ในทศวรรษนี้ ช่องทางการสร้างเงินของสโมสรฟุตบอลอังกฤษได้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยทักษะทางการตลาดและการเงินที่ซับซ้อนกว่าเดิม
ไม่ว่าจะเป็นการนำบริษัทที่เป็นเจ้าของสโมสรเข้าสู่ตลาดหุ้น การแตกธุรกิจออกไปสู่อุตสาหกรรมบริการ
การถ่ายทอดการแข่งขันในระบบ Pay Per View หรือกระทั่งการทำสถานีโทรทัศน์กีฬาของตนเอง
เสียงเพลงเชียร์กระหึ่มก้องสนามฟุตบอล ราวกับฉากสัประยุทธ์เลือดนองในสนามโคลีเซียมยุคอาณาจักรโรมัน
กวาดสายตาไปทั่วอัฒจันทร์ เห็นแต่คนแน่นขนัดล้วนอยู่ในเสื้อกีฬาที่ถอดแบบมาจากทีมของนักกีฬาฟุตบอลในสนามบ้างทาใบหน้าด้วยสีประจำสโมสรของตน
บ้างกระโดดโลดเต้นแสดงอารมณ์อันฮึกเหิมอย่างเต็มที่
ยามเมื่อมีการทำประตูสักครั้ง อัฒจันทร์ประหนึ่งจะถล่มทลาย กล้องโทรทัศน์นับสิบตัวจะตัดภาพไปมาระหว่างอารมณ์ดีใจสุดขีดในสนามและบนอัฒจันทร์
กล้องเหล่านั้นกำลังถ่ายทอดสดทุกรายละเอียดสู่งกองเชียร์ทั้งในประเทศ และสู่ประเทศต่าง
ๆ ทั่วโลก แต่ละวินาทีของการแข่งขันแต่ละ ตร. นิ้วของสนามล้วนนำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาล
ที่จะถูกแบ่งสันสู่ฝ่ายต่าง ๆ ในมหกรรมธุรกิจแห่งมหาอาณาจักรฟุตบอล
ช่องทางสร้างรายได้ของสโมสรฟุตบอลอังกฤษเคยทำการอยู่ในระดับเบสิก แค่การเก็บค่าผ่านประตูเข้าชมการแข่งขัน
และการขายอาหารเครื่องดื่มในสนามฟุตบอล ตลอดจนการขายอุปกรณ์การเชียร์กับของที่ระลึก
ในทศวรรษนี้ช่องทางการสร้างเงินได้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยทักษะทางการตลาดและการเงินที่ซับซ้อนกว่าเดิมไม่ว่าจะเป็น
การนำบริษัทที่เป็นเจ้าของสโมสรเข้าสู่ตลาดหุ้น การแตกธุรกิจออกไปสู่อุตสาหกรรมบริการอย่างเช่น
การทำภัตตาคาร หรือการทำโรงแรม การนำเทคโนโลยี Interactive TV มาใช้กับการถ่ายทอดการแข่งขัน
ในระบบ Pay Per View หรือกระทั่งการทำสถานีโทรทัศน์กีฬาของตนเอง ตลอดจนการพัฒนาการตลาดของสโมสรด้วยยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์
ความคลั่งไคล้ของแฟนบอลคือปัจจัยความสำเร็จทางการเงินของสโมสร
ปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จด้านการเงินของสโมสรฟุตบอลอังกฤษทั้งหลายย่อมไม่อาจเป็นอื่นใดได้
นอกจากปัจจัยความคลั่งไคล้ที่แฟนมีให้แก่ทีมบอลของสโมสรและดาราของทีม
ความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลที่ระอุอยู่ในปัจจุบัน เชื่อกันว่ามีจุดหักเหสำคัญเมื่อต้นทศวรรษนี้เอง
กล่าวคือ ในภาวะที่ความสนใจในกีฬาฟุตบอลกำลังขยายตัวอย่างมากมายอยู่เป็นทุนเดิมแล้วนั้น
ทางบริษัทบริติชสกาย บรอดคาสซิ่ง หรือ บีสกายบี เกิดปิ๊งไอเดียทำเงินจากการซื้อสิทธิ์ผูกขาดการถ่ายทอดสด
รายการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษทั้งหมดตลอดทั้งฤดูการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นรายการ
พรีเมียร์ลีก เอฟ.เอ.คัพ ลีกคัพ รายการของดิวิชั่นต่าง ๆ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อนำเสนอต่อสมาชิกเคเบิลทีวีของตนที่มีจำนวนร่วม
ๆ 4 ล้านราย และเพื่อขายป้อนสถานีโทรทัศน์ทั่วโลก
การถ่ายทอดสดอย่างเป็นล่ำเป็นสันและสม่ำเสมอจึงสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นรายการหนึ่งของโทรทัศน์ในครัวเรือนทั่วโลก
และได้ตอบสนองความตื่นเต้นเร้าใจแก่ผู้ที่ติดตามการแข่งขันอย่างทวีคูณ มากกระทั่งว่าการติดตามรายการแข่งขันฟุตบอลกลายเป็นอีกหนึ่งแฟชั่นไปแล้วส่งผลให้แวดวงของผู้ที่สนใจกีฬาฟุตบอลขยายตัวรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ความคลั่งไคล้ดังกล่าวมีอาการประดุจคลื่นที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้อย่างอ่อนไหวเป็นที่สุด
ขึ้นอยู่กับความทุ่มเทในเกม ความสม่ำเสมอในฝีเท้า และพัฒนาการต่าง ๆ ที่ทีมนักเตะจะอภินันท์แก่สายตาของแฟนและสาวกของตน
เมื่อทีมสามารถโชว์ลีลาทีมเวิร์คแท็กติกรูปแบบใหม่ ๆ พร้อมกับอวดความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะไล่ล่าเก็บชัยชนะ
สะสมแต้ม หรือวิ่งเบียดเข้ารอบลึก ๆ ของรายการแข่งขันประเภทต่าง ๆ ได้ความตื่นเต้นเร้าใจที่ผู้คนได้รับจากการชมการแข่งขันย่อมจะพุ่งสูง
ในขณะเดียวกันความสุขที่แฟนบอลได้สัมผัสบนความรู้สึกเสมือนเป็นชัยชนะของตนเองด้วยนั้น
ก็ยิ่งสร้างความผูกพันที่มีต่อทีมบอล ตลอดจนความรักใคร่ชื่นชมที่มีให้แก่ดารานักเตะขวัญใจของตน
แมตช์สดคือแหล่งรายได้สำคัญ :
บัตรผ่านประตู & ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดทีวี
รูปธรรมของจิตวิทยามวลชนว่าด้วยความรักและผูกพันต่อทีมบอลปรากฏออกมาเป็นความต้องการชมการแข่งขันแบบสดมากกว่าแบบเทปบันทึกรายการ
ถ้าเป็นแฟนบอลที่อยู่ในอังกฤษก็หมายถึงว่าจะต้องเข้าชมการแข่งขันในสนามฟุตบอลให้กระจะตา
กระแสอารมณ์เช่นนี้เองที่ส่งผลให้สโมสรฟุตบอลสามารถขายบัตรผ่านประตูได้อย่างท่วมท้น
ยิ่งสำหรับสโมสรขนาดใหญ่ในพรีเมียร์ลีกด้วยแล้ว การขายบัตรผ่านประตูได้หมดเกลี้ยงกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติ
รายได้จากการขายบัตรผ่านประตูจึงเป็นรายได้อันดับต้น ๆ ของหลายสโมสรทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว ตั๋วเข้าชมการแข่งขันมักไม่เพียงพอกับความต้องการของแฟนบอล
การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลแต่ละแมตช์จึงเป็นรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก
ราคาค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่บีสกายบีต้องจ่ายจึงสูงเป็นสัดส่วนตามไปด้วย
ในรอบต่ออายุลิขสิทธิ์กับพรีเมียร์ลีก เมื่อปลายฤดูการแข่งขัน 1995/96
เงิน 33,500 ล้านบาท คือ มูลค่าที่บีสกายบีตกลงชำระให้แก่พรีเมียร์ลีกสำหรับระยะเวลาของสิทธิ์
เพียง 4 ปี
ทั้งนี้เม็ดเงินที่จะตกสู่ถุงเงินของแต่ละสโมสรฟุตบอล 20 รายในฟรีเมียร์ลีกถูกแบ่งเป็น
3 ส่วน ส่วนแรกคือ 50% นำมาหารแบ่งเฉลี่ยเท่ากันทุกสโมสรส่วนที่สอง 25% จัดสรรไปตามจำนวนครั้งมากน้อยเท่าที่แต่ละทีมได้รับการถ่ายทอดการแข่งขัน
ส่วนที่เหลืออีก 25% กันไว้เป็นเงินรางวัล
อลัน ชูการ์ ประธานสโมสรฟุตบอลท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ เคยให้ตัวเลขเฉลี่ยผลตอบแทนที่แต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีกได้รับส่วนแบ่งจากค่าถ่ายทอดโทรทัศน์ว่า
ตกประมาณ 400 ล้านบาท
ขณะนี้ ช่องทางที่สโมสรฟุตบอลสามารถหารายได้เพิ่มจากโทรทัศน์มีแนวโน้มใหม่ที่สำคัญยิ่ง
บีสกายบีกำลังดำเนินงานโครงการทำสถานีโทรทัศน์ Interactive ที่จะถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมในระบบ
Pay Per View จำนวน 200 ช่อง ทั้งนี้บีสกายบีกำหนดให้ 60 ช่องเป็นช่องกีฬา
ซึ่งจะตอบสนองผู้ชมรายการที่ต้องการดูการแข่งขันของทีมที่ไม่ได้อยู่ในรายการเบสิกได้ด้วยสนนราคาประมาณแมตช์ละ
450 บาท ดังนั้นทางสโมสรก็จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ปีละไม่ใช่น้อย
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบันระหว่างบีสกายบีกับพรีเมียร์ลีกบังคับไม่ให้เปิดบริการตัวนี้จนกว่าจะถึงปี
1999 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า หลายสโมสรจึงกำลังรอผลการศึกษารายละเอียดต่าง
ๆ ตลอดจนเงื่อนไขการแบ่งรายได้ที่เกิดจากการถ่ายทอดในรูปแบบ Pay Per View
นี้
นอกจากนั้น บางสโมสรถึงกับคิดอ่านจะทำสถานีโทรทัศน์กีฬาของพวกตัว เพื่อหารายได้จากค่าโฆษณาและหรือจากค่าสมาชิกค่าขายรายการแทนที่จะรอรับเพียงส่วนแบ่งจากลิขสิทธิ์
โฆษณาเพียบ รายเก่าถอนรายใหม่เสียบ
รายได้ค่าสปอนเซอร์ที่เข้ามาโดยตรงสู่สโมสรฟุตบอลเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญของสโมสรฟุตบอล
สินค้าจำนวนมากแห่ตามกันเข้ามาไล่แจกเงินแก่สโมสรฟตบอล เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิ์ที่จะได้ปะชื่อปะยี่ห้อสินค้าไว้ข้างสนาม
ได้ขึ้นไปอวดตัวหราบนอกเสื้อของนักแตะ ตลอดจนได้ปรากฏอยู่บนสินค้าต่าง ๆ
ของสโมสรฟุตบอล
เมื่อปลายฤดูการแข่งขันปี 1996/97 บริษัทสก็อตติช คอร์เรจ เจ้าของยี่ห้อ
Coors บนอกเสื้อของนักเตะสโมสรเชลซี ไม่ยอมเพิ่มงบสปอนเซอร์เพื่อต่อสัญญารอบใหม่ตามข้อเรียกร้องของบริษัทเชลซี
วิลเลจ (มหาชน) ปรากฏว่ามีบริษัทอื่น 4-5 รายติดต่อเจรจาขอเข้าแทนที่ ดังนั้นเมื่อเปิดฤดูการแข่งขันปีนี้
ยี่ห้อบนอกเสื้อของเด็กสิงโตน้ำเงินครามจึงเปลี่ยนไปเป็น AUTO GLASS เสียแล้ว
ค่ารอยัลตีที่สโมสรฟุตบอลได้รับจากการปะยี่ห้อของสปอนเซอร์บนสินค้าประเภทเสื้อกีฬาที่เหมือนเสื้อที่นักเตะใส่ลงเล่นทั้งเหย้า
และเยือนเป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่ง ที่สำคัญยิ่ง อาทิ ยี่ห้อ UMBRO บนเสื้อเชียร์ในสังกัดของสโมสรแมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ด นั้นต้องแลกกับเงิน 4,000 ล้านบาทสำหรับสัญญาอายุ 5 ปี หรือยี่ห้อ
Reebox บนเสื้อเชียร์ของสโมสรลิเวอร์พูลมีราคา 2,000 ล้านบาทสำหรับสัญญาอายุ
5 ปี
แฟนบอลมาพร้อมกับการบริโภค สไตล์พักผ่อนหย่อนใจ
พร้อม ๆ กับการดูดเงินโดยตรงจากค่าบัตรผ่านประตูเข้าชมการแข่งขันแต่ละครั้ง
สโมสรฟุตบอลยังสามารถสร้างรายได้ จากความต้องการบริโภคสไตล์พักผ่อนหย่อนใจของแฟนบอลได้อีกมาก
สินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์การเชียร์ นิตยสาร หนังสือ วิดีโอ
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของที่ระลึก ไปจนถึงสารพันสินค้าที่เป็นตัวแทนความรักความผูกพันที่แฟนบอลมีให้แก่ทีม
และดาราในทีม จะขายดีเป็นพิเศษในวันแข่งขัน ที่สโมสรเป็นทีมเหย้า
สินค้าที่ขายดีที่สุดเห็นจะเป็นเสื้อเชียร์ที่เหมือนเสื้อที่นักเตะใส่ลงฟาดแข้ง
เมื่อต้นฤดูการแข่งขันปี 1996/97 สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลทำสถิติขายเสื้อเชียร์ได้
250,000 ตัวภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์
สำหรับหลายสโมสรที่มีสนามฟุตบอลความจุสูง รายได้จากค่าอาหาร เครื่องดื่ม
ในแต่ละปีนั้นสามารถทำตัวเลขสูสีกับตัวเลขรายได้จากโทรทัศน์ทีเดียว ในขณะที่รายได้จากค่าขายสินค้าสามารถทำยอดสูงเป็นอันดับต้น
ๆ เกินหน้าบรรดารายได้ทุกประเภทก็มีให้เห็นบ่อย ๆ
สินค้าที่ติดยี่ห้อสโมสรฟุตบอลและ/หรือติดภาพดารานักบอลของสโมสรจะขายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันทีเดียว
มีการตั้งร้านค้าขึ้นมาใหญ่โตโดยปกติร้านค้าจะอยู่ในสนามกีฬาเพราะพลังการซื้อในวันแข่งขันจะรุนแรงเป็นพิเศษ
กรณีร้าน CHELSEA MEGASTORE ในสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ของสโมสรเชลซี บนพื้นที่ประมาณ
1,000 ตร. เมตรเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เพิ่งเรียกเสียงฮือฮาเมื่อเร็ว ๆ
นี้
แต่สโมสรฟุตบอลที่ตั้งร้านค้ากระจายออกทั่วไปก็มี ทั้งในลอนดอนและในเบลฟาสต์ของไอร์แลนด์เหนือกับในดับบลินของสาธารณรัฐไอแลนด์
สโมสรฟุตบอลหัวเซ็งลี้จัดจ้านหลายรายพัฒนาการตลาดของตนด้วยยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์
มีการกระจายสินค้าและร้านค้าออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตเอเชียที่ความคลั่งไคล้ในฟุตบอลอังกฤษทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วมากนิตยสารในสังกัดของสโมสรฟุตบอลอังกฤษไปปรากฎเป็นภาษาต่าง
ๆ ทั่วโลกเป็นเรื่องปกติ ร้านขายสินค้าของสโมสรฟุตบอลอังกฤษในต่างประเทศผุดขึ้นเป็นว่าเล่น
อาทิในไทย เวียดนามและจีน
ความพยายามจะแตกธุรกิจเพิ่มขึ้นจากแวดวงธุรกิจฟุตบอลเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่สโมสรฟุตบอล
เพียงแต่ว่าธุรกิจที่แตกเพิ่มขึ้นนั้นยังต้องอิงอยู่กับความป็อบปูลาร์ของทีมบอล
เท่าที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารกับธุรกิจโรงแรมแสดงแนวโน้มดีน่าประทับใจ
ร้านอาหาร Red Cafe ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีแผนงานจะขายเชนให้กว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ
โรงแรมหรูระดับ 160 ห้องของเชลซีอยู่ในระหว่างก่อสร้างที่บริเวณสนามสแตมฟอร์ด
บริดจ์ และมีกำหนดจะเปิดทำการในไม่ช้า
อีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ของสโมสรฟุตบอลที่น่าจับตาคือ รายได้จากการปั้นดาราขาโจ๋ขายแก่สโมสรอื่น
เท่าที่ผ่านมา การขายดารานักเตะเคยมีส่วนช่วยกอบกู้สถานการณ์การเงินของหลายสโมสรมานักต่อนักแล้ว
อาทิ การตัดสินใจของสโมสรแบล็กเบิร์น โรเวอร์ ขาย อลัน เชียเรอร์ ให้แก่สโมสรนิวคาสเซิล
ยูไนเต็ดในราคา 750 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่นักเตะรายนี้เพิ่งจะสร้างผลงานนำพาทีมกุหลาบไฟขึ้นสู่ตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก
ในฤดูการแข่งขัน 1994/95
อย่างไรก็ตาม การขายดารานักบอลนั้นไม่มีใครอยากนับเป็นแหล่งรายได้นัก เพราะสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่จะต้องมีทั้งการขายและการซื้อนักเตะ
บนเป้าหมายการสร้างทีมไล่ล่าชัยชนะและการดึงดูดความสนใจจากแฟนบอล
ดังนั้น ในแต่ละปี บัญชีรายรับรายจ่ายของสโมสรอาจจะลงรายการว่า รายได้จากการซื้อขายนักเตะ
หรือค่าใช้จ่ายด้านการซื้อขายนักเตะ ได้ทั้งนั้น
ตลาดหุ้นกลายเป็นเหมืองทองของสโมสรฟุตบอล
สำหรับสโมสรฟุตบอลหลายรายทั้งในพรีเมียร์ลีกและในดิวิชั่นต่าง ๆ แหล่งรายได้ทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นในแต่ละปีจะรวมกันเป็นเม็ดเงินมหาศาล
ซึ่งถ้าการบริหารต้นทุนทำได้ดี สโมสรจะสามารถทำตัวเลขกำไรได้สูงและต่อเนื่องทุกปี
อันจะส่งผลให้สโมสรมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะก้าวสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ และเมื่อถึงตอนนั้นโอกาสขุดทองจะมาถึง
สโมสรฟุตบอลหลายต่อหลายรายได้เป็นปรากฏการณ์ที่ราคาค่าตัวของสโมสรโจนทะยานขึ้นดังติดจรวด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลงานการแข่งขันของทีมนักเตะสามารถเรียกร้องความคลั่งไคล้
และเม็ดเงินมหาศาลจากแฟนบอล ราคาหุ้นของบริษัทต้นสังกัดของสโมสรจะไต่ระดับทำนิวไฮเป็นว่าเล่น
ความสำเร็จในตลาดหุ้นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นตัวอย่างที่ถูกขับขานถึงเสมอ
จากราคาประเมินซื้อขายสโมสรแห่งนี้เพียง 50 ล้านบาทเมื่อปี 1989 ก่อนนำบริษัทแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด(มหาชน)
เข้าตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน วันนี้ราคาของสโมสรคิดจากมูลค่าหุ้นในตลาดอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า
20,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว
หลังจากความสำเร็จของบริษัทแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (มหาชน) เป็นที่ประจักษ์แก่วงการ
ได้มีบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจฟุตบอลอีกมากมายติดตามเข้าไปเป็นสาย
อาทิ เชลซี เข้าตลาดเมื่อเดือนมีนาคม 1996 (แต่เป็นตลาดหลักทรัพย์ Alternative
Investment Market) ซันเดอร์แลนด์ เข้าตลาดไปเมื่อเดือนธันวาคม 1996 นิวคาสเซิล
ยูไนเต็ดเข้าตลาดเมื่อเดือนเมษายน 1997 ในขณะที่ แอสตัน วิลลาเป็นสโมสรฟุตบอลรายที่
16 ที่เข้าตลาดโดยเข้าไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 1997
ส่งผลให้ราคาของบรรดาสโมสรฟุตบอล 16 รายในตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้รวมกันเป็นเงินประมาณ
75,000 ล้านบาท
ธุรกิจฟุตบอลในอังกฤษจึงเป็นธุรกิจเนื้อหอมซึ่งเป็นที่หมายปองของหลายฝ่าย
ความพยายามจะซื้อสโมสรฟุตบอลปรากฏเป็นข่าวไม่ได้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาผู้ประกอบการด้านสื่อบันเทิงดูจะมีความสนใจรุนแรงกว่าใคร
ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เมื่อพิจารณาว่ารายการแข่งขันฟุตบอลเป็นซอฟต์แวร์สำคัญ
ที่ผู้ประกอบการด้านสื่อบันเทิงควรมีไว้เป็นของตนเองเพื่อลดต้นทุนการนำเสนอสาระและความบันเทิงแก่ท่านผู้ชม
ผู้แพ้และผู้ชนะที่พ่ายแพ้ในธุรกิจฟุตบอลอังกฤษ
แม้ผู้บริโภคกีฬาฟุตบอลในอังกฤษมีปริมาณมหาศาล แต่ไม่ใช่ว่าทุกทีมของทุกสโมสรจะมีเสน่ห์ดึงดูดแฟนบอลได้หมด
ยิ่งสโมสรขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จสูงเพียงใดสโมสรขนาดเล็กจำนวนไม่ใช่น้อยที่ไม่ฟู่ฟ่าก็ยิ่งจะมีฐานะที่ย่ำแย่ลงเท่านั้น
บริษัท Deloitte&Touche เคยรายงานว่า เมื่อปี 1994/95 สโมสรฟุตบอลอาชีพอังกฤษ
92 รายทำรายได้รวมทั้งสิ้น 23,400 ล้านบาทแต่ในจำนวนนี้เป็นรายได้ของสโมสรในฟรีเมียร์ลีกถึง
16,150 ล้านบาท ส่วนที่เป็นรายได้ของสโมสรในดิวิชั่นต่างๆ 72 รายจึงมีแค่
7,250 ล้านบาทเท่านั้น
ในระยะหลังมานี้ คณะกรรมการลีกดูจะใส่ใจกับสถานการณ์ผูกขาดทางอ้อมของบรรดาสโมสรใหญ่
ๆ อย่างเช่นกรณีไม่อนุมัติให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ทำการถ่ายทอดสดการแข่งขันในสนามของตนไปให้แฟนบอลซื้อตั๋วเข้าดูในสนามฟุตบอลใกล้เคียง
ทั้ง ๆ ที่ทางแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอธิบายเหตุผลว่าแผนงานนี้เป็นการบรรเทาปัญหาที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดไม่สามารถรองรับแฟนบอลได้หมด
คณะกรรมการลีกให้เหตุผลว่าเนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบกับจำนวนคนที่จะเข้าชมการแข่งขันของสโมสรอื่น
ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
ปัญหาทางการเงินไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับสโมสรขนาดเล็กเท่านั้นแม้แต่สโมสรขนาดใหญ่อย่างลิเวอร์พูลหรืออาร์เซนอล
ก็อยู่ในภาวะย่ำแย่เช่นกัน เพียงแต่ไม่ใช่ย่ำแย่ในแง่ของยอดรายได้ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการทุ่มทุนซื้อนักเตะราคาแพงระยับ
อันจะไปกินเกินส่วนกำไรหลายร้อยล้านบาทเสียหมด
ในปี 1995/96 สโมสรลิเวอร์พูลมีรายได้รวมตลอดปีการเงินถึง 1,370 ล้านบาท
เพิ่มจากปีก่อนหน้าซึ่งทำได้ 970 ล้านบาท ผลกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายด้านนักเตะสูงถึง
350 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายซื้อสแตน คอลิเมอร์ กับ เจสัน แมคคาเทียร์
คิดเป็นเงิน 650 ล้านบาท
ในปี 1995/96 เช่นกัน สโมสรอาร์เซนอลมีรายได้ 1,045 ล้านบาท ในขณะที่ผลกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายด้านการซื้อนักเตะสูงถึง
308 ล้านบาท
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตัวอย่างความสำเร็จในธุรกิจฟุตบอลอังกฤษ
ในบรรดาสโมสรฟุตบอลอังกฤษ แมนเชลเตอร์ ยูไนเต็ดเป็นกรณีศึกษาที่ร้อนแรงที่สุดรายหนึ่ง
ซึ่งได้ชื่อว่ารวยที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุด ทั้งนี้อาจถึงขั้นว่ารวยที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกด้วย
(Manchester Evening News-06/08/97)
สโมสรฟุตบอลแมนเชลเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งอยู่ในสังกัดของบริษัทแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
(มหาชน)จำกัด ไม่ได้เป็นสโมสรฟุตบอลอังกฤษรายแรกที่คิดอ่านพัฒนา Know-how
การสร้างกำไรใหม่ ๆ อีกทั้งมิได้เป็นรายแรกที่นำบริษัทเข้าตลาดหุ้น
แต่ ณ วันนี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลอังกฤษที่ประสบความสำเร็จในด้านการรังสรรค์พลังทางการเงินของตนมากกว่าสโมสรฟุตบอลอังกฤษรายใด
ๆ ด้วยราคาค่าตัวบริษัทในตลาดหุ้นมากกว่า 20,000 ล้านบาท ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิมากกว่า
3,480 ล้านบาท และด้วยความสามารถด้านการทำกำไรในระดับปีละร่วม ๆ 1,000 ล้านบาท
ฤทธิ์เดชการสร้างรายได้ของสโมสรปีศาจแดงแมนเชสเตอร์แห่งมหาอำนาจลูกหนังอังกฤษได้กลายเป็นตำนานความสำเร็จทางธุรกิจสำหรับโลกคอร์ปอเรทไปแล้ว
แฟนคลั่งพารายได้ 6 เดือนทะลุ 2,500 ล้านบาท
ปีการเงินของบริษัท แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (มหาชน) จะเริ่มจาก 1 สิงหาคมของปีปฏิทินหนึ่ง
ไปสิ้นสุด 31 กรกฎาคมของปีปฏิทินถัดมา โดยที่ครึ่งปีการเงินจะตก ณ วันที่
31 มกราคม
ช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการแข่งขันซึ่งกินเวลา 10 เดือน
ระหว่างเดือนสิงหาคมของปีปฏิทินหนึ่ง ถึงเดือนพฤษภาคมของปีปฏิทินถัดมา จะพบว่าผลการประกอบการของแต่ละครึ่งปีการเงินจะรายงานรายได้ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระยะครึ่งฤดูการแข่งขัน
ภาวะรายได้ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีปฏิสัมพันธ์ทางตรงกับดีกรีความคลั่งไคล้ของชาวเร้ดอาร์มี่
อย่างชัดเจนมาก
ในฤดูการแข่งขันปี 1994/95 เป็นปีที่แฟนของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดหวังไว้มากว่าทีมจะสามารถทำสถิติเป็น
แชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากที่ 2 ฤดูการแข่งขันก่อนหน้านั้น
ทีมปีศาจแดงได้แผลงฤทธิ์คว้าตำแหน่งแชมป์ 2 สมัยซ้อนมาอย่างงดงาม ความคลั่งไคล้ของแฟน
ๆ ได้ช่วยควบขับยอดรายได้ในปีการเงินนั้นพุ่งขึ้นเป็น 3,030 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดทีมแมนเชลเตอร์ ยูไนเต็ดทำได้แค่เกือบคว้าที่ว่าในขณะที่ทีมกำลังตามหลังทีมจ่าฝูง
แบล็กเบิร์น โรเวอร์ อยู่ 2 คะแนนนั้น ในแมตช์สุดท้าย ทีมแบล็กเบิร์นไม่สามารถเก็บคะแนนเพิ่มได้
แต่ทางทีมปีศาจแดงก็กลับเก็บคะแนนจากแมตช์สุดท้ายได้แค่แต้มเดียว ทำให้ทีมต้องพลาดหวังจากตำแหน่ง
แชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัยซ้อนเพราะขาดคะแนนเพียง 2 คะแนนเท่านั้น
นักวิจารณ์ตลอดจนแฟน ๆ ชาวเรดอาร์มี่ แสดงปฏิกิริยาด้านลบและวิพากษ์ฝีเท้าการเล่นของทีมอย่างรุนแรงในบรรยากาศรักระคนผิดหวัง
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดที่หลังจากความล้มเหลวครั้งนั้นกระแสความต้องการสินค้ายี่ห้อปีศาจแดงจะลดวูบลง
ด้วยเหตุนี้ ในฤดูการแข่งขันถัดมาในปี 1995/96 แม้ความร้อนแรงของทีมปีศาจแดงยังอยู่ในระดับอุณหภูมิโซนร้อน
แต่รายได้ของสโมสรต้องลดถอยลงไปมาก
รายงานผลประกอบการสิ้นปีการเงิน 1995/96 เผยยอดรายได้รวมลดไป 12% ทั้งนี้
คำชี้แจงของประธานสโมสรอ้างว่าเป็นผลจากการปิดปรับปรุงอัฒจันทร์ทิศเหนือ
แต่รายละเอียดในรายการแจกแจงรายได้ฟ้องว่ารายได้หมวดค่าขายสินค้าหดตัวลง
20%
กระแสความคลั่งไคล้ในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประทุราวภูเขาไฟระเบิดอีกครั้งหนึ่ง
ในฤดูการแข่งขันปี 1996/97 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ทีมสามารถคว้าตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูการแข่งขันปี
1995/96 มาสำเร็จพร้อมกับตั้งเป้าหมายจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกต่อเนื่องในฤดูการแข่งขันปี
1996/97 ให้ได้ เพื่อสร้างสถิติแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 ครั้งจาก 5 ฤดูการแข่งขันต่อเนื่อง
ผลปรากฎว่า รายงานการประกอบการครึ่งปีการเงิน 1996/97 สิ้นสุด ณ 31 มกราคม
1997 ของบริษัทแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (มหาชน) ชี้ว่าสโมสรสามารถทำยอดรายได้
6 เดือน แตะที่ระดับ 2,510 ล้านบาท สูงเกือบเท่ากับยอดรายได้ 2,665 ล้านบาทของปีการเงิน
1995/96 ทั้งปี
รายได้ทางตรงจากแฟนบอลคือ 80%
เนื่องจากสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรใหญ่ที่มีแฟนบอลมากมายทั่วโลก
เฉพาะในอังกฤษมีตัวเลขบันทึกไว้ที่ 150,000 คน ในขณะที่สนามฟุตบอลของสโมสรมีขนาดใหญ่โตรองรับแฟนบอลได้ถึง
1 ใน 3 ดังนั้น สัดส่วนรายได้เกือบ 80% จึงเป็นรายได้ทางตรงจากแฟนบอล
ตัวอย่างเช่น ค่าขายบัตรผ่านประตูเข้าชมการแข่งขัน ค่าขายบัตรผ่านประตูเข้าชมรายการอื่น
ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าชมพิพิธภัณฑ์ประวัติสโมสร) ค่าขายอาหารเครื่องดื่มรวมทั้งรายได้จากร้าน
Red Cafe ที่ตั้งอยู่ในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด และค่าขายสินค้ายี่ห้อปีศาจแดง
ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่มาจากแฟนบอลโดยตรง เช่น ค่าสปอนเซอร์ ค่ารอยัลตี ค่าโฆษณา
และค่าถ่ายทอดโทรทัศน์ เป็นรายได้ส่วนข้างน้อย
ในปีการเงิน 1994/95 รายได้ทางตรงจากแฟนบอลมีสัดส่วนเป็น 76.7% ของรายได้ทั้งหมด
(2,234 ล้านบาทจาก 3,030 ล้านบาท) ในขณะที่ปีการเงิน 1995/96 รายได้ทางตรงจากแฟนบอลมีสัดส่วนเป็น
76.8% ของรายได้ทั้งหมด (2,047 ล้านบาท จาก 2,665 ล้านบาท) ส่วนในครึ่งปีการเงิน
1996/97 รายได้ทางตรงจากแฟนบอล มีสัดส่วนเป็น 77.8% ของรายได้ทั้งหมด (1,955
ล้านบาท จาก 2,510 ล้านบาท)
รายได้ค่าขายบัตรผ่านประตูปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท
ในบรรดารายได้ทางตรงทั้ง 3 ประเภท รายได้ค่าขายบัตรผ่านประตูเป็นรายได้ประเภทนอนมา
และมักทำยอดในอันดับหนึ่งหรือที่สองของตารางรายได้เสมอ
รายการแจกแจงรายได้ช่วงปี 1994-1997 เผยว่ารายได้ค่าบัตรผ่านประตูปี 1994/95
ปี มีสัดส่วนเป็น 32.43% เป็นที่สองรองจากรายได้ค่าขายสินค้าเล็กน้อย พอมาปี
1995/96 สัดส่วนปรับเป็น 35.20% เป็นอันดับที่หนึ่งของตาราง และในครึ่งปี
1996/97 ก็ยังเป็นอันดับหนึ่งของตารางด้วยสัดส่วน 36.05%
ไม่ว่าในฤดูการแข่งขันหนึ่ง ๆ นั้น ดีกรีความคลังไคล้ที่ชาวเร้ดอาร์ที่มีต่อทีมจะเฟื่องจัด
หรือซาไปบ้างบัตรผ่านประตูจะขายดีเสมอ (หมายถึงกรณีที่ฝ่าย แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นทีมเหย้า)
ทั้ง ๆ ที่หลายแมตช์จัดขึ้นในค่ำคืนของวันทำงานไม่ใช่บ่ายเย็นของวันหยุด
สถิติผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามฟุตบอล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในแต่ละแมตช์ของฤดูการแข่งขัน
1996/97 มีจำนวนไม่ต่ำกว่าแมตช์ละ 54,000 คน จากระดับความจุสนามสูงสุด 55,300
ที่นั่ง นั่นหมายถึงรายได้ค่าขายบัตรผ่านประตูเข้าชมการแข่งขันจะตกแมตช์ละประมาณ
60 ล้านบาท
รายการแจกแจงรายได้เผยให้เห็นว่า ในปี 1994/95 ยอดรายได้หมวดนี้อยู่ที่ระดับ
982 ล้านบาทจากความจุสนาม 44,000 ที่นั่ง พอมาในปี 1996/96 แม้จะมีการปิดปรับปรุงอัฒจันทร์ทิศเหนือ
ซึ่งทำให้จำนวนที่นั่งลดลงไป 5% เหลืออยู่ 42,000 ที่นั่งแต่ยอดรายได้หมวดนี้กลับลดลงไปเพียง
4.4% อยู่ที่ระดับ 938 ล้านบาท ครั้งถึงปี 1996/97 ความจุของสนามเพิ่มเป็น
55,300 ที่นั่ง ยอดรายได้ 6 เดือนดีดตัวอย่างแรงขึ้นเป็น 920 ล้านบาท เกือบจะเท่ากับยอดรายได้
12 เดือนของฤดูการแข่งขันก่อนหน้าทีเดียว ซึ่งทำให้ประมาณได้ว่ายอดรายได้ค่าบัตรผ่านประตูตลอดปี
1996/97 จะไม่หนี 2,000 ล้านบาท
ปัจจัยที่เอื้อให้เป็นได้เช่นนี้เพราะ โดยพื้นฐานแล้วความต้องการเข้าชมการแข่งขันท่วมท้นความจุของสนามเสมอ
แต่ยิ่งไปกว่านั้นระบบการขายบัตรได้สร้างความแน่นอนไว้อย่างอักโข กล่าวคือ
72.5% ของบัตรแต่ละแมตช์ตลอดฤดูการแข่งขันฟรีเมียร์ลีก จะถูกปล่อยขายเป็นตั๋วปีไปล่วงหน้า
ในขณะที่ 5.5% ต้องแบ่งให้สโมสรทีมเยือน 4% เป็นบัตรแจกบัตรประชาสัมพันธ์
จึงเหลือบัตรเพียง 18% สำหรับขายเป็นการทั่วไป
สินค้ายี่ห้อปีศาจแดงขายในเอเชียกว่า 20%
ทางด้านรายได้จากการขายสินค้ายี่ห้อปีศาจแดงแมนเชสเตอร์ซึ่งแม้จะต้องขึ้นอยู่กับความป็อบปูลาร์ของทีมโดยตรง
แต่ก็สามารถทำตัวเลขสูงเสมอ ยุคที่ทีมปีศาจแดงฮ็อทสุดขีดไล่ล่าตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยที่
3 ติดต่อกันในฤดูการแข่งขันปี 1994/95 นั้น สินค้ายี่ห้อแมนเชสเตอร์ทำยอดรายได้เป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน
38% ของรายได้ทั้งหมดคิดเป็นเม็ดเงิน 1,174 ล้านบาท
แต่เมื่อความผิดหวังสาดเข้าชะลอความร้อนแรงลงในฤดูการแข่งขันถัดมา รายได้ค่าขายสินค้าลดลงไป
20% เหลือ 933 ล้านบาท แต่ก็ยังสูงเป็นอันดับสองของตารางรายได้คือ 35%
ปีรุ่งขึ้น เดอะดายฮาร์ดแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดสามารถปะทุกระแสความคลั่งไคล้ขึ้นมาในหมู่แฟน
ๆ ได้อีก ส่งผลให้ยอดขายสินค้าครึ่งปี 1996/97 กระฉูดขึ้นเป็น 880 ล้านบาทซึ่งเท่ากับ
35% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ทางบริษัทแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (มหาชน) เคยเผยตัวเลขที่ร้าน
MANCHESTER UNITED MEGASTORE ทำได้ในกรณีที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นเจ้าบ้านว่าเฉลี่ยต่อแมตช์สูงถึง
2.75 ล้านบาท
สินค้ายี่ห้อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งประทับโลโกของทีม และ/หรือภาพนักแตะดาวดังของทีม
ประกอบด้วยนิตยสาร หนังสือ วิดีโอ ชุดกีฬา เสื้อยืด ผ้าพันคอ ชุดผ้าปูที่นอน
โคมไฟหัวเตียง ถ้วยกาแฟ ชุดเครื่องเขียน พวงกุญแจ ของที่ระลึก น้ำอัดลม ขนม
ของขบเคี้ยว ซ็อกโกแลต ไปจนถึงเบียร์ วิสกี้และแชมเปญ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากสายการผลิตมากกว่า
800 ไลน์บนมาตรฐานสินค้าระดับมาร์กแอนด์ สเปนเซอร์
ในอดีตสินค้าประเภทเสื้อยืดติดภาพดารานักเตะเป็นสินค้าขายดีที่สุดหากเปรียบเทียบอัตราส่วนกับสินค้าอื่น
ๆ จะเท่ากับ 80:20 แต่ในปัจจุบันนี้ สินค้าอื่น ๆ ได้รับความนิยมสูงขึ้นมากจนทำให้อัตราส่วนเปลี่ยนไปเป็น
40:60 แทน
นิตยสารของสโมสรมี 2 หัว คือ Manchester United สำหรับกลุ่มเป้าหมายวัย
15-30 ปีกับ Glory Glory สไตล์อนุชนวัยต่ำกว่า 15 ปี นิตยสารทั้งคู่นี้ได้รับการสำรวจยอดจัดจำหน่ายในอังกฤษว่าสูงถึง
142,000 ฉบับ ส่วนนอกอังกฤษ มีตัวเลขดังนี้ 9,000 ในนอร์เวย์ 20,000 ในไทย
4,000 ในสิงคโปร์ 6,000 ในฮ่องกง 15,000 ในมาเลเซีย และ 25,000 ในอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ยังมีกำหนดจะออกฉบับภาษาจีนกวางตุ้งภายในปีนี้ (Media Magazine-13/06/97)
ยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์ที่บริษัทแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมอร์แชนไดส์ซิ่ง
ใช้เพื่อขายสินค้ายี่ห้อปีศาจแดงนับว่าได้รับความสำเร็จในระดับสูงนอกจากด้านสิ่งพิมพ์แล้ว
ทางด้านร้านค้าก็กำลังมาแรง ยิ่งเมื่อทีมนักเตะปีศาจแดงออกทัวร์ในญี่ปุ่น
ไทยและฮ่องกงในปีนี้ ความป็อบปูลาร์ของสินค้าของสโมสรก็ยิ่งทวีความร้อนแรงโดยที่บริษัทแมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ด (มหาชน) ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์เลย
รายได้จากร้านค้าในเอเชียปี 1996/97 เท่าที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วนถึง 22%
ทีเดียว และภายในปีนี้ร้านจำหน่ายสินค้าของปีศาจแดงในจีนจะเปิดเพิ่มอีก 2
แห่งที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้จากที่มีอยู่ 1 แห่งในปัจจุบันที่กวางโจวกับจะเปิดในฮ่องกงอีกแห่งหนึ่งด้วย
UMBRO ยึดสัมปทานเสื้อเชียร์ปีศาจแดง
รายได้ที่ไม่ใช่มาจากแฟนบอลโดยตรง เช่นค่าสปอนเซอร์ ค่ารอยัลตี ค่าโฆษณา
และค่าถ่ายทอดโทรทัศน์แม้จะเป็นรายได้ส่วนรอง ๆ ของบริษัทแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
(มหาชน) แต่ต้องถือว่ามีความสำคัญทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากโทรทัศน์มีแนวโน้มจะเป็นรายได้หมวดที่สำคัญที่สุดในอนาคตบนเทคโนโลยี
Pay Per View
ด้วยความป็อบปูลาร์อันร้อนแรงที่ทีมบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดครอบครองอยู่ยาวนาน
สินค้ามากมายจึงแห่มาประมูลพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นแมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ด โดยคาดว่าจะพาให้สินค้าของตนเข้าตาแฟนบอล จนกระทั่งเข้าสู่หัวใจของผู้คนเหล่านั้นได้
สำหรับพื้นที่สำคัญที่สุดพื้นที่หนึ่ง คือ บนอกเสื้อ ของนักเตะเร้ดอาร์มี่
บริษัทแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (มหาชน) ให้สัมปทานเป็นของสินค้ายี่ห้อ SHARP
และ UMBRO มาเนิ่นนานแล้ว
รายการแจกแจงรายได้ชี้ว่าค่าสปอนเซอร์ ค่ารอยัลตีและค่าโฆษณาที่เข้าบริษัทแมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ด (มหาชน) ในปี 1994/95 มีมูลค่า 368 ล้านบาท หรือ 12.14% ของรายได้ทั้งหมด
ในปีถัดมาลดลงไป 9.5% เหลือเป็นเม็ดเงิน 333 ล้านบาท ด้วยสาเหตุหลักจากการตัดสินใจเลิกใช้เสื้อทีมเยือนสีเทาซึ่งนักเตะระบุว่าทำให้มองเห็นกันไม่ถนัดขณะลงฟาดแข้งส่งผลให้ค่ารอยัลตีเสื้อเชียร์จาก
UMBRO ลดลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปี 1996/97 รายได้หมวดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายเป็น
260 ล้านบาท หรือ 10.35% ของรายได้ทั้งหมดในช่วงเดียวกัน สาเหตุความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกตรงนี้มาจากฝีมือการเจรจาขึ้นค่าตอบแทนที่
UMBRO ต้องจ่ายให้แก่บริษัทแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (มหาชน) ในคราวต่อสัญญารอบใหม่เมื่อปลายปี
1995/96 ซึ่งส่งผลให้ UMBRO ตกลงจ่ายให้แก่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 4,000 ล้านบาทสำหรับสัญญาอายุ
5 ปี
ช่องทางขยายรายได้จากโทรทัศน์สดใส-ผีแดงคิดทำทีวีของตัวเอง
ความเป็นป็อบปูลาร์ของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถสร้างผลกระทบที่ชัดเจนมากต่อรายได้ค่าถ่ายทอดโทรทัศน์
เนื่องจากส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดโทรทัศน์ที่ทางพรีเมียร์ลีกได้รับจากบริษัทบีสกายบีจะมีส่วนหนึ่งผันแปรตามจำนวนครั้งที่การลงเล่นของทีมถูกถ่ายทอดโทรทัศน์
ในปี 1994/95 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมีรายได้หมวดนี้ 338 ล้านบาทคิดเป็น 11.5%
ของรายได้ทั้งหมด แต่ในปีถัดมากลับลดลงไป 16% เหลือ 285 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทชี้แจงว่าเป็นผลจากการที่ทีมไม่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในรายการยูโรเปียนคัพบริษัทจึงขาดรายได้จากส่วนแบ่งค่าถ่ายทอดโทรทัศน์ในรายการนี้ไป
ต่อมาในปี 1996/97 รายได้ครึ่งปีของหมวดนี้พุ่งขึ้นสูงมาก ตัวเลขขยับขึ้นเป็น
295 ล้านบาทส่วนหนึ่งเพราะมูลค่ารวมของค่าลิขสิทธิ์จากบริษัทบีสกายบีเพิ่มขึ้น
ส่วนแบ่งที่ปีศาจแดงแมนเชสเตอร์จะได้รับตลอดฤดูการแข่งขันนี้มีมูลค่าถึง
340 ล้านบาท
ในอีกทางหนึ่ง จากการที่เด็กปีศาจแดงได้สิทธิ์แข่งขันในรายการยูโรเปียนคัพ
(เนื่องจากได้เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูการแข่งขันปีก่อนหน้า) ทำให้บริษัทมีรายได้เสริมเข้ามาในหมวดนี้
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าตอบแทนทั้งหมดตลอดช่วงที่ทีมลงแข่งขันจนสามารถเข้าถึงรอบ
4 ทีมสุดท้าย จะตกเป็นเงินประมาณ 350 ล้านบาท
ประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดคือแนวโน้มค่าตอบแทนที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะได้รับจากการถ่ายทอดการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี
Pay Per View สถาบันวิจัยแฮรีสได้ทำสำรวจเมื่อปลายปี 1996 และประมาณการรายได้ที่บริษัทแมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ด (มหาชน) จะได้รับส่วนแบ่งว่าตกปีละอย่างน้อยราว 15,000 ล้านบาท
ขณะนี้ ยังไม่มีผู้บริหารของฝ่ายใดต้องการแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้เพราะรายละเอียดของข้อตกลงเรื่องการถ่ายทอดระบบ
Pay Per View ยังมีเวลาพิจารณาได้อีก 2 ปี ตามข้อตกลงซื้อขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างบีสกายบีกับพรีเมียร์ลีก
ทางด้านของบริษัทแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (มหาชน) เองไม่ได้นิ่งนอนใจรอข้อเสนอจากบีสกายบี
แต่ได้ให้ข่าวหลายครั้งแล้วเกี่ยวกับการดำริจะทำสถานีโทรทัศน์กีฬาที่แยกต่างหากจากเปย์ทีวีของบีสกายบี
โดยเผยว่ากำลังคุยกับสโมสรฟุตบอลหลายรายเพื่อร่วมมือกันทำโครงการนี้ หรือไม่เช่นนั้นอาจลงเอยด้วยการทำสถานีโทรทัศน์แมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ดก็เป็นได้
หุ้นปีศาจแดงแรงฤทธิ์ กระแสเทกโอเวอร์กระหึ่ม
โครงสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ อัตราการทำกำไรในระดับพันล้านบาทต่อปี ตลอดจนแนวโน้มการขยายรายได้อย่างขนานใหญ่จากการถ่ายทอดการแข่งขันระบบ
Pay Per View ทำให้บริษัทแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (มหาชน) แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย
ๆ
สินทรัพย์ของบริษัทเติบโตขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ งบดุลงวดครึ่งปีการเงิน 1996/97
ชี้ว่าสินทรัพย์สุทธิหักเจ้าหนี้ระยะสั้นระยะยาว หักหนี้สิน หักรายได้รายรับรอชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว
อยู่ที่ระดับ 3,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดสิ้นปีการเงิน 1995/96 ซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ
2,035 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากงวดสิ้นปีการเงิน 1994/95 ซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ
1,600 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ หุ้นปีศาจแดงจึงเป็นหุ้นเนื้อหอม รายงานการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนไตรมาส
2 ของปีปฏิทิน 1997 ชี้ว่าราคาหุ้นของบริษัทวิ่งขึ้นลงอยู่เหนือระดับ 325
บาท ทำให้ราคาค่าตัวของบริษัททรงอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งๆ
ที่เมื่อตอนเข้าตลาดปี 1991 หุ้นปีศาจแดงเคยเสนอขายที่ระดับ 100 บาทและแทบจะไม่ประสบความสำเร็จในการกระจายหุ้นเลย
จนกระทั่งราคาหุ้นรูดเหลือ 26 บาทแล้ว
มาถึงชั่วโมงนี้ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อดีตเจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ดซึ่งเคยเกือบขายสโมสรนี้ให้แก่ ไมเคิล ไนตัน ในราคาแค่ 50 ล้านบาทไปเมื่อปี
1989 จึงสามารถทำเสียงเย็นใส่บรรดาผู้ที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อบริษัทปีศาจแดงแห่งนี้ว่า
สโมสรผีแดงต้องซื้อขายกันที่ราคา 50,000 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเดือนพฤษภาคม 1996 สองวันหลังจากที่เด็กปีศาจแดงคว้าตำแหน่งดับเบิ้ลแชมป์แห่งพรีเมียร์ลีกและ
เอฟ. เอ. คัพ บริษัท วีซีไอ คอร์ปอเรชั่น ได้ทาบทามขอซื้อสโมสรจอมทำเงินเจ้านี้ในราคา
15,000 ล้านบาท นอกเหนือจากวีซีไอแล้ว บีสกายบีเป็นอีกรายหนึ่งที่เคยทาบทามขอซื้อสโมสรฟุตบอลแห่งนี้
นิก แบตแทรม นักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มฟุตบอลแห่งบริษัท โบรกเกอร์ เกร็ก,มิดเดลเทิ่น
แอนด์ โค ให้ทัศนะว่า
ความพยายามเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลเป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับบริษัทที่ประกอบการด้านโทรทัศน์ทั้งหลาย
เพราะมูลค่าของสถานีโทรทัศน์ย่อมอยู่ที่รายการที่แต่ละสถานีมีมาเสนอแก่ผู้ชม
และการแข่งขันฟุตบอลนั้นได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นรายการที่ดึงดูดผู้ชมได้มหาศาลเพียงใด
ในสถานการณ์ที่จะมีสถานีโทรทัศน์นับร้อยรายกระโดดเข้าสู่ธุรกิจ โทรทัศน์ในเทคโนโลยีดิจิตอล
สถานภาพผู้ประกอบการด้านโทรทัศน์ของบีสกายบีย่อมเรียกได้ว่าถูกคุมคามการลงทุนซื้อหุ้นในสโมสรฟุตบอลรายใหญ่จึงเป็นการสร้างอำนาจต่อรอง
ให้แก่บีสกายบีบนโต๊ะการเจรจาได้เป็นอย่างดี (Observe-27/07/97)
สถานภาพผู้ถือหุ้นใหญ่ 16.4% ของมาร์ติด เอ็ดเวิร์ด ไม่อาจเรียกว่ามั่นคงนัก
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 1997 นี้ เขาเพิ่งขายหุ้นออกไป 2.33% ที่ราคาประมาณหุ้นละ
340 บาท และทำเงินไปเกือบ 500 ล้านบาท แม้สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจะออกแถลงการณ์ว่า
เขาจะไม่ตัดขายหุ้นปีศาจแดงมากไปกว่านี้แล้ว แต่ความหวังที่จะเข้าเทกโอเวอร์ก็ยังระอุอยู่
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าสงครามเทกโอเวอร์แบบศัตรูไม่ใช่จะไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น
เพียงแต่คงไม่มีใครเลือกวิธีดังกล่าว เพราะผลประกอบการของธุรกิจฟุตบอลเป็นเรื่องอัตวิสัยโดยแท้
ขวัญและกำลังใจของทีมบอลตลอดจนความรักความผูกพันในสปิริตแบบฟุตบอลย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเสี่ยงเข้าไปกระทบ
เครื่องจักรทำเงินแบบสโมสรปีศาจแดงแมนเชสเตอร์ยังทำงานของตนอย่างมุมานะ
ผลการล่าชัยชนะของเด็กปีศาจแดงยังเป็นประกันถึงความคลั่งไคล้ที่พลพรรคเร้ดอาร์มี่จะมีให้กับทีม
พร้อมกับการสาดเม็ดเงินกระหน่ำเข้าสู่ถุงเงินของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอย่างไม่หยุดยั้ง
ความสำเร็จทั้งด้านเกียรติและเงินของสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ย่อมเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้แก่ความฝันของสโมสรฟุตบอลอื่น
ๆ ไม่เฉพาะบรรดาที่อยู่ในวงการมหาอำนาจลูกหนังอังกฤษเท่านั้น แต่ยังแผ่แสงทองความหวังสู่สโมสรฟุตบอลในวงการมหาอำนาจลูกหนังในต่างภูมิภาคและต่างทวีป
ไปจนถึงวงการลูกหนังบริเวณรอบนอกจักรวาลด้วย
ฟุตบอลลูกกลม ๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีพื้นฐานของฝีเท้าการเล่นและฝีมือการบริหาร
ไม่ใช่แค่หวังโชคเป็นครั้ง ๆ ไป หรือมองแค่ผลประโยชน์เฉพาะตัวเฉพาะหน้าเป็นคราว
ๆ ไป