"เฟร์เซอร์ฯ" กลุ่มทุนสิงคโปร์ รุกอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร เล็งโปรเจกต์ใหญ่มักกะสันคอมเพล็กซ์ ทำเลทองใหม่เนื้อที่ 650 ไร่ มูลค่าลงทุนร่วม 1-2 แสนล้านบาท ทั้งแนวราบ-แนวสูง-รีเทล หลังลงทุนในกรุงเทพบ้านฯ ตั้งเป้าใน 2 ปี ลงทุนเพิ่ม 1,500 ล้านบาท ระบุโครงการลงทุนก่อนหน้าเริ่มเก็บดอกผลได้ภายในปีนี้
นาย ลิม อี เส็ง ( LIM EE SENG ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟร์เซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ จำกัด จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งดูแลธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า กลุ่มอสังหาฯของเฟร์เซอร์ฯแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ อสังหาฯเพื่อการลงทุน ,กลุ่มอสังหาฯเพื่อการพัฒนา และกลุ่มอสังหาฯเพื่อบริการที่พักอาศัย โดยรายได้กว่า 67% ของรายได้ทั้งหมดมาจากอสังหาฯ
ทั้งนี้นอกจากที่สิงคโปร์แล้ว เฟร์เซอร์ฯยังขยายไปประเทศจีน, เวียดนาม, สหราชอาณาจักร ,ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และไทย รวมทั้งสิ้น 12 โครงการมูลค่ากว่า 4,300 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จากมูลค่าทรัพย์สินในปัจจุบันรวมกว่า 5,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยในปี 2549 เฟร์เซอร์ฯ ได้วางแผนใช้เม็ดเงินในการลงทุนทั้งสิ้น 800 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งแบ่งเป็น 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ลงทุนในสิงคโปร์ที่เหลือ 300 ล้านเหรียญเป็นการลงทุนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนั้น นายลิม กล่าวยอมรับว่า เฟร์เซอร์ฯถือเป็นกลุ่มทุนที่ใหม่มาก แต่เนื่องจากเป็นประเทศที่มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในการขยายการลงทุนในทุกธุรกิจทั้งรีเทล ที่พักอาศัย ซึ่งหากเทียบในภูมิภาคแล้วไทยถือเป็นอันดับ 2 รองจากจีนที่น่าลงทุนที่สุด โดยเฟร์เชอร์เลือกลงทุนกับบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน)
ส่วนสาเหตุที่เฟร์เซอร์เลือกลงทุนกับกรุงเทพบ้านฯ นั้นเนื่องจากเป็นบริษัทที่มีขนาดเหมาะสมมีความเชียวชาญในการพัฒนาในแนวราบ ซึ่งต่างจากเฟร์เซอร์ฯ ที่ถนัดพัฒนาแนวสูง ในอนาคตกรุงเทพบ้านฯ ยังมีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่ดี และประการสำคัญ ยังรู้จักกับนายธงชัย คุณากรปรมัตถ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรุงเทพบ้านฯ มาก่อนหน้านี้ ทำให้การร่วมลงทุนง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม เฟร์เซอร์ฯ ยังมีความสนใจที่จะลงทุนในไทยเพิ่ม โดยเฉพาะโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ส่วนการลงทุนด้านชอปปิ้ง เซ็นเตอร์ในไทยนั้นมีความสนใจเช่นเดียวกัน แต่เฟร์เซอร์จะต้องลงทุนผ่านกองทุน REIT - Real Estate Investment Trust Fund ซึ่งกองทุนแบบนี้เมืองไทยยังไม่มี หากไทยเปิดโอกาสให้มีกองทุนประเภทดังกล่าวก็มีความสนใจที่จะลงทุนเช่นเดียวกัน
นายลิม กล่าวต่อว่า การที่เฟร์เซอร์ฯร่วมทุนกับทางกรุงเทพบ้านฯไม่ใช่เป็นแบบเอ็กคลูซีพ กล่าวคือเฟร์เซอร์ฯสามารถที่จะลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆได้ และการลงทุนนั้นไม่ได้สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในเมกกะโปรเจคด้านสาธารณูปโภค แต่ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในในที่ดินที่ภาครัฐบาล สนับสนุนในรูปแบบลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ในที่ดินที่อยู่เกาะแนวรถไฟฟ้า โดยเฉพาะที่ดินย่านมักกะสัน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุน1 -2 แสนล้านบาท ที่เชื่อมโครงการแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ รวมเนื้อที่ 650 ไร่ ซึ่งจะกลายเป็นทำเลทอง ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านการคมนาคม รวมถึงกลายเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมืองแห่งใหม่ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจ
นอกจากนี้การร่วมทุนกับเฟร์เซอร์ ยังถือเป็นทางเลือกที่ดีของกรุงเทพบ้าน เพราะหากไม่ใช้วิธีร่วมทุนแล้วการพัฒนาโครงการของกรุงเทพบ้านฯจะไม่สามารถขยายโครงการได้คราวละมากๆ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องทุนจดทะเบียน และบริษัทนอกตลาดไม่สามารถระดมทุนได้ ซึ่งการที่ได้เม็ดเงินจากเฟร์เซอร์ฯเข้ามา ทำให้กรุงเทพบ้านฯ ขยายการลงทุนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
สำหรับที่ผ่านมาเฟเชอร์ฯได้ลงทุนในไทยคิดเป็นเงินลงทุน 750-1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนถือหุ้นในบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน 550 ล้านบาท และอีก 300 ล้านบาทเป็นการลงทุนผ่านบริษัท ริเวอร์ไซด์ โฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเฟร์เซอร์ฯถือหุ้น 49% ที่เหลือ 51% ถือหุ้นโดยบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน เพื่อพัฒนาโครงการ เดอะ พาโน ย่านพระราม 3 คอนโดมิเนียมจำนวน 397 ยูนิต ซึ่งการลงทุนในโครงการนี้จะเป็นการทยอยใส่เงินทุนเข้าไป จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ และในภายใน 2 ปีนี้เฟร์เชอร์จะลงทุนในไทยเพิ่มอีก 1,500 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในก่อนหน้านี้จะสามารถสร้างรายได้กลับสู่เฟร์เชอร์ได้ภายในปีนี้
ส่วนสาเหตุที่กลุ่มทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนอสังหาฯในไทยนั้น เนื่องจากตลาดสิงคโปร์ค่อนข้างอิ่มตัว ประชากรกว่า 80% มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในขณะที่ไทยประชากรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายตัวด้านธุรกิจ
นอกจากนี้นายลิม ยังได้กล่าวถึงกฎหมายเช่าอสังหาฯ ในไทยว่า ในแง่ของระยะเวลา ไม่ว่าจะ 99 ปี เช่นในสิงคโปร์ หรือ 30 ปี ไม่มีความต่างมากนัก อย่างประเทศอินโดนีเซีย ใช้กฎหมาย 30 ปี เหมือนเมืองไทย แต่จุดที่สำคัญคือ สัญญาเช่าเวลาต่อสัญญายากง่ายแค่ไหน ถ้าง่าย จะ 30 ปี ก็ไม่มีปัญหา ประการที่สอง คือ สถาบันการเงินจะอนุมัติการปล่อยกู้ได้ง่ายหรือไม่ ซึ่งบางตึกในสิงคโปร์เป็นสัญญา 60 ปี
|