ทันทีที่แบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาคธุรกิจที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังสูงสุดของประเทศ
คือภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
ภาคส่งออกนั้นคงเริ่มกระเตื้องขึ้นเรื่อย ๆ และจะเห็นเด่นชัดอย่างเร็วก็ไตรมาส
4 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในแง่ปริมาณแล้วทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐต่างยอมรับว่าคงเพิ่มขึ้นแน่นอน
แต่ในแง่ของเม็ดเงินนั้นอาจจะไม่ดีอย่างที่คิดเพราะกลายเป็นว่าต้องขายของมากขึ้นในขณะที่รายได้อาจเท่าเดิม
และถ้ารายใดเกิดมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบที่สูง การลอยตัวค่าเงินก็ไม่ช่วยเท่าไร
เพราะนั่นหมายถึงราคาวัตถุดิบจะสูงตามไปด้วย ซึ่งทางรัฐก็คงต้องหาทางช่วยต่อไป
ดังนั้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวจึงกลายเป็นอัศวินม้าขาวที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ไปโดยปริยาย
เพราะเป็นความหวังอันใกล้และสามารถทำให้เกิดผลได้เร็วที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจว่าพอจวนตัวจริง
ๆ ทางการก็มีมติเร่งรัดจัดงาน Amazing Thailand ให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมมาเริ่มในปีนี้เสียเลย
แทนที่จะเป็นปี 2541-2542
Theme คือ : ฉลองในหลวงครบ 6 รอบ และเอเชี่ยนเกมส์
เดิมทีความหวังต่อการจัดโครงการ "Amazing Thailand 1998-1999"
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยอาศัย 2 โอกาสพิเศษ คือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์
ครั้งที่ 13 ในปี 2541 และวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี
2542
โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นแม่งาน ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เปิดตัวโครงการทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งในแง่เชิญสื่อมวลชน จากต่างประเทศนับพันคนมาทัศนศึกษาในประเทศไทย หรือการจัดสร้างโฮมเพจผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่มี
address ยาวเหยียด http://www.tourismthailand.org
รวมทั้งการขอความร่วมมือหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ให้มีการตกแต่งอาคารสถานที่เป็นพิเศษด้วยโลโกของงาน
และสนับสนุนให้ผลิตสินค้าของที่ระลึกเพื่อขายแก่นักท่องเที่ยวด้วย
ผู้ว่า ททท. เสรี วังส์ไพจิตร เองช่วงนี้ก็มีอันต้องชีพจรลงเท้าเดินทางไปโรดโชว์โครงการตามพื้นที่เป้าหมายต่าง
ๆ โดยตั้งค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 5-6 ล้านบาท โดยรวมแล้วคาดว่าต้องใช้งบในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ตลอดโครงการ
ในปี 2541-2542 ประมาณทั้งสิ้น 5,669 ล้านบาท ส่วนในปี 2540 ได้งบประมาณมาบริหารแล้วทั้งสิ้น
2,528 ล้านบาท
เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาทตามแผนฯ 8
จากโครงการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทยในช่วง
2 ปี ไม่ต่ำกว่า 17.18 ล้านคน และจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศประมาณ 1 ล้านล้านบาท
โดยจะเป็นเงินที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศประมาณ 6 แสนล้านบาท
อีก 4 แสนล้านบาทเป็นเงินที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยเองจากโครงการ "ไทยเที่ยวไทย"
ที่รณรงค์มาตั้งแต่ต้นปีซึ่งก็ได้ผลบ้างพอสมควร แต่ติดตรงที่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดีนักคนจึงยังเที่ยวน้อยอยู่
ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544)
ซึ่งกำหนดว่าในสิ้นปี 2540 จะให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 7.75
ล้านคน และสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ไม่ต่ำกว่า 245,122 ล้านบาท ส่วนในปี
2541 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 8.3 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ
ไม่ต่ำกว่า 281,890 ล้านบาท ส่วน ในปี 2542 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่ต่ำกว่า
8.88 ล้านคน และนำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 324,174 ล้านบาท
แผนดังกล่าวกำหนดเป้าหมายให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวไม่ต่ำกว่า
7% ต่อปี และสร้างรายได้เป็นเงินตราจากต่างประเทศให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15%
ต่อปี รวมทั้งสนับสนุนให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า
3% ต่อปี
ย้อนหลัง 10 ปีมีแต่โตขึ้น
จะสำเร็จตามแผนหรือไม่นั้นยังไม่มีใครรู้ในตอนนี้ แต่เมื่อต้นปีธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างซบเซา
โดยจากการเปิดเผยของประกิจ ชินอมรพงษ์ เลขาธิการสมาคมโรงแรมไทยถึงการส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการโรงแรม
44 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อทำการสำรวจอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวในช่วง
5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 61.11% เมื่อเทียบกับตัวเลขของปีก่อนที่มีจำนวน
62.44% ซึ่งลดลง 1.33% แสดงให้เห็นว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ไม่ถึงกับตกต่ำ
แต่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้รายงานระบุว่าน่าเป็นห่วงเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซัน
และจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของ ททท. เติบโตแค่ 4% เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้
7%
รายงานดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะประกาศโครงการ "Amazing Thailand"
จึงคาดว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายมากอย่างที่คิด และเมื่อพิจารณาจำนวนนักท่องเที่ยวย้อนหลังไปประมาณ
10 ปีจะเห็นว่าทั้งจำนวนและรายได้ที่เข้ามาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แตกต่างกันตรงอัตราการเพิ่มที่มากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์และปัจจัยที่มากระทบในช่วงปีนั้น
ๆ (ดูตารางจำนวนนักท่องเที่ยวในรอบ 10 ปี)
น่าสังเกตว่าในปี' 34 ที่มีการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 4% นั้นเป็นผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เชีย
ซึ่งถือเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ และถ้าย้อนขึ้นไปอักสัก 20 ปี ก็จะมีการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวอีกเพียงครั้งเดียวคือในปี
'26 เนื่องจากเกิดการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก (World Economic Escession)
ซึ่งเป็นสถานการณ์จากภายนอกเช่นกัน
ขณะเดียวกันในปี' 35 ที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงผิดจากปกติ
ก็มีผลกระทบบ้างเช่นกัน เพราะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวโตเพียง 1% แต่พอถัดมาอีกในปี'
35 จะเห็นว่าตัวเลขการเติบโตกระโดดไปถึง 12% แสดงให้เห็นว่าขอให้สภาพบ้านเมืองสงบเท่านั้นเราก็ขายการท่องเที่ยวได้อยู่แล้ว
และยิ่งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมก็จะยิ่งช่วยได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม เฉลี่ย 10 ปีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้นปีละ 10.65% ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นปีละ
33.85% โดยวัตถุประสงค์หลัก 87.49% ของผู้เข้าประเทศยังเป็นไปเพื่อการพักผ่อน
แนวโน้มอย่างนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทยและยังสามารถฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน
โรงแรมไทย-เทศรับ ทำบ้างย่อมดีกว่าไม่ทำเลย
ผลจากโครงการนี้ ธุรกิจโรงแรมรับอานิสงส์ไปอย่างเต็ม ๆ เพราะจากตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งหมด
98.15% เข้าพักในโรงแรม ความเห็นจากกลุ่มโรงแรมคงเป็นภาพสะท้อนได้ดี
เฮอร์แนน วาเนกัส ผู้จัดการทั่วไป รร. โซลทวิน ทาวเวอร์ ให้ความเห็นว่า
"เดิม ททท. ก็กระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งเราก็เข้าร่วมด้วยตลอด
ก็หวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นตามโครงการดังกล่าว"
ดูเหมือนวาเนกัสจะไม่ได้หวังผลจาก Amazing Thailand นัก เพียงแต่คาดว่าคงจะสร้างกระแสกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คึกคักกว่าเดิม
ส่วนทางโซลทวินเองนั้นก็พยายามจัดกิจกรรมเพื่อช่วยธุรกิจของตัวเองเป็นระยะอยู่แล้ว
ในปีนี้วาเนกัสบอกว่าโซลทวินจะไปจัดงาน Food Festival ที่ Hotel Jan III
Sobieski ณ กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ในเดือนกันยายน เพื่อหวังดึงลูกค้าในแถบยุโรปตะวันออก
คือ โปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเชคและสโลวัค จากเดิมที่มีลูกค้าหลักอยู่ในแถบยุโรปตะวันตก
คือ อิตาลี สเปน เยอรมนี และญี่ปุ่น
วาเนกัสคาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า การท่องเที่ยวของไทยจะดีขึ้นมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง
ๆ อาทิ รถไฟฟ้ามหานคร ทางรถไฟยกระดับ ในกรุงเทพฯ จะเสร็จซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
จากมุมมองของนักการโรงแรมต่างชาติผู้หนึ่งที่ทำธุรกิจในกรุงเทพฯ เห็นว่า
ความหวังยังไม่เด่นชัดนัก มาดูอีกมุมมองของนักการโรงแรมชาวไทยผู้หนึ่งซึ่งทำธุรกิจอยู่ในภูเก็ต
ดินแดนที่ทำเลดีที่สุดในประเทศไทยบ้าง
ธรรมจักร เหลืองประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รร. ภูเก็ตอเคเดียรีสอร์ท
เขาฝากความหวังไว้กับ Amazing Thailand 40% ส่วนอีก 60% นั้นเป็นหน้าที่ของโรงแรมที่ต้องทำเอง
โดยภาพรวมของปี 2540 นั้นคงไม่ดีเท่าไร เพราะช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.)
ซึ่งเป็น ซัมเมอร์ซีซันจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ดีเลย ธรรมจักรว่าเกิดจากเหตุผล
3 ประการ คู่แข่งมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจโลกไม่ดี และเมืองไทยไม่มีอะไรใหม่
ๆ ดึงลูกค้า
แต่แนวโน้มในอนาคตคงดีขึ้น "เพราะการที่รัฐบาลประกาศเป็นปีท่องเที่ยวเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนพยายามแก้ไขจุดบกพร่องต่าง
ๆ ที่ผ่านมา และโดยเฉพาะการที่รัฐเทงบประมาณลงไปสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี
เพราะยิ่งมากเท่าไรโอกาสที่จะได้รับกลับมาก็มีมากเช่นเดียวกัน"
ธรรมจักรกล่าวและเสริมในเรื่องของค่าเงินบาทว่า เป็นส่วนที่ดีที่คนต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยแล้วจะรู้สึกว่าจับจ่ายใช้เงินได้โดยไม่รู้สึกว่าเสียเปรียบ
"ผมไม่ได้บอกว่าประเทศไทยถูก ประเทศไทยไม่ได้ถูก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นชาวต่างประเทศบางกลุ่ม
เขาจะไม่มาเลย เพราะเขาไม่ชอบเที่ยวประเทศที่มันถูก ๆ เขาชอบเที่ยวที่มันศิวิไลซ์
ทันสมัย และสมเหตุสมผล ซึ่งประเทศไทยนี่ผมคิดว่าราคาคงเหมาะสมสะดวกกับการจับจ่ายใช้สอยและไม่ขูดรีดเกินไป"
ธรรมจักรเชื่อว่าความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ขึ้นกับผู้ประกอบการทุกคนต้องให้ความร่วมมือจัดกิจกรรมของตนเองขึ้นมาด้วย
โดยในส่วนของภูเก็ตอเคเดียเองเนื่องจากปีนี้เป็นการดำเนินงานมาครบ 10 ปี
บริษัทจึงจัดกิจกรรมพิเศษคืนกำไรให้กับลูกค้าคนไทยระหว่าง 10 ก.ย.-10 ต.ค.
ส่วนในปีหน้านั้นยังไม่มีการสรุปว่าจะมีกิจกรรมใดบ้าง
ปัญหายังมีต้องรีบแก้ไข
เมื่อเปรียบเทียบรายได้จากการท่องเที่ยวกับการส่องออกอื่น ๆ ซึ่งเป็นการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในปี
2538 กับ 2539 พบว่าการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่งทั้งสองปี
และทิ้งห่างอันดับสองและสามซึ่งเป็นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์สิ่งทอค่อนข้างมากทีเดียว
(ดูตารางรายได้จากส่งออกประกอบ) ตัวเลขดังกล่าวจึงย้ำถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่าง ๆ หรือความสำเร็จในปี' 30 จาก
"Visit Thailand Year" ซึ่งดูแล้วเหมือนว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จเช่นกัน
แต่ข้อจำกัดในอดีตและปัจจุบันก็ต่างกันมาก
ในอดีตประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่มีวัฒนธรรมและธรรมชาติใกล้เคียงกับเรายังไม่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวนัก
แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว จากสถิติในปี 38-39 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยเป็นอันดับ
4 รองจาก ฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ
น่าสังเกตว่าสิงคโปร ์ไม่มีธรรมชาติอย่างในเมืองไทย แต่ความสะดวกในการคมนาคม
และซื้อสินค้าเป็นสิ่งที่ทำให้เขานำเราไป ในขณะเดียวกันอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับ
5 นั้นก็ตามหลังเรามาติด ๆ และอาจแซงหน้าเราไปอีกก็ได้ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดของตัวเอง
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าประเทศไทยมีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขไม่ว่า
จะเป็นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว, ปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว
(ททท. เพิ่งประกาศว่ามี 172 แห่ง), ปัญหาโสเภณีและการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
(ทั่วโลกให้ความสำคัญแต่ไทยเริ่มจะลืม ๆ แล้ว)
รวมทั้งปัญหามลภาวะและการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่กับภูเก็ต
และปัญหาด้านการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาทิ จุดตรวจคนเข้าเมือง
การขาดแคลนเที่ยวบินในบางเส้นทางเฉพาะหน้าเทศกาล หรือป้ายบอกทางที่ยังไม่เป็นสากลจนทำให้เกิดความสับสน
ปัญหาเดิม ๆ เหล่านี้ที่เรายังแก้ไม่ได้ ทั้งความปลอดภัย ทั้งเรื่องโรคเอดส์
ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญ อย่างพัทยา ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแต่ "นักเที่ยว"
ในขณะที่นักท่องเที่ยวลดลงแล้วทั้งในพัทยาและภูเก็ต โดยเกาะสมุยที่เพิ่งจัดฉลองครบ
100 ปีจะเป็นรายต่อไปถ้ายังไม่มีการควบคุมอย่างจริงจัง
ททท. น่าจะมีบทบาทและอำนาจหน้าที่มากกว่านี้ทั้งในด้านการกำกับ ควบคุม
และดูแล ในเรื่องคุณภาพแทนที่จะเป็นเพียงหน่วยงานประชาสัมพันธ์ เพราะปัญหาหนึ่งที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมลงคือไม่มีหน่วยงานมารับผิดชอบอย่างจริงจังและมีเอกภาพมากพอ
การเคลื่อนเข้ามาของนักท่องเที่ยวแท้ที่จริงนั้น ยังมีอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลานั้นดูความถี่ของการมาเที่ยว
ระหว่างการมาครั้งแรก ต่อการมาซ้ำก็จะพบว่า เป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก
คือ 49.91:50.09 ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยโชคดีที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย
ไม่แปลกอะไรถ้าจะได้ยินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติกล่าวว่า "ท้องฟ้าเมืองไทยสามารถเห็นดาวได้ชัดที่สุด
และเป็นท้องฟ้าที่สวยที่สุดในโลก"
แต่ปัญหาความปลอดภัย ความเสื่อมโทรมของพื้นที่และการจัดระเบียบไม่ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มย้ายจากพัทยา
ภูเก็ต และเกาะสมุย เพื่อหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหาดแถบพังงา
กระบี่ ที่ยังถูกทำลายน้อยและยังเงียบสงบอยู่บ้างเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันในวงจำกัด
มีคนพูดว่าพูดว่าประเทศไทยมีประตูเดียว ในขณะที่ต้องการให้คนเข้ามาเยอะจึงเกิดปัญหาในด้านคมนาคมโดยเฉพาะสนามบินดอนเมือง
แค่ถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งเป็นเส้นทางเดียวที่เชื่อมโยงระหว่างตัวเมืองกรุงเทพฯ
สู่สนามบินก็ยังเป็นปัญหาในเรื่องการจราจร ที่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เหยียบย่างเข้าประเทศ
จนกระทั่งกลับออกไป ทำอย่างไรจะแก้ไขได้ นี่ยังไม่รวมถึงกรณีสนามบินหนองงูเห่าที่กลายเป็นตำนานไม่รู้จบเสียที
ชาวต่างชาติยังให้ความเห็นว่า เมืองไทยมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาเป็น Shopping
Paradise แต่ยังติดปัญหาในเรื่องการจราจรและสภาพอากาศ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยสมัครใจที่จะไปฮ่องกง
หรือสิงคโปร์มากกว่า
แนวทางที่เป็นไปได้ตามแนวคิดของมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย
(ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะประธานโครงการจัดทำแผนแม่บททางการท่องเที่ยว ได้เสนอให้
ททท. ปรับแผนการดำเนินงานการท่องเที่ยวระหว่างปี 2541-2542 ให้สอดคล้องกับนโยบายหารายได้เร่งด่วนเข้ารัฐ
โดยกำหนดให้ปรับกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ การตลาดและการขาย มุ่งนำกิจกรรมที่ไทยได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่ามีศักยภาพสูงในด้านการดึงดูดโดยมีทรัพยากรหลัก
5 ประเภทคือ 1. วัฒนธรรม 2. ประวัติศาสตร์ 3. อัธยาศัยคนไทย 4. ร้านอาหาร
และ 5. ชีวิตราตรี เป็นจุดขายหลักทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเทียบแล้วจะทำรายได้ให้ประเทศสูงกว่าการขายธรรมชาติ
โดยระหว่างนี้ ททท. ต้องหยุดขายสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ และต้องเร่งฟื้นฟูให้คืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว
จะสำเร็จได้ต้องช่วยกันทั้งประเทศ
แม้ว่าการลอยตัวค่าเงินบาทไม่ใช่ยาหม้อใหญ่หรือยาขนานพิเศษ แต่ทันทีที่ประกาศเปลี่ยนแปลง
เสรี วังส์ไพจิตรผู้ว่า ททท. ก็รีบออกมาตอบรับทันควันเช่นเดียวกันว่า "จะส่งผลดีโดยรวมต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย
เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอาจเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้น
เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และคุ้มค่ามากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการมาท่องเที่ยวเมืองไทยถือว่าถูกแล้วก็ตาม"
และกล่าวเสริมว่า "หลังจากที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
และให้สามารถเที่ยวเมืองไทยได้อย่างทั่วถึงกว่าเดิม เพราะไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย
และอาจส่งผลให้รายได้กระจายสู่ภูมิภาคมากขึ้น"
เมื่อโครงการ "Amazing Thailand" ถูกประกาศออกมานั้นหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาที่ยังค้างคาของประเทศซึ่งอาจทำให้ไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้
แต่เป็นที่ยอมรับว่าดูจะเป็นสิ่งเดียวที่จะทำเงินเข้าประเทศได้เร็วที่สุด
สำหรับทางภาคธุรกิจเอกชนเองที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในเรื่องนี้ก็พร้อมที่จะสนองตอบต่อนโยบายดังกล่าวอย่างแข็งขัน
แม้จะยังไม่แน่ใจในความสำเร็จมากนักก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไม่ว่านโยบายอะไรที่ออกมาจะดีหรือไม่เจ๋งพออย่างไรก็ช่าง
ประเทศชาติกำลังย่ำแย่ เรือกำลังจะจม ไม่ใช่เวลามานั่งวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเรือไม่สวยหรือแล่นไม่ถูกทาง
ยังมีโอกาสอย่างนั้นอีกเยอะถ้าเรือไม่จมเสียก่อน เวลานี้จึงเป็นเวลาที่ต้องการให้ทุกคนในชาติช่วยกันวิดน้ำออกจากเรือให้เร็วที่สุด
อย่างมหกรรมส่งออกธุรกิจบริหาร หรือ "Thailand Service Trade 1997"
ซึ่งจัดแสดงขึ้นในวันที่ 1-3 สิงหาคมที่ผ่านมา ไอเดียของกระทรวงพาณิชย์ นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีในการดึงความสามารถทางการบริการของคนไทยออกมาทำให้เป็นระบบและมีมาตรฐานมากขึ้น
นำร่องด้วยธุรกิจบริการ 5 กลุ่ม ได้แก่ ร้านอาหารไทย สวนสนุกและสนามกอล์ฟ
การแพทย์ สุขภาพและความงาม และบันเทิง โดยจะนำเสนอบริษัทคนไทยที่เป็นที่ยอมรับไปจนถึงต่างประเทศ
อาทิ S&P, สุกี้โคคา, อายุรเวทวิทยาลัย, JSL, มีเดีย ออฟ มีเดียส์, รพ.
กรุงเทพ, รพ. บำรุงราษฎร์ เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์หวังจะรวบรวมธุรกิจบริการแต่ละกลุ่มตั้งเป็นสมาคมเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นมาตรฐาน
และสามารถขยายผลไปถึงขั้นการขายแฟรนไชส์ของธุรกิจออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย
มาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ออกมาจะดีมากดีน้อยก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วปล่อยให้ภาคเอกชนต้องเผชิญสภาพที่ย่ำแย่ไปเพียงลำพัง
อย่างนั้นจะยิ่งแย่กว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นจะสังเกตเห็นได้ไม่ว่ามาตรการใดที่ออกมาเอกชนต่าง
ๆ พร้อมที่จะตอบสนองทั้งสิ้น ขอให้มาตรการนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอนไม่ยึกยักชักช้าออกจนเกิดความไม่มั่นใจเหมือนในอดีตที่ผ่าน
ๆ มา
ไม่เพียงเอกชนเท่านั้นที่ต้องให้ความร่วมมือจัดกิจกรรมตอบสนองต่อโครงการ
"Amazing Thailand" แต่ต้องเป็นคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันสนับสนุน
เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเพราะอาจจะเป็นทางรอดเดียวของประเทศในตอนนี้