อัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2549อยู่ที่ 4.75-5.75% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการณ์ครั้งใหม่หลังจากที่เคยคาดเมื่อปีที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจปี 4.5-6%และในปี 2550 อยู่ที่4.5-6% ซึ่ง ธปท. เห็นว่าเศรษฐกิจปี 2549 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีภาคส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ปีนี้จะขยายตัว 10-12 %และปี 2550 แต่ขยายตัวลดลงที่ 6-9%
ทั้งนี้มองว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ทำให้สินค้าส่งออกยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญยังคงเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
กระนั้นก็ตาม การที่ทุนไหลทะลักเข้าประเทศจนส่งผลต่อค่าบาทแข็งขึ้นมากนั้นจาก 41.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไตรมาส 4 ปี 2548 มาอยู่ที่ 39.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในต้นปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลมากนักเนื่องจากเป็นการแข็งค่าตามเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น ขีดความสามารถทางการแข่งขันจึงไม่ต่างกัน
ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 8-10% ในปี 2549 และปี 2550 ขยายตัว 7-10% ดุลการค้ายังขาดดุล 7,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 8,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,000-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากประมาณการเดิม 2,500-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2549 จะขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล 2,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนภาคเอกชนในปี 2549 จะดีกว่าประมาณการเดิม โดยจะขยายตัว 9.5-10.5% เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตใกล้เต็มกำลังการผลิตแล้ว ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคเอกชนเริ่มดีขึ้น หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ส่วนการลงทุนภาครัฐจะลดลง โดยเติบโต12.5-13.5%
ทั้งนี้มองว่า เศรษฐกิจในปีนี้คงได้รับผลบวกจากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ไม่มากนัก โดยอัตราการเบิกจ่ายในโครงการเมกะโปรเจกต์ในปี 2549 อยู่ที่ 135,000 ล้านบาท แต่หลังจากเข้าสู่ไตรมาสของ 2 ของปีงบประมาณ 2549 ยังไม่เห็นแผนการใช้จ่ายจากโครงการเมกะโปรเจกต์
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 49 คาดว่าจะลดลง มาอยู่ที่ 3.5-5 % ซึ่งในปี 2548 อยู่ที่4.5% ในขณะที่ปี2550จะลงมาอยู่ที่ 2-3.5% เนื่องจากราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ปี 2549 จะอยู่ที่ 57.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และจะลดลงเป็น 56.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2548 อยู่ที่ 1.6% ปี 2549 อยู่ที่ 2-3% และปี 2550 อยู่ที่2-3.5%
กระนั้นก็ตาม แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีอยู่สูงเนื่องจากราคาน้ำมัน แต่อัจนาก็คาดว่าคงไม่เกินราคาที่คาดไว้ ดังนั้น แนวโน้มที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะเกินกรอบที่ ธปท. กำหนดไว้ 0-3.5% มีความเป็นไปได้น้อยลง
|