กรมการประกันภัยเผยประชาชนแห่ซื้อประกันภัยอิสรภาพปี 48 กว่า 44,471 กรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันกว่า 5.8 พันล้านบาท ดันจำนวนผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่เริ่มโครงการมีจำนวนกว่า 6 หมื่นกรมธรรม์ ยอดเงินเอาประกันพุ่ง 8 พันล้านบาท ชี้ 90% เป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทหลังกระทำความผิด
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยถึงยอดผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพว่า นับตั้งแต่ได้เริ่มเปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นมาปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพื่อใช้เป็นหลักประกันที่แน่นอนสำหรับการขอยื่นประกันตัวต่อศาลเมื่อกระทำความผิดให้ความคุ้มครองกรณีที่ ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในทุกลักษณะฐานความผิด ยกเว้นคดียาเสพติด
ทั้งนี้ จากสถิติในปี 2548 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพจำนวนกว่า 44,471 กรมธรรม์ คิดเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 5,877.59 ล้านบาท ทำให้จำนวนผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่เริ่มโครงการ ถึง 31 ธันวาคม 2548 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 60,626 กรมธรรม์ คิดเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมทั้งสิ้น 8,330.90 บาท
อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวว่า บริษัทประกันภัยที่มียอดจำหน่าย สูงสุด 3 อันดับแรก คือ บริษัท สินมั่งคงประกันภัย จำกัด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด และบริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด ตามลำดับ โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่ประชาชนได้ซื้อความคุ้มครองไว้ส่วนใหญ่กว่า 90%ยังคงเป็นการซื้อประกันภัยประเภทหลังกระทำความผิด จำนวน 59,457 กรมธรรม์ อาทิ ความผิดฐานลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และขับรถโดยประมาท เป็นต้นส่วนกรมธรรม์ประกันภัยก่อนกระทำความผิด มีจำนวน 1,169 กรมธรรม์
ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยหลังกระทำความผิด ผู้เอาประกันภัยสามารถแบ่ง ซื้อความคุ้มครองได้ตามชั้นศาลที่มีคำพิพากษาและลักษณะฐานความผิดโดยมีอัตราเบี้ยประกันภัยขั้นต่ำ 5% และขั้นสูง 20% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยหลังกระทำความผิดเป็นที่นิยมของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ประชาชนที่สนใจซื้อความคุ้มครองสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้จากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 58 บริษัท หรือ ที่สายด่วนประกันภัย 1186
สำหรับความคืบหน้าของกรมการประกันภัยในการการดำเนินการเพื่อรองรับพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2548 โดยในพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องดำเนินการขอจดทะเบียนภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548
โดยในการขอจดทะเบียน ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่เป็นนิติบุคคลไทย หรือผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต่างประเทศ จะต้องยื่นหลักประกันสำหรับความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือสำหรับความเสี่ยงอื่นใดตามสัญญาที่ทำขึ้น และดำรงสินทรัพย์ขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านบาท
นางสาวพจนีย์ กล่าวว่า กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองดังนี้คือ
1.ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง (ผู้เอาประกันภัย) กรณีเกิดความสูญหายหรือความเสียหาย หรือส่งมอบชักช้าสำหรับของที่รับขนตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัย
2.ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต่างประเทศ สำหรับความเสียหายหรือเสียหาย หรือส่งมอบชักข้าอันเกิดจากการผิดสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เกี่ยวกับของที่รับขน และ3.ความผิดของผู้เอาประกันภัยตามข้อ 1.ที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของลูกจ้างและตัวแทนของคน และของบุคคลอื่นซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ใช้บริการ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบรวมถึงลูกจ้างและตัวแทนของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้าง
สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยของการประกันภัยดังกล่าว กำหนดไว้เป็นช่วงระหว่าง 0.01-10% เช่น จำนวนเอาประกันภัย 5,000,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 500-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัย โดยขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยพร้อมที่จะรับทำประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องดังกล่าวแล้ว
|