"ผมรู้สึกช็อกและสะเทือนใจว่าทำไมต้อง get personal" ความในใจของ
ดร. ธวัช อังสุวรังษี ที่มีต่อความไม่พอใจของผู้ถือหน่วยบางส่วนและผู้อยู่ในธุรกิจกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ผู้ถือหน่วยจำนวน 12 คนมาประท้วงที่ออฟฟิศ บลจ. บัวหลวง โดยใช้อารมณ์มากและไม่สนใจอะไรต่าง
ๆ จะเอาเงินคืนอย่างเดียว พูดว่าจะต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ บางคนมานั่งแล้วบอกว่าจะฆ่าตัวตาย
บางคนบอกว่าไม่ได้เงินก็จะไม่กลับบ้าน บางคนขู่จะวางระเบิด ฯลฯ
นอกจากผู้ถือหน่วยแล้ว ในส่วนของเพื่อนร่วมวงการก็มีหลายเสียงที่ไม่พอใจการตัดสินใจปิดกองทุนฯ
ของบัวหลวง เพราะภาพรวมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไปด้วย บางคนก็โจมตีว่าเขาบริหารผิดพลาด
ซึ่งในเรื่องนี้ ดร. ธวัช กล่าวว่า "บางคนว่าเราบริหารผิดพลาด ผมยินดีรับหมด
ผมเป็นคนบริหารเงิน ไม่มีปัญหาหรอก แต่อย่างที่บอกว่า feature ของสินค้าตัวนี้มันถูกออกแบบมาไม่ให้เจอปัญหาวิกฤติแบบนี้ใน
scale ขนาดนี้ มันเผชิญปัญหาเมื่อ 3 มีนาคมมาได้ แต่ 27 มิ.ย. นี้ไม่ไหว
และยังมีเรื่องลดค่าเงินบาทด้วย ความเชื่อมั่นในระบบมันเหือดหายไปก่อนแล้ว
และคนที่มีความรู้เรื่องนี้ก็ออกก่อน"
วิกฤติในรอบนี้ถือเป็นประสบการณ์สำคัญของผู้บริหารหนุ่มอย่างเขา "มันเป็นประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้"
เขาบอกกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
"ผมไม่ได้ตกใจในเรื่อง re action เลย สิ่งที่ผมพูดไปอาจจะช่วยให้คนมี
awareness ว่ากำลังมีปัญหาหรือจะทำอย่างไรไม่ให้เสียหาย แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของธุรกิจได้
ไม่สามารถเปลี่ยน trend ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้แน่นอน"
นอกจากนี้เขาเห็นว่าคนที่จะตัดสินการกระทำของเขาว่าผิดหรือถูกอย่างไรนั้น
ควรเป็นลูกค้า ไม่ใช่คู่แข่ง "คนที่พิสูจน์และจะ pass verdict ของสิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกค้า"
เขาเปรียบเรื่องนี้เหมือนเรื่องการวัดผลกองทุนที่เขาเคยมีการปะทะความคิดกับผู้บริหารกองทุนรายอื่น
ๆ ซึ่งในที่สุดเร็ว ๆ นี้อนุกรรมการวิชาการ ก็สั่งให้มีการประกาศ NAV ณ วันที่จ่ายเงินปันผลได้ด้วยเพื่อให้การคำนวณ
NAV ชัดเจนเหมือนเช่นต่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งเขาก็เห็นตามนั้น
เขาปรารภพาดพิงไปถึงเรื่องส่วนรวมในเวลานี้ว่า "เป็นเรื่องที่เศร้า
และต้องยอมรับว่าทำไมประเทศเราลงมาอยู่ใน position ที่ยากลำบากอย่างนี้ เพราะว่าประเทศเราไม่ได้บริหารหรือแก้ปัญหากันโดยการมองผลประโยชน์ส่วนใหญ่
โดยการเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน และโดยการใช้หลักวิชาการ แต่จะเน้นเอาผลประโยชน์ระยะสั้นของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
มันก็ลำบาก"
อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงอนาคตบัวหลวง เขากล่าวว่า "เรายังคงอยู่ในอุตสาหกรรมนี้แน่นอน"
เขายังมองถึงสินค้าตัวใหม่ที่จะนำออกสู่ตลาดว่าต้องเป็น money market fund
ซึ่งคาดว่ากฎระเบียบเรื่องนี้คงใช้เวลาอีก 2-3 เดือน จะประกาศใช้แต่บัวหลวงไม่จำเป็นต้องเป็นรายแรก
"เพราะตัว feature product นี่ยังไม่ชัดว่าควรทำอย่างไร มีหลายกองอาจจะทำให้คนสับสน
แต่มีกองเดียวและเอาใจทุกคนไม่ได้ก็จะมีปัญหาอีก"
เขารารภว่า "2-3 ปีหลังมานี้ธุรกิจมันมาเร็วมาก เราอาจจะพักสักเดือน
2 เดือนคงไม่เป็นไร ระหว่างนี้เราอยากจะเน้นเรื่อง การ liquidate asset ให้มัน
orderly และไม่เสียหายตามภาวะเท่าที่เป็นไปได้"
นี่อาจจะเป็นวิธีคิดที่ปลอดภัยที่สุดในยามนี้ เพราะสภาวะของประเทศไทยในขณะนี้
ต่อให้เป็นคนที่เก่งที่สุด แต่ถ้าไม่ใช่เทวดาแล้ว ยากที่จะรู้อนาคตได้