|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
11 ประเทศสมาชิกเอเชีย-แปซิฟิค ร่วมหัวจมท้ายเร่งพัฒนากองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 สกัดเม็ดเงินลงทุนกองใหญ่ในเอเชียไม่ให้ไหลออกนอกทวีป ไปลงทุนยังศูนย์กลางการเงินระดับโลก ย่านยุโรป และอเมริกา เพื่อดักเงินออมก้อนโตให้ลงทุนในเอเชีย ซึ่งจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ขณะที่การเทไหลออกไปลงทุนต่างประเทศในท้ายที่สุดก็จะวกกลับคืนมาในรูปการปล่อยกู้เช่นเดิม
แม้งานนี้จะเป็นเพียงก้าวแรก ๆ ของการทำงานในกลุ่มสมาชิกเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างอาณาจักรการเงินของทวีปตัวเอง และสำหรับไทยงานนี้ได้ถูกเลือกให้บริหารจัดการกองทุนพันธบัตรเอเชียในส่วนที่เป็นกองทุนย่อยซึ่งจะลงทุนในตราสารหนี้ประเทศตัวเอง และบทบาทนี้รับหน้าที่โดย บลจ.กสิกรไทย
เป็นการสานนโยบายอย่างต่อเนื่องสำหรับแผนการพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการออกกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือจากธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค (East Asia and Pacific) ทั้ง 11 ประเทศ
จะว่าไปการออกพันธบัตรเอเชียไม่ได้สื่อความหมายแค่การพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเก็บเงินออมที่มีอยู่มหาศาลไว้ในทวีปของตัวเอง เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาประเทศตัวเองด้วยการระดมทุนโดยออกพันธบัตรขายในประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่าการออกพันธบัตรไปขายในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ด้วยว่าทั้ง 2 คือยุโรปและสหรัฐอเมริกา ล้วนศูนย์กลางการเงินขนาดใหญ่ของโลก ที่ไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องขนเงินไปลงทุนหาผลตอบแทน โดยเฉพาะเงินจากประเทศเอเชียไปอยู่ในดินแดนดังกล่าวนับเป็นล้าน ๆ เหรียญสหรัฐ
แต่เงินดังกล่าวก็ย้อนกลับมาอยู่ที่เอเชียอีกในลักษณะของการปล่อยกู้จากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เงินดังกล่าวก็มาจากประเทศในเอเชียทั้งนั้น แล้วทำไมเอเชียถึงไม่พัฒนาตลาดทุนของตัวขึ้นมาเพื่อรองรับตรงนี้
นั่นเป็นแนวคิดของายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวสุนทรพจน์ บนเวทีโลก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียหลังจากนั้นตลาดพันธบัตรเอเชียก็เริ่มมีการดำเนินการและพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยหลักการนั้นเน้นให้เกิดความหลากหลายของตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่น ส่งเสริมตราสารหนี้ให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านการออมและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการนำเงินออมที่มีมหาศาลในเอเชียมาลงทุนในภูมิภาค
สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ตลาดพันธบัตรเอเชียขยายตัวได้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ คือการมีผลิตภัณฑ์หรือสินค้าหลากหลาย แต่สำหรับเวลานี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงแห่งการเรียนรู้พัฒนา
แนวทางการเดินไปสู่การพัฒนายังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดกลุ่มสมาชิที่เป็นธนาคารกลางจาก 11 ประเทศก็ได้จัดตั้ง กองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 (ABF2)ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
ในส่วนนี้ บลจ. กสิกรไทย ได้ถูกเลือกให้บริหารจัดการกองทุนพันธบัตรเอเชียในส่วนที่เป็นกองทุนย่อยที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเทศไทย ซึ่ง ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทย บอกว่า บริษัทได้เริ่มบริหารกองทุนดังกล่าวในลักษณะกองทุนส่วนบุคคลตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 เป็นต้นมา และยังเป็นผู้บุกเบิก และปรับปรุงรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวให้เป็นกองทุนรวมแบบ ETF (Exchange Tradad Fund) เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบของสินค้าทางการเงินแบบใหม่ขึ้นในประเทศไทย
กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) เป็นกองทุนที่ลงทุนโดยอ้างอิงตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศไทย โดยมีขนาดกองทุนในช่วงแรกประมาณ 4-6พันล้านบาท สามารถลงทุนได้ทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย โดยจะเปิดขายในตลาดแรก(IPO)15-21 กุมภาพันธ์นี้
ดัยนา บอกว่าหลังจากทำการ IPO แล้วจะนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange-BEX) ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องและความสะดวกในการซื้อขายให้ผู้ลงทุน และในการซื้อขายนั้นผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ผ่านผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดและผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน
" เป้าหมายของผู้ลงทุนนั้นให้ความสำคัญทั้ง 3 กลุ่มไม่ว่าจะนักลงทุนสถาบัน ในประเทศ ต่างประเทศ หรือรายย่อยก็ตาม เพราะที่ผ่านมาทราบดีว่าการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเวลามีการขายสินคาก็จะเท ทำให้ตลาดผันผวน แต่ถ้ามีหลายรายเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องเชื่อว่าจะทำให้ตลาดพันธบัตรมีความสมดุลมากขึ้น"
ดัยนา เล่าถึงข้อแตกต่างของกองทุน ABFTH กับกองทุนเปิดทั่วไปว่า เวลาซื้อขายกองทุนเปิดทั่วไปผู้ซื้อหน่วยลงทุนจะต้องรอการคำนวณหน่วยลงทุนหรือNAV ที่จะรู้ผล ณ สิ้นวันก่อนถึงจะรู้ราคา แต่กองทุน ABFTH สามารถทราบข้อมูลและกำหนดราคาซื้อขายได้เลยในขณะนั้นโดยไม่ต้องรอการคำนวณ NAV
สันติ กีระนันทร์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ บอกว่า กองทุน ABFTH จดทะเบียนในตลาดBEX ทั้งกระดานสถาบันและรายบุคคลและสำหรับรายบุคคลหากสนใจราคาบนกระดานสถาบันก็สามารถติดต่อผ่านดีลเลอร์ซึ่งก็คือธนาคารนั่นเอง เนื่องจากกระดานดังกล่าวจะเป็นการซื้อขายผ่านดีลเลอร์ เมื่อสั่งซื้อและขายได้ในราคาที่เสนอ ดีลเลอร์จะนำมาเสนอต่อนักลงทุนรายย่อยซึ่งอาจจะมีการขายราคาเพิ่มเล็กน้อยเป็นกำไร
แต่ถ้ารายย่อยต้องการซื้อผ่านกระดานรายย่อยก็ติดต่อผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งโปรกเกอร์ก็จะผ่านมาที่กระดานบุคคล นักลงทุนรายย่อยก็จะได้ก็จะได้ราคาตามที่เสนอแต่จะมีการหักค่าธรรมเนียมจากโบรกเกอร์ตามที่กำหนดไว้
"ช่วงแรกเห็นว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ยากเพราะเป็นของใหม่สำหรับไทย แต่ก็ถือว่าเป้ฯการเรียนรู้เรื่องใหม่เพิ่มขึ้น นานวันความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น เหมือนการปลอกเปลือกมะพร้าว ต้อง ๆ ค่อยปลอกจนถึงแกนใน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น นักลงทุนเข้าใจ วิธีการทำกำไรจากกระดานนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนบุคคลก็จะเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้น"
สำหรับผลตอบแทนจากกองทุนกองทุน ABFTH นั้นเนื่องจากเป็นกองทุนประเภทดัชนีตราสารหนี้กองแรกในประเทศไทย ดังนั้นเป้าหมายผลตอบแทนจึงต้องให้มีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงมากที่สุด ซึ่งดัชนีดังกล่าวเป็นดัชนีสากล IBoxx จัดทำขึ้นโดยบริษัท International Company Limited (IIC) ซึ่งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนใกล้เคียง 5.25%
การใช้ดัชนี IBoxx เพราะกองทุนดังกล่าวเป็นการจัดตั้งขึ้นระหว่างธนาคารกลาง 11 ประเทศ ดังนั้นการใช้ดัชนีอ้างอิงจึงต้องมีความเป็นสากลและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นการก้าวในระยะที่ 2 สำหรับการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย แม้ในวันนี้ผลของการกระทำดังกล่าวจะยังไม่สะเทือนข้ามทวีป แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่สวยงาม ที่ไม่ต้องขนเงินจากเอเชียไปไว้ในทวีปอื่นจนหมด ทั้ง ๆ ที่เงินดังกล่าวเป็นของเอเชีย ก็ควรทำเพื่อเอเชีย แม้จะต้องใช้เวลานานในการพัฒนา แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าการไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย
|
|
 |
|
|