ผู้บริหารของโตโยต้า กล่าวว่า บริษัทจำต้องลดกะการทำงานจาก 2 กะ ลงเหลือ
1 กะ เพื่อลดกำลังการผลิตลงจาก 10,000-12,000 คันต่อเดือนเหลือเพียง 7,000
กว่าคันต่อเดือนเท่านั้น
การต้องปิดโรงงานเป็นการชั่วคราว และการประกาศลดกำลังการผลิตลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์นั้น
ถือว่าสะเทือนใจคนโตโยต้าอย่างมาก เพราะหลายสิบปีมานี้ รับรู้กันว่า โตโยต้านั้นใหญ่คับฟ้าเมืองไทยทีเดียว
จะขยับทางไหนก็สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่คู่แข่งทั่ววงการ
ต่อเมื่อมาพบคู่ปรับยี่ห้อ "วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ" ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า
ก็แทบรับศึกไม่ไหว ยิ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และมีหน้ามีตาเช่นนี้แล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังในการพลิกแผน
โดยเฉพาะการโละพนักงานนั้นเป็นเรื่องต้องแยบยลที่สุด
ในองค์กรโตโยต้าทุกวันนี้ถึงกับเปรียบเปรยกันว่า ผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะ
ผู้บริหารที่เป็นคนไทยนั้น ถึงกับพูดไม่ได้ คิดไม่เป็น กันเลยทีเดียว เพราะเรื่องวุ่น
ๆ ที่ต้องตามแก้มีมากเหลือเกิน
ยิ่งมองถึงตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนล่าสุด (กรกฎาคม 2540) ดูเหมือนว่า โตโยต้า
กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะสูญเสียความเป็นผู้นำตลาดรถยนต์นั่งที่เคยครองความยิ่งใหญ่มาตลอดสิบปี
ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งโตโยต้าในเดือนกรกฎาคม 2540 ตกลงไปอยู่ที่ 2,422 คันเท่านั้น
เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถือว่าตกต่ำลงกว่า 40% ทีเดียว ส่วนยอดจำหน่ายปิกอัพนั้นอีซูซุก็เริ่มทิ้งห่างโตโยต้าออกไปทุกขณะ
ในด้านยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งนั้น อาจอธิบายได้ง่าย ๆ ว่าเป็นเพราะยอดการสั่งซื้อโซลูน่า
รถยนต์นั่งที่ฮือฮามากที่สุดในประวัติศาสตร์รถยนต์เมืองไทย ได้หมดจำนวนลงแล้ว
และยอดใหม่ที่เข้ามาก็น้อยนิด ประกอบกับรถยนต์ยอดนิยมอย่างโคโรล่า ก็ดูอ่อนล้าเหลือเกิน
หรือว่า โตโยต้า กำลังไร้จุดขายในตัวผลิตภัณฑ์เสียแล้ว
แต่ผู้บริหารยังยืนยันว่า ตัวเลขที่เห็นล่าสุดนั้น เพราะอยู่ระหว่างการปรับสายการผลิต
ก่อนที่โตโยต้า กำลังจะทำอะไรบางอย่าง ที่กล่าวอ้างว่าจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดรถยนต์เมืองไทยอีกครั้ง
แต่มันจะคืออะไร ยังมองไม่ออกจริง ๆ และก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ยอดจำหน่ายจากที่เคยพุ่งถึงเดือนละ
5-6 พันคันในปีนี้ ต้องหดลงมาเหลือเพียงกว่าสองพันคันเท่านั้น
หลายคนอาจมองว่าสถานการณ์อย่างนี้ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าน่าจะได้เปรียบ
แต่แท้จริงแล้วความยากลำบากมีมากมายกว่าบริษัทเล็ก ๆ หลายสิบเท่านัก และจากการที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา
โตโยต้าได้เน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก แผนการส่งออกจากฐานในไทยเพิ่งเป็นแค่การเริ่มต้นคลำทาง
ทั้ง ๆ ที่น่าจะทำใด้เมื่อหลายปีก่อนแล้ว
ดังนั้นเมื่อตลาดในประเทศตกต่ำลงอย่างทันทีทันใด เช่นนี้ ยิ่งเป็นแรงบีบให้โตโยต้าต้องรีบเร่งหาหนทางลดภาระและคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว
"เร่งแผนการส่งออก" แต่ถามว่า จะสามารถเร่งได้เร็วตามใจปรารถนาภายในไม่กี่เดือนเชียวหรือ
ซึ่งประเด็นนี้ผู้บริหารกล่าวว่า การส่งออก เราคงไปเร่งให้เร็วขึ้นอย่างทันทีทันใดไม่ได้
ทุกอย่างคงต้องดำเนินการไปตามแผนงานระยะยาว อาจจะมีเร็วขึ้นบ้างแต่ไม่ใช่ภายในปีสองปีจะขยับขยายอย่างผิดหูผิดตา
เพราะเราต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพและความสามารถในการผลิตของเราเป็นหลักสำคัญรวมถึงแผนรองรับอย่างต่อเนื่อง
"แล้วถ้าเป็นการลดกำลังการผลิต หยุดการขยายงานล่ะ" แน่นอนว่าต้องชะลอไม่ต่ำกว่า
1 ปี แล้วเงินลงทุนกับโครงการใหญ่ที่ลงไปมากมายแล้วที่โตโยต้า เกตเวย์ จะคุ้มค่ากันหรือไม่
หรือว่า โตโยต้า จะต้องตัดสินใจขั้นเด็ดขาดกับตลาดไทย ตามที่ผู้บริหารได้แย้มไว้
"สถานการณ์เช่นนี้ ถึงเวลาแล้วที่โตโยต้าจะต้องทำอะไรหลายอย่าง เพื่อครอบครองตลาดโดยส่วนใหญ่เอาไว้ในมือและอีกไม่นานจากนี้ต้องคอยติดตามกิจกรรมของเรา
และไม่มีครั้งไหนที่เราจะบุกอย่างรอบด้านเช่นนี้" ผู้บริหารของโตโยต้ากล่าวกับ
"ผู้จัดการรายเดือน"
อย่างไรก็ดี ผู้บริหารโตโยต้า ยอมรับว่า จากสภาพการณ์ที่ประสบอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อแผนงานของโตโยต้าค่อนข้างมาก
แต่เมื่อโตโยต้า ได้ลงทุนไปมากแล้ว การที่จะถอยเพื่อรอดูสถานการณ์จึงไม่น่าจะใช่หนทางที่ถูกต้องนัก
ดังนั้นในช่วงหลายเดือนมานี้ จึงได้พัฒนาระบบงานต่าง ๆ ทั้งภาคการผลิตในโรงงาน
การจัดการภายในสำนักงาน และการพัฒนาเพื่อเพิ่มความเข้มของงานการตลาด
"เราเลือกที่จะคุมต้นทุนให้อยู่ ก่อนที่จะผลักภาระให้ผู้บริโภค ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้แล้ว
ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญและอาจกลายเป็นภาพพจน์ที่ดีของโตโยต้าเลยทีเดียว"
ผู้บริหารกล่าว
แน่นอนว่าราคาจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า ได้ปรับตามภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว แต่ในส่วนของการปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น
ยังไม่มีการขยับในส่วนนี้ และแม้ว่า สุพจน์ วิสุทธิผล กรรมการบริษัท จะเคยออกมาแถลงข่าวว่า
โตโยต้า อาจจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายตามต้นทุนจริงที่เพิ่มสูง ซึ่งการปรับราคานั้นน่าจะมีในช่วงเดือนกันยายน
แต่ผู้บริหารของโตโยต้าผู้หนึ่งยืนยันว่า ที่สุดแล้วโตโยต้าคงเลือกหนทางไม่ปรับราคามากกว่า
เพราะการพัฒนาเพื่อคุมต้นทุนอย่างรอบด้านของโตโยต้า จนถึงวันนี้เริ่มเห็นชัดแล้วว่ามีทางเป็นไปได้
"การที่เราแถลงข่าวออกไปอย่างนั้น ไม่ใช่เราต้องการทำให้คู่แข่งหลงทาง
และคู่แข่งก็คงไม่มารอหรอกว่าโตโยต้าจะปรับราคาหรือไม่ แต่ที่เราแถลงข่าวเช่นนั้นเพราะยังไม่มั่นใจว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
และความพยายามของเราจะสำเร็จหรือไม่"
การเลือกที่จะพยายามไม่ปรับราคาจำหน่าย เป็นมาตรการหนึ่งที่โตโยต้าหวังจะสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับตลาดและแน่นอนว่านโยบายครั้งนี้
ย่อมได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากทีเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าโตโยต้าจะทำได้สำเร็จหรือไม่
โตโยต้า ยังวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในลักษณะการเข้าถึงลูกค้าโดยตรงตามหัวเมืองใหญ่
ๆ เพื่อเป็นการบุกตลาดภูธรให้มากขึ้น เช่นการจัดงานที่เชียงใหม่และจังหวัดรอบ
ๆ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม และจะมีที่หาดใหญ่ อุบลราชธานี ซึ่งรูปแบบงานนั้นใหญ่โตตามลักษณะนิสัยองค์กร
ยังมีอีกหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการจัดการ การมีกิจกรรมและเครือข่ายเกื้อหนุนอย่างรอบด้าน
เงินทุนที่มหาศาลโดยเฉพาะการตั้งโตโยต้า ลิสซิ่ง ขึ้นมาเป็นฐานสำคัญ และจะยิ่งมีความสำคัญอย่างมากในช่วงสถานการณ์เช่นนี้
(อ่านล้อมกรอบเช่าซื้อรถยนต์)
"การกระทำครั้งนี้ไม่ใช้การตั้งรับสถานการณ์ที่เลวร้ายแต่เป็นการบุกตลาดอย่างที่เราตั้งใจไว้อยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น เป็นตัวเร่งให้เราต้องดำเนินการเร็วขึ้นเท่านั้นเอง"
ผู้บริหารยืนยันอย่างหนักแน่น
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยได้กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่น่าจับตามากที่สุดในช่วงสถานการณ์ที่วิกฤตเช่นนี้
โตโยต้า อาจจะล้ม
หรืออาจจะรุกเข้าครอบงำตลาดอย่างเบ็ดเสร็จ
สถานการณ์ตรงนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด