คณะกรรมการบล.เอเซียพลัสไฟเขียวจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.22 บาท โชว์ผลประกอบการปี48 พลิกจากขาดทุน สุทธิ 3 พันล้านบาทมาเป็นกำไรสุทธิ 500 ล้านบาท เหตุจากตัดจำหน่ายต้นทุนเงินลงทุนที่เกินกว่ามูลค่ายุติธรรมของบริษัทย่อยเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 4,460 ล้านบาท
นายประทีป ยงวณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด(มหาชน)(ASP) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้จัดสรรกำไรจากผลการดำเนินงานในปี 2548 ซึ่งจะมีการสำรองตามกฎหมายจำนวน 25.03 ล้านบาท และอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.22 บาทคิดเป็นเงินที่จะต้องจ่ายทั้งสิ้น 441.51 ล้านบาท โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีชื่อปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียน ณ วันที่ 13 มีนาคม 2549 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12 เมษายน 2549 จะมีการเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 12 ให้ความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้คณะกรรมการบล.เอเซียพลัสยังได้มีมติให้กำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 12 ในวันที่ 3 เมษายน 2549 ที่บางกอกคลับ ชั้น 28 อาคารสาธรซิตี้ทาวเวอร์
บล.เอเซียพลัส จำกัด(มหาชน)ยังได้แจ้งถึงผลการดำเนินงานงวดปี 2548 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 มีกำไรสุทธิ 500.57 ล้านบาทกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.25 บาท ผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่ขาดทุนสุทธิ 3,319.22 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 1.90 บาท
สาเหตุที่ผลประกอบการดีขึ้น เนื่องจากรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้ลดลงจาก 2,027.29 ล้านบาทในงวดปี 2547 ลดเหลือ 1,420.77 ล้านบาทในงวดปี 2548 ซึ่งลดลง 29.22% เนื่องจากปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548 ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547
รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ในระดับ 136.92 ล้านบาท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่อยู่ในระดับ 188.92 ล้านบาทหรือลดลง27.47% เนื่องจากสภาพตลาดทุนโดยรวมในปี 2548 ชลอตัวในการที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและบริษัทมีกำไรจาก
การขายหลักทรัพย์ลดลงจาก 67.25 ล้านบาทในงวดปี 2547 เหลือเพียง 19.28 ล้านบาทในปี 2548 หรือลดลง 71.32%เพราะสภาวะผันผวนของราคาหลักทรัพย์ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกหลาย ๆปัจจัยมากระทบต่อสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรวม
อย่างไรก็ตามในส่วนของดอกเบี้ยและเงินปันผลเพิ่มขึ้นจาก 23.19 ล้านบาทในงวดปี 2547 เป็น 63.17 ล้านบาทในงวดปี 2548หรือเพิ่มขึ้น 172.43% เนื่องจากลูกค้ามาใช้บริการมาร์จิ้นมากขึ้นประกอบกับบริษัทมีการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น,ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงจาก 1,164.62 ล้านบาทในงวดปี 2547 เป็น 1,015.54 ล้านบาทในงวดปี2548หรือลดลง 12.80% เนื่องจากได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้บล.เอเซียพลัสยังได้ตัดจำหน่ายต้นทุนเงินลงทุนที่เกินกว่ามูลค่ายุติธรรมของบริษัทย่อยเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 4,460 ล้านบาท
|