|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตัวเลขของผู้ใช้บัตรเดบิตของวีซ่าในรอบปี 48 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนกว่า 95%ใช้เพื่อกดเงินสดเท่านั้นส่วนที่เหลือเป็นการใช้จ่ายซื้อของผ่านบัตรประมาณ 5% ทำให้เกิดกระแสที่ว่าทำอย่างไรจะให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่หันมาใช้บริการผ่านบัตรเดบิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการส่งผลต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านบัตรเดบิตที่เรียกกันว่า “บัตรพรีเพด”ได้เช่นกัน
สาเหตุของการเติบโตของบัตรเดบิตในประเทศไทยเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องมาจากโครงสร้างของสถาบันการเงินให้คำแนะนำแก่ลูกค้าน้อยมากสำหรับประโยชน์ของการใช้บัตรเดบิตว่าสามารถใช้แทนเงินสดเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการได้เช่นเดียวกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งถูกใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการมากกว่า 90% ดังนั้น จึงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันกลับมาใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้
การออกมากระตุ้นด้วยการให้ของรางวัลและบริการพิเศษหรือแม้แต่ส่วนลดเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างจะมีมากกว่าบัตรเครดิตเป็นกลยุทธ์สำหรับการใช้บัตรเดบิตซื้อสินค้าและถูกหยิบนำมาเลือกใช้กับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
สิ้นปี 2548 นี้ พบว่ามีสถาบันการเงินหลายแห่ง ที่เป็นทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) เปิดตัว บัตรพรีเพด ซึ่งเป็นบัตรที่ลูกค้าต้องเติมเงินก่อนที่จะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนที่เงินสด มาให้บริการกับลูกค้าในลักษณะ ซื้อตอนนี้จ่ายล่วงหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหญ่ และช่วยเพิ่มความสะดวกในการจับจ่ายให้แก่ลูกค้ามากขึ้น ขณะที่ ผู้ถือบัตรยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมถึงช่วยบริหารการเงิน การใช้จ่ายผ่านบัตรพรีเพด จะมีการแจ้งรายละเอียดการใช้จ่าย ทั้งยังสามารถเช็คยอดเงินคงเหลือในบัญชีได้อย่างง่ายดายทุกครั้งที่มีการใช้บัตร
ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับพรีเพดได้เปลี่ยนไปมาก จากอดีตที่ไม่ยอมรับกับคอนเซ็ปต์จ่ายก่อนใช้ทีหลัง แต่ปัจจุบันต่างยอมรับกันหมดแล้ว เพราะมันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปและยอมรับ เนื่องจากความสะดวก ถูก ไม่ต้องเสียเวลา และอื่นๆ อีกมากมาย
ขณะเดียวกัน พรีเพด คือเครื่องมืออย่างหนึ่งของ CRM เพื่อบริการลูกค้าประจำที่ต้องการได้รับส่วนลดหรือบริการพิเศษ ต่างๆ ที่มากขึ้น เกิดความพอใจที่ยอมจ่ายก่อน กระบวนการ CRM ก็จะมีผลตามมา โดยเฉพาะลูกค้าที่จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วจะยอมไปใช้บริการที่ร้านอื่นๆ ที่ต้องเสียเงินสด หรือเสียเงินที่มากกว่า
สินค้าอื่นๆ ที่มีการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวและแอร์ไลน์จึงพร้อมใจหันมาทำ บัตรพรีเพด ในลักษณะ ที่จ่ายล่วงหน้าแล้วค่อยใช้บริการต่อเนื่อง และถ้ายิ่งใช้มาก ก็ยิ่งได้ลดราคา ทุกอย่างคือกลยุทธ์ที่จะถูกหยิบนำมาใช้ผสมผสานระหว่างบัตรพรีเพดกับธุรกิจท่องเที่ยว-แอร์ไลน์เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ททท.สบช่องให้บริการบัตรพรีเพด
วันเสด็จ ถาวรสุข ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวยอมรับว่าปัจจุบันขอความร่วมมือไปยัง บริษัท เพย์เมนท์ โซลูชั่น ผู้ให้บริการบัตรพรีเพด (เติมเงินสด) โอเค แคช เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการไทยแลนด์ แกรนด์ อินวิเทชั่น 2006 ซึ่งทำให้สินค้าทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีความหลากหลายในการนำเสนอนักท่องเที่ยวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบัตรดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้จ่ายของ นักท่องเที่ยว โดยไม่จำเป็นต้องพกเงินสดเมื่อ เดินทางมาเที่ยวไทย
ขณะที่นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเติมเงินได้ตามร้านค้าทั่วไปหรือตัวแทนจำหน่าย ในราคา 300 บาท และเติมเงินสดผ่านร้านค้าที่มีสัญลักษณ์การเติมเงินของโอเค แคช โดยไม่จำกัดจำนวน หลังจากนั้นสามารถใช้บัตรดังกล่าวกดเงินสดผ่านตู้ เอทีเอ็มที่เข้าร่วมโครงการ ทั้ง 4 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย และธนาคารเอเชีย นอกจากนี้บัตรดังกล่าวสามารถรูดเป็นการ์ด วีซ่า ตามร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย
วันเสด็จกล่าวถึงรูปแบบการออกบัตร ที่มีให้เลือกถึง 6 แบบ ที่มีสัญลักษณ์ร่วมเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 60 ปี เช่น รูปพระบรมมหาราชวัง โครงการหลวง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาไทย รวมถึงผู้ที่นิยมสะสมบัตรเติมเงินด้วย ในเบื้องต้น ตั้งเป้าการจำหน่ายบัตร จำนวน 1 ล้านใบ โดยหลังการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะนำเงินจำนวน 60 ล้านบาท ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง
“ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อเตรียมรายงานให้กับผู้ว่าการ ททท.รับทราบ เมื่อผ่านการพิจารณาคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ประมาณวันที่ 1 มีนาคมนี้ โดยเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เพราะเมื่อ เดินทางมาเที่ยวไทยแล้วไม่จำเป็นต้องแลกเงินสดไว้จำนวนมาก รวมถึงไม่ต้องเสี่ยงว่าค่าเงินจะผันผวน และสามารถเก็บไว้ใช้นานถึง 3 ปี”วันเสด็จ กล่าวพร้อมกับเสริม
ด้านความคืบหน้าของโครงการไทยแลนด์ แกรนด์ อินวิเทชั่น 2006 จะมีพิธีการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นสื่อกลางในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทย ภายในพิธีเปิดเตรียมเชิญทูตที่ประจำประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการทัวร์ สื่อมวลชนทั่วโลก รวมกว่า 400 ราย เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ หลังพิธีการเปิด ในวันถัดมา ททท.เตรียมลงสื่อทั่วโลก ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต เป็นการ์ดเชิญนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เดินทางมาเมืองไทย ซึ่งจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงรายละเอียดการจัดงานวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันขึ้น ครองราชย์ วันดังกล่าวจะมีพิธีจัดงานที่ยิ่งใหญ่หลายกิจกรรม เช่น พระราชพิธีทางชลมารค งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 150 ล้านบาท
โอเรียนท์ไทย เปิดให้บริการสายการบินแรก
“ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรูปแบบบัตรพรีเพด การ์ด หรือบัตรเติมเงิน จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ ซื้อบัตรดังกล่าวเพื่อใช้แทนเงินสด สำหรับ จ่ายค่าตั๋วเดินทางเส้นทางการบินในประเทศกับโอเรียนท์ แอร์” อุดม ตันติประสงค์ชัย CEOบริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ กล่าวถึงความพร้อมที่จะใช้บัตรพรีเพด
อุดม กล่าวถึงรูปแบบบัตรจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ทิกเก็ต ทูโก ที่ให้ลูกค้าซื้อตั๋วเดินทางใน 2 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 คือ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ราคาที่นั่ง 1,800 บาท และโซนที่ 2 สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และเชียงราย ราคาที่นั่งละ 1,600 บาท ซึ่งจะจำหน่ายบัตรดังกล่าว ผ่านร้านสะดวกซื้อทั่วไป ส่วนอีกรูปแบบเป็นบัตรพรีเพด จำหน่ายให้ลูกค้าที่ต้องการความสะดวกด้านการจ่ายเงินค่าโดยสาร เบื้องต้นคาดว่าจะจำหน่ายราคาใบละ 5 พันบาท โดยล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทด้านสินเชื่อบุคคล ถึงรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับลูกค้า คาดว่าจะเปิดตัวได้ในเดือนมีนาคมนี้เพื่อให้ทันช่วงปิดเทอม
อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนเมษายนนี้ เตรียมเปิดเส้นทางไปกลับในประเทศอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-ตรัง และกรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช เพื่อรองรับเครื่องบินรุ่นเอ็มดี 82 ความจุ 172 ที่นั่ง ซึ่งจะนำเข้ามาเพิ่มฝูงบินตลอดทั้งปี 8 ลำ โดยในปีนี้จะไม่ขยายเส้นทางใหม่และเพิ่มเที่ยวบินมากนัก เพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมการเดินทางโดยสารเครื่องบิน ของคนในประเทศปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 12 ล้านที่นั่ง จากปีที่ผ่านมา 11 ล้านที่นั่ง แต่บริษัทไม่ได้ตั้งเป้าผลประกอบการเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะการแข่งขันยังไม่นิ่งรวมถึงต้องรอดูราคาน้ำมันในช่วง 2-3 เดือนนี้ด้วย
การกระโดดเข้ามาเล่นในระบบรูปแบบ บัตรพรีเพด ของผู้ประกอบการทั้งสายการบินและการท่องเที่ยวฯ ควรคำนึงถึงข้อพึงระวังในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกในการหาซื้อการ์ดหรือจ่ายเงิน, ความมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคยินดีที่จะต้องจ่ายเงินก่อน, สินค้าจะต้องมีคุณค่ามากเพียงพอที่จะทำให้คนยอม commit ตัวเองเพื่อใช้ในระยะยาว และต้องเป็นสินค้าที่มีกำลังซื้อเพียงพอสำหรับผู้ใช้ใช้สินค้าอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และไม่ทิ้งช่วงห่างจนเกินไป แต่จะประสบผลสำเร็จเทียบเท่ากับการจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือไม่นั้นเวลาเท่านั้นจะเป็นตัวพิสูจน์
|
|
|
|
|