|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
มีการจัดตั้งบริษัทต่างๆขึ้นโดยพ่อค้าชาวยุโรปทั้งกิจการเดินเรือ การธนาคารและประกันภัย ผู้ประกอบการค้าข้าวชาวสยามเองก็ขยายกิจการไปทำธุรกิจอื่นๆด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจและการเฟื่องฟูของภาคธุรกิจชะงักงันเมื่อเจอเข้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจช่วงก่อนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕
สยามประสบปัญหาหลายด้านทางเศรษฐกิจ และเค้าลางของปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเริ่มเห็นกันอย่างชัดเจนตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ความขัดแย้งทางการเมืองรุมเร้าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พร้อมกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
ในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๖๖ เป็นต้นมา งบประมาณแผ่นดินขาดดุลรุนแรงพร้อมกับปัญหาการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศจำนวนมาก ช่วงใกล้สิ้นรัชกาล ๖ สถานการณ์ยิ่งทรุดหนัก และ คนจำนวนหนึ่งได้พุ่งเป้าไปที่การใช้จ่ายเกินตัวของราชสำนักเวลานั้นจนกระทั่งเงินคงคลังเหลือน้อยจนกระทั่งเงินคงคลังเหลือน้อยจนรัฐบาลเกือบอยู่ในสภาพล้มละลาย
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) และมีการล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยน ประเทศมหาอำนาจประสบปัญหาภาวะเงินฝืดรุนแรงรวมทั้งประเทศไทยด้วย ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล มีคนว่างงานจำนวนมาก ในส่วนของสยามเองก็มีการแก้ปัญหาเรื่องการขาดดุลการคลังด้วยการปลดข้าราชการออกจำนวนมาก การจัดทำงบประมาณปี 2474 ก็มีปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ดังนั้นรัฐบาลก็ตกลงใช้มาตรการตัดเงินเดือนข้าราชการแม้ว่าจะมีการถกเถียงและคัดค้านอย่างรุนแรงในคณะเสนาบดีสภาปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงสู่ความขัดแย้งในวงของผู้บริหารจนกระทั่งถึงขั้นมีการลาออกของเสนาบดี
การอภิวัฒน์ 2475 มีทั้งเหตุผลทางอุดมการณ์ เศรษฐกิจและการตื่นตัวของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ในช่วง พ.ศ. 2472-2474 เกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือ ที่เราเรียกว่า The Great Depression โดยมีการพังทลายของตลาดหุ้นสหรัฐฯและการล้มละลายของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
สภาพตกต่ำรุนแรงของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ราคาข้าวตกต่ำอย่างมากถึง 2 ใน 3 และราคาที่ดินก็ตกลง 1 ใน 6 ชาวนาขาดเงินสดที่จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ซึ่งภาษีหลัก คือ เงินรัชชูปการ ปีละ 6 บาท กับ เสียอากรค่านา ทั้งยังไม่สามารถจะหาเงินกู้หรือเครดิตมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เกิดหนี้สินรุงรัง และเกิดอัตราว่างงานสูง ในด้านรัฐบาลเองก็ดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่อนุรักษ์นิยมเน้นการจัดงบประมาณให้เข้าดุล ซึ่งเป็นผลทำให้ต้องมีการตัดงบประมาณรายจ่าย ลดเงินเดือน ลดจำนวนข้าราชการ ตัดลดงบประมาณกองทัพ และมีการเก็บภาษีใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีที่อยู่อาศัย เป็นต้น ความเป็นไปทางเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางและกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยและระดับกลางมากที่สุด
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อสูงส่งผลกระทบกับชาวบ้านโดยทั่วไป จนเรียกได้ว่า เป็นยุคข้าวยากหมากแพง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันสมองของคณะราษฎรอย่าง ท่านปรีดี จึงนำเสนอหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ และ เศรษฐธรรม เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
เศรษฐธรรมนั้นต้องเกิดควบคู่กับประชาธิปไตยสมบูรณ์ ท่านปรีดี พนมยงค์ มีความเชื่อมั่นอยู่ว่า "สังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยมวลราษฎร ดังนั้นระบบของสังคมที่ทำให้มวลราษฎรมีพลังพลักดันให้สังคมก้าวหน้า ก็คือ ระบอบประชาธิปไตย"
แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงและสมบูรณ์เท่านั้น จึงจะทำให้ประชาราษฎร์มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างเป็นจริง ท่านปรีดี ได้ขยายไว้อย่างชัดเจนทั้งในข้อเขียนและคำปราศรัย ว่า รูปแบบของสังคมใดๆนั้นย่อมประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักนำทางจิตใจ
แนวความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดี และ ประชาธิปไตยสมบูรณ์เป็นสิ่งที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน สิ่งที่สะท้อนความคิดทางเศรษฐกิจของท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้อย่างเป็นระบบมากที่สุด คือ เค้าโครงเศรษฐกิจ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม สมุดปกเหลืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นเอง
และสิ่งที่สะท้อนประชาธิปไตยสมบูรณ์ของท่านปรีดี ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ผลงานดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเพียงพยายามอย่างยิ่งเนื่องจากมีแรงต้านทานไม่ใช่น้อยเลย
ผลของการนำเสนอ เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง ก่อให้เกิดวาทะกรรมระหว่างกลุ่มที่มีแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ ความเห็นที่แตกต่างกันเกิดขึ้นทั้งในหมู่คณะราษฎรเองและระหว่างคณะราษฎรกับตัวแทนของระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ขั้วหนึ่ง เป็น ตัวแทนของความคิดอนุรักษ์นิยมศักดินา และมีทัศนะทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มตัว กลุ่มประกอบไปด้วยตัวแทนของระบอบเก่า กลุ่มเจ้าและกลุ่มศักดินาอนุรักษ์เก่า กลุ่มขุนนางเก่า และบางส่วนของคณะราษฎรที่มีความคิดอนุรักษ์ นำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
อีกขั้วหนึ่ง คือ กลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจ นำโดย ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ดร. ปรีดี หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มีแนวความคิดประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าผสมผสานกับเสรีนิยมที่มีส่วนผสมของแนวคิดแบบสังคมนิยมแบบอ่อนๆ
หลังจากท่านได้เข้ามาบริหารประเทศแล้วและผ่านประสบการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การจัดตั้งขบวนการเสรีไทย และการเจรจาต่อรองในเรื่องอธิปไตยทางเศรษฐกิจการเมืองและความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ผมเข้าใจว่าท่านเป็นเสรีนิยมมากขึ้นแต่ก็มิได้ละทิ้งจุดยืนบางด้านของสังคมนิยมที่เป็นประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร
เวลาเราพูดถึงลัทธิเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ ลัทธินี้มีข้อสมมติพื้นฐานว่า ระบบเสรีนิยมมีข้อบกพร่อง รัฐจำเป็นต้องมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นและต้องแทรกแซงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม นักคิดที่อยู่ในสำนักความคิดนี้มีหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์จอห์น เอ ฮอบสัน ศาสตราจารย์อาเธ่อร์ ซี พิกู เจ้าของหนังสือ The Economic of Welfare หรือที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางความคิดทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆหลังสงครามครั้งที่สอง คือ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ กลุ่มนี้เสนอความคิดทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสำนักเสรีนิยมคลาสสิกหลายประการ
แกนความคิดทางเศรษฐกิจของท่านปรีดีในทัศนะของผมสามารถแบ่งออกได้เป็นองค์ประกอบดังต่อไปนี้ครับ เอกราชและอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความทันสมัย คุณภาพชีวิตและความสมบูรณ์พูนสุขของราษฎร ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ จริยธรรมทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
ความพยายามในการพลักดันเค้าโครงการเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) จากมันสมองของท่านเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลืองผมถือได้ว่าเป็นร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกของไทยจริงๆ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่งสมัยเผด็จการสฤษดิ์ ผมไม่ถือว่าเป็นแผนพัฒนาฉบับแรกของไทย เนื่องจากได้มีการวางรากฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่แล้วตั้งแต่สมัยท่านปรีดีบริหารประเทศ
ที่สำคัญแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสมัยเผด็จการสฤษดิ์นั้นการก่อกำเนิดอยู่ภายใต้การบงการของสหรัฐฯและองค์การระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกค่อนข้างมาก
หลัก 6 ประการของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักข้อ 3 นั้นเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจมีใจความว่า
"จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก"
หลักเอกราชทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านยึดถือ มีการกอบกู้เอกราชในทางเศรษฐกิจ การเมืองและการค้าได้เป็นผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2480 โดยการเปิดเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือกับประเทศตะวันตก 15 ประเทศ ซึ่งไทยเคยเสียเปรียบในทางการศาลและเศรษฐกิจมาตั้งแต่ก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง
|
|
|
|
|