์ นวลแข แห่งภัทรธนกิจ

อดิศัยเดินเข้าสู่รั้วจามจุรีในคณะวิศวกรรมสาขาไฟฟ้า อันเป็นแหล่งผลิตบรรดานักโทรคมนาคมชื่อดังในยุคนี้อดิศัยเป็นคนเพื่อนมากมาตั้งแต่สมัยเรียน ตามประสานักกีฬามหาวิทยาลัย เล่นกีฬาหลายประเภท และเป็นนักกิจกรรมเป็นผู้แทนน้องใหม่จุฬา ผู้แทนวิศวกรรมศาสตร์จุฬาประธานกีฬากลางแจ้ง

หลังเรียนจบอดิศัยเข้าทำงานที่กรมการบินพาณิชย์แต่อยู่ได้เดือนเดียว ก็ลาออกมาทำงานที่องค์การโทรศัพท์ฯ เช่นเดียวกับบรรดาเพื่อนๆ วิศวฯ จุฬา ซึ่งเป็นยุคที่องค์การโทรศัพท์ฯ กำลังขยายงาน และปัจจุบันเพื่อนฝูงของเขาเหล่านี้ เติบโตในสายงานกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์การแห่งนี้ (ดูตารางสายสัมพันธ์ประกอบ)

ช่วงระหว่าง 15 ปีที่ทำงานอยู่ในองค์การโทรศัพท์ฯ เขาก็ได้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ออฟฮาวาย และเอกที่ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แมรี่แลนด์ หลังได้ ดร. นำหน้ากลับมา อดิศัยก็กลับทำงานองค์การโทรศัพท์ฯ ตามเดิม และการต่อยอดด้านการศึกษาครั้งนั้นก็ทำให้โอกาสใหม่ ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต

ช่วงปี 2520-2521 อดิศัยได้สัมผัสชีวิตการเมืองเป็นครั้งแรก ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้กับคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิร ิดำรงตำแหน่งอยู่ในยุคของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ เพียงปีเดียว แต่ก็นับว่าคุ้มค่านักกับหนทางในวันข้างหน้า

หลังจากนั้นอดิศัยก็อำลาชีวิตราชการหันมาเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชน ในบริษัทสยามเทลเทคในเครือ "ไวท์กรุ๊ป" ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งเฟิร์มรายใหญ่ในอดีต ขยายมาจับธุรกิจค้าอุปกรณ์สื่อสารให้กับหน่วยงานทหาร (อ่านล้อมกรอบไวท์กรุ๊ป)

จะเรียกได้ว่าการทำงานของสยามเทลเทค คือจุดเริ่มของการถือกำเนิดจัสมินก็คงไม่ผิดนัก เพราะอดิศัยไม่เพียงได้เรียนรู้งานขาย และธุรกิจเท่านั้น แต่เขายังได้เรียนรู้การติดต่อกับผู้มีอำนาจตัดสินใจในหน่วยงานทหารไม่ว่าบก น้ำ อากาศ

หลังจากมองเห็นลู่ทางธุรกิจจากหน่วยงานรัฐ อดิศัย สร้างจัสมินขึ้นมาในช่วงที่อยู่สยามเทลเทค เริ่มต้นด้วยงานรับเหมาออกแบบวิศวกรรมให้กับหน่วยงานรัฐ ใครจะคาดคิดว่าบริษัทออกแบบวิศวกรรม รับซับคอนแทร็กต์จากต่างประเทศจะกลายเป็นหนึ่งในบิ๊กสื่อสารในเวลาไม่กี่ปี

แน่นอนว่าการเติบโตของจัสมินไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ การมาของ ดร. ทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มซีพี นับว่าเป็นการท้าทายผู้ที่ทำมาหากินกับหน่วยงานด้านสื่อสารยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นล็อกซเล่ย์ รวมทั้ง ดร.อดิศัยด้วย

การคว้าโครงการสื่อสารภายในประเทศด้วยดาวเทียม (TDMA) และระบบสื่อสารเพื่อบริการธุรกิจผ่านดาวเทียม (ISBN) และเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ แม้จะเป็นสัมปทานเกรดบี ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงจากองค์การโทรศัพท์ฯ แต่ก็เป็นบทพิสูจน์การเป็นนักวิ่งเต้นของอดิศัยที่ไม่อาจมองข้ามได้

อย่างที่รู้ว่ากลุ่มชินวัตร สร้างสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจในยุคนั้น ผูกขาดสัมปทานอยู่ในองค์การโทรศัพท์ฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของรายใหม่ที่หวังจะได้สัมปทาน แต่อดิศัยก็ยังสามารถฝ่าด่านแทรกแซงเข้าไปคว้าโครงการมาครองได้

ว่ากันว่า การคว้าสองโครงการในครั้งนั้น เกิดขึ้นได้โดยอดิศัยต้องใช้ทั้งสายสัมพันธ์กับคนในองค์การโทรศัพท์ฯ กับทางการเมืองควบคู่กันไป

จะเห็นได้ว่าโครงการทั้งหมดล้วนอยู่ในยุคของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และด้วยความสนิทสนมที่อดิศัยมีกับ พล.อ. ชาติชายเป็นอย่างดี ส่งผลไปถึงโครงการเหล่านี้ด้วย

สายสัมพันธ์นี้ยังทอดยาวมาถึงปัจจุบัน การมาพรรคชาติพัฒนาที่ได้โควตากระทรวงคมนาคมในรัฐบาลของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ถูกโยงใยไปถึงการเข้ามาของดิเรก เจริญผล อดีตรองผู้อำนายการองค์การโทรศัพท์ฯ เพื่อนร่วมงานของอดิศัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบองค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ

รวมทั้งการนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบอร์ด ทศท. ของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการอิสระในจัสมินซึ่งว่ากันว่าอดิสัยเป็นผู้คัดเลือกมาทั้งสิ้น

การคว้าโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 1 ล้านเลขหมายในต่างจังหวัดนั้น สามารถการันตี ลีลาความเป็นดีลเมกเกอร์ของอดิศัย ที่สามารถผสมผสานหุ้นส่วนทั้ง 4 ได้อย่างลงตัวที่สุด

เวลานั้น ดร. อดิศัยมีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งความรู้และสายสัมพันธ์แต่ขาดสิ่งเดียวนั้นคือเงินทุน ในขณะที่พันธมิตรทั้ง 4 ที่อดิศัยหามาได้นั้นพรั่งพร้อมไปด้วยเงินทุนไม่ว่าจะเป็นล็อกซเล่ย์มีทั้งเงินทุน และธุรกิจ อิตาเลียนไทยเชี่ยวชาญเรื่องการติดตั้งข่ายสายตอนนอก ส่วนภัทรธนกิจจัดการด้านแหล่งเงินทุน และเอ็นทีที รัฐวิสาหกิจจากญี่ปุ่น

หลังจากคว้าโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย จัสมินก็เติบโตขึ้นมาแบบก้าวกระโดด ซึ่งการเปลี่ยนจากบริษัทรับเหมาด้านวิศวกรรมเล็กมาเป็นผู้รับสัมปทานขนาดใหญ่ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ในการจัดการองค์กรที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ชินวัตรและยูคอม คือแบบอย่างของความสำเร็จของความร่ำรวยที่ได้มาจากตลาดหุ้น อันมาจากความเชื่อในสัมปทานผูกขาดของบรรดานักลงทุน

อดิสัยก็เป็นเช่นเดียวกับทุนสื่อสารอื่น ๆ ที่เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์เป็นที่มาของความมั่งคั่งจากเงินทุนที่จะได้มาในระยะยาว อดิศัยนำทั้งทีทีแอนด์ที และจัสมินเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหวังระดมทุนจากตลาดหุ้นมาใช้ในกิจการในระยะยาว

เนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนสูงเป็นประวัติการณ์ในการคว้าโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายทำให้อดิศัยเชื่อว่าสัมปทานในประเทศนั้นหมดแล้วต้องออกไปนอกประเทศ

ยุทธศาสตร์การลงทุนของจัสมินจึงมุ่งตรงไปยังต่างประเทศเป็นหลัก ภาพการบุกขยายการลงทุนไปยังอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ภายใต้การนำของอดิศัยปรากฏออกมาอย่างฮึกเหิมระลอกแล้วระลอกเล่า

ในยุคที่โครงการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมเชื่อมระหว่างประเทศต่างๆ เป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการสื่อสาร การเกิดโครงการอีรีเดียม โกบอลสตาร์ โอเดสซี คือตัวบ่งชี้ทิศทางของธุรกิจเหล่านี้ อดิศัยก็ไม่ยอมตกยุค นำจัสมินไปลงหุ้นร่วมกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย กลายเป็น 3 พันธมิตร 3 ประเทศ ที่ร่วมกันทำโครงการเซลลูลาร์ผ่านดาวเทียม ที่ชื่อว่าเอเชียส ซึ่งอดิศัยเชื่อว่าจะเป็นฐานในการขยายไปยังต่างประเทศ

ในขณะที่การลงทุนในประเทศนั้นแทบไม่มีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้นยังคงมีสัมปทานเคเบิลใยแก้วใต้น้ำและบริการสื่อสารผ่านดาวเทียม และงานประมูลขายอุปกรณ์ให้กับหน่วยงานรัฐตามความถนัด มีเพียงการลงทุนในกิจการขนาดเล็ก ๆ บริการอินเตอร์เน็ต ร้านจัสมินช้อป

อดิศัย กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตของทุนสื่อสารในยุคนั้น เช่นเดียวกับ ดร. ทักษิณ ชินวัตร บุญชัย เบญจรงคกุล การนั่งเป็นซีอีโอในทีทีแอนด์ที และจัสมินทำให้เขาต้องเปลี่ยนสภาพจากคนที่เก็บตัวเงียบทำงานอยู่ในระดับลึกอยู่ถึง 25 ปี กลายเป็น PUBLIC FIGURE ในวงการโทรคมนาคม

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่จะคุ้นเคยได้ง่าย ยังทำให้อดิศัย และทีทีแอนด์ทีต้องกลายเป็นเป้าโจมตี

อีกทั้งการจัดการในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยการจัดการให้องค์กรมีประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานไม่เหมือนกับธุรกิจโทรคมนาคมอื่น ๆ ดาวเทียมนั้นพอยิงขึ้นฟ้าก็ได้รายได้มาทันที หรือโทรศัพท์มือถือที่พอติดตั้งเครือข่ายก็มีรายได้เปิดให้บริการได้

การลงทุนโทรศัพท์พื้นฐานนั้น ต้องลงทุนหนักกว่า มากกว่าจะคืนทุน โดยเฉพาะในการติดตั้งในต่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ห่างไกลการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งหมดทำให้การลงทุนส่วนนี้สูงมาก
แน่นอนว่าอดิศัยย่อมตระหนักดีแต่ไม่มีใครคาดคิดว่า โทรศัพท์มือถือซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 2-3 ปี จะกลายมาเป็นคู่แข่งตัวฉกาจเพราะมีค่าโทรที่ถูกกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน ในขณะที่ความต้องการใช้งานในต่างจังหวัดนั้นไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย

ทีทีแอนด์ทีมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายเกือบครึ่ง คือ รายได้ต่อเลขหมายแค่ 670 บาท จากประมาณการ 1,200 เลขหมาย

นอกจากนี้ข่าวการขัดแย้งระหว่าง พันธมิตรจัสมินและล็อกซเล่ย์เริ่มเล็ดรอดออกมาเป็นระลอก

เนื่องจากจัสมินและล็อกซเล่ย์นั้นมีงานหลายอย่างที่ทับซ้อนกันไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ และการขยายธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน คือ เป็นงานรับเหมาติดตั้งระบบโทรคมนาคมในขณะที่อิตาเลียนไทยนั้น ชำนาญในเรื่องข่ายสายตอนนอกจึงเหมาทำไปคนเดียว

แม้ว่าทีทีแอนด์ทีจะไม่ทำรายได้ แต่ดูเหมือนว่าจัสมินยังคงมีรายได้จากการขายอุปกรณ์เพิ่มเข้ามาตลอดในช่วงที่ก่อสร้างโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายดำเนินอยู่ ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง 4 พันธมิตรที่ระบุไว้ว่าในการจัดซื้ออุปกรณ์จะพิจารณาจากข้อเสนอภายในจากผู้ถือหุ้นก่อน หากอุปกรณ์ที่เสนอมาไม่ดี หรือราคาแพงกว่าจึงจะซื้อจากภายนอก

ในขณะที่ล็อกซเล่ย์นั้นดูเหมือนจะไม่ได้เม็ดเงินจากงานเหล่านี้เท่าใดนัก นอกเหนือจากส่วนแบ่งรายได้ตามสัดส่วน ซึ่งยังต้องอีกนานเพราะอยู่ในช่วงลงทุน

ช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องรายได้ของทีทีแอนด์ทีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อดิศัยเองดูจะไม่ได้วิตกกับปัญหาที่เกิดขึ้นเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อมั่นในสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจ และความเป็นนักต่อรอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีทีแอนด์ทีดูจะหนักหนาสาหัสขึ้น เมื่อภาวะตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักต่างชาติงดปล่อยเงินกู้ ที่สำคัญการยื่นขอเปลี่ยนแปลงสัมปทานเพื่อแก้ปัญหาในปัญหาส่วนแบ่งรายได้ถูกโจมตีจากรอบด้าน

อดิศัยจึงเริ่มตระหนักถึงบทบาทของตัวเองมากขึ้น

ขณะเดียวกันในด้านของจัสมินนั้น ปี 2539 นับว่าเป็นปีที่จัสมินมีการลงทุนมาก จากโครงการที่เกิดขึ้นมากมายสวนทางกับรายได้และผลกำไร ซึ่งทำได้แค่ทรงตัว เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจ และลักษณะของโครงการประเภทนี้มักจะต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่กำไรไม่มากนัก

แม้ว่า จัสมิน ซับมารีน ให้บริการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และอคิวเมนท์ ซึ่งให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม และให้เช่าบริการสถานีลูกข่ายโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทจะเป็น CASH COW ที่สร้างรายได้ประจำให้แก่จัสมิน กรุ๊ปจากค่าเช่าที่เก็บจากองค์การโทรศัพท์ฯ ที่เก็บปีละพันล้านบาท

แต่โครงการทั้งสองก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท ด้วยระบบดาวเทียมจำนวน 1,200 สถานีลูกข่าย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และการขยายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำฝั่งตะวันตกที่ต้องใช้เงินลงทุนเกือบพันล้านบาท ทำให้ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้ไม่มากนัก

ขณะเดียวกันธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของจัสมิน โครงการทั้งหมดอยู่ในช่วงของการลงทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนให้บริการโทรศัพท์มือถือ ระบบจีเอสเอ็มที่ฟิลิปปินส์ และอินเดีย การลงทุนให้บริการเพจเจอร์ในฟิลิปปินส์ รวมทั้งโครงการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมเอเซียส ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลและกว่าจะเก็บเกี่ยวรายได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี

บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทจัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่า "จัสมินมีเงินกู้จากต่างประเทศที่จะมาใช้ลงทุนอยู่แล้วถึง 400 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท แบ่งใช้ลงทุนธุรกิจต่างประเทศ 2,500 ล้านบาท โครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ 5,400 ล้านบาท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล 3,000 ล้านบาท เงินกู้เหล่านี้มีระยะเวลาการใช้คืนระยะยาว และได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ตั้งแต่ก่อนการการประกาศค่าเงินลอยตัวไว้หมดแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม"

หากเป็นภาวะที่เศรษฐกิจยังฟูฟ่อง การลงทุนในลักษณะนี้อาจไม่น่าหนักใจ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ตลาดหุ้นดิ่งเหว ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีทีแอนด์ที การลงทุนของจัสมินที่ต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้าน ทำให้อดิศัยต้องหันมาทบทวนบทบาทการลงทุนของจัสมิน

"โครงการในต่างประเทศเป็นระยะยาว จะได้กำไรในปีแรกหรือปีที่สองนั้นยาก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจและการแข่งขันก็สูง เช่น โครงการในอินเดียนั้นดีมาก แต่เนื่องจากมีการแข่งขันกัน 2 เจ้า การลงทุนก็สูง ดังนั้นพวกนี้ต้องการเวลา 3-4 ปี กว่าจะมีรายได้ เราจึงต้องกลับมาทบทวน" ดร.บัณฑิตสะท้อนแนวคิด

ภายใต้แนวคิดนี้เอง จัสมินจึงตัดสินใจขายหุ้นในธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เริ่มด้วย โครงการโทรศัพท์ในประเทศอินเดีย เป็นโครงการแรกที่หุ้นบางส่วนจะถูกขายออกไป และตามมาด้วยโครงการเอเซียส (อ่านล้อมกรอบธุรกิจต่างแดน)

รวมทั้งโครงการในประเทศ อย่างบริษัทจัสมินซับมารีน และบริษัทอคิวเมนท์ซึ่งเป็นสองโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง กำไรจึงไม่มากนัก แต่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้เต็มประสิทธิภาพของเครือข่าย ก็อยู่ภายใต้แนวคิดนี้ด้วย

การขายหุ้นในโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และอคิวเม้นท์นั้น ไม่ได้เกิดเพราะปัญหาเรื่องเงิน แต่จัสมินนั้นมองไปถึงการที่ต้องการเพิ่มการใช้งานของโครงข่ายให้เพิ่มขึ้นซึ่ง ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ในกรณีของเคเบิลใยแก้วใต้น้ำฝั่งตะวันตกนั้นมีการใช้งานอยู่เพียง 10% เท่านั้น ส่วนฝั่งตะวันออกก็มีการใช้งานอยู่แค่ 50% ดังนั้นหากมีการใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากผู้ให้บริการประเทศใกล้ ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

"การขายหุ้นไม่ใช่เพราะปัญหาเรื่องเงิน หรือโครงการไม่ดี แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่เราคิดแล้วว่า หากเราขายหุ้นแล้วได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเราก็เอามาใช้หมุนเวียนหรือคืนหนี้ในส่วนที่ดอกเบี้ยสูง ๆ ออกไป หรือไปลงทุนในโครงการอื่นที่ดีกว่า" ดร.บัณฑิต ชี้แจง

ไม่เพียงการขายหุ้นบางส่วนในโครงการต่างประเทศทิ้ง เพื่อเอากำไรจากส่วนต่างมาใช้หนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านการเงินเท่านั้น แต่อดิศัยยังเตรียมกลับไปสู่ยุทธศาสตร์เดิมที่สร้างจัสมินขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้

การลงจากตำแหน่ง ซีอีโอทั้งทีทีแอนด์ที และจัสมินในช่วงต้นปีที่ผ่านมาของ ดร. อดิศัย เพื่อลดบทบาทอันโลดโผนลง ก็นับว่ามีความหมายยิ่งนัก

ตลอดเวลาที่ผ่านมาอดิศัยกุมบังเหียนการบริหารในทีทีแอนด์ทีและจัสมิน ยิ่งธุรกิจในช่วงของการขยายตัวภารกิจของอดิศัยก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งผู้ร่วมงานหลายคนยืนยันว่าสไตล์การบริหารของอดิศัยนั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของ ONE MAN SHOW มาตลอด

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลหนึ่งที่มีการดึงเอา ดร. ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ อดีตผู้ว่า ปตท.อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่โครงการ 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเซีย มารับตำแหน่งซีอีโอแทนอดิศัย ก็เพื่อต้องการลดกระแสความขัดแย้ง

แต่ลึก ๆ แล้ว นับเป็นการปรับยุทธศาสตร์ของอดิศัย ที่ต้องการกลับไปสู่จุดเดิม จึงต้องหาคนที่มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการมาช่วยซึ่งทองฉัตรนั้นจัดว่าเป็นคนที่ชอบสร้างสิ่งใหม่ ๆ อย่างเป็นระบบ และการเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาช่วยในเรื่องการตลาด

ไม่เพียงแค่การลดบาบาทในทีทีแอนด์ที เท่านั้น แต่อดิศัยยังลดบทบาทในจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนลลงมาตั้งแต่ต้นปี และแต่งตั้ง ดร. บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ ศิษย์เก่าวิศวกรรมไฟฟ้าจาก TOKYO INSTITUTE OF TECHNOLOGY ลูกหม้ออีกคนของจัสมินขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอแทน พร้อมกับปรับโครงสร้างบริหารใหม่แบ่งเป็น 3 ส่วน มอบหมายให้ลูกหม้อ สมบุญ พัชรโสภาคย์ ทรงฤทธิ์ กุศุมรสนานนท์ และอภิชัย กาญจนบูรณ์ แบ่งรับผิดชอบงานของจัสมิน ที่มีอยู่ทั้งหมด

ช่วง 3 ปีที่แล้วมา การเติบโตของกลุ่มจัสมินทำให้อดิศัยต้องเปลี่ยนบทบาทจากที่เขาเคยเก็บตัวเงียบมาตลอด 25 ปีมาสู่สาธารณชน ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดนัก และยังทำให้จัสมิน และทีทีแอนด์ทีกลายเป็นเป้าโจมตี

กรณีการยื่นเสนอองค์การโทรศัพท์ฯ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสัมปทานโทรศัพท์ภูมิภาค จากที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน 43.1% มาเป็นหุ้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องรายได้ที่อดิศัยและจัสมินถูกโจมตีอย่างหนักทันทีที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป หรือแม้แต่การถูกโจมตีทันทีที่ข่าวการขายหุ้นในทีทีแอนด์ทีให้กับทีเอ คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น

การลดบทบาทของอดิศัย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ยุทธวิธีเดิมในการเป็นดีลเมกเกอร์ ที่เคยสร้างให้จัสมินเติบใหญ่จนทุกวันนี้ มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในโครงการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย และการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของจัสมินที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล

แต่ปัญหาก็คือ อดิศัยจะกลับไปสู่จุดเดิม และประสบความสำเร็จเหมือนในอดีตหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา

การกลับสู่อดีตของอดิศัยในครั้งนี้ มีเดิมพันสูงมากนัก เพราะจัสมินในวันนี้ไม่ใช่จัสมินเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่เป็นจัสมินที่มีอาณาจักรสื่อสารเป็นเดิมพัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us