"วิกฤติการณ์ตอนนี้เป็นวิกฤติการณ์ด้านการเงิน" นี่คือข้อสรุปของจิรายุ
อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันเป็นสำนักงานที่มีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทธุรกิจเอกชนหลายแห่ง
กับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะเป็นผู้ถือหุ้น แต่สำนักงานฯ
แห่งนี้ก็ต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจด้วย ไม่ต่างจากบริษัทเอกชนอื่นแต่อย่างใด
และแน่นอนว่าในภาวะเช่นนี้ องค์กรขนาดใหญ่จะทำตัวอย่างไรเพื่อให้กิจการของตนเองสามารถฝ่าฟันสภาวะเช่นนี้ให้รอดพ้นไปได้
สิ่งที่ผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินฯ ดำเนินการก็คือการทบทวนโครงการต่าง
ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ยกตัวอย่าง การก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในที่ดินที่ทรัพย์สินจัดซื้อใกล้กับสำนักงานแห่งเดิมจำนวน
7 ไร่ก็ต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว เพราะถือว่ายังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้
อาคารที่จะก่อสร้างเป็นเพียงสำนักงานที่เตรียมไว้ใช้ในการติดต่องานกับบุคคลภายนอก
เมื่อเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ โครงการเช่นนี้ก็ถือว่าไม่จำเป็น และสามารถระงับไว้ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจหลายแห่งที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าไปถือหุ้นนั้น
จิรายุเองในฐานะผู้บริหารของสำนักงานทรัพย์สินฯ ตระหนักดีว่าเป็นภาวการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกกิจการในขณะนี้
จะไปตำหนิผู้บริหารว่าวางแผนผิด อันส่งผลกระทบกับรายได้ปันผลของทางสำนักงานทรัพย์สินฯ
นั้นคงเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ
จิรายุกล่าวว่าสิ่งที่ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ทำในขณะนี้คือนำแต่ละกิจการทาทบทวนดูว่าจะต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหากันอย่างไรบ้าง
โดยร่วมกับผู้บริหารในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง
หากทางสำนักงานทรัพย์สินฯ เลือกที่จะให้มีการลงทุนก็จะพิจารณาดูว่าการเลือกลงทุนนั้น
ควรลงทุนในกิจการที่สามารถสร้างอนาคตต่อไปได้ ที่สำคัญอีกประการก็คือ สำนักงานทรัพย์สินฯไม่ได้มีความสามารถในการบริหารงาน
การจัดการด้านบริหารก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารกิจการนั้นที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการอยู่แล้ว
หากย้อนไปดูเมื่อ 2 ปีก่อน ทุกกิจการล้วนมีการวางแผนในธุรกิจของตนเองอย่างดี
ในสภาพเศรษฐกิจที่ดีมีการขยายตัวไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้ เหตุการณ์ตอนนี้ไม่มีใครคาดว่ามันจะเกิดขึ้น
สิ่งที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จะเข้าไปร่วมปรึกษากับกิจการที่มีปัญหา หาทางแก้ไข
กับการยอมรับสภาพที่เงินปันผลที่เคยได้รับจำนวนมากจะต้องลดจำนวนลงตามผลการดำเนินงาน
จิรายุในฐานะผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินฯ แสดงท่าทีให้กำลังใจกับกิจการที่สำนักงานทรัพย์สินฯ
ถือหุ้นอยู่ในขณะนี้ว่าจะไม่มีการพิจารณาทบทวนเรื่องการถือหุ้น เพราะแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งในสภาวะเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม หากมีกิจการไหนที่เสนอตัวให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าไปถือหุ้นร่วมก็ต้องมีการเลือกสรรอย่างมากเพราะสำนักงานทรัพย์สินฯ
คงไม่หันไปใช้วิธีการเข้าถือหุ้นในกิจการที่หลากหลายอีกต่อไปแต่จะพิจารณากิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานดี
ดูผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การบริหารกิจการในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต
หากดูแล้วมีทิศทางที่ดีก็จะเลือกเข้าไปร่วมลงทุนด้วย
และจะพิจารณาเลือกอย่างมากในการลงทุนในกิจการที่คิดว่าน่าจะลงทุน
เป็นนโยบายหลักที่ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ วางไว้ เป็นเกณฑ์ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้จะเป็นอย่างไร
เพราะที่ผ่านมาถือได้ว่าองค์กรแห่งนี้มีการเข้าไปลงทุนในกิจการหลากหลายสาขาเป็นอย่างมาก
อันเป็นเพราะความเป็นสถาบันที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดหากเข้าไปร่วมกับกิจการใดก็ตาม
จิรายุแสดงความเห็นว่า ธุรกิจที่พอจะมีโอกาสรอดพ้นไปจากช่วงสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ก็คือ
การที่กิจการนั้นมีผู้บริหารดี ผู้ถือหุ้นดี และการวางแผนงานในการบริหารงานที่ดี
กิจการขนาดใหญ่ที่จิรายุยกตัวอย่างก็คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าเงินบาทคือจะประสบผลการขาดทุน
2,400 ล้านบาท ในทุก 1 บาทที่เปลี่ยนไปของค่าเงิน ซึ่งเท่ากับได้รับผลกระทบมหาศาล
จากนโยบายที่รวดเร็วของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แต่ปูนซิเมนต์ ในสายตาของสำนักงานทรัพย์สินฯ
ก็ยังถือว่าไม่เลวร้ายจนเกินไป เพราะโดยรวมแล้ว ผลิตภัณฑ์ของบริษัทปูนใหญ่แห่งนี้เป็นของที่มีคุณภาพสูงสำหรับภายในประเทศ
อันทำให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้ในสภาพปัจจุบัน
บริษัท ปูนซิเมนต์ไม่ได้คิดว่าจะเกิดปัญหาขึ้นเหมือนในขณะนี้เพราะต้นปี
2540 ที่ผ่านมายังวางแผนการขยายตัวไว้เลยว่าอยู่ที่ 15% สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของทั้งกิจการขนาดใหญ่
และกิจการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันถ้วนหน้า
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินและแน่นอนว่าได้รับผลกระทบทางด้านการเงินครั้งนี้
ก็ยังถือว่ามีการบริหารงานที่ดี เพราะการวางแผนของผู้บริหารในเรื่องเงินสำรองด้านความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม
ทำให้แบงก์ใบโพธิ์แห่งนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบที่หนักหนาจนแบกรับไม่ได้ หรือนับว่ายังไปได้ดีในสภาพเช่นนี้
ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะผู้บริหารไม่ดี
แต่เมื่อพูดถึงผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้น ในแง่ของการลงทุนหากคิดเป็นตัวเลขก็คงมีผลกระทบอยู่บ้าง
เนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหุ้นในกิจการต่าง ๆ คงต้องลดน้อยถอยลงไปตามมูลค่าหุ้นที่ถูกตีราคาทางบัญชีในตลาด
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจจนเกินไปเช่นกัน เพราะเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชี
ซึ่งยังไม่ได้มีผลที่แท้จริงต่อการบริหารงาน
"ประมาณว่าการลงทุนที่เคยมีอยู่ 1,300 ล้านบาท ก็ลดลงเหลือ 600 ล้านบาท
ในทางตัวเลขก็ลดลงอย่างมากแต่หากดูแล้วก็เป็นการตีมูลค่าทางบัญชีเท่านั้น
ยังไม่ได้มีความหมายอะไร" จิรายุกล่าว
ในตอนนี้ภาระหนักของสำนักงานทรัพย์สินฯ คือยังไม่ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้
แต่ความเชื่อมั่นในฐานะผู้ถือหุ้นสำคัญของแต่ละกิจการ องค์กรแห่งนี้ยังคงสร้างหลักประกันให้กับแต่ละกิจการได้ว่าจะไม่ทอดทิ้งไปไหนอย่างแน่นอน