Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2540
"ปิด 4 กองทุนฯ บัวหลวง ถึงจุดทบทวนรากฐานอุตสาหกรรม"             

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
search resources

บัวหลวง, บง.
ธวัช อังสุวรังษี
Funds




การประกาศปิดกองทุนมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทรวม 4 กองทุนฯ ของ บลจ. บัวหลวงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของผู้บริหารและผู้ถือหน่วยส่วนข้างมาก ขณะที่ ดร. ธวัช อังสุวรังษี เชื่อมั่นว่าเขาสามารถคืนเงินผู้ถือหน่วยได้เกือบ 100% ทั้งนี้รากฐานการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในยามนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องปิดกองทุนฯ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมกองทุนรวมยังเดินหน้าต่อไปในอนาคต แต่มาร์จินจะไม่หอมหวนเหมือนช่วงที่ผ่านมา

หลังฝุ่นควันจางหาย ภาพที่พร่าเลือนมักจะปรากฎชัดเจนขึ้น สัปดาห์แรกหลังจากที่มีการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน (7-11 กรกฎาคม) เป็นสัปดาห์ที่ตลาดตราสารหนี้ไม่มีการซื้อขายประเภท dealing เลย และในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์คือ 11 กรกฎาคมยังเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ตลาดไม่ได้มีการซื้อขายใด ๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นประเภท deal หรือ crossing ก็ตาม หรืออาจพูดง่าย ๆ ว่า ในบางวันทำการ ตลาดตราสารหนี้ก็ปิดตัวเองไปโดยปริยายเนื่องจากไม่มีการเทรด

ภาวะเช่นนี้ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคตอันใกล้ เพราะเสถียรภาพของตลาดในประเทศยามนี้เปราะบางยิ่งนัก

แม้ว่าในสัปดาห์ถัดมาจะเริ่มมีการเสนอซื้อขายตราสารหนี้กันบ้าง แต่ผู้ซื้อก็ล้วนปรารถนาที่จะทำการตกลงซื้อขายนอกตลาดหรือแบบ crossing ต่อรองราคากันเองโดยไม่มีราคาอ้างอิงจากตลาดและไม่ต้องการให้ปรากฏเป็นราคาอ้างอิงในตลาดด้วย

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะแม้จะมีการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทในเวลานี้ (กลางเดือนกรกฎาคม 2540) ลดลงจากก่อนเปลี่ยนระบบประมาณ 15% แต่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมมาตรฐาน (prime lending rate) อยู่ที่ระดับ 13.3% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถูกตรึงอยู่ที่ระดับ 12% โดยการกำหนดของแบงก์ชาติส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร (interbank rate) ก็พุ่งขึ้นไปที่ระดับ 28% ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 18%

อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดหมายว่าแบงก์ชาติต้องจัดการเอาอัตราดอกบี้ยลงมาต่ำกว่านี้ให้ได้ หรือมิฉะนั้นก็ต้องปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวเช่นเดียวกับค่าเงินบาทซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างคาดหวังในข้อหลัง

การที่อัตราดอกเบี้ยสูงก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการซื้อขายตราสารหนี้กันน้อยเพราะ อัตราดอกเบี้ยสูงก็ทำให้ต้นทุนเงินลงทุนสูง ซึ่งทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ไม่เป็นที่น่าดึงดูดใจ เพราะได้ yield หรือผลตอบแทนไม่คุ้มกับการลงทุน

ดังนั้น ตราสารหนี้ที่จะทำการซื้อขายในยามนี้ได้ต้องให้ yield ที่สูงมาก คนขายอาจจะไม่ได้ราคาที่น่าพอใจ (ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ถือไว้) แต่ผู้ซื้อก็ต้องเสี่ยงต่อการ default ของตราสารหนี้หรือการล้มละลายของกิจการผู้ออกตราสารหนี้ได้เช่นกัน

ตราสารหนี้อสังหาริมทรัพย์หลายรายมีการ default กันแล้ว คาดหมายว่าเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ของกิจการไฟแนนซ์ที่มีปัญหาและอาจจะเผชิญสภาพ default เช่นกันมีมูลค่ารวมประมาณ 4,100 ล้านบาท เท่ากับตราสารหนี้ซึ่งในที่นี้หมายถึงหุ้นกู้ที่มีปัญหาตกอยู่ในภาวะ default มีมูลค่ารวมกันประมาณ 5,600 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการเทรดตราสารหนี้ในตลาดตราสารหนี้นั้นมีเฉลี่ยสัปดาห์ละไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

ภาวะที่หุ้นกู้มีปัญหาเช่นนี้ กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ประเด็นปัญหานี้เป็นเรื่องที่ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ย่อมมองเห็นได้

หมดปัจจัยพื้นฐาน สิ้นยุคกองทุนตราสารหนี้

ในกรณีของ บลจ. บัวหลวงที่มีการปิดกองทุนตราสารหนี้ 4 กองคือ ทวีทรัพย์ ทวีผล บัวหลวง หุ้นกู้ และบัวหลวงหุ้นกู้ปันผลนั้น ดร. ธวัช อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการ บลจ. บัวหลวง อธิบายความเป็นมาเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "การที่สินทรัพย์ของหน่วยลงทุนหรือตัว underlying asset ของกองทุนเหล่านี้ต้องเจอปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่อง คือไม่มีการเทรดในตลาด ทำให้ไม่สามารถหามูลค่าที่แท้จริง ความยุติธรรมในระบบหายไป ก็ต้องเลิก"

ทั้งนี้ underlying asset ของกองทุนตราสารหนี้ได้แก่ หุ้นกู้ ตั๋ว P/N ตั๋ว B/E NCD

การบริหารกองทุนของบัวหลวง โดยเฉพาะบัวหลวงทวีทรัพย์ที่เป็นกองทุนเปิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนั้นมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ประมาณ 80% มี FRNS ประมาณ 7% -8% และมีการลงทุนใน call money ประมาณ 10%-20% ทั้งนี้กองทุนฯ มีนโยบายลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวเฉพาะในตราสารแห่งหนี้และหรือเงินฝาก

ดร. ธวัชอธิบายว่าในการบริหารกองทุนตราสารหนี้นั้น มีปัจจัยพื้นฐานกำกับอยู่ 4 ประการที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริหารกองทุนและผู้ถือหน่วยลงทุน คือ

1. ตั๋ว P/N ทั้งหมดมีสภาพคล่องและเป็นตราสารที่ปลอดภัย (liquid & safe)

2. ตั๋ว B/E ทั้งหมดมีค่าเทียบเท่า (equivalent) กับตั๋ว P/N และ NCD หรือบัตรเงินฝาก

3. หุ้นกู้ (debenture) มีราคาที่ยุติธรรม และมีสภาพคล่องพอประมาณ (fair price &semi-liquid)

4. มีการยกเว้นภาษี 15% (tax break)

แต่มาบัดนี้ ปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการที่ค้ำยันให้เกิดธุรกิจบริหารกองทุนตราสารหนี้ได้สูญหายไปเกือบหมดแล้วสืบเนื่องจากวิกฤติต่าง ๆ ที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้ามาเรื่อย ๆ

ปัจจัยประการแรกในเรื่องสภาพคล่อง และความปลอดภัยของ P/N หมดลงโดยสิ้นเชิง ปัจจัยต่อมาเรื่องตั๋ว B/E ก็มีการประกาศว่า P/N และ NCD มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่า B/E และข้อสามที่ว่าหุ้นกู้มีราคาที่ยุติธรรมและมีสภาพคล่องพอประมาณก็ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป เมื่อไม่มีการเทรด ส่วนข้อสุดท้ายนั้น ได้มีการกำหนดให้เก็บภาษีตราสารหนี้ 10%

เมื่อปัจจัยพื้นฐานที่ค้ำยันธุรกิจกองทุนตราสารหนี้ต่างมีปัญหาเสื่อมสลายไปทีละข้อนั้น แน่นอนว่าธุรกิจนี้ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้อีกต่อไป ดร.ธวัช อธิบายว่ากองทุนตราสารหนี้ที่เขาทำขึ้นมานี้ถือเป็น engineering design อันหนึ่ง "ในการออกเบบนั้นหากมันไม่สามารถเผชิญกับภาวะข้างหน้าได้ ผมก็ recall product กลับ ซึ่งการปิดกองทุนถือเป็น totally recall"

ปิด 4 กองทุนมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท

ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 27 มิถุนายน (ระหว่าง 16-27 มิ.ย.) นั้น ปรากฏว่า บลจ. บัวหลวงถูกถอนหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท จากเงินสดที่กองทุนมีอยู่ 20% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิคือประมาณ 5,200 ล้านบาทถูกถอนเงินไปจนเหลือเงินสำรองอยู่เพียง 505 ล้านบาทเท่านั้น ดร.ธวัชกล่าวว่า "ลูกค้าที่มา redeem ไปนั้น ทำไปโดยไม่รู้ว่ามีการประกาศเรื่องปิดไฟแนนซ์"

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการประกาศปิดไฟแนนซ์ 16 แห่งในวันที่ 27 มิถุนายน ในเย็นวันนั้นก็มีการเรียกประชุม กลต. ด่วน และมีการประกาศให้ mark ตั๋ว B/E ของสถาบันการเงิน 16 แห่งนั้นเป็น 0

เมื่อมีการ mark down ตั๋ว 2 ใบของ บง. เอกธนกิจและ บง. ยูไนเต็ดเป็น 0 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 1% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนหรือประมาณ 200 กว่าล้านบาทนั้น ปรากฏว่าลูกค้ากองทุนรวมทวีทรัพย์เกิดการตกใจกันมาก และมีการมาถอนหน่วยลงทุนในวันจันทร์ถัดมาที่เปิดทำการ (30 มิ.ย.) ซึ่งมีการถอนหน่วยลงทุนเป็นมูลค่าถึง 5,569 ล้านบาท ขณะที่กองทุนฯ มีเงินสดอยู่เพียง 505 ล้านบาเท่านั้น เท่ากับอัตราส่วนการถอน 11 : 1 ซึ่งไม่มีทางที่กองทุนฯ จะระบายตราสารออกเพื่อนำเงินสดมาคืนผู้ถือหน่วยได้ทัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม "สภาพคล่องของตั๋ว B/E หายไปมาก ยกเว้นแต่คุณยอมตัดขาย อย่างคุณซื้อมาใบหนึ่ง 12-13% คุณต้องยอมตัดขายที่ 17-18% คุณอาจจะขายได้"

ดร. ธวัชกล่าวว่า "ผมเห็นสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะมีการ hit เรา และผมไม่ได้คิดวิธีออกทันที และการที่จะใช้ระบบ pro-rate ก็ทำไม่ได้ เพราะระบบนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับกองทุนตราสารหนี้ มันออกแบบมาใช้กับกองทุนหุ้นซึ่งผมก็เป็นคนออกแบบเอง"

ระบบ pro-rate หมายถึงเมื่อมีคำสั่งถอนมากเกินกว่าที่จะสามารถจ่ายได้ทันในวันนั้น ๆ กองทุนฯ อาจจะจ่ายส่วนหนึ่งไปก่อน ส่วนที่เหลือค่อยทยอยจ่ายโดยโอนคำสั่งที่เหลือไปในวันทำการถัดไป

ดร. ธวัชมีความเห็นว่าการที่ใช้ระบบ pro-rate ไม่ได้เพราะเหตุผลที่มีการถอนหน่วยลงทุน เพราะคนไม่เชื่อในระบบ ดังนั้น แม้ไม่ปิดกองทุนในวันจันทร์ ก็ต้องปิดในวันพุธที่เป็นวันทำการถัดไปอยู่ดี (ตลาดปิดวันอังคารที่ 1 มิ.ย. เพราะเป็นวันปิดภาคครึ่งปี)

เดิมนั้น ดร. ธวัชได้ข้อสรุปในวันอังคารว่าคงต้องปิดกองทุนอย่างถาวร ไม่มีการปิด ๆ เปิด ๆ ทุก 7 วันหรือทุก 6 เดือน เพระไม่เป็นการยุติธรรมแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย เขาได้ปรึกษาเรื่องนี้กับชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บลจ. บัวหลวง และตั้งใจว่าในวันพุธที่ 2 มิ.ย. จะมีการจ่ายเงินให้ผู้ถือหน่วยบางส่วนก่อนทุกคน โดยขออำนาจ ก.ล.ต. ให้ปิดกองทุนและ pro-rate การจ่ายแต่ ก.ล.ต. ไม่ใช้อำนาจ ต้องขอมติผู้ถือหน่วย ดังนั้นกองทุนฯ จึงต้องเรียกประชุม ขอมติผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งก็ได้มติปิดกองทุนในเวลาต่อมาในที่สุด

แต่ระหว่างการดำเนินการขอมติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์นั้น เกิดเหตุการณ์มีผู้ถือหน่วยประมาณ 12 คนไม่พอใจวิธีการปิดกองทุน พวกเขาได้มาเรียกร้องที่สำนักงาน บลจ. บัวหลวงซึ่งในที่สุด ดร. ธวัชจึงได้หาทางออกให้ลูกค้าผู้ถือหน่วย "ผมก็ต้องหาทางออกให้ลูกค้าที่มีปัญหา และผมก็นั่งคิดออกมาเมื่อวันพุธจนถึงเที่ยงคืนเศษกับคุณชาติศิริ และก็ออก scheem ตั๋ว B/E นี้มา"

"เรื่องตั๋ว B/E นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อย แต่มันไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะมันสำหรับคนที่ desperate และคนที่ไม่มั่นใจใน 3 เดือนข้างหน้า เขาลดความเสี่ยงได้โดยเอาเครดิต 3 เดือนของแบงก์กรุงเทพ แต่อย่าลืมว่าในนั้นต้องคำนวณความเสียหายที่เห็นอยู่แล้วจากตั๋ว B/E ด้วย"

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เพราะในวันพุธนั้นเองก็มีการประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินจากระบบตายตัวมาเป็นแบบลอยตัว ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทลดลง 15% ดังที่กล่าวในตอนต้น ดร. ธวัชกล่าวว่า "การประกาศใช้ระบบลอยตัว ทำให้ค่าเงินบาทลดลงนั้นยิ่งเป็นการตอกย้ำเด็ดขาดว่ามีทางเดียวที่จะทำได้คือการปิดกองทุน เพราะการที่ลดค่าเงินบาทนั้นมีผลกระทบทันทีต่อเรื่องดอกเบี้ย ดูได้จากแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน 200% แต่ในตลาดตราสารหนี้ไม่มีการเทรด ไม่มีใครยอมซื้อตั๋ว เว้นเสียแต่ว่าคุณต้องยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเกิน 200 bps"

ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ตลาดตราสารหนี้ต้องเจอกับความปั่นป่วน ไม่มีการซื้อขาย หรือมีแต่การเทรดนอกตลาด (crossing) และผู้ขายต้องเพิ่ม yield เพื่อจูงใจให้คนซื้อกองทุนฯ ต้องพยายามขายตราสารออกมาเพื่อนำเงินไปชำระคืนให้ผู้ถือหน่วย โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ที่ยังไม่ปิดนั้น มีโอกาสที่จะเจอการ hit จากผู้ถือหน่วยสูงมากเหมือนที่บัวหลวงเจอมา บัวหลวงเองก็ "มีของที่จะขายอีกมากแม้เปอร์เซ็นต์ที่เราถือจะดูน้อย แต่ขนาดกองทุนเราใหญ่ และผมเชื่อว่าของ ของ เราคุณภาพดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังไม่มีทางขายเสนอขายให้เห็นชัด ๆ ในตลาดแต่โทรฯ เข้ามาก็จะซื้อนอกตลาดอย่างเดียวจะเอา yield สูงกว่าที่เราเสนอขาย แล้วจะขายได้อย่างไร" เขาปรารภ

อุตสาหกรรมยังอยู่รอด แต่มาร์จินต่ำมาก

เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมได้ถูกทำลายลงหมดดังที่กล่าวในตอนต้น หนำซ้ำวิกฤติที่เกิดขึ้นในเวลาหนึ่งก็ยังไม่สงบนิ่ง และตลาดต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่การเยียวยารักษาโรงร้ายที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะบรรลุผล

ดร. ธวัชกล่าวว่า "ผมก็มองเห็น defect และผมรู้มานานแล้ว แต่มันไม่โชว์ในภาวะปกติ" อย่างไรก็ดี เขาคาดหวังว่า หากสามารถทนกับภาวะหุ้นกู้ในอัตรา 7%-8% นี้ได้ และเมื่อถึงปลายปี เขาคาดว่ากฎ money market จะออกมา ซึ่งในตอนนั้น เขาจะ convert กองหุ้นกู้เป็น money market fund แต่ถึงตอนนั้นเขาคาดว่าต้องเผชิญปัญหาอีกอย่าง"

"จะมีปัญหาตอน convert เพราะอยู่ ๆ เราจะโยนหุ้นกู้ออกไปในราคาที่เท่าไหร่"

แม้แต่การแก้ปัญหาทวีทรัพย์ ทวีผลในเวลานี้ หากไม่ใช่แบงก์กรุงเทพรับว่าจะซื้อหุ้นกู้ภายในตุลาคมปีนี้ เขาก็คงไม่มีทางขายหุ้นกู้ที่มีอยู่ได้หมด เพราะในยามนี้ไม่มีใครมีเงินเป็นจำนวนถึง 2,000-3,000 ล้านบาทที่จะมาซื้อหุ้นกู้ของเขาได้ แม้จะเป็นหุ้นกู้ที่มีคุณภาพดีก็ตาม

เท่ากับเขาสามารถแก้ปัญหาการระบายหุ้นกู้ออกไปได้แล้ว money market fund เล่า เขาคิดอย่างไร

ดร. ธวัชอธิบายปัจจัยพื้นฐานใหม่ที่เขามองเห็นอยู่ในเวลานี้ว่า

ประเด็นเรื่องภาษี ในเมื่อจะมีการเก็บภาษี 10% จากเดิมที่เคยยกเว้น 15% เท่ากับเหลือมาร์จินแค่ 5% ของดอกเบี้ย 10% ก็คือ 0.5%-0.6% เท่ากับค่าธรรมเนียมการบริหารก็หายไปเยอะ

เรื่องการอนุญาตให้ดูพอร์ตได้ทุกวัน ซึ่งเขาคิดว่าในที่สุดจะกลายเป็น money market fundที่ค่อนข้างเสี่ยง yield ที่ให้แก่นักลงทุนอาจจะต่ำลง และอาจจะไม่ดึงดูดลูกค้าได้มากพอ นอกจากนี้การดูพอร์ตก็ต้องเป็นต้นทุนของผู้ถือหน่วยด้วย

นอกจากนี้ เขามีวิธีแก้ปัญหาเรื่องลูกค้าที่ panic โดยอาจจะตั้งกองทุนขึ้นมาบนหลักการที่อนุญาตให้ลูกค้าถอนได้เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ เช่น 25%, 50%เป็นต้น

เขาคิดว่าภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ "อุตสาหกรรมนี้จะไปยาก ความหมายคือโตยาก เนื่องจากว่ามันไม่ดึงดูดเท่าเมื่อก่อนเพราะประโยชน์ทางภาษีก็หายไปถึง 2ใน 3 เหลือแค่นิดเดียวค่าธรรมเนียมก็จะต่ำ แต่ผมแน่ใจว่าเราทำได้และเราทำได้ใหญ่กว่าคนอื่นด้วย เพราะเรามีระบบซื้อขายที่ดีกว่า คนอื่นและเราเต็มใจที่จะเก็บค่าธรรมเนียมต่ำ เต็มใจเปิดพอร์ตให้ลูกค้าดู ซึ่งเราจะโปร่งใสมากในเรื่องนี้"

เขาชี้ด้วยว่า สินค้าที่เป็น money market fund จะไปได้ โดยต้องทำให้โปร่งใสด้วยการให้ลูกค้าดูพอร์ตหมด ไม่มีหุ้นกู้ มีตั๋วสั้นหมด "สินค้าอย่างนี้ไปได้ แต่มาร์จินนิดเดียว และลูกค้าผมไม่เชื่อว่าจะเยอะมาก เพราะผมรู้จักลูกค้าดี ลูกค้าที่ซื้อกองทุนตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่ต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ละเอียดลึกซึ้ง และมีอำนาจต่อรองสูง และลูกค้าพวกนี้จะไม่ถอนง่าย ๆ"

ดร.ธวัชสรุปด้วยว่า รากฐานของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในอเมริกานั้นใช้เวลานานกว่าที่จะสร้างขึ้นมาได้ใหญ่โตแข็งแกร่งอย่างในปัจจุบัน แต่ของประเทศไทยนั้น มันเหมือนการทำสนามกอล์ฟ "เมื่อทำสนามเสร็จอยากมีต้นไม้ใหญ่ ก็ไปยกต้นไม้มา เอาลวดสลิงมาขึงไว้ พายุพัดมาเบา ๆ ไม่ล้มแต่มาแรงเราก็อาจจะล้มได้ รากฐานธุรกิจของเรายังไม่มั่นคง แต่เราก็เร่งรีบที่จะสร้างธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นด้าน Equity หรือ fixed income ก็ตาม

แต่ผมต้องเรียนนิดหนึ่งว่า ผมไม่ได้บริหารกองทุนทวีทรัพย์โดยมีความเชื่อว่าเราจะมีวิกฤติทางการเงินที่ซีเรียสขนาดนี้ ไม่รู้ว่าจะประกาศเรื่องไฟแนนซ์ตามด้วยลดค่าเงิน และคนจะหมดความเชื่อมั่นในระบบขนาดนี้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนถอนหน่วยลงทุนหรือถอนเงินกันอยู่ ดังนั้นภาวการณ์เช่นนี้มันมากเกินไปที่สินค้าที่ถูกตีกรอบการดำเนินงานด้วยกฎหมายหลายอย่างจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้"

กองทุนตราสารหนี้ได้หมดอนาคตลงเนื่องจากเงื่อนไขด้านการตลาดและกฏหมายรวมทั้งมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่อุตสาหกรรมกองทุนรวมยังคงดำเนินต่อไปด้วยสินค้าใหม่ ๆ ที่ผู้จัดการกองทุนจะสรรหามาเสนอแก่นักลงทุนซึ่งในอนาคตหลังจากผ่านวิกฤติต่าง ๆ มาแล้วย่อมสะสมความเข้าใจที่ถูกต้องและลึกซึ้งมากขึ้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us