|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
กบข.พับแผนจัดตั้ง บลจ. ใหม่ เผยเบื้องต้นอาจใช้แนวทางการเข้าไปร่วมทุนแทน ระบุจะไม่เข้าไปถือหุ้น 100% ย้ำจุดประสงค์หลัก ต้องการหาสินค้าบริการสมาชิกเท่านั้น ไม่ได้ต้องการแข่งขัน "วิสิฐ" คาดปีนี้สินทรัพย์สุทธิขยับขึ้นเป็น 3.1 แสนล้านบาท จาก 2.8 แสนล้านบาทในปี 48 ส่วนการขยายเพดานลงทุนในหุ้นจาก 20% เป็น 30% คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ว่า ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว โดยในเบื้องต้นอาจไม่จำเป็น ต้องจัดตั้งขึ้นเป็น บลจ.แห่งใหม่ แต่อาจจะเข้าไปร่วมทุนกับ บลจ.ที่มีอยู่แล้ว โดยขณะนี้ มีกำหนดไว้ในใจแล้วส่วนจะเป็นบลจ.ไหนนั้น ยังไม่สามารถบอกได้
อย่างไรก็ตาม ในการเข้าไปร่วมทุนกับธุรกิจ บลจ.นั้น กบข.ไม่ได้ต้องการเข้าไปถือหุ้นเต็ม 100% อาจจะเป็นลักษณะของพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนร่วมกัน เนื่องจากจุดประสงค์ในการทำธุรกิจ บลจ. เพราะเราต้องการส่งเสริมการออมให้แก่สมาชิกมากขึ้น โดยเฉพาะการออมหลังการเกษียณอายุไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันยังมีเงินออมไม่เพียงพอ ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น ยังจะรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจและเอกชนด้วย
"ความตั้งใจของกบข.ในการทำธุรกิจบลจ. ไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน จึงไม่ต้องทำเองทั้งหมด 100% และไม่ต้องการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่สัดส่วนการเข้าไปร่วมลงทุนอาจจะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากหน่อย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว โดยคาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ และจะเห็นภายในปีนี้แน่นอน" นายวิสิฐกล่าวอย่างไรก็ตาม ในอนาคตหลังจาก กบข.มีธุรกิจ บลจ.แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นไม่ให้ บลจ.อื่นๆ บริหารจัดการทรัพย์สินของ กบข. ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสินทรัพย์ประมาณ 20-30% หรือประมาณ 50,000 ล้านบาทให้ บลจ.บริหารอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศอีก 10% ที่ให้ บลจ.บริหารด้วยเช่นกัน
สำหรับผลการดำเนินงานของ กบข. ในปี 2548 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 กบข.มีสินทรัพย์สุทธิจำนวนทั้งสิ้น 286,823 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งปี (สะสม 12 เดือนตั้งแต่มกราคม-ธันวาคม 2548) เท่ากับ 6.76% หรือคิดเป็นเงิน 15,550 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับตัวเทียบวัดการลงทุนที่ กบข.กำหนดไว้ กล่าวคือ สูงกว่า ผลตอบแทนจากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 ธนาคารซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.29% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.5% สำหรับอัตราผลตอบแทนสะสมย้อนหลัง 3 ปี (2546-2548) เท่ากับ 6.80% และย้อนหลัง 5 ปี (2544-2548) เท่ากับ 7.16%
ส่วนพอร์ตการลงทุนในปี 2548 แบ่งเป็นลงทุนในเงินฝากธนาคาร และตราสารหนี้ทั้งของรัฐและเอกชนมากที่สุด 67.86% รองลงมาเป็น การลงทุนในตราสารทุน 13.68% อสังหาริมทรัพย์ 3.09% การลงทุนทางเลือก 5.93% ตราสารหนี้ต่างประเทศ 8.49% และตราสารทุนต่างประเทศ 0.95%
นายวิสิฐกล่าวว่า แผนการลงทุนในปี 2549 นั้น กบข.คาดว่าสินทรัพย์สุทธิจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 แสนล้านบาท จากสินทรัพย์สุทธิ 2.8 แสนล้านบาท โดยในปีนี้ กบข.จะขยายการลงทุนให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยขณะนี้กำลังรอการแก้ไขกฎกระทรวงการคลังที่เสนอขอเพิ่มวงเงินลงทุนในหุ้นจาก 20% เป็น 30% ซึ่งคาดว่าภายใน 2 เดือนจากนี้จะได้ข้อสรุป
ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้น ทางกบข. เตรียมขยายสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ จาก 1% ในปีก่อนเป็น 5-6% เนื่องจากพบว่าการลงทุนในต่างประเทศให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความผันผวนน้อยกว่า โดยปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนสูงถึง 12% ขณะที่หุ้นในประเทศก็จะเพิ่มสัดส่วนจาก 14% เป็น 15-20% ในปีนี้ ซึ่งในปี 2548 นั้น กบข.มีกำไรจากการลงทุนในหุ้นถึง 20.1% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 7% เท่านั้น
ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ ในปีที่ผ่านมา ทาง กบข.ได้ลดอายุการถือครองพันธบัตรลงจากภาวะกระทบอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยได้มีการถือครองพันธบัตรอายุไม่เกิน 2 ปีเป็นส่วนใหญ่ แต่จากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มทรงตัวและคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 1-1.5% ทาง กบข. จึงมีการถือครองพันธบัตรในระยะยาวเพิ่มขึ้น คือ 2.5-2.6 ปี จากเฉลี่ยปีก่อนที่ถือครองพันธบัตร 1.7-1.8 โดยในส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศ อาจจะลดสัดส่วนไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น จาก 8% ในปีก่อนให้เหลือประมาณ 3% เนื่องจากเชื่อว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่างประเทศซึ่งปี 48 อยู่ที่ 3.5% ไม่แตกต่างจากในประเทศมากนัก
นอกจากนี้ การที่ตลาดอนุพันธ์ที่กำลังจะเปิดการซื้อขายในเดือนเมษายนนี้ กบข.จะนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในการจัดการการลงทุนด้วย เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนและเพิ่มผลตอบแทนให้สมาชิก ซึ่งเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทที่กบข.ลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ การมีตลาดอนุพันธ์เกิดขึ้นจะสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดได้
|
|
 |
|
|