ห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ด ฟุ้งรายได้ปีนี้พุ่ง 8 พันล้านบาท จากปี 48 ที่มีรายได้ 5 พันล้านบาท เหตุรับรู้รายได้จากปลาทูน่ารับรู้รายได้เอสทีซี ฟีด เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท ในปี 50 ชี้งวดปี48 จ่ายปันผลน้อยกว่าปี47 ที่ 0.50 บาทต่อ จากราคากุ้งผันผวนส่งผลกำไรสุทธิ 48 ลดลงจากปี 47 ด้านผู้บริหารนครหลวงค้าข้าว แย้มอนาคตอาจเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ด
นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ด จำกัด (มหาชน)หรือ ASIAN เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ปี 2549 หลังจากที่บริษัทได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท เอสทีซี ฟีด จะมีจำนวน 7,000-8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2548 ที่คาดว่ามีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากการขายปลาทูน่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่จะเริ่มผลิตเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 100 ตันต่อวัน และรับรู้รายได้จาก เอสทีซี ฟีด จำนวน 700 ล้านบาท รับรู้รายได้จากห้องเย็น เอสทีซี ฟีด ที่ศรีราชา 500 ล้านบาท และที่เหลือรายได้จากการขายสินค้าของบริษัท ซึ่งทุกปีมีเป้าหมายทุกโรงงานของบริษัทต้องมีการเติบโตยอดขาย 10%
สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทในปี 2548 คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลง ซึ่ง 9 เดือนปี 2548 บริษัทมีกำไรสุทธิ 99 ล้านบาท ลดลงจากปี 2547 ที่มีกำไรสุทธิ 199 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคากุ้งที่มีความผันผวน และการที่บริษัทได้มีการลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตปลาทูน่า จำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบให้การจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดปี 2548 น้อยกว่าปี 2547 ที่มีการจ่าย 0.50 บาทต่อหุ้น
ส่วนแนวโน้มราคากุ้งปี 2549 คาดว่าจะไม่มีความผันผวนเหมือนกับปีที่ผ่านมา จากที่ไม่มีการเก็งกำไรราคากุ้ง และจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ(GSP) ของสหภาพยุโรป ให้แก่ประเทศไทยซึ่งจะเริ่มในปีนี้
ทั้งนี้บริษัทคาดรายได้ปี 2550 เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากโรงงานผลิตทูน่าจะมีกำลังการผลิตที่เพิ่มอีก 200 ตันต่อวันเป็น 300 ตันต่อวัน และจากการรับรู้จากบริษัท เอสทีซี ฟีด ที่จะมีการเพิ่มสินค้า ที่จะมีการผลิตอาหารปลา รวมถึงจากยอดขายของASIAN ที่ตั้งเป้ามีการเติบโต10% ทุกปี แต่บริษัทคาดว่าในปี 2551 บริษัทจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทูน่าอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยจะส่งออกไปที่ ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
จากการที่จำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ฯน้อย ขณะนี้บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นมากขึ้น จากขณะนี้ที่มี 24% โดยจะลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทลงเหลือ 45 - 50% จากขณะนี้ที่ถือหุ้น 62% ซึ่งขณะนี้ทางที่ปรึกษา บล.เอซีย พลัส ก็มีการหารือซึ่งเบื้องต้นก็จะมีการประชาสัมพันธ์บริษัทให้นักลงทุนทราบ และจากผลประกอบการบริษัทที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีปันผลให้ผู้ถือหุ้นทุกปี ก็จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัท
ทั้งนี้สำหรับใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทหลังจากที่มีการขายให้กับบริษัท นครหลวงค้าขาว จำกัด อยู่ที่ 30 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นของตนเอง จำนวน 16 ล้านหน่วย ก็จะมีการใช้สิทธิแปลงสภาพในปี 2550 และอีก 14 ล้านหน่วยเป็นของนักลงทุนรายย่อย โดยหามีการแปลงสภาพวอต์แรนท์ ก็จะทำให้มีทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท
นายอุดมศักดิ์ ชาครียวณิชย์ กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน)หรือ ASP ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ ASIAN ในการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท เอสทีซี ฟีด นั้นเป็นการที่ ASIAN ได้มีการขายวอแรนท์จำนวน 27.5 ล้านหน่วยหรือ 55 ล้านหุ้น ให้กับบริษัทนครหลวงค้าข้าว คิดเป็นจำนวน 275 ล้านบาท และ ASIAN นำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เอส ทีซี ฟีด จาก บริษัท นครหลวงค้าข้าว
ทั้งภายหลังการซื้อกิจการดังกล่าวบริษัทนครหลวงค้าข้าว จะเข้ามาถือหุ้น ASIAN 16% และ ASIAN ถือใน เอสทีซี ฟีด 99.99% ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิด Dilution Effect ลดลงเหลือ 16% หากมีการใช้สิทธิแปลงสภาพ จากการที่ ASIAN มีออกวอแรนท์จำนวนมากก่อนหน้านี้ ซึ่งหากมีการใช้สิทธิแปลงสภาพจะเกิด Dilution 43%
สำหรับการซื้อหุ้นของ เอสทีซี ฟีด จะทำให้บริษัทมีการดำเนินธุรกิจไปสู่ต้นน้ำมากขึ้น จากที่มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็ง
นายไพศาล วนิชจักร์วงศ์ ในฐานะผู้บริหาร บริษัท นครหลวงค้าข้าว กล่าวว่า สำหรับในอนาคตบริษัทก็อาจะมีการเพิ่มสัดส่วนในการถือหุ้น ASIAN จากขณะนี้ที่ถือ 16% แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ASIAN
|