เพิ่งออกจากโรงพยาบาลได้แค่เดือนกว่า ๆ บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มสยามทีวีก็ต้องลุยงานหนักหน่วง
นับเป็นเรื่องต้องให้กำลังใจกัน การเร่งหารายได้ออกจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก
เศรษฐฏิจฟองสบู่เริ่มแตกดับเหนืออุตสาหกรรมไอทีและมีเดีย การสร้างความได้เปรียบในเชิงมีธุรกิจอย่างครบวงจร
กลับกลายเป็นความสิ้นเปลือง
กลุ่มบริษัทสยาม ทีวี แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สยามมีเดีย
แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด" ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะแจ่มใส
แต่ทั้งพนักงานและผู้บริหารต่างต้องใคร่ครวญว่าจะอยู่หรือจะไปกันทั้งนั้น
การตัดสินใจในลักษณะนี้ มิใช่ง่าย แต่การไม่ตัดสินใจ ก็นับว่าฝากชีวิตไว้กับดวงโดยแท้
ที่ตัดสินใจเร็วหน่อยก็ย่างเท้าออกไปอย่างเงียบเชียบไม่บอกแม้กระทั่งคนสนิท
ยกตัวอย่าง นพปฎล เดชอุดม ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจทีวีวิทยุ และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
ใคร ๆ ก็มองว่า เขามีอนาคตทีเดียว นพปฎลจบการศึกษาด้านไฟแนนซ์ เคยทำงานกับเกษม
จาติกวนิช และบริษัทธนายง อยู่สยามมีเดียมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เคยใกล้ชิดนายใหญ่
เช่น จุลจิตต์ บุณยเกตุ ซึ่งลาออกไปแล้ว ต่อมาก็เป็นระดับมือขวาของบรรณวิทย์
นพปฎลได้รับความไว้วางใจอย่างมาก จนไม่มีใครคิดระแคะระคายกันบ้างเลยว่าเขาจะลาออกไปอย่างง่าย
ๆ?
ที่ยังไม่ตัดสินใจก็พบว่า การอยู่ คือความเสี่ยงเหมือนกัน สยามมีเดีย หรือ
SM&C ก็เหมือนกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ คือสำหรับคนที่ยังยืนหยัดอยู่ ก็คงต้องให้กำลังใจกันอย่างเต็มร้อย
สำหรับคนที่จากไปคงต้องร้องเพลง Whatever will be, will be.
ระยะหลัง "ยอดฝีมือ" ที่ทยอยลาออกไปเรื่อย ๆ คือ สรรพัชญ โสภณ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและมัลติมีเดีย, ธีระ พูลเกษม
ผู้อำนวยการ Siam TV Professional Training Center, บุญสน เจนชัยมหกุล กรรมการผู้จัดการ
บริษัท สยามเทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด, สุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ กรรมการผู้จัดการ
บริษัทสยามคลังสารสนเทศ จำกัด รายนี้ลาออกไปอยู่เทเลคอมเอเซีย, ไพบูลย์ ผู้พัฒน์
กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามวิดีโอ คอนเฟอเร็นซิ่ง เซอร์วิส จำกัด ลาออกไปอยู่เทเลคอมเอเซีย,
ศรันย์ จันทพลาบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยาม มาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่น
จำกัด
ส่วนที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ รับประกันได้ว่า "ผู้จัดการรายเดือน"
มีรายชื่ออยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ออกจะไม่เหมาะที่จะนำมาตีแผ่ในลักษณะ "ฟันธง"
ไม่เชื่อบรรณวิทย์ลองสอบถามคนเหล่านี้ดูก็ได้ เช่น สถาพร สิริสิงห กรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำกลุ่มธุรกิจสื่อบันเทิง,
ไชยโรจน์ ภัทรเกียรติพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการเงิน การลงทุน และสารสนเทศ,
อภิวัฎ จรรย์โกมล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์แอกทีฟ จำกัด และปกิต
จันทราทิพย์ อดีต "มือทำงาน" อีกคนหนึ่งของบรรณวิทย์
แม้ว่าปกิตจะเป็นคนแบบ "รสนุ่ม" ร่ำรวยรอยยิ้มเสมอยามโอภาปราศรัยถึงความรุ่งเรืองของสยามมีเดียตามสไตล์นักประชาสัมพันธ์เก่า
ที่ลีลาเข้าตานาย ตั้งแต่อยู่แบงก์ไทยพาณิชย์ แต่เขาก็กินใจกับปัญหาต่าง
ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะกลายเป็นทหารเอกที่ไม่ถูกเรียกใช้
"สภาพคนวงนอกผู้ยังคงภักดี ทำให้เขาต้องอึ้ง! เมื่อถูกตัดคนขับรถประจำตำแหน่งอย่างชนิดไม่รู้เนื้อรู้ตัว"
แหล่งข่าวสายไทยพาณิชย์แสดงความเห็นใจ The Man For All Season คนนี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะผ่านฤดูฝนไปหรือไม่?
ไม่เพียงแต่ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ปัญหาการเมืองซึ่งแก้ไม่ตก ทำให้นักวิชาการ
เช่น วิทยากร เชียงกูล ไม่กล้าย่างกรายเข้ามาในกลุ่มนี้ แม้บรรณวิทย์จะให้ความสนใจเขาอยู่ไม่น้อย
อาจเป็นได้ว่า วิทยากรไม่อยากแต่งหนังสือ "ฉันจึงมาหาความหมาย"
อีกภาคหนึ่ง
อ่านตำแหน่งใหม่บทนี้แล้วก็ออกจะน่าใจหาย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สยามมีเดียคือกลุ่มธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
มีบริษัทใหญ่น้อยถึง 44 บริษัท แต่มาลดลงเหลือ 26 บริษัท และปัจจุบัน เหลืออยู่เพียง
16 บริษัทเท่านั้น
แม้จะยังมีผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายละ 33.33% คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ
สหศีนิมา และธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ในยามนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ถึงเวลาบรรณวิทย์ทำแผนฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน
โดยเฉพาะในส่วนวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นปัญหามาตลอด จนทำให้ "ไม่มีใครไว้ใจ"
ที่เห็นและเป็นอยู่ในเวลานี้ ผู้บริหารก็มุ่งตัดรายจ่ายเท่านั้น
เมื่อต้นปี ดูเหมือนกลุ่มผู้บริหารติดตามสถานการณ์ไม่ทัน จึงกำหนดเป้ารายได้ของทุกบริษัทเพิ่มขึ้นอีกในราว
15% แต่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ทำให้ทุกคนตระหนักว่า เป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่าง
บริษัทสยามอินเตอร์แอกทีฟมีรายได้เข้ามาเพียง 4-5 แสนบาท แต่รายจ่ายท่วมท้น
ในขณะที่บริษัทสยามเทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด และสยาม แชท เน็มเวอร์ค จำกัด
ก็ขาดทุน
เรื่องที่พอจะทำให้ชุ่มชื่นหัวใจได้บ้าง ก็คือรายการ ZONE ONE ที่ให้ทั้งสาระ
ความรู้ และความบันเทิงแก่คนรุ่นใหม่ ออกจะท็อปฮิตติดอันดับ รายการนี้เป็นของบริษัทสยาม
อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย จำกัด มีบริษัทพาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ ผลิตรายการ
ต่างเป็นบริษัทในกลุ่มสยามมีเดีย
ความสำเร็จเพียงเท่านี้ยากจะกอบกู้สถานการณ์
สิ่งที่ตามมาคือการตัดรายจ่ายบริษัทใหญ่น้อยภายในกลุ่ม ยิ่งมีปัญหาการเมืองอยู่แล้ว
ยามตัดรายจ่ายก็ยิ่งยุ่ง เกิดความแตกร้าวตามมา แต่ที่แน่ ๆ คือรายการสั่ง
"เปาฮื้อ" เป็นอาหารมื้อกลางวันเป็นนิจศีลของผู้บริหารบางท่าน
เริ่มถูกพนักงานสอดส่องว่า เป็นเงินใคร? ทำไมไม่สนองนโยบายประหยัดของรัฐบาล?
เสรี วงษ์มณฑา คนหนึ่งล่ะ! สมัยเขายังอยู่ ทุกคนจำต้องอมยิ้ม เพราะเห็นเขาก็เหมือนเห็นเปาฮื้อก้อนมหึมาทีเดียว
การเข้มงวดด้านรายจ่ายเป็นไปอย่างหนักมือ มีการยกเลิกรถประจำตำแหน่ง และพนักงานขับรถของผู้บริหารบางส่วน
พนักงานที่มีปัญหาจะถูกทำหนังสือเตือนเป็นรายบุคคล
ยามนี้ แทบทุกบริษัทในไทย ดูท่าจะเลือดเข้าตากันเสียแล้ว อย่าแปลกใจถ้าบริษัทใหญ่โตหลายแห่งบอกกับพนักงานว่า
"จะกินกาแฟ ก็นำมาเองสิ" สยามมีเดียก็เช่นเดียวกัน!
เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อมีการย้ายสำนักงานจากละแวกถนนสาธรไปยังตึกมหิศร
ไทยพาณิชย์ ปาร์คพลาซ่า สยามมีเดียเช่าพื้นที่สำนักงานถึง 17 ชั้น เสียค่าเช่าชั้นหนึ่ง
5 แสนถึงล้านบาทต่อเดือน ค่าตกแต่งชั้นละประมาณ 3 ล้านบาท แต่ปัจจุบันที่ทำการของบริษัทนี้เหลืออยู่เพียง
4 ชั้นเท่านั้นคือ 11, 19, 21 และ 22 ซึ่งบรรณวิทย์นั่งทำงานอยู่
ทั้งยังมีการยกเลิกห้องอาหาร ที่จัดทำขึ้นอย่างหรูหรา ถ้วยชามประณีตที่ปั๊มโลโก้ของบริษัท
กลายเป็นสิ่งเปล่าประโยชน์ อย่างดีก็ได้แต่เก็บไว้เป็นของที่ระลึกเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ คงไม่จำเป็นนักที่จะพูดถึงการตัดค่าใช้จ่ายในเรื่องปลีกย่อย
เพราะปัญหาสำคัญคือการสร้างเอกภาพในการทำงาน นี่เป็นเรื่องที่บรรณวิทย์ออกจะหนักใจมาตลอดและก็ยากที่จะแก้ไข
แม้แต่ในการลดพนักงาน ว่ากันว่า ผู้ถือหุ้นแต่ละฝ่าย ก็ยังดูแลไม่ให้คนที่มาจากฝ่ายตนเสียเปรียบ
ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบ เหงา มีข้อดีอยู่บ้างคือผู้บริหารต่างออกภาคสนามลุยหาบิลลิ่งกันอย่างรีบเร่ง
เพราะเป็นทางเดียวเท่านั้นสำหรับการอยู่รอด นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ออกจะสวนทางกับสไตล์ดั้งเดิมของสยามมีเดียที่เน้นว่า
"เอ็มดี" นั่งโต๊ะวางแผนเท่านั้น อย่าทำตัวเป็นเซลส์แมน
ผู้ยืนยันทฤษฎีนี้อย่างหนักแน่นคือ ฉัตรชัย บุนนาค กรรมการรองผู้อำนวยการใหญ่สายงานธุรกิจ
แต่เขาก็ถูกวิจารณ์พอควรเมื่อธุรกิจของกลุ่มนี้ไม่ประสบความสำเร็จ พนักงานมองว่า
การสั่งการจากบนลงล่าง โดยไม่เข้าใจสภาพพนักงานและไม่ฟังเสียงระดับล่างบ้างเลย
เป็นเรื่องที่ทำให้ห่างไกลข้อเท็จจริงและล้มเหลว
"แต่ก่อนเขาเคยคิดกันอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ ทุกคนต้องวิ่งขายสินค้า
แม้แต่คุณบรรณวิทย์ ท่านก็ไม่อยู่เฉยอีกต่อไปแล้ว" แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว
เพื่อลดความฟุ่มเฟือยในการใช้จ่าย ทางธนาคารไทยพาณิชย์ก็ได้ส่งประสพ สนองชาติ
มาเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการเงิน คุมเกมอย่างเข้มงวด ผู้บริหารระดับสูงหมดสิทธิ์สั่งเบิกจ่ายกันอย่างสะดวกโยธินก็คราวนี้
ส่วนฉัตรชัย บุนนาค ยังคงไม่ถอยง่าย ๆ เขายังยืนหยัดสานต่อภารกิจให้เสร็จสิ้น
เพราะการหางานใหม่ของเจ้านายและลูกจ้างล้วนยากและเจ็บปวดพอ ๆ กัน