เงินบาทลอยตัวพ่นพิษฉุดกำไรปูนใหญ่ลดเกือบหมื่นล้านบาทพร้อมบันทึกบัญชีในไตรมาส
2 ทั้งก้อน คาดปีนี้อาจจะถึงขั้นขาดทุน แต่ก็เป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเท่านั้นเพราะหนี้ยังไม่ถึงกำหนดส่วนจริง
ขณะที่กระแสเงินสดยังไหลคล่องเหมือนเดิมสุดท้ายผู้บริโภคต้องรับกรรมตามต้นทุนที่สูงขึ้นอีกราว
10%
ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก
fixed rate ที่อิงกับตะกร้าเงินมาเป็น float rate ในลักษณะ managed float
rate เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่มีหนี้สินเป็นเงินตราสกุลต่างประเทศเพราะเมื่อค่าเงินบาทมีค่าลดลงการชำระหนี้คืน
ย่อมจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิมที่เคยเป็น ยังผลให้เกิดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างฉับพลัน
โดยเฉพาะบริษัทที่ครบกำหนดการชำระหนี้คืนตรงกับวันนั้นพอดีเพราะต้องควักเนื้อจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นอีกถึง
3 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวซึ่งบางรายอาจจะถึงขั้นกระอักเลือดเลยทีเดียว
ขณะที่บริษัทที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินคืนก็ต้องประสบกับภาวะการขาดทุนในทางบัญชีในลักษณะเป็น
unrealized loss ทันทีเช่นกัน เพราะถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่ยังไม่มีการจ่ายเงินออกไปเท่านั้น
ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังผลประกอบการของบริษัท และสะท้อนกลับไปยังราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในกรณีที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอีกทอดหนึ่งในที่สุด
เครือซีเมนต์ไทย หรือที่รู้จักกันดีในนาม 'ปูนใหญ่' (SCC) เป็นรายหนึ่งที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
และขยายธุรกิจเป็นจำนวนเงินมหาศาล โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับเงินกู้ภายในประเทศ
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการกู้ในรูปเงินสกุลดอลล่าร์ เพราะค่าเงินมีเสถียรภาพมากกว่าเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาทแม้ว่าเงินเยนจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าแต่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าและที่ผ่านมา
เครือซิเมนต์ไทยก็ใช้วิธีการบริหารเงินด้วยระบบตะกร้าเงินที่อิงอยู่กับตะกร้าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
ซึ่งประกอบด้วยเงินดอลล่าร์สัดส่วนประมาณ 75%-80% ที่เหลือเป็นเงินเยน และดอยช์มาร์ก
โดยแหล่งเงินกู้ใหญ่ของเครือจะมาจากธนาคารญี่ปุ่น และมีต้นทุนในการกู้ยืมเฉลี่ยที่
Libor+0.6%-0.7%
"ขณะนี้เรายังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งปัจจุบันความต่างของอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 7-8% ซึ่งเราต้องพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ที่จะกู้ในประเทศในเวลาเดียวกัน
แหล่งเงินกู้ภายในประเทศยังมีจำกัดมากสำหรับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทย
เพราะการกู้แต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินมากซึ่งธนาคารพาณิชย์ในไทยไม่มีกำลังเพียงพอที่จะปล่อยกู้ให้เราได้"
ชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย ยืนยันจุดยืนแม้ว่าการควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะยากลำบากมากขึ้นก็ตาม
ณ วันที่ 2 กรกฎาคม เครือซิเมนต์ไทยมีหนี้สินต่างประเทศทั้งสิ้นประมาณ
4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 116,000 ล้านบาทตามมูลค่าปัจจุบัน (ประมาณ
29 บาท = 1 ดอลล่าร์ ) คิดเป็นหนี้ระยะสั้นราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้ระยะยาวประมาณ
3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทจะครบกำหนดชำระหนี้คืนประมาณ
300 ล้านเหรียญสหรัฐ ( 8,700 ล้านบาท)
"เนื่องจากเครือซิเมนต์ไทยเป็นบริษัทผู้ผลิต เงินตราต่างประเทศทั้งหมดที่เรากู้มานี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากการซื้อเครื่องจักรในการขยายงานของบริษัทในเครือ
เราจะกู้ในส่วนที่เป็นเครื่องจักรจากต่างประเทศ ประมาณ 60%-70% ในเวลาเดียวกันก็หมายความว่าบริษัทมีทรัพย์สินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุการณ์ก็คงไม่ร้ายแรง เพราะหนี้สินมีจำนวนมากจริงแต่ทรัพย์สินก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกันในแง่ของมูลค่า"
ชุมพล กล่าวถึงผลได้ผลเสียของการกู้หนี้ต่างประเทศ และการที่ค่าเงินลอยตัวแม้หนี้สินของเครือจะเพิ่มขึ้นแต่จะไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทเพราะรายได้จากการขายยังคงเข้ามาเหมือนเดิม
ทำให้ต้นทุนทางการเงินของเครือไม่สูงขึ้นเพราะที่ผ่านมาเครือซิเมนต์ไทยได้ใช้
cash flow ในการกู้เงินจากต่างประเทศ ปัจจุบันหากพิจารณาถึงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน
(Debt To Equity Ratio) ของเครือซิเมนต์ไทยจะอยู่ที่ระดับ 3:1
แม้ว่าทางกระทรวงการคลังจะได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการยอมผ่อนผันให้บริษัทที่ต้องประสบกับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่
2 กรกฎาคม สามารถทยอยตัดจ่ายการขาดทุนออกไปได้ 3-5 ปี แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเครือซิเมนต์ไทยยึดมั่นหลักการการบันทึกบัญชีแบบอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด
คือเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นก็จะบันทึกในงวดที่เสียหายนั้นทันที
ดังนั้น ในงบการเงินประจำงวดไตรมาสที่ 2 ทางเครือซิเมนต์ไทยจึงได้ทำการลงบันทักบัญชีรับรู้ผลการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มทั้งจำนวน
ไม่มีการทยอยตัดจ่ายแต่อย่างใด ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะนำมาบันทึกจะอยู่ที่ระดับ
29 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ ซึ่งจากการประมาณการผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีต่อกำไรสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่
29 บาทนี้ เครือซิเมนต์ไทยจะประสบภาวะการขาดทุนเป็นเงินประมาณ 7,500 ล้านบาท
และความเคลื่อนไหวขึ้นลงของค่าเงินบาทต่อดอลล่าร์ ทุก ๆ 1 บาทจะมีผลกระทบต่อกำไรของเครือประมาณ
2,400 ล้านบาท ซึ่งก็หมายความว่าหากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 27 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์
เครือซิเมนต์ไทยจะขาดทุน 2,700 ล้านบาทที่ระดับ 28 บาทจะขาดทุน 5,100 ล้านบาท
และหากอยู่ที่ระดับ 30 บาท จะขาดทุน 9,900 ล้านบาท ซึ่ง ณ ขณะนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ
ประมาณ 29-30 บาท
"เรากำลังเก็บข้อมูลอยู่ว่าจะใช้ rate ไหนถึงจะเหมาะสม ตั้งแต่ลดค่าเงินบาทมานั้น
rate มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ขณะนี้คิดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่จะใช้ rate
ของแบงก์ชาติเป็นหลักก่อนเพราะเราจะเป็นแค่ provision for loss หรือเป็น
unrealised loss เพราะยังไม่มีหนี้ส่วนที่ส่งจริง" อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและบริหารกลาง เครือซิเมนต์ไทย กล่าวโดยยังไม่แน่ใจว่าจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับใดในการบันทึกขาดทุน
ขณะเดียวกันก็ได้ไขข้อข้องใจว่าทำไมเครือซิเมนต์ไทยจึงไม่มีการทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
(Hedging) หนี้เงินกู้ ขณะที่ธุรกรรมต่างประเทศของทางเครือฯ จะใช้วิธีการบริหารด้วยการจัดให้รายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่ในช่วงเวลา
ที่สอดคล้องกัน (Matching) เนื่องจากทางเครือฯ มีการส่งออกสินค้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ
15% ของยอดขายรวมของเครือทั้งหมด หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
"เดิมเราพยายามอิงตะกร้าเงินของธปท. เพื่อให้ผลกระทบน้อย แต่ต่อไปตะกร้าอาจจะไม่มีความหมายนัก
แต่จริง ๆ อาจจะยังคงต้องมีอยู่เพราะ transaction ของเครือซิเมนต์ไทยจะยังเป็นเงินสกุลดอลล่าร์
เยน ดอยซ์มาร์ก แต่จะไม่มี reference จากตะกร้าแล้ว เราต้องคิดของเราเองว่าจริง
ๆ เราควรจะมี transaction อย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีแนวความคิดใหม่ ส่วนแนวคิดเรื่อง
Hedging ซึ่งค่อนข้าง vary ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์
ซึ่งหากเทียบต้นทุนจากการทำ Hedging ก็คงไม่แตกต่างกับต้นทุนการกู้ในประเทศนัก
และการที่ต้องไปกู้นอกก็เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันนั่นเอง ฉะนั้นถ้าเราซื้อ
Hedge ก็หมายความว่าเรายอมรับรู้ว่าต้นทุนทางการเงินของเรานั้นเท่ากับกู้ในประเทศตั้งแต่วันแรก
ดังนั้นการทำ Hedge หรือไม่ก็มีค่าเท่ากัน เพราะต้องมีการจ่ายเงินล่วงหน้าคือเป็น
realized cost เลย ขณะเดียวกันการทำ Hedge ส่วนหนึ่งก็ถือเป็นการ speculative
เพราะต้องมีการคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า คือถ้าเราเอาเงิน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐไป
Hedge ก็กลายเป็นเงิน speculation และ volume มันก็แพงด้วย"
สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางการแข่งขันที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
จะทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจของเครือซิเมนต์ไทยยากขึ้นกว่าเดิมเป็นลำดับนับแต่นี้ต่อไป
และในสถานการณ์ที่ได้รับความบอบช้ำจากพิษภัยของเศรษฐกิจ slowdown แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนชนิดตั้งรับกันแทบไม่ทัน
แม้ว่าในอดีตเมื่อปี 2527 เครือปูนซิเมนต์ไทยจะเคยเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้มาก่อนแล้วก็ตามแต่ก็เป็นเรื่องที่ต่างกรรมและวาระกันยากนำมาเปรียบเทียบกันได้
"ตอนนี้เงินหายากไม่ว่าจะค่าเงินลอยตัวหรือไม่เราต้องระมัดระวังในเรื่องของ
inventory เมื่อเงินแพง หายาก การทำธุรกิจก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น ซื้อของต้องซื้อให้ถูก
และเก็บให้น้อย ในเครือเรามีการเปลี่ยนแปลงไปมากสมัยปี 2527 ส่วนใหญ่เรา
serve ในประเทศเป็นหลักตอนนี้เรามีธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลกระทบตอนนั้นเราก็ลงบัญชีทีเดียวเหมือนกัน
และสินค้าส่งออกเป็น non-manufacturing ค่อนข้างเยอะ ผมว่ามันเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ของทั้งประเทศ
ตอนนั้นเราไม่กระทบเท่าไหร่เพราะเราเป็น domestic แต่ขณะนี้ในแง่ cash เราไม่ได้กระทบแต่จะกระทบในรูปบัญชี
ส่วนในเรื่องการปรับตัว คงต้องดูต่อไปว่าถ้าสินค้าตัวไหนต้นทุนขึ้นเราก็ปรับเพื่อให้
cover ต้นทุน สินค้าไหนที่เป็นไปตามตลาดโลกเราก็ปรับราคาตามตลาดโลกจะ cover
ต้นทุนหรือไม่เราไม่รู้เหมือนกัน และเราก็จะมีการปรับตัวตามกำลังการผลิตของเราด้วย
คือถ้าเศรษฐกิจ slowdown เราก็มีกำลังการผลิตที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เราก็จะ
push อันนั้นเพิ่มขึ้นซึ่งก็จะทำให้ทั้งจำนวนเพิ่มขึ้นและยอดขายรวมก็เพิ่มขึ้น
เรารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศคงจะ slowdown ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้สัดส่วนของยอดขายจากภายในประเทศและต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปเพราะในประเทศอาจลดลงขณะที่ส่งออกเพิ่มขึ้น"
อวิรุทธ์ มือการเงินคนสำคัญของเครือให้ทัศนะถึงการปรับตัวในช่วงต่อไป ซึ่งปีนี้ทางเครือฯ
ได้จัดงบลงทุนไว้เป็นเงิน 30,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วจากจำนวน 40,000
ล้านบาท และในปี 2541 คาดว่างบลงทุนจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของปีนี้
ถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่จะได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ จากการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวครั้งนี้
ก็คือผู้บริโภค เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น การที่บริษัทจะแบกรับภาระทั้งหมดเอาไว้ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
และสุดท้ายก็ต้องผ่องถ่ายต้นทุนนั้นมาสู่ผู้ซื้อด้วยการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีกเฉลี่ยประมาณ
5-10%
ไม่เพียงเราเท่านั้นที่ต้องแบกรับภาระนั้น แต่รัฐบาลเองก็ต้องปวดหัวมากขึ้นเมื่อปูนใหญ่บันทึกขาดทุนเฉียดหมื่นล้านครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อกำไรของบริษัทในปี
2540 นี้ในทางบัญชี และแน่นนอนเมื่อกำไรลดฮวบฮาบอาจถึงขั้นต้องขาดทุนภาษีที่รัฐเคยได้รับจากเครือซิเมนต์ไทย
ปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทก็ต้องเลือนหายไป งานนี้ไม่รู้ว่าใครต้องคิดหนักกว่าใครเพราะคงไม่เฉพาะยักษ์อย่างปูนใหญ่รายเดียวเท่านั้นที่กระเทือน