โรงกลั่นน้ำมันระยองจับมือATC เซ็นข้อตกลงร่วมลงทุนโครงการขยายงานปิโตรเคมี มูลค่า 1,073 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขีดความสามารถทางการค้าและเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท ก่อนจะนำไปสู่การควบรวมกิจการในอนาคตเหมือน PTTCH โดยATC จะลดเงินลงทุนในการขยายงานโครงการอะโรเมติกส์ 1 ล้านตัน และโรงกลั่นน้ำมันระยองมีน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่ม 6.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
วานนี้ (9 ก.พ.) นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ได้เป็นประธานในงานลงนามข้อตกลงในหลักการระหว่างบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)(RRC) และบริษัท อะโรเมติกส์(ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน)(ATC)ในโครงการลงทุนเพื่อขยายงานของทั้ง 2 บริษัท มูลค่ารวม 1,073 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท
โดยRRC จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานรีฟอร์มิ่ง คอมเพล็กซ์ มูลค่า 387 ล้านเหรียญสหรัฐ และโรงงานอัพเกรดดิ้ง คอมเพล็กซ์ มูลค่า 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนATC จะเป็นผู้ลงทุนโรงงานอะโรเมติกส์ คอมเพล็กซ์ มูลค่า 551 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทั้ง 2 บริษัทตกลงในหลักการที่จะแบ่งผลประโยชน์รวมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวตามสัดส่วนเงินลงทุนของแต่ละบริษัท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โครงการดังกล่าวเป็นการประสานประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจร่วม(Synergy) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและเสริมความแข็งแกร่งให้ทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากลักษณะการดำเนินการผลิตร่วมกันและแบ่งผลประโยชน์
นอกจากนี้ ATC ยังลดเงินลงทุนของโครงการขยายงาน เนื่องจากไม่ต้องการดำเนินการก่อสร้างโรงงานรีฟอร์มิ่ง คอมเพล็กซ์ ขณะที่RRC จะมีน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนดังกล่าว โดยปตท.จะเป็นผู้รับซื้อจาก RRC ทั้งหมด
ทั้งนี้ โรงงานรีฟอร์มิ่ง คอมเพล็กซ์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยงานที่ 2 ของATC ที่ใช้วัตถุดิบ คือ คอนเดนเสทจากประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศรวมกัน 6.5 หมื่นบาร์เรล/วัน เพื่อป้อนโรงงานอะโรเมติกส์ คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ของATC ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี ส่วนโรงงานอัพเกรดดิ้ง คอมเพล็กซ์จะทำหน้าที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ได้จากโรงงานรีฟอร์มิ่ง คอมเพล็กซ์ เช่น คอนเดนเสท เรซิดูและไลท์แนฟธา ให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปต่างๆ เช่น เบนซิน ดีเซล น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเตา
ซึ่งโรงงานอัพเกรดดิ้ง คอมเพล็กซ์นี้จะช่วยให้RRC สามารถผลิตน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลที่ได้มาตรฐานยูโร 4 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายในประเทศปี 2553 โดยไม่ต้องลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นเพิ่มเติมอีก คาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2551 ส่งผลให้กำลังการผลิตของRRC เพิ่มขึ้นจาก 145,000 บารเรล/วัน เป็น 210,000 บาร์เรล/วัน ในขณะที่กำลังการผลิตของATC จะเพิ่มขึ้นจาก 2,137,000 ตัน/ปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน 1,098,000 ตัน/วัน
นายพละ สุขเวช ประธานกรรมการATC กล่าวว่า การพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนครั้งนี้ บอร์ดบริษัทฯได้พิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นATC เพื่อขออนุมัติให้บริษัทฯดำเนินการจัดทำสัญญษที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนดังกล่าวต่อไป ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนนี้ ทำให้ATC มีความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบรีฟอร์เมท ซึ่งจะมาจากโรงรีฟอร์มิ่ง คอมเพล็กซ์ และการผลิตของโรงกลั่นRRC ในปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้ ปตท.ถือหุ้นทั้งหมดในRRC และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน ATC ซึ่งการร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทดังกล่าวนี้ ถือเป็นความร่วมมือเบื้องต้น ซึ่งปตท.มีแผนที่จะนำทั้ง 2 บริษัทฯมาควบรวมกันในอนาคต เพื่อให้เกิดSynergy มากยิ่งขึ้น เหมือนกับการตั้งบมจ.ปตท.เคมีคอล (PTTCH)ที่มาจากการควบรวมระหว่างบมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ (NPC) และบมจ.ไทยโอเลฟินส์ (TOC)
|