|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ซุกหุ้นภาค 2 ถูกต้อนอย่างหนัก ก.ล.ต.ปรับ “โอ๊ค-เอม” ฐานไม่แจ้งการถือครองหุ้น “แอมเพิล ริช” เดินหน้าสางปมบริษัทโคตรรวย 2 แห่ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวันนี้-รับหรือไม่รับคำร้อง 28 ส.ว.เผยมีโอกาสจะรับ “แม้ว” ปิดปากเงียบรอชี้ชะตา ด้าน “กรณ์ จาติกวณิช” ฟันธงซุกหุ้นชัวร์ ลากหลักฐานเด็ดมัดทักษิณยังเป็นเจ้าของแอมเพิล ริช “สุภิญญา” แฉ “ทนายชินคอร์ป” ดอดคุยขอถอนฟ้อง เจ้าตัวยันไม่ใช่คดีส่วนตัวตัดสินเองไม่ได้ ขอถามเพื่อนร่วมทางพรุ่งนี้ ด้านทนายฝ่ายโจทย์เผยขอสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคม เพื่อยืนยันการใช้สิทธิตาม รธน.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.ว่า ในวานนี้ (15 ก.พ.) ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN เพื่อใช้ที่ประชุมรับเรื่องกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต.ได้สั่งให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร จัดส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อยืนยันการโอนหุ้นในบริษัท Ample Rich Investment Ltd. จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้แก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และภายหลังมีนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวด้วยนั้น ล่าสุดบุคคลทั้งสองได้จัดส่งเอกสารจากต่างประเทศที่มีผู้มีอำนาจยืนยันข้อมูล (notary public) มาให้สำนักงานเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการเห็นว่า กรณีเรื่องการแจ้งรายงานการถือครองหุ้นมีแนวโน้มว่าบุคคลดังกล่าวจะมีความผิดเกี่ยวกับการรายงานการถือหุ้น ซึ่งจะต้องรับโทษโดยวิธีการเปรียบเทียบปรับ โดยในเรื่องดังกล่าวได้มีการเร่งรัดในการพิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นการเร่งด่วน โดยคณะกรรมการในชุดดังกล่าวจะประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท Ample Rich ที่ถูกระบุว่ามี 2 แห่งเป็นจริงหรือไม่ โดยประเด็นต่างๆ สำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐานซึ่งใกล้จะครบแล้ว คณะกรรมการได้ย้ำให้สำนักงานพิจารณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนโดยเร็ว
ทั้งนี้ สำนักงานจะเข้าไปตรวจสอบผู้รับฝากหลักทรัพย์ (คัสโตเดียน) เกี่ยวกับการซื้อขายของบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งในเรื่องดังกล่าวได้มีการติดต่อเพื่อขอข้อมูลแล้วในส่วนประเด็นเรื่องการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ของหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น และบริษัทที่เกี่ยวข้องเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องทางเทคนิค คงต้องรอรายละเอียดและหลักฐานที่ชัดเจนก่อนจะสรุปเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.คาดว่าจะพิจารณาเรื่องต่างโดยน่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า
ศาล รธน.พร้อมรับวินิจฉัยซุกหุ้น 2 วันนี้
รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า วันนี้ (16 ก.พ.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดลงมติในคำร้องของนายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว. และคณะจำนวน 28 คนที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 (6) ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดหรือไม่ โดยมีรายงานล่าสุดแจ้งว่าที่ประชุมคณะตุลาการได้บรรจุวาระคำร้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการเพียงวาระเดียวเพื่อให้คณะตุลาการได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ก่อนที่จะมีการลงมติว่าจะรับคำร้องเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามข้อหนดการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในข้อ 12 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งหากเวลาในการอภิปรายในช่วงเช้าคณะตุลาการยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้มีการพิจารณาต่อเนื่องในช่วงบ่าย แต่จะให้มีการลงมติในวันเดียวกันนี้ให้ได้
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการพิจารณาคำร้องดังกล่าวนี้ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการจำนวนหลายคนได้พูดตรงกันว่า ระยะเวลาของการพิจารณาเนื้อหาของคำร้องน้อยเกินไปอยากจะมีเวลาศึกษารายละเอียดให้มากกว่านี้ ถึงแม้ว่าเนื้อหาของตัวคำร้องจะมีเนื้อหาเพียงไม่ถึงหน้าครึ่งก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีตุลาการหลายคนมองว่า คดีคำร้องเรื่องนี้มีความแตกต่างจากคดีซุกหุ้นที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว โดยคำร้องในเรื่องคดีซุกหุ้นครั้งแรกนั้น ได้ยื่นเรื่องผ่านไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาในชั้นแรก หลังจากนั้น ป.ป.ช.ก็ยื่นเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด แต่คำร้องของ 28 ส.ว.ที่ยื่นมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในครั้งนี้ มีความแตกต่างตรงที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ในเรื่องคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ซึ่งการยื่นคำร้องในเรื่องนี้น่าจะถูกต้องตามช่องทางของรัฐธรรมนูญแล้ว
ดังนั้น โอกาสของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องในเรื่องนี้ไว้พิจารณาชี้ขาดต่อไปมีความเป็นไปได้สูง แต่เสียงการลงมติระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อยน่าจะมีความใกล้เคียงกัน หรือาจจะชนะกันไม่ขาดมีความเป็นไปได้สูงที่คะแนนจะออกมาในรูป 8 ต่อ 6 แต่ทั้งนี้จะต้องรอดูใจของตุลาการอีก 2 คนว่าจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งถ้าหาก 2 คนนี้มีความเห็นที่ว่า ควรให้รับคำร้องคะแนนก็น่าจะออกมาที่จะชนะขาดพอสมควร
“แม้ว” ปิดปากเงียบ รอศาล รธน.ชี้ชะตา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล และยังคงปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “สวัสดี” ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด
ชี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ
นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. และนายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก ในฐานะตัวแทน 28 ส.ว.ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามมาตรา 209 ร่วมกันแถลงว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่ารับไว้นำเดินการ และในวันนี้ (16 ก.พ.) ท่านก็อ้างข้อกำหนดอีกว่า ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการได้ตามข้อกำหนดหรือไม่ ทำให้เข้าใจว่าการจะรับพิจารณาหรือไม่รับพิจารณาต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายกฎหมายของ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะ ส.ว.เท่านั้น ได้ศึกษากฎหมาย ทบทวนโดยละเอียดพบฐานทางกฎหมายชัดเจนว่าในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีทางเลือกอะไรทั้งสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับพิจารณาสถานเดียว
นายพนัส กล่าวว่า กรณีนี้ชัดเจนและปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 96 ซึ่งมาตรา 216 วรรคท้าย มาใช้ร่วม แต่มาตรา 96 กำหนดไว้ว่า ตามหลักหาก ส.ว.เข้าชื่อเกิน 1 ใน 10 ซึ่งกรณีเราเข้าชื่อเกินที่จะดำเนินการได้ และหากประธานวุฒิสภาดำเนินตรวจสอบว่าวิธีของเราถูกต้องครบถ้วน ก็ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 96 ก็บอกไว้ชัดว่า การที่ ส.ว.ให้ประธานวุฒิสภาส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ส่งไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยอย่างเดียว
“กรณ์” ฟันธงซุกหุ้นภาค 2 ชัวร์!
นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประ ธานคณะทำงานตรวจสอบการขายหุ้นชิน คอร์ป แถลงว่า ขณะนี้ยังมีคำถามที่สำคัญที่ยิ่งไม่ตอบคณะทำงานของพรรคก็ยิ่งสงสัย คือ เมื่อเดือนก.ค.2544 หลังคดีซุกหุ้นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีจดหมายลับไปถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่า โอนหุ้นแอมเพิล ริชให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายไปแล้ว แต่ในเดือนต.ค.2544 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาแก้รายงานที่ทำไว้กับ ก.ล.ต.เมื่อเดือนกันยายน 2543 ว่า หุ้นที่เคยอยู่ในชื่อคนอื่น คือชื่อคนรถและคนใช้นั้นจริงๆแล้วเป็นของตนเอง กลับไม่มีการพูดถึงแอมเพิล ริช ไม่ได้แก้ในส่วนของแอมเพิล ริช ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าแปลกใจ ตกลง พ.ต.ท.ทักษิณโอนหุ้นแอมเพิล ริช ให้นายพานทองแท้หรือไม่
นายกรณ์ กล่าวว่า แค่นี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่ศาลใดก็แล้วแต่จะรับเรื่องมาพิจารณา เป็นประเด็นสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาและตั้งคำถามว่าเขาพยายามจะทำอะไร พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยรายงานเรื่องการโอนหุ้นแอมเพิล ริช อย่างเป็นทางการต่อ ก.ล.ต. คณะทำงานจึงถามว่าทำไมไม่รายงาน อาจจะเป็นเพราะว่าหากรายงานว่าโอนแล้วนายพานทองแท้ต้องทำการเสนอซื้อ หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นชินคอร์ป ตามมาตรา 247 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เพราะเมื่อรวมหุ้นที่อยู่แอมเพิล ริชฯ และที่อยู่กับนายพานทองแท้ จะรวมกันเกิน 25% จึงต้องซุกไว้ก่อน
แต่อีกแง่มุม คือ การไม่แจ้งเป็นเพราะยังเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ ไม่ได้แจ้งอาจเป็นความถูกต้องก็ได้เพราะยังไม่ได้โอน ดังนั้น ตอนที่รายงานทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รายงานเท็จหรือไม่ เพราะไม่ได้พูดถึงแอมเพิล ริช เลย ยังเป็นปมสำคัญมากกว่าทุกเรื่องที่ยังไม่มีคำอธิบายว่าทำไมจึงไม่รายงานทุกอย่างตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกใจที่มีข้อกล่าวหาว่าเป็นซุกหุ้นภาคสอง
“ผมฟันธงได้เลยว่าแอมเพิล ริช ยังเป็นของท่าน ก็คือซุกหุ้น เพราะหากมีการโอนต้องแจ้ง เมื่อไม่ได้แจ้งแสดงว่าไม่ได้โอนแต่หากบอกว่าโอนแต่ลืมแจ้งก็เอาเอกสารการโอนมาเชื่อถือได้แค่ไหนก็มาว่ากันอีกทีว่า ผิดพลาดโดยสุจริตอีกแล้วหรือ” นายกรณ์ กล่าว
พบไม่ได้รายงาน ก.ล.ต.ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง
นายกรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บุตร และแอมเพิล ริช ไม่ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นต่อ ก.ล.ต. ตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.กำกับหลักทรัพย์ฯ นั้น ถามว่ามีกี่ครั้ง เท่าที่นับได้มี 4 ครั้ง คือ 1.เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2543 ที่แอมเพิล ริช ลดสัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ป จำนวน 10 ล้านหุ้น โดยมีวิคเกอร์ บัลลาส เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ 11.56 ล้านหุ้น 2.วันที่ 1 ธ.ค. 2543 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าโอนหุ้นแอมเพิล ริช ให้นายพานทองแท้ 3.วันที่ 21 ส.ค. 2544 ยูบีเอสส่งแบบ 246-2 ระบุว่าซื้อหุ้นชิน คอร์ป 10 ล้านหุ้น ซึ่งคาดว่าซื้อแอมเพิล ริช 2 แต่แอมเพิล ริช 2 ไม่ได้แจ้ง ก.ล.ต.ในฐานะผู้ขาย และ 4.เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2549 ที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร แจ้ง ก.ล.ต.ว่า โอนหุ้นแอมเพิล ริช ให้ น.ส.พิณทองทา 20% เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2548 ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ป ของ น.ส.พิณทองมาเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่ได้แจ้ง
นายกรณ์ กล่าวว่า ยังมีคำถามเกี่ยวกับวิคเกอร์ บัลลาส และธนาคารยูบีเอส สาขาสิงคโปร์ นายสุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ชี้แจงผ่านโทรทัศน์ว่าทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นเพียงผู้รับฝากหุ้น หรือคัสโตเดียน (Custodian) ก็มีคำถามว่า เป็นผู้รับฝากหุ้นจริงหรือไม่ เพราะพฤติกรรมส่อว่าไม่ใช่เพราะ โดยปกติหากนักลงทุนฝากหุ้นผ่านโบรกเกอร์ไว้ที่ศูนย์รับฝากหุ้นจะปรากฏชื่อของนักลงทุนไม่ใช่ชื่อโบรกเกอร์จึงมีคำถามว่า หากเป็นผู้รับฝากหุ้น ทำไมจึงโอนหุ้นให้วิคเกอร์ บัลลาส แค่จำนวน 10 ล้านหุ้น อีก 22.92 ล้านหุ้นทำไมไม่โอน และหากยูบีเอสเป็นผู้รับฝากหุ้น ทำไมในปี 2544 จึงมีรายการซื้อหุ้นจากแอมเพิล ริช 10 ล้านหุ้นๆ ละ 179 บาท เพราะหากรับฝากอย่างเดียวจะไม่มีการซื้อขาย
สรุปแล้ว วิคเกอร์ บัลลาส และยูบีเอส เป็นใคร ทำหน้าที่ให้ใคร หากเป็นของตระกูลชินวัตร ซึ่งก็น่าจะหมายถึงนายพานทองแท้ ก็มีคำถามว่าเงินที่ซื้อหุ้นมาจากไหน และเงินที่ได้จากการขายหุ้นโดยแอมเพิล ริช ไปที่ไหน พิสูจน์ได้หรือไม่ว่าเข้าบัญชีนายพานทองแท้ เพราะตามคำอ้างของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น แอมเพิล ริชฯ ถูกโอนเป็นของนายพานทองแท้แล้ว
เล่นงานอินไซเดอร์เทรดดิ้งได้
นอกจากนี้ ตามมาตรา 241 เรื่องการใช้ข้อมูลภายใน หากเป็นไปตามคำอ้างของนายสุวรรณที่ระบุว่า ยูบีเอสคือผู้รับฝากหุ้นนั้นคณะทำงานพบว่า ยูบีเอสได้ซื้อหุ้นชินอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตระกูลชินวัตรเจรจาขายหุ้นชินของตัวเองอยู่ ถามว่าเข้าข่ายมาตรา 241 หรือไม่ ทั้งนี้ การที่นายทนง พิทยะ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ว่า ก.ล.ต.ได้รับหลักฐานหมดแล้วนั้น ไม่จริง ก.ล.ต.ยังไม่ได้รับคำตอบจากวิคเกอร์ บัลลาส และยูบีเอสมีสถานะเป็นอะไร
นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของความถูกต้องตามกฎหมายของบริษัทต่างๆ ที่เทมาเส็กตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความเป็นไทยของผู้ซื้อหุ้นนั้น คณะทำงานอาจจะเข้าพบนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รมช.พาณิชย์ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูเรื่องนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกระทรวงพาณิชย์และให้รับทราบข้อกล่าวหาและความกังวลของคณะทำงาน ทั้งนี้ คณะทำงานจะหารือกันด้วยว่า จะเหมาะสมอย่างไรที่จะเสนอข้อมูลของคณะทำงานให้กลุ่ม ส.ว.28 คน ที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อยืนยันหรือขยายความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจากที่ได้อ่านญัตติของ ส.ว.แล้วมีมูลหลายประเด็น ตรงต่อข้อมูลของคณะทำงาน
ครป.จี้ 4 ตุลาการศาล รธน.ไถ่บาป
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องตุลาการ 4 คน ที่เคยวินิจฉัยให้นายกฯ ทักษิณพ้นผิดจากคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544 และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ คือนายผัน จันทรปาน นายจุมพล ณ สงชลา นายศักดิ์ เตชาชาญ และนายปรีชา เฉลิมวนิชย์ ได้ใช้โอกาสนี้กลับตัวกลับใจมีมติรับคำร้อง 28 ส.ว.ไว้วินิจฉัยเพื่อเป็นการเรียกศรัทธาจากประชาชนคืนมาด้วย เพราะในคำวินิจฉัยของเสียงข้างมากในคดีซุกหุ้นภาคแรกนั้นตุลาการหลายคนได้วินิจฉัยในลักษณะให้โอกาสนายกฯทักษิณและบางคนถึงกับระบุว่าคุณทักษิณถูกคน 19 ล้านคนเลือกเข้ามาจะให้คนเพียง 15 คนมาตัดสินให้ผิดได้อย่างไรซึ่งนั่นหมายความว่าเสียงวินิจฉัยข้างมากในคดีซุกหุ้นภาคแรกเป็นการวินิจฉัยโดยยึดหลักให้โอกาสมากกว่า ยึดตัวบทกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยในวันนี้ เครือข่ายองค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและองค์กรต่างๆ จะไปรวมตัวกันอย่างสงบที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรับฟังข่าวดีเวลา 10.00 น เป็นต้นไป
คปส.หารือชินคอร์ปขอใกล่เกลี่ย
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวถึงกรณีที่ทนายความของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น เจรจาประนีประนอมและขอถอนฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท และทำให้บริษัทฯเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 400 ล้านบาทว่า ได้รับแจ้งจากทนายความที่รับผิดชอบคดีว่าทนายความของบริษัทชินคอร์ปได้โทร.มาขอประนีประนอมเพื่อถอนฟ้องซึ่งกรณีดังกล่าวเห็นว่าเป็นประเด็นสาธารณะที่ คปส.และสาธารณะจะต้องร่วมกันติดสินใจเพราะถือเป็นคดีที่กระทบสิทธิเสรีภาพของทั้งสื่อมวลชนและ องค์กรคปส.
“หากกรณีนี้เป็นคดีส่วนตัวก็สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ แต่ใจลึกๆ ก็อยากให้เรื่องนี้จบไปเสียที ทว่าในความเป็นจริงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะต้องฟังคนที่ร่วมต่อสู้กันมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาว่ามีความเห็นอย่างไร โดยคณะกรรมการ คปส.จะมีการประชุมกันในเวลา 16.00 น.ของวันนี้ เพื่อตัดสินใจร่วมกัน หากที่ประชุมมีมติออกมาอย่างไรก็จะปฏิบัติตามมติของที่ประชุม”
ขณะที่ นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความในคณะทำงานของสภาทนายความและเป็นทนายความฝ่ายนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากทนายความของบริษัทชินคอร์ปว่าจะขอเจรจาประนีประนอมเพื่อยุติคดี เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาจำเลยที่ 1 คือ นางสาวสุภิญญา ได้สู้คดีอย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยได้ยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1.จะถอนฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา และ 2.จะมีการลงบันทึกว่าทั้งโจทย์และจำเลยมีความเข้าใจกันดี เพราะเห็นว่าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ ดังนั้นโจทย์จึงไม่ติดใจเอาความ และจะไม่เรียกร้องร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีก
“พอได้รับเรื่องผมก็แจ้งต่อคุณสุภิญญา ซึ่งก็เห็นว่าดคีนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องทำให้คำพิพากษาของศาลเป็นบรรทัดฐานของสังคม พร้อมทั้งเป็นการยืนยันการใช้สิทธิของประชาชนและสื่อมวลชนที่ได้บัญญัติไว้ว่าสามารถกระทำได้จริงตามรัฐธรรมนูญ” ทนายความฝ่าย น.ส.สุภิญญา กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม อยากให้สื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินคดีต่อไป
นายรัษฎา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการฟ้องกลับหรือเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใด เพราะต้องรอการตัดสินใจของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในวันเดียวกันทนายความของบริษัทชินคอร์ปฯ ได้ขอเจรจาประนีประนอมเพื่อยุติคดีกับบริษัทหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีเดียวกันอีกด้วย
“ชิดชัย” ปัดสอบแอมเพิล ริช
พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่า เรื่องที่หลายฝ่ายต้องการให้ ปปง.เข้าไปตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ผ่านบริษัท แอมเพิล ริช ของตระกูลชินวัตรนั้น คงต้องพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามมูลฐานความผิดของกฎหมายฟอกเงินหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ทราบเรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฟอกเงินแต่อย่างใด
พ.ต.อ.ยุทธบูล ดิสสะมาน รักษาการเลขาธิการ ปปง.กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทแอมเพิล ริช ไม่เข้าข่ายมูลฐานความผิดของกฎหมายฟอกเงินจึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ปปง.ยังไม่ได้รับการประสานขอความร่วมมือจากก.ล.ต. หากมีการประสานมาก็ต้องพิจารณาว่า ก.ล.ต.ต้องการให้ ปปง.ช่วยตรวจสอบอะไรบ้าง
พาณิชย์ขยับเข้าตรวจสอบชินคอร์ป
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้ นางสาวอรจิต สิงคาลวณิช อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ประสานไปยัง ก.ล.ต.เพื่อขอข้อมูลกรณีที่ 2 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทต่างด้าว คือ บริษัท เอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้ง จำกัด ขอเข้าลงทุนในบริษัทจำกัดมหาชนแล้ว เนื่องจากกรมฯ ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้จึงยังไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ แต่ทั้งนี้ จากการตรวจสอบทั้ง 2 บริษัทในเบื้องต้น พบว่า เป็นบริษัทของคนต่างด้าว และได้รับการอนุมัติการจดทะเบียนถูกต้อง โดยมีวัตถุป ระสงค์ของการจัดตั้งเพื่อลงทุนในบริษัทจำกัดและบริษัทจำกัดมหาชน
“จากการตรวจสอบในเบื้องต้น บริษัท เอสเพน และไซเพรส เป็นบริษัทต่างด้าวจริง แต่ไม่มีการกระทำผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพราะไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจในบัญชีที่กำหนดให้คนต่างด้าวต้องขออนุญาต ดังนั้น ทั้ง 2 บริษัท จึงไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้” รายงานข่าว ระบุ
ทั้งนี้ ในกรณีของบริษัท กุหลาบแก้ว ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบริษัทคนไทย แต่ทำไมถึงขอรับผลประโยชน์จากการทำธุรกิจแค่ 3% รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวเลข3% นี้ เป็นเงื่อนไขของหุ้นปุริมสิทธิ์ที่กำหนดไว้ว่าจะได้รับส่วนแบ่ง 3% ซึ่งผู้ถือหุ้นปุริมสิทธิ์จะได้รับสิทธิ์ตรงนี้โดยไม่เกี่ยวว่าบริษัทจะกำไรหรือขาดทุนแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหุ้นสามัญ เพราะในส่วนของหุ้นสามัญ อาจจะได้รับผลตอบแทนมากกว่านี้ หากมีการบริหารจัดการมีกำไร หรืออาจต้องรับภาระขาดทุนหากบริหารจัดการขาดทุน
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นับแต่มีการค้นพบความไม่ถูกต้องทางกฎหมายของบริษัท กุหลาบแก้ว ในกรณีทำผิด พ.ร.บ.ประกอบธุกรกิจของคนต่างด้าวแล้ว ถือว่า การซื้อขายหุ้นทุกตัวของกลุ่มชิน ทั้งบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น และบริษัทอื่นๆ ที่ชินถืออยู่ก่อนหน้าการขายหุ้น เช่น ชินแซลเทลไลท์ หรือไอทีวี ก็ผิด พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปดำเนินการ ส่วนกรณีของไทยแอร์เอเชียนั้น กรมขนส่งทางอากาศต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วย เพราะมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องความมั่นคง ที่ไม่สามารถถ้ายโอนสายการบินไทยให้คนต่างชาติได้ ตามบัญชีแนบ 2 ในเรื่องความมั่นคงของประเทศ โดยหากจะดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นมติของ ครม.
|
|
|
|
|