ภายหลังการเปิดเสรีรถยนต์เมื่อกลางปี 2534 นอกจากจะส่งผลให้ตลาดรถยนต์ของไทยบูมอย่างสุดขีดแล้ว
ธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสนับสนุนยอดขายรถ ก็ได้เติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย
มูลค่าพอร์ตเช่าซื้อของบริษัทไฟแนนซ์ขยายตัวจนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่งเลยก็ว่าได้
ไฟแนนซ์หลายแห่งเพลินกับยอดปล่อยสินเชื่อ และผลกำไรมากจนกระทั่งลืมนึกคิดถึงปัจจัยสำคัญในเรื่องของความเสี่ยงกลยุทธ์ดาวน์น้อย
ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อกระตุ้นยอดขายของกันและกัน
ชั่วเวลาเพียง 5 ปีเศษ กลยุทธ์ที่ใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็ย้อนกลับเข้ามาเล่นงานไฟแนนซ์เหล่านั้นเต็มเปายอดรถยึดคืนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย
ๆ
"กว่าจะยึดมาได้ก็อยู่ในสภาพที่สุดโทรม เพราะคนที่รู้ว่าอย่างไรก็ไม่มีเงินส่งแล้ว
พวกนี้จะใช้รถกันแบบอุตลุดรถบางคันซื้อไปแค่ไม่กี่เดือน เหยียบไปแล้วหลายหมื่นกิโลพอจะเอามาขายต่อก็ขายยาก
บางทีทิ้งไว้เฉย ๆ หลายเดือนซึ่งก็มีต้นทุนทางการเงินอีก ขายก็ไม่ได้ราคานัก"
แหล่งข่าวในแวดวงเช่าซื้อรำพัน
เมื่อรถยึดมีมากขึ้นแล้วไม่สามารถขายออกไปได้ก็ส่งผลถึงสภาพคล่องของไฟแนนซ์
ดังที่เป็นข่าวเกรียวกราวในช่วงต้นปีถึงผลขาดทุนนับ 100 ล้านบาทในพอร์ตเช่าซื้อของบริษัทเงินทุนขนาดยักษ์อันดับ
1 ของไทยอย่าง บง. เอกธนกิจ
ภายหลังประกาศฟ้าผ่าของภาครัฐปิดไฟแนนซ์ 16 แห่งสังเวยสภาพเศรษฐกิจเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
3 ไฟแนนซ์ใหญ่ทางด้านสินเชื่อเช่าซื้อ ทั้ง บง. เอกธนกิจ บงล. ศรีมิตรและ
บงล. จีเอฟ ติดกลุ่มนี้ด้วย
ระลอกแรกกระทบกับรถญี่ปุ่นอย่างจัง เพราะ 3 รายใหญ่ดังกล่าวเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ญี่ปุ่นเป็นหลัก
ในส่วนของรถยุโรป ยังไม่กระทบมากนัก เพราะรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ เช่น บงล.
ทิสโก้ บมจ. สยามพาณิชย์ลิสซิ่ง บงล. ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) ไม่ได้ติดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว
อย่างไรก็ตามการประกาศปิดสถาบันการเงินครั้งนี้ทำให้บริษัทรถยนต์หลายค่ายเริ่มตระหนักว่า
ถึงเวลาแล้วที่ควรจัดตั้งบริษัทลิสซิ่งของตัวเองอย่างครบวงจร ขณะที่ค่ายรถยนต์อีกหลายแห่งที่ตาไวก็จัดตั้งบริษัทลิสซิ่งไว้ล่วงหน้าก่อนมีปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว
ทุกวันนี้ดีลเลอร์รถทุกค่ายต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากรถจะขายยากเนื่องจากราคารถที่สูงขึ้นตามต้นทุนการนำเข้า
การผลิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้คนกลับมีอำนาจซื้อลดลง ประกอบเงื่อนไขในการจัดไฟแนนซ์ที่เข้มงวดขึ้นยังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง
รุ่งโรจน์ จรัสวิจิตรกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและเครดิตเช่าซื้อ บงล. ทิสโก้
เปิดเผยว่า นโยบายการให้สินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทในช่วงนี้จะค่อนข้างเข้มงวด
โดยกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำไว้ที่ 30% ระยะเวลาในการผ่อนชำระไม่เกิน 48 งวด
นอกจากนี้ยังพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงในเรื่องอื่น ๆ มากขึ้น เช่น อาชีพใดที่เสี่ยงต่อการตกงานสูง
ก็ไม่รับ
"ทุกวันนี้เราดูเรื่องความเสี่ยงเป็นหลักยอดการปล่อยสินเชื่ออาจจะไม่ได้ตามเป้า
วอลุ่มตกลงไปบ้างไม่เป็นไร ดีกว่าที่จะต้องยึดรถของลูกค้าซึ่งไม่คุ้มที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เพราะค่อนข้างเข้มงวด"
รุ่งโรจน์กล่าว
อย่างไรก็ดีในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงประมาณ 11-12% ในขณะนี้นั้น
สาเหตุมาจากปัญหาเรื่องสภาพคล่องและต้นทุนเงินที่ค่อนข้างสูง ซึ่งในประเด็นนี้ภายหลังจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF) เข้ามาช่วยเหลือ อาจจะทำให้สภาพคล่องดีขึ้น และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง
การเข้มงวดของบริษัทไฟแนนซ์ส่งผลให้ดีลเลอร์ทำตลาดยากเย็นขึ้นไปอีก "ลูกค้าบางรายมาซื้อรถ
แต่เราไม่สามารถหาไฟแนนซ์ให้ได้ ก็จบ หรือเงื่อนไขสูง เดิมดาวน์กัน 20-25%
ตอนนี้ก็ 30-50% ระยะเวลาในการผ่อนชำระแต่ก่อน 48 เดือน 60 เดือน เดี๋ยวนี้บางแห่งขอ
36 เดือน ดอกเบี้ยก็สูง 11-12% คนเขาก็ไม่อยากมาซื้อ" ดีลเลอร์รายหนึ่งกล่าว
นับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งสำหรับค่ายรถที่มีบริษัทลิสซิ่งของตัวเอง เพราะจะช่วยผลักดันยอดขายของดีลเลอร์ต่อไปได้
การปรับกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการขายครั้งนี้ ก็ทำให้ค่ายรถแต่ละค่ายต้องกุมขมับเหมือนกัน
เนื่องจากธุรกิจลิสซิ่งนั้นจำเป็นต้องลงทุนสูง คืนทุนช้า ทั้งยังแบกรับภาระความเสี่ยงไว้เต็มเปา
"การที่ค่ายรถทำเช่าซื้อเอง จะมีความเสี่ยงสูงกว่าไฟแนนซ์ทั่วไปในแง่ที่ว่า
ถ้าลูกค้ามาตรฐานต่ำไปนิดหนึ่งไฟแนนซ์ทั่วไปสามารถปฏิเสธได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทลิสซิ่งของค่ายรถนั้น
ๆ อาจจะต้องยอมรับไว้ก่อน เพราะถ้าไม่รับก็ขายรถไม่ได้ เสร็จแล้วตอนหลังต้องยึดรถลูกค้ามันก็ไม่คุ้มกัน"
แหล่งข่างรายหนึ่งอธิบาย
นอกจากนี้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่นเงินดาวน์ ระยะเวลาในการผ่อนชำระ และอัตราดอกเบี้ย
ก็จำเป็นต้องผ่อนปรนลงมา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะส่งผลถึงการทำกำไรของบริษัทลิสซิ่งในเครือด้วย
อย่างไรก็ดี ค่ายรถจำนวนมากมีบริษัทลิสซิ่งในเครืออยู่แล้ว เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์
บีเอ็มดับบลิว ฟอร์ด โตโยต้า ขณะที่อีกหลายค่ายตัดสินใจจัดตั้งบริษัทลิสซิ่งขึ้นมาเอง
และกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง นอกจากนั้นยังมีค่ายรถอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและยังไม่มีนโยบาย
(ดูตารางนโยบายจัดตั้งบริษัทลิสซิ่งประกอบ)
จากตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการรวบรวมมูลค่าสินเชื่อเช่าซื้อของไฟแนนซ์
91 แห่งเป็นรายไตรมาสพบว่า ในปี 2537 มูลค่าสินเชื่อเช่าซื้อรวมเท่ากับ 328,337.3
ล้านบาท และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 423,439 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราการขยายตัว
28.96% ในปี 2538 และชะลอตัวลงในปี 2539 โดยขยายตัวเพิ่ม 20% เป็น 508,157.2
ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 1 ปี 2540 ไฟแนนซ์ 91 แห่งได้มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อไปแล้วทั้งสิ้น
124,722.58 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง
2.23% เท่านั้น (ดูตารางมูลค่าเช่าซื้อประกอบ)
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากไฟแนนซ์หลายรายมีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้มูลค่าการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวมน่าจะตกต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
อันเป็นผลมาจากการปิดไฟแนนซ์ 58 แห่ง ขณะที่ไฟแนนซ์อีก 33 แห่งที่เหลืออยู่ต่างก็เข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น
เมื่อหัวใจหลักที่ส่งให้เกิดการจำหน่ายรถยนต์ต้องอับเฉาลง ตลาดรถยนต์เมืองไทยก็คงไม่ต่างจากต้นไม้ที่ไร้น้ำรดเพื่อหล่อเลี้ยงชีพ
กิ่งก้านที่เคยงอกงามก็คงถึงคราวต้องเหี่ยวเฉา แต่จะถึงขนาดยืนตายซากหรือไม่
วันนี้ยังไม่มีใครกล้ากล่าวปฏิเสธสถานการณ์ดูเลวร้ายและน่ากลัวยิ่ง