Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2540
"อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ไร้หนทาง ชะลอโครงการ-ปิดโรงงาน-โละคน"             
โดย สันทิฏฐ์ สมานฉันท์ กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
 

 
Charts & Figures

ยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2540
ยอดจำหน่ายรถยนต์ไทยนับจากปี 2534
ยอดการส่งออกรถยนต์จากไทยปี 2539 และครึ่งปีแรก 2540


   
search resources

Vehicle




ไม่เคยมีวิกฤตการณ์ครั้งใด ที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยต้องหยุดชะงักและยุ่งยากถึงเพียงนี้

โรงงานผลิตรถยนต์หลาย ๆ โรง ต้องหยุดการผลิต 1 สัปดาห์บ้าง หรือถึงขั้นเป็นเดือน แล้วแต่ว่าใครจะมีสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่า

ไม่เว้นแม้แต่ โตโยต้า ยักษ์ใหญ่จากซีกโลกตะวันออก ที่อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกของฐานการผลิตในไทยแห่งนี้ ที่จำต้องหยุดการผลิต หลังจากที่ตลอดกว่า 30 ปี ได้เจริญรุดหน้ามาอย่างงดงาม การปิดโรงงานแม้เพียงช่วง 1 สัปดาห์เดียว และมีข้ออ้างมากมาย แต่เมื่อเป็นโรงงานโตโยต้า สถานการณ์เช่นนี้จึงไม่ธรรมดาเสียแล้ว

หรือกระทั่ง จีเอ็ม ยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตก ที่แถลงข่าวอย่างใหญ่โตในการลงทุนเกือบสองหมื่นล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็นฐานส่งออกรถยนต์โอเปิลปีละเกือบหนึ่งแสนคัน มาวันนี้แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าโครงการเดินหน้าต่อไปตามแผน แต่สถานการณ์ก็ยังไม่แน่นอน เพราะซัปพลายเออร์ต่าง ๆ ที่จะเคลื่อนทัพตามเริ่มลังเล

ในสภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งเหว คนตกงานมีให้เห็นอย่างดาษดื่น ด้วยจำนวนตัวเลขที่เราไม่อยากได้ยิน ชนชั้นกลางเรื่อยลงไปเดือดร้อนอย่างหนัก กลุ่มคนเหล่านี้คือลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่งของตลาดรถยนต์เมืองไทย มองแค่นี้ก็คงพอจะเดาออกว่าตลาดยานยนต์ของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

ซ้ำร้าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ปรับขึ้นเป็น 10 % ซึ่งมาพร้อมกับการปรับราคาจำหน่าย เพราะต้นทุนดำเนินการของอุตสาหกรรมนี้ ต้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลของเงินบาทลอยตัว ตามที่กล่าวอ้าง รวมแล้วราคารถยนต์จะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 6% จนถึงกว่า 20% ในบางยี่ห้อ บวกกับการปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง และที่เหลืออยู่ก็เริ่มเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น เช่นนี้แล้วตลาดรถยนต์เมืองไทยจากนี้ไปคงวิเวกวังเวงน่ากลัวเอามากมาก

เมื่อตลาดในประเทศถดถอยอย่างคาดไม่ถึงขณะที่การส่งออกก็กระเตื้องเพียงหยิบมือ

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ต่างขนานนามว่า "ดีทรอย์เอเชีย"

ชื่นชมกันมา กว่า 2 ปี

แล้วพรุ่งนี้จะเหลือซากอะไรให้เห็น!!!

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ย้ำความวิตกกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"สัปดาห์นี้บริษัทรถยนต์หลายแห่ง ถือโอกาสหยุดโรงงานประกอบ เพราะรถที่ประกอบออกมามันล้นโรงงานแล้ว "ไพบูลย์ ภู่เจริญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด และในฐานะของ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

นับจากวันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2540 เป็นเวลา 9 วัน ที่โรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ อย่างโตโยต้า อีซูซุ ต้องปิดโรงงาน และยังมีอีกหลายราย เช่น นิสสัน ฮีโน่ ที่ต้องหยุดการผลิตเป็นเวลานับเดือน

รายงานข่าวจากนิสสัน มอเตอร์ เปิดเผยว่า นิสสันได้หยุดการผลิตของโรงงานหนึ่งแห่งในประเทศไทยจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

"นโยบายนี้ไม่เกี่ยวกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบ เป็นเรื่องของความต้องการตลาดที่หดหายไป"

ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2540 ยอดการจำหน่ายรถยนต์นิสสันในประเทศไทยลดลงถึง 39.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

การหยุดการผลิตเพื่อเตรียมปรับลดกำลังการผลิตนั้นเป็นทางออกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งก็ยังดีกว่าปล่อยให้รถยนต์ที่ผลิตล้นสต็อกซึ่งจะก่อให้เกิดภาระดอกเบี้ยจากการสต็อกเป็นจำนวนมหาศาล

สมชาย อินทิราวรนนท์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรม บริษัท สยามนิสสันออโตโมบิล จำกัด กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่บริษัทรถยนต์ทุกรายต้องประคับประคองตัวเองให้ได ้โดยต้องยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น

"ตอนนี้อยู่ที่ใครจะประคับประคองตัวเองได้ดีกว่ากันต้องยอมรับความเป็นจริง อย่างปิกอัพก็เห็นกันอยู่ว่าตกกันทุกราย"

นิสสัน ต้องปรับลดเป้าหมายการจำหน่ายลงมาจาก 95,000 คันเหลือเพียง 75,000 คัน พร้อมด้วยการส่งเสริมการตลาดที่เน้นไปที่ราคาจำหน่าย เพื่อให้สินค้าดูคุ้มค่ากับราคาที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น การลดราคาจำหน่ายซันนี่ลงมาหนึ่งแสนบาท การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ด้วยราคาจำหน่ายที่ไม่สูงนัก

สมชายยังกล่าวว่า นอกจากการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่ถูกต้องแล้ว ความจำเป็นในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายก็เกิดขึ้นด้วย โดยบริษัทเองได้หาทางลดค่าใช้จ่ายทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นงบการตลาด ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อดีลเลอร์ในต่างจังหวัดบ้างให้เรื่องการสนับสนุน

สำหรับต้นทุนในเรื่องของแรงงานนั้น สิ่งที่นิสสันได้ดำเนินการไปอย่างชัดเจนแล้วก็คือ การหยุดว่าจ้างพนักงานชั่วคราว โดยเฉพาะภาคการผลิตซึ่ง สมชาย ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่นิสสันได้ดำเนินการด้วยวิธีนี้ เพราะต้นทุนแรงงานเป็นต้นทุนหลักในภาคการผลิต ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ทุกอุตสาหกรรมก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

ส่วนการขยายการลงทุนนั้นก็ต้องมองอย่างประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุดจึงจะดำเนินการ อย่างเช่น นิสสัน พรีมิร่า ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี และมียอดจำหน่ายประมาณ 300 คันต่อเดือน และนิสสันก็ยังไม่ตัดสินใจเริ่มแผนการประกอบในไทย

"การประกอบรถยนต์รุ่นอื่น ๆ คงต้องรอก่อน การประกอบรถ 1 รุ่นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้คงทำได้ยาก กว่าจะประกอบได้ก็คงอีก 2 ปี หรือแม้แต่การเพิ่มกำลังการผลิตซันนี่ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด เรายังต้องเลือกวิธีที่ประหยัดที่สุดเลย"


อย่าว่าแต่นิสสันเลยที่กระทบกระเทือนอย่างหนักแม้กระทั่งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ในช่วง 6 เดือนของปีน ี้สามารถสร้างส่วนแบ่งตลาดรถยนต์รวมได้เป็นประวัติการณ์มากกว่า 30% โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งที่สามารถดึงส่วนแบ่งตลาดได้มากกว่า 40% ก็ยังไม่อาจพ้นชะตากรรมนี้ไปได้ อาจต่างตรงที่ว่า มีวิธีคิดและอำนาจทุนของโตโยต้านั้น กล้าที่จะฝ่ามรสุม มากกว่านั่งรอความตาย (อ่านล้อมกรอบ)

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าในขณะนี้เกือบทุกค่ายรถยนต์ในไทย ได้ประกาศปรับลดกำลังการผลิตกันอย่างทั่วหน้า ไม่ว่าจะเป็นค่ายยุโรป หรือญี่ปุ่น และไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ หรือรถบรรทุก

โดยเฉพาะรถยนต์ปิกอัพและรถบรรทุกนั้น ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยยอดจำหน่าย 7 เดือนแรกของปีนี้รถบรรทุกลดลงเกือบ 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนรถยนต์ปิกอัพตกต่ำลงกว่า 20% ยิ่งเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นยอดจำหน่ายที่คนในวงการให้จับตาดูความตกต่ำว่าจะมีอย่างมากมาย และจะเป็นตัวสะท้อนภาพของครึ่งปีหลังได้เป็นอย่างดีนั้น เมื่อตัวเลขออกมาก็พบว่าตกต่ำลงอย่างมากมายตามที่คาดไว้จริง ๆ (รายละเอียดดังตาราง)

ในสภาพการณ์เช่นนี้คงจะมีเพียงค่ายฮอนด้า และมิตซูบิชิ ที่ยังสามารถทรงสถานการณ์ไว้ได้ ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

วัชระ พรรณเชษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ กล่าวว่า บริษัทต้องศึกษาถึงความต้องการในตลาดก่อน เพราะปีนี้เหลือเวลาอีก 4 เดือนหากมีการลดเป้าลงก็ต้องลดโดยเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน เนื่องจากกำลังการผลิตแต่ละเดือนใกล้เคียงกัน

"สภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ คนหมดศรัทธาเมืองไทย การทำธุรกิจถ้าขายแค่ในประเทศจะมีปัญหามาก ตอนนี้เราจึงเน้นการส่งออกมากขึ้น โดยกำลังการผลิตเก๋งจะลดลง ปิกอัพซึ่งส่งออกจะเพิ่มขึ้น มาอยู่ในสัดส่วนผลิตเก๋ง 40% ปิกอัพ 60%"

จากยอดกำลังการผลิตประมาณ 90,000 คันของมิตซูบิชิ บริษัทมีแผนการที่จะส่งออกปิกอัพถึง 60,000 คันนับจากเดือนมีนาคมปีนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมปี 2541 ซึ่งคิดเป็นการส่งออกถึง 66% ของกำลังการผลิตเลยทีเดียว

สำหรับค่ายมิตซูบิชินั้น ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายเดียวของไทยที่เริ่มต้นการส่งออกอย่างจริงจัง และมูลค่าการส่งออกหลายพันล้านบาทในแต่ละปีของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย มาจากค่ายรถยนต์แห่งนี้

ทั้งนี้ เอ็มเอ็มซี สิทธิผล สามารถส่งออกปิกอัพมิตซูบิชิ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ได้ทั้งสิ้น 18,277 คัน ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่บริษัทได้วางไว ้และเมื่อรวมยอดจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกเข้าด้วยกันแล้ว มิตซูบิชิจะมีอัตราการขยายตัวของยอดการจำหน่ายถึงประมาณ 50% ทีเดียว

สำหรับฮอนด้า ซึ่งนับว่าเป็นค่ายรถยนต์ที่แข็งแกร่งไม่แพ้โตโยต้าในตลาดรถยนต์นั่ง และด้วยความที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์นั่งเพียงอย่างเดียวในตลาดรถยนต์ จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในระยะนี้น้อยที่สุด

"ฮอนด้ายังไม่ได้ตัดสินใจที่จะลดกำลังการผลิตในประเทศไทยลง แต่กำลังจับตามองตลาดอย่างใกล้ชิด และบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากฮอนด้ามีเพียงการประกอบรถยนต์นั่งเท่านั้น" ผู้บริหารของฮอนด้ากล่าว

อย่างไรก็ตาม ซาโตชิ โตชิดะ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้าคงต้องมีการปรับตัวรับสถานการณ์ในระยะสั้นเช่นกัน โดยฮอนด้าจะเน้นที่การลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ให้ลดลง ส่วนในระยะยาวนั้นมีแผนที่จะใช้ชิ้นส่วน และอะไหล่ในประเทศให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของต้นทุน

กระนั้นก็ตามในระยะสั้นนี้เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นประมาณ 20% บวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มเป็น 10% อาจทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าต้องปรับตามไปด้วย ประมาณ 8-10% แม้จะพยายามลดต้นทุนในหลายด้านแล้วก็ตาม

"แต่การปรับราคารถยนต์นั้น คงต้องดูปัจจัยหลาย ๆ ด้านประกอบด้วย ทั้งในเรื่องสภาพตลาด การแข่งขันกำลังซื้อของผู้บริโภค ราคาชิ้นส่วน และการปรับตัวของคู่แข่งขัน " ซาโตชิกล่าว

ซาโตชิยังให้ความเห็นเกี่ยวกับตลาดรถยนต์ของไทยในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ว่า คงอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก โดยเฉพาะผลจากการที่รัฐบาลประกาศปิดสถาบันการเงินจำนวน 58 แห่ง ส่วนบริษัทที่เหลือและบริษัทลิสซิ่งต่าง ๆ ก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น เช่นต้องมีเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30% ระยะเวลาผ่อนชำระก็ลดลงเหลือ 36 เดือนทั้งยังคิดดอกเบี้ยในอัตราสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าสำคัญมากที่มีผลให้ตลาดรถยนต์ต้องตกต่ำลง

"แต่ฮอนด้า ก็ยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีแนวโน้มในระยะยาวที่ดีภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์แห่งการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในระยะนี้ไปได้" ซาโตชิ กล่าวอย่างมั่นใจ

เช่นเดียวกับ คาร์ล เอช. กาซกา ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดและการขายจากบีเอ็มดับบลิว เอจี เยอรมนี ที่มองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกันแล้ว ไทยมีความน่าลงทุนและมีอนาคตมากกว่า

"มาเลย์และอินโดนีเซียนั้นได้เน้นไปที่นโยบายรถยนต์แห่งชาติมาก จึงค่อนข้างจะกีดกัน ส่วนฟิลิปปินส์ก็กำลังเติบโตแต่ก็อาจจะมีบทบาทได้ในอนาคต ดังนั้นเมื่อมองในขณะนี้จึงนับว่าไทยพร้อมที่สุด ทั้งตลาดอุตสาหกรรมเกื้อหนุนทั้งที่มีอยู่แล้ว และกำลังจะตามจีเอ็มเข้ามา รวมทั้งพัฒนาการของผู้ผลิตชาวไทยที่ดีขึ้นมาโดยตลอด จึงคิดว่าในระยะยาวแล้ว ไม่น่าเป็นห่วงนัก" กาซกา กล่าว

กาซกายังกล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงแล้วแม้มองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่ก็ไม่อาจยืนยันว่าเป็นหนทางที่ถูกต้องนัก เพราะการเน้นที่อุตสาหกรรมด้านหนึ่งด้านใดมากเกินไปนับว่าเป็นเรื่องอันตรายเพราะถ้าล้มครืนลงมาก็มีปัญหาและยากที่จะแก้ไขได้ เช่น ดีทรอยต์ของอเมริกาก็เคยประสบปัญหาเช่นนี้มาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐจะต้องทำความเข้าใจและหาหนทางถ่วงดุลให้ได้

สำหรับแนวทางเติบโตต่อไปอย่างมั่นคงและมีอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นกาซกากล่าวว่า ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องเติบโตให้ถูกทาง แนวทางที่ดีที่สุดก็คือ อาเซียนต้องหาทางขยายฟรีเทรดโซนให้ได้ เพื่อขยายฐานการผลิตและตลาด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการส่งออก

"การฟื้นตัวคงไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชี้ชัดว่าจะกี่ปี แต่ก็หวังว่าในปี 1999 คงจะมีสภาพดีขึ้นกว่านี้ แต่ยังมั่นใจว่าระยะยาวแล้วจะไปได้ดี ยังมีอนาคตอยู่" ความหวังของกาซกาที่กล่าวออกมา

ไทยยังมีความหวัง แต่ก็ต้องจับตาดูว่า การลดกำลังการผลิตจะส่งผลรุนแรงแค่ไหนต่ออนาคตของฐานการผลิตในไทย และจะเกี่ยวเนื่องไปยังอุตสาหกรรมเกื้อหนุนหรือไม่

"อุตสาหกรรมเกื้อหนุนคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นในสถานการณ์แบบนี้แน่นอนว่าจำนวนผลผลิตต้องลดลงด้วยตามกำลังการผลิตของโรงงานประกอบยิ่งบางเมกเกอร์ ถ้าผูกกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ล้วน ๆ และหากเป็นรุ่นที่มีปัญหาตรงนั้น จะกระทบมาก อาจถึงขั้นต้องปิดกิจการก็ว่าได้ เพราะครั้งนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นแรงและเร็วมาก " ไพบูลย์กล่าว

สำหรับอีซูซุเอง ก็นับว่าย่ำแย่พอสมควร เพราะไม่เพียงต้องลดกำลังการผลิตเพียง 1 กะ แต่ถึงขนาดต้องชะลอโครงการโรงงานผลิตรถบรรทุกที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้เอาไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ลงทุนก่อสร้างไปกว่า 80% แล้ว ซึ่งไพบูลย์กล่าวว่า ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าจะต้องชะลอออกไปนานแค่ไหน

โรงงานแห่งนี้ อีซูซุวางแผนว่าจะใช้เป็นโรงงานผลิตรถบรรทุกด้วยเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี ทั้งนี้ก็เพื่อหลังจากย้ายสายการผลิตรถบรรทุกออกมาจากโรงงาน เดิมแล้ว จะได้ขยายสายการผลิตรถยนต์ปิกอัพเข้าแทนที่

"ที่คิดจะย้ายเลยหยุดไว้ก่อน พอทำที่นี่ได้ก็ทำไปก่อน เพราะถ้าดันต่อไปก็คงไม่คุ้ม" ไพบูลย์กล่าวอย่างหมดแรง

แม้สถานการณ์การลดกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ในเวลานี้ จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม และอาจกระทบถึงขั้นรุนแรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งรายใหญ่และรายเล็กซึ่งจะเกี่ยวพันเป็นลูกโซ่ต่อไปเป็นขั้น ๆ นั้น แต่ความหวังของผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ยังพอมีอยู่บ้าง จากโครงการของฟอร์ด-มาสด้า และจีเอ็ม ซึ่งต่างยืนยันที่จะไม่เปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนในระยะยาวสำหรับประเทศไทย

การเข้ามาของจีเอ็ม และการลงทุนของฟอร์ด-มาสด้านั้น ไม่ใช่เฉพาะการต่ออายุให้กับอุตสาหกรรมเกื้อเท่านั้น แต่อาจรวมถึงการยืดลมหายใจของแรงงานอีกจำนวนนับพันนับหมื่นคน

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจีเอ็มได้พาคณะผู้สื่อข่าวไปดูความคืบหน้าของโครงการโรงงานผลิตรถยนต์โอเปิลที่จังหวัดระยอง เช่นเดียวกับฟอร์ด ที่ได้พาผู้สื่อข่าวไปดูความคืบหน้าของโรงงานและโครงการเกี่ยวเนื่องเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองยักษ์จากอเมริกา ต่างยืนยันอย่างหนักแน่นว่าโครงการจะยังคืบหน้าไปตามแผนงานเดิมทุกอย่าง เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มองถึงระยะยาว ดังนั้นวิกฤตการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้สร้างความวิตกให้แม้แต่น้อย

โรนัลด์ ดี. ฟริซเซลส์ ประธานบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงโครงการลงทุนมูลค่า 18,750 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยองบนเนื้อที่กว่า 440 ไร่ ว่าจะยังคงดำเนินต่อไปตามแผนเดิมที่ว่างไว้และไม่หยุดชะงักตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นมา

"อยากให้ทุกท่านประจักษ์เองว่าข่าวลือที่เกิดขึ้นนั้นไม่จริง เพราะขณะนี้เรายังทำงานอย่างหนัก เพื่อให้งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้"

ทั้งนี้โรงงานของจีเอ็มในไทยจะแล้วเสร็จและเริ่มเดินเครื่องผลิตในไตรมาสแรกปี 2542 โดยปลายปี 2540 นี้จะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องจักร ปลายปี 2541 จะเริ่มทดลองเครื่อง ก่อนเดินเครื่องจักรจริงในปี 2542

ฟริซเซลส์กล่าวว่า จีเอ็มเข้ามาในไทย เป็นการเข้ามาโดยวางแผนระยะยาว ไม่ได้มองไปแค่ในอนาคตอีก 3-5 ปี ดังนั้นแผนงานที่วางไว้ในระยะนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เมืองไทยยังมีความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนเช่นเดิมตามป้ายที่มีการติดไว้หน้านิคมอุตสาหกรรมว่า "ดีทรอยต์แห่งตะวันออก" ฟริซเซลส์ ชี้ให้เห็นอย่างเชื่อมั่น

ในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากค่าเงินบาทลอยตัวนั้นมีอย่างแน่นอน แต่ตลาดรถไทยยังคงมีความสำคัญที่สุด ทั้งนี้ ต้องมีการพิจารณาประเด็นสำคัญหลายอย่างประกอบกัน โดยในส่วนของจีเอ็มมีนโยบายบริหารการเงินโดยการกระจายความเสี่ยงไปยังแหล่งต่าง ๆ ทุกมุมโลก จึงเชื่อว่าผลกระทบจากค่าเงินบาทก็จะกระจายออกไปตาม และไม่ส่งผลกระทบมากมายนัก ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศนั้น ย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ฟริซเซลส์กล่าวว่า สำหรับการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วน เพื่อป้อนให้แก่โครงการประกอบรถยนต์ของจีเอ็ม เป็นไปได้ที่อาจต้องเบนความสนใจไปที่อื่น จากสภาพเศรษฐกิจของไทยที่ไม่สดใสนัก

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของผู้ผลิตชิ้นส่วนในแนวทางดังกล่าว ยังมีปัจจัยสำคัญที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องคำนึงถึงคือ ค่าขนส่ง และช่วงเวลาการส่งมอบสินค้า (JUST IN TIME) เนื่องจากเป็นนโยบายหลักของจีเอ็มที่อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นซัปพลายเออร์เดิมอยู่

"แต่ในอนาคต จีเอ็มจะใช้ซัปพลายเออร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนที่จะเกิดขึ้น"

เช่นเดียวกันกับฟอร์ดที่ยังคงเดินหน้าโครงการต่อไป และคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ภายในปี 2541 ตามแผนเดิม

ทั้งนี้ล่าสุดฟอร์ดได้ลงทุนในเรื่องของระบบสารสนเทศเพื่อสร้างสรรค์งานระบบการเงิน การบริหาร สินค้าคงคลัง ระบบการจัดจำหน่ายซึ่งเป็นส่วนงานสำคัญด้านหนึ่งในการรองรับโรงงานศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ที่จังหวัดระยองตามที่ร่วมทุนกับมาสด้า

อย่างไรก็ดี ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ความเห็นว่า โครงการของฟอร์ดและจีเอ็มจะชะลอออกไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทั้งสองได้ประเมินสถานการณ์ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร เพราะถ้าคาดหมายว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี โครงการของทั้งสองเมื่อแล้วเสร็จก็คงดำเนินการอย่างยากลำบากในการหาตลาดในประเทศ ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นโครงการส่งออกถึง 80% ของกำลังการผลิตแต่คาดว่าในช่วงปีสองปีแรกของการผลิต การส่งออกคงทำไม่ได้ตามนั้นในทันที

"ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่เขาเข้ามาในช่วงเศรษฐกิจที่แย่ เพราะอย่างน้อย ด้านบุคลากรนั้นมีให้เขาเลือกมาก ต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็ทำให้เขาได้เปรียบ และตลาดชะลอตัวในช่วงที่เขายังอยู่ระหว่างการก่อสร้างยิ่งเป็นผลดีสำหรับเขา"

นินนาท ไชยธีรภิญโญกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย ในฐานะของประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือไทยอาจจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคนี้อีกต่อไป เนื่องจากการแข่งขันนั้นยากยิ่งขึ้น ตอนนี้ต้องพยายามประคับประคองทั้งด้วยการลดต้นทุนและการหาตลาดส่งออกให้มากขึ้น แต่ทั้งหมดต้องได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เพราะการส่งออกนั้นคุ้มทุนยากเนื่องจากการแข่งขันมีสูงมาก

ทั้งนี้ปัจจุบันแม้ไทยจะเริ่มทำการส่งออกรถยนต์ปีละหลายพันล้านบาท ด้วยจำนวนกว่า 14,000 คันในปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับการผลิตในประเทศแล้วยังนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากและมีเพียงยี่ห้อมิตซูบิชิเท่านั้น ที่ส่งออกแบบได้น้ำได้เนื้อมากที่สุด (ยอดส่งออกดังตาราง) ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่ทำให้มองว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยพัฒนาอย่างไม่ถูกทางหรือไม่

สำหรับการปรับราคาจำหน่ายเพื่อหนีภาวะขาดทุนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และบริษัทต่าง ๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอดีตนั้นไทยแทบไม่เคยประสบปัญหาหนักพร้อม ๆ กัน คือภาวะคนตกงาน เศรษฐกิจตกต่ำ และสินค้ามีราคาแพง ซึ่งถ้าขึ้นราคาไปมาก ตลาดคงตกต่ำยิ่งกว่านี้อีกมากเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

"ขณะนี้ยอดจำหน่ายรถยนต์ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 277,425 คัน และคาดว่าถึงสิ้นปียอดจำหน่ายจะมีเพียง 360,000 คันเท่านั้น เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายของ ปี 2539 ที่มีกว่า 5.8 แสนคันแล้ว จะเห็นว่ายอดจำหน่ายตกลงประมาณ 40% ทีเดียว ซึ่งนับว่ารุนแรงมาก"

ส่วนความจำเป็นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในเรื่องการลดต้นทุน และการลดกำลังการผลิตนั้น แน่นอนว่าปัญหาคนตกงานจะเป็นภาระที่ตามมาของสังคม ซึ่งคาดการณ์ว่าในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งระบบนั้น ปัจจุบันมีจำนวนแรงงานทั้งสิ้นประมาณ 150,000 คน ซึ่งจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานในลักษณะเสริมงานหรือชั่วคราวที่บริษัทต่าง ๆ สามารถปลดออกทันที เพราะว่า เป็นลักษณะการจ้างงานผ่านบริษัทนายหน้าหางาน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปลดออกรับเพิ่มเป็นประจำอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาเมื่อออกจากโรงงานนี้ก็ไปเข้าอีกโรงงานหนึ่ง ทั้งของอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมอื่น แต่ปัจจุบันเมื่อออกจากที่เก่าก็คงหาที่ใหม่ได้ยากขึ้นอย่างแน่นอน

อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังเข้าสู่ยุคยากเข็ญอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น และแม้ว่าต่างชาติโดยส่วนใหญ่จะมองว่าอนาคตระยะยาวแล้วจะไปได้ แต่เมื่อถามว่าปัจจัยใดที่จะเข้ามากระตุ้นให้สภาพการณ์มันดีขึ้นในระยะเวลาที่เรียกว่าทันการณ์ คำตอบก็คือ ยังมองไม่ออก

ดังนั้น คนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงได้เตรียมใจไว้แล้วว่าอย่างน้อย 3 ปี ที่ความตกต่ำจะดำรงอยู่ต่อไป และอาจจะเลวร้ายลงไปอีกถ้าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ดีขึ้น

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่เคยเป็นความหวังเป็นอนาคตในเรื่องของการส่งออก หมายมั่นว่าเราจะเป็นศูนย์กลางของเอเชีย เป็นดีทรอย์ตะวันออก

มาวันนี้ ทางออกเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาที่ทับถมลงมา ยังหาไม่พบ

เมื่ออุตสาหกรรมแนวหน้าต้องกลับมารอดูสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ แทนที่จะเป็นตัวกระตุ้น

ประเทศไทยกำลังเป็นยุคที่น่าหดหู่ที่สุดเสียแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us