บสท. ในวันนี้สามารถแก้ไขหนี้เสีย ปรับโครงสร้างหนี้กว่า 7 แสนล้านบาทได้สำเร็จเกือบ 100% จะว่าเป็นเพราะศักยภาพการทำงานก็ไม่เชิงนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่างาน บสท.ไม่ง่ายนักในการแก้หนี้ ด้วยบทบาทหน้าที่คือการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการอีกครั้ง ดังนั้นไม่เพียงแต่เจรจาปรับโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นที่ปรึกษาและหาแหล่งเงินเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อต่อลมหายใจผูประกอบการให้อยู่รอดต่อไปได้
ระยะทางที่เดินมาเกือบจะถึงครึ่งหนึ่งของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ได้ทำหน้าที่สมบทบาทกับความตั้งใจที่รัฐหวังไว้หรือไม่นั้น สิ่งที่เป็นคำตอบได้คือผลงานตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เพราะภายใต้แรงกดดันจากภาครัฐที่เร่งให้ บสท.สางหนี้เสียกว่า 7 แสนล้านบาทให้เสร็จโดยเร็ว ในวันนี้ บสท. สามารถดำเนินการสำเร็จไปได้แล้วกว่า 99.37%ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนทั้งหมด 777,197 ล้านบาท
สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการบอกว่า หนี้เสียที่สามารถปรับโครงสร้างได้สำเร็จนั้นจะมีความสำคัญในการเป็นวงล้อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้วิ่งได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องดีหากการแก้ไขหรือปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว
ดังนั้น แผนของกลุ่มที่ต้องเร่งปรับโรงสร้างหนี้เป็นการด่วนคงหนี้ไม่พ้นกลุ่มที่มีศักยภาพเป็นล้อหรือจักรกลสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
และก็ถือเป็นแนวคิดของรัฐด้วยที่ต้องการให้ บสท.แบ่งกลุ่มประเภทลูกหนี้ให้มีความชัดเจน เพื่อพิจารณากลุ่มที่สามารถสร้างศักยภาพเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวก็หนี้ไม่พ้น กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็ก สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จไปด้วยดี
ทั้งนี้เมื่อดูถึงผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่า บสท.แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ได้น่าพอใจ โดย ณ สิ้นปี 2548 ได้รับการโอนหนี้เสียจากสถาบันการเงินจำนวน 15,285 ราย มูลค่าทางบัญชี 777,197 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการจนได้ข้อยุติแล้ว 15,279 ราย มูลค่าทางบัญชี 772,260 ล้านบาท คิดเป็น 99.37%ของมูลหนี้ที่ได้รับโอนมาทั้งหมด
เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า บสท. สามารถบริหารและจัดการหนี้เสียของลูกค้าตนเอง แต่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จเกือบเต็ม 100%
โดยในการนี้เป็นการยุติด้วยการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 8,013 ราย มูลค่าทางบัญชี 560,056 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72.52% ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้ข้อยุติ ส่วนที่เหลือจำนวน 7,266 ราย มูลค่าทางบัญชี 212,204 ล้านบาท คิดเป็น 27.48ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้ข้อยุติ เป็นการบังคับหลักประกัน
ส่วนลูกหนี้ที่ถูกดำเนินการบังคับหลักประกัน บสท.ได้พยายามติดต่อให้มาชำระหนี้ตลอดแต่เมื่อไม่ทำตามกฎก็ต้องดำเนินการบังคับหลักประกันเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ได้ข้อยุติ ซึ่งมีสินทรัพย์หลักประกันประมาณ 40,000 -50,000 ล้านบาทที่ บสท.ต้องดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดี และนำมาขายให้กับผู้ที่ต้องการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้อีก 6ราย คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) มีมูลหนี้กว่า 3,920 ล้านบาท ซึ่งบสท.เป็นเพียงเจ้าหนี้รายย่อยที่มีสัดส่วน 12% ของเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน ต้องรอให้เจ้าหนี้รายใหญ่ดำเนินการเอง ส่วนที่เหลืออีก 5 ราย เป็นลูกหนี้รายย่อยซึ่งโอนเข้ามาระหว่างปี 2548 ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1
กระนั้นก็ตาม ถามว่าการปรับโรงสร้างหนี้ที่สำเร็จเกือบ 100% นั้นมีปัญหาหรือไม่ แน่นอนต้องพบคำตอบว่ามีปัญหา เพราะเท่าที่รู้มาบริษัทหรือลูกค้ารายใหญ่เท่านั้นที่มักไม่มีปัญหาในการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความแตกต่างทางความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่ดีกว่าลูกหนี้ขนาดกลางและเล็กนั่นเองที่ทำให้ การปรับโครงสร้างของลูกหนี้รายใหญ่เป็นไปได้ดีกว่า
ซึ่งเมื่อเทียบกับรายย่อยแล้ว เรียกได้ว่าแก้ปัญหาได้ค่อนข้างยากด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นแบบครอบครัว แต่แม้บางรายจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จก็ตาม แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องทุนหมุนเวียนแบงก์ไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้ แม้ว่าทาง บสท.จะพยายามช่วยโดยให้แบงก์ได้สิทธิในหลักประกันเป็นอันดับแรกก็ตาม
สมเจตน์ บอกว่า ในเรื่องนี้จะให้ บสท. นิ่งเฉยอยู่ก็ไม่ได้ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องหารหาสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน โดย บสท. ยินยอมให้สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ลูกหนี้นั้นจำนองหลักประกันเป็นลำดับที่ 1
อีกทั้งได้ประสานกับสถาบันการเงินเพื่อหาแหล่งทุนหมุนเวียนให้กับลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี จำนวน 30 ราย วงเงิน 1,495 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 8 รายได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วคิดเป็นเงิน 377 ล้านบาทส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ
แต่กระนั้นก็ตาม ดูจากการให้ความช่วยเหลือแล้วส่วนใหญ่ก็คงหนี้ไม่พ้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจจากภาครัฐ ซึ่ง"เราจะเป็นผู้ประสานระหว่างลูกหนี้และสถาบันการเงินเกือบทุกราย โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์) โดยให้สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่จดจำนองหลักประกันเป็นลำดับที่ 1 ในการขอสินเชื่อ กล่าวคือ สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่ จะได้รับการชำระคืนหนี้เป็นอันดับแรก หากลูกหนี้ประสบปัญหาจนต้องบังคับขายหลักประกัน"สมเจตน์ บอก
ผลงานที่สร้างมากำมือจนเกือบสำเร็จ100% เปรียบเสมือนภาพที่สวยงามของ บสท. แต่เบื้องหลังของความงดงามเหล่านั้นกลับแฝงไว้ด้วยภาพของการทำงานหนักภายใต้ปัญหายุ่งยากที่ประดังเข้ามาไม่ซ้ำรูปแบบกันแต่ก็นั่นแหละ บสท.ไม่อาจปฏิเสธบทบาทและหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจ บสท.รู้ดีว่าตนเองเกิดมาเพื่ออะไร
|