|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์กรุงศรีฯประกาศปี 49 กำไรโต 10% จากการปล่อยกู้ที่จะขยายตัว 8% เน้นปล่อยกู้ SME และรายย่อย โชว์ศักยภาพเงินกองทุนแกร่งไม่จำเป็นเพิ่มทุน เผยกลุ่มรัตนรักษ์ยังไม่คิดขายหุ้น แต่มีวอแรนต์รอใช้สิทธิอีก 1.5 ล้าน ดันเงินกองทุนให้อยู่ในระดับ 3-3.5% เผยใช้วิธีซื้อเครื่องมือและเทคโนโลยีรุกธุรกิจโดยไม่ต้องหาพันธมิตรเพิ่ม
นายพงศ์พินิต เดชะคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2549 จะมีอัตราการเติบโตของกำไรประมาณ 10% ขณะที่สินเชื่อโต 8% หรือคิดเป็น 36,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อรวมปี 48 ที่อยู่ในระดับ 420,000 ล้านบาท และเงินฝากจะโตในระดับที่ใกล้เคียงกันคือ 8% หรือคิดเป็น 45,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีนโยบายที่สร้างกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นในการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมทั้งพยายามที่จะเพิ่มกำไรสุทธิต่อพนักงานจากปัจจุบันกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อพนักงาน 500,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ จะเน้นที่จะดำเนินธุรกิจครบวงจร โดยรวมกับบริษัทในเครือในการเพิ่มสินค้าและบริการทางการเงิน เพื่อขยายรายได้จากค่าธรรมเนียมให้เพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่
ปัจจุบันธนาคารมีโครงสร้างจากรายได้ค่าธรรมเนียมประมาณ 23% โดยปีนี้มีเป้าหมายที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมอีก 17% และมีรายได้จากดอกเบี้ย 77% โดยธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อลูกค้า SME และกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก และที่เหลือจะเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่
นายพงศ์พินิตกล่าวถึงกระแสการร่วมกับบริษัทจีอี แคปปิตอล ว่า ธนาคารได้มีนักลงทุนและพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาเจรจาธุรกิจกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องที่ดีทางธุรกิจหากสามารถสนับสนุนการให้บริการหรือธุรกิจของธนาคารได้ ส่วนนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อหุ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ธนาคารยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการหาเงินทุนเพิ่ม และทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ รัตนรักษ์ ก็ยืนยันที่จะไม่ขายหุ้นของธนาคาร
“ธนาคารผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาได้และสามารถดำเนินธุรกิจทั้งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้โดยที่ไม่ต้องปิดบริษัทในเครือแม้แต่บริษัทเดียว และเป็นธนาคารของคนไทยที่อยู่รอดมาได้ถึง 60 ปีอย่างมั่นคง” นายพงศ์พินิตกล่าวและว่า ขณะนี้ธนาคารมีวอแรนต์ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิอยู่ 1,217 ล้านหน่วย ในราคาแปลงสิทธิ 12 บาท ซึ่งหากมีการใช้สิทธิ จะมีเงินเข้ากองทุนอีก 1.5 หมื่นล้านบาท และทำให้ธนาคารมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอีก 3-3.5%
ทั้งนี้ ธนาคารมีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติอยู่ 30% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนทั่วไป มีกองทุนเล็กน้อย ซึ่งการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องเข้ามาในลักษณะของการถือหุ้น โดยธนาคารอาจจะใช้วิธีการซื้อโนฮาวเข้ามาแทน สำหรับการทำธุรกิจรายย่อยของธนาคารมีการเติบโตและขยายฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ขยายฐานได้โดยใช้เงินทุนที่ต่ำ และสามารถขยายไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยอื่นๆ ได้ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต
นายพงศ์พินิตกล่าวอีกว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปัจจุบันอยู่ในระดับ 9% หรือคิดเป็น 42,000 ล้านบาท และสิ้นปีนี้จะพยายามลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 6-7% โดยจะใช้วิธีการตัดขายเอ็นพีแอลให้กับผู้ที่สนใจละต่างประเทศ และปีนี้คาดว่าจะขายประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่เหลือจะปรับโครงสร้างหนี้ ขณะนี้เตรียมที่จะจัดกลุ่มเอ็นพีแอลที่จะตัดออกขายกองละ 2-3 พันล้านบาท เพื่อให้เอ็นพีแอลเหลือ 5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับธนาคาร
ขยายเครือข่ายภาคเหนือทุกบริการ
นายพงศ์พินิตเปิดเผยว่า ธนาคารมีความพร้อมที่จะให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการขยายเครือข่ายด้านบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือทั้งในเขต ตัวเมืองและนอกเมือง ทำให้มีการขยายเครือข่ายด้านธุรกิจการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจท้องถิ่นได้รับความสะดวกในการใช้บริการด้านธุรกรรมการเงินเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นการเสริมศักยภาพให้เศรษฐกิจชุมชนมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันธนาคารมีเครือข่ายสาขาในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 51 สาขา บูธ Exchange สำหรับบริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวม 7 บูธ ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และเครื่องกรุงศรี ATM รวม 145 เครื่อง โดยได้จำแนกสาขาในเขตความรับผิดชอบของภาคเหนือตอนบนมีจำนวน 28 สาขา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา รวมถึงมีบูธ Exchange จำนวน 6 บูธ และจำนวนเครื่องกรุงศรี ATM จำนวน 104 เครื่อง
ในส่วนของจังหวัดเชียงรายมี 6 สาขา ประกอบด้วย สาขาเต็มรูปแบบจำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาเชียงราย พาน และแม่สาย และสาขาย่อย จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาย่อย ห้าแยกพ่อขุนเม็งราย สาขาย่อย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สาขาย่อย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเครื่องกรุงศรี ATM จำนวน 20 เครื่อง โดยธนาคารได้กระจายจุดติดตั้งเครื่องกรุงศรี ATM ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดเชียงรายให้สามารถรองรับธุรกรรมการเงินได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ธนาคารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่เศรษฐกิจแห่งนี้ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ จึงได้วางเครือข่ายเพื่อให้บริการทางการเงินด้านต่างๆ แบบครบวงจร อาทิ บูธ Exchange เครื่องกรุงศรี ATM พร้อมได้ติดตั้งเครื่อง EDC ในตัวเมืองเชียงรายและบริเวณสะพานข้ามชายแดนไทย-พม่า ดอยแม่สลอง และสามเหลี่ยมทองคำ เป็นต้น สำหรับในส่วนของสินเชื่อที่ธนาคารได้ให้บริการแก่ลูกค้าในพื้นที่ท่องเที่ยวอำเภอแม่สาย สามเหลี่ยมทองคำ และดอยแม่สลอง ได้แก่ กลุ่มของโรงแรม และผู้ประกอบการค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
|
|
|
|
|