เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 ที่ผ่านมา บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาแก้หวัดของคนในกรุงเทพมหานคร
ซึ่งพบว่า คนส่วนใหญ่ในเมืองหลวงมีพฤติกรรมบริโภคยาเกินความจำเป็นกันมากขึ้น
โดยเทียบกับภาวะตลาดของยาแก้ปวด แก้หวัดที่เติบโตมากขึ้นกว่าในอดีต โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดรวม
ของยาแก้ปวดลดไข้มีมากกว่า 1,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ตลาดของยาแก้ปวด 1,100
ล้านบาท และตลาดยาแก้หวัดประมาณ 400 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีคำสั่งเพิกถอนกาเฟอีนออกจากสูตรยา
ซึ่งส่งผลให้ตลาดยาแก้ปวดชนิดซองสูตรแอสไพรินที่เคยมีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น
ทัมใจ บวดหาย ยาตราไก่ และยาบูรา เป็นต้น มีการขยายตัวลดลงถึง 40% เมื่อเทียบกับในช่วงก่อนปรับเปลี่ยนสูตรยา
และได้มีการขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 15% ต่อปี สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากว่า
ตลาดของยาแก้ปวดส่วนใหญ่นิยมบริโภคยาผิดวัตถุประสงค์ เมื่อยาไม่สามารถสนองความต้องการได้แล้วก็ไม่พอใจที่จะบริโภคต่อไป
ในขณะที่ยาแก้ปวดสูตรพาราเซตตามอล เช่น ไทลีนอล คาลปอล ซาริดา ดาก้า และพานาดอล
เป็นต้น กลับได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูงขึ้นประมาณ
30% ในระยะแรก ๆ และในปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวประมาณ 12% ต่อปี
นอกจากนั้น ยาแก้หวัดที่มีส่วนประกอบของตัวยาพาราเซตตามอล ฟินิลโปรปาโนลามีน
ไฮโดรคลอไรด์ และคลอร์เฟนิรามิน มาลีเอต ซึ่งในอดีตก็มีส่วนผสมของกาเฟอีน
และปัจจุบันก็ได้ถูกเพิกถอนไปจากสูตรยาแล้ว เช่นเดียวกันกับยาแก้ปวด แต่ทว่า
ตลาดของยาแก้หวัดไม่ได้ตกต่ำลงดัง เช่นยาแก้ปวดชนิดซอง ในทางกลับกันตลาดของยาแก้หวัดเหล่านี้
กลับมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เนื่องจากทางผู้ผลิตได้มีการปรับเปลี่ยนสูตรยาให้มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการเพิ่มมากขึ้น
ประกอบกับการแข่งขันในเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ ทำให้สินค้าเป็นที่คุ้นเคยต่อผู้บริโภค
รวมทั้งมีการจัดรายการส่งเสริมการขายด้วยการสมนาคุณให้แก่ร้านขายยาที่สามารถทำยอดขายได้ตรงตามเป้าของทางบริษัทตัวแทนจำหน่าย
ส่งผลให้ตลาดของยาแก้หวัดนี้มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องประมาณ 15% ต่อปี
โดย "ทิฟฟี่" ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด รองลงมาก็ได้แก่
ดีคอลเจน นูตา และอื่น ๆ
จากการที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อยามารับประทานได้โดยสะดวกจากบรรดาร้านค้า
และร้านขายยาที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นท ี่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยร้านขายยาในปัจจุบัน
มีจำนวนทั้งสิ้น 12,119 ร้าน แบ่งออกเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย. 1) 4,723
ร้าน ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย (ขย. 2) 5,147 ร้าน
และร้านขายยาแผนโบราณอีก 2,249 ร้าน ซึ่งไม่รวมร้านขายยาที่อยู่ในคอนวีเนียนสโตร์และห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่กว่า
1,000 แห่ง และร้านขายของชำละแวกที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคอีกประมาณ 400,000
กว่าร้านทั่วประเทศ ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มการบริโภคยาเกินความจำเป็นสูงมากขึ้น
โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้ต่าง ๆ ที่มีอยู่หลากหลายยี่ห้อประกอบกับมีการโฆษณาสรรพคุณของยาเหล่านี้
อีกทั้งผู้บริโภคก็สามารถซื้อยาเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นตต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์หรือเภสัชกร
เนื่องจากยาประเภทนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงสามารถจำหน่ายได้ทั่วไป
สำหรับผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาแก้ปวดแก้หวัดของคนกรุงเทพมหานครของทีมงานศูนย์วิจัยกสิกรฯ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 60 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น
703 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นนักเรียน นักศึกษามากที่สุด คือ ประมาณร้อยละ
40 และมีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ใช้วิธีการบำบัดอาการป่วยเบื้องต้นด้วยการรับประทานยา
โดยแบ่งเป็น การหยิบยาจากตู้ยาที่มีอยู่ จำนวนร้อยละ 34 และไปซื้อยามารับประทานเองร้อยละ
37.6 ที่เหลือใช้วิธีนอนพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ ร้อยละ 27.1 ไปพบแพทย์ ร้อยละ
9.2 และอีกร้อยละ 2.1 เป็นผู้ที่ไม่ชอบรับประทานยาโดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เหล่านี้จะนิยมซื้อยาเจาะจงยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง
คิดเป็นร้อยละ 43.3 ในขณะที่ผู้ที่ไม่เจาะจงยี่ห้อมีอยู่ร้อยละ 41.4 และที่เหลือร้อยละ
15.3 ตอบว่าไม่แน่ใจ เพราะจำชื่อยาที่รับประทานครั้งสุดท้ายไม่ได้ ร้อยละ
70.8 มีความเห็นว่า ได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาแก้ปวดแก้หวัดยี่ห้อต่าง
ๆ บ้าง ขณะที่มีเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ตอบว่าได้ผลเต็มที่ ที่เหลือตอบว่าไม่ได้ผลเลย
นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังพบว่า พฤติกรรมการเลือกใช้ยาแก้ปวดแก้หวัดของคนกรุงเทพฯ
ส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ยาชนิดเม็ดบรรจุขวดละ 43.9 โดยแบ่งเป็นยาพาราเซตามอลร้อยละ
98.3 ที่เหลือตอบว่าไม่รู้จักชื่อยา รองลงมาคือ ยาเม็ดบรรจุเสร็จร้อยละ 33.6
ซึ่งได้รับความนิยมตามชื่อการค้าดังนี้ ทิฟฟี่ ร้อยละ 52.8 ดีคอลเจน ร้อยละ
36.4 นูตา ร้อยละ 8.5 ที่เหลือตอบว่าอื่น ๆ ส่วนยาชนิดเม็ดบรรจุแผง ร้อยละ
20.2 แบ่งเป็น ยาพาราเซตามอล ร้อยละ 61.3 ไทลีนอล ร้อยละ 16 แอคทีเฟดร้อยละ
12.3 ดาก้า ร้อยละ 9.4 ที่เหลือจำชื่อไม่ได้ สำหรับยาชนิดผงบรรจุซองมีจำนวนร้อยละ
28.6 ที่เหลือใช้ยาประเภทอื่น ๆ
สำหรับทัศนคติในเรื่องความสับสนของการใช้ชื่อทางการค้าของยาแก้ปวดแก้หวัด
คนกรุงส่วนใหญ่ร้อยละ 52.4 ให้ความเห็นว่าเกิดความสับสนระดับปานกลางเท่านั้น
ร้อยละ 19.1 ให้ความเห็นว่าเกิดความสับสนมาก ส่วนร้อยละ 17.3 คิดว่าน้อยและที่เหลือคิดว่าไม่สับสนเลย
ส่วนสถานที่ที่คนกรุงนิยมในการเลือกซื้อยาแก้ปวดแก้หวัด ได้แก่ ร้านขายยา
ร้อยละ 74.8 ร้านค้าใกล้บ้าน ร้อยละ 19.2 ซูเปอร์มาร์เก็ตร้อยละ 2.5 คอนวีเนียนสโตร์ร้อยละ
1.7 และที่เหลือซื้อจากที่อื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังมีการสำรวจความคิดเห็นทางด้านการโฆษณาสรรรพคุณของยาที่มีต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย
ซึ่งพบว่า ร้อยละ 38.4 คิดว่าการโฆษณามีผลต่อการตัดสินใจซื้อระดับปานกลางเท่านั้น
รองลงมาร้อยละ 26.2 ตอบว่าส่งผลน้อยมาก และอีกร้อยละ 16.1 ตอบว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเลย
ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามดังกล่าวยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่ยาแก้ปวดแก้หวัดที่มีอยู่มากมายหลายยี่ห้อในปัจจุบันนั้นว่า
ทำให้สามารถเลือกซื้อได้สะดวกตามร้านค้าทั่วไป และส่งผลดีให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ
ทำให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ตัวยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการได้ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ดี
ควรแยกประเภทและระบุสรรพคุณของยาแก้ปวดลดไข้ชนิดต่าง ๆ ให้ชัดเจน รวมทั้งระบุว่ายานั้นไม่เหมาะกับคนที่มีโรคอื่นข้างเคียงหรือมีอาการแพ้ยาก่อน
และควรมีการระบุสัดส่วนของยาที่ประกอบให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดโทษต่อร่างกายน้อยที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้น ควรระบุปริมาณการใช้ยาในแต่ละครั้งให้ชัดเจนที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นของตัวแทนผู้บริโภคยาแก้ปวดแก้หวัดในกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งอาจสะท้อนความเป็นจริงได้เพียงส่วนหนึ่ง และอย่างน้อยก็ทำให้ได้ทราบถึงพฤติกรรรมการบริโภคยาของคนกรุงได้ดีพอสมควร