4 กูรูวงการแฟชั่นไทยร่วมถกกลยุทธ์การสร้างแบรนด์สินค้าแฟชั่นไทยยังด้อยอยู่ ชี้จุดอ่อนมีมากทั้งขาดการวิจัยต่อเนื่อง เงินทุน และขั้นตอนการผลิต ส่วนจุดแข็งแบรนด์ไทยอยู่ที่มีวัตถุดิบและแรงงานมีฝีมือ ระบุกว่าจะเทียบชั้นแบรนด์อินเตอร์ได้ต้องใช้เวลาอีกระยะ พร้อมเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐหนุนเรื่องแฟชั่นไทยสู่ฮับของเอเชีย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลมากขึ้น เห็นได้จากการที่ภาครัฐได้กำหนดให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาคและติดอันดับโลกให้ได้ภายในปี 2555 ดังนั้นช่วงที่ผ่านจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวต่างๆออกมาเป็นระยะ อาทิ โครงการ "กรุงเทพเมืองแฟชั่น" ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 หรืองานบางกอก แฟชั่น วีค 2005 ที่จัดไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นต้น
โดยกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้ติดตลาดโลกมี 3 มิติด้วยกัน ได้แก่ การสร้างคน, การสร้างธุรกิจ และการสร้างเมือง ซึ่งการที่ไทยจะไปสู่จุดนั้นได้ก่อนอื่นจะต้องมีการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากลและมีการสร้างตราสินค้าให้กับแบรนด์ตัวเองเสียก่อน ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนของแบรนด์ไทยที่ยังไม่มีการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง
ดังนั้นทางสาขาวิชาการโฆษณา ภาควิชาการประสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "FAB หรือ Fabulous : Fashion and Branding" โดยมี 4 ขุนพลผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นของไทย อาทิ นายภาณุ อิงคะวัต ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ เกรฮาวด์ จำกัด, นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทวรรณมานี จำกัด และบริษัทซังออนอเร่ (กรุงเทพ) จำกัด , นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการนิตยสารแอล และนายสมบัษร ถิระสาโรช เจ้าของบริษัทตือ จำกัด มาร่วมวงสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
แบรนด์คืออะไร
แบรนด์หรือตราสินค้าในมุมมองของนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ อาทิ แอร์เมส, เอ็มโพริโอ อาร์มาร์นี่,ทอดส์ เป็นต้น หมายถึง แบรนด์หรือตราสินค้าเหมือนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี เพราะมันเป็นเหมือนชื่อหรือนามสกุลของสินค้านั้นๆ ซึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จได้จะต้องกำหัวใจของผู้บริโภคให้ได้ ดังนั้นการสร้างแบรนด์จึงมีความจำเป็นหากสินค้าไทยจะไปสู่สากล ยิ่งโลกในปัจจุบันเป็นแบบโลกาภิวัตรด้วยแล้ว รวมถึงการเปิดเวทีการค้าเอฟทีเอที่จะทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น สำหรับแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ อาทิ แบรนด์แฟชั่นของเกลย์ฮาวด์ รวมถึงแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอย่างกระทิงแดงหรือเรดบูล เครื่องดื่มชูกำลังที่เป็นที่รู้จักดีในต่างประเทศทั้งในยุโรปและออสเตรเลีย รวมถึงร้านอาหารไทยที่มีโอกาสก้าวสู่ตลาดอินเตอร์ได้ไม่ยาก เช่น โคคาสุกี้ เป็นต้น
ด้านนายสมบัษร นักจัดออร์แกไนซ์มือ 1 ของไทย ให้ความเห็นประกอบว่า การสร้างแบรนด์ยังต้องอาศัยฟังก์ชั่นอื่นๆ ด้วยหากต้องการก้าวสู่สากล ทั้งในเรื่องคน การผลิต หรือการสนับสนุนจากภาครัฐบาล รวมถึงการมีพันธมิตรที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ไทยจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการเรียนรู้
กลยุทธ์การสร้างแบรนด์แฟชั่น
วิธีการสร้างแบรนด์สินค้าในมุมมองของนายภาณุ อิงคะวัต ผู้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าไทยอย่างเกรฮาวด์,เพลย์ฮาวด์และเกร รวมถึงร้านอาหารเกรฮาวด์ คาเฟ่และอะนาเตอร์ ฮาวด์ กล่าวว่า เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ คือ การสั่งสม ซึ่งแบรนด์เหมือนสิ่งมีชีวิตต้องการการดูแลอยู่ตลอดเวลา ทั้งการประชาสัมพันธ์, การตลาด,พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ซึ่งสินค้าแฟชั่นและสินค้าอื่นจะไม่ค่อยแตกต่างกันมาก แต่สินค้าแฟชั่นอาจมีเรื่องสไตล์และความชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยโดยตรง
ส่วนวิธีการที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้นั้นนั้น นางนวลพรรณ กล่าวในฐานะผู้มีประสบการณ์ว่า ธุรกิจการนำสินค้าแฟชั่นเข้ามาทำตลาดไทยนั้นใช้นำหลักทางการตลาด 4 P มาใช้ คือ 1. ผลิตภัณฑ์(Product) หรือสินค้าแฟชั่นนำเข้าต้องมีการซื้อล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน 2. สถานที่(Place) หรือโลเคชั่นในการจำหน่ายสินค้า 3. โปรโมชั่น (Promotion) เช่น การทำซีอาร์เอ็มเพื่อเก็บฐานข้อมูลลูกค้า และ 4. ราคา (Price) ซึ่งไทยเสียเปรียบอยู่ในการตั้งราคาสินค้า เนื่องจากภาษีนำเข้าสูงกว่า 60% ขณะที่สิงคโปร์และฮ่องกงภาษีนำเข้า 0%
บทบาทของสื่อในการสร้างตราสินค้า
ในฐานะตัวแทนสื่อ นายกุลวิทย์ กล่าวว่า นิตยสารไทยมีหลายประเภท ดังนั้นการทำงานจึงมีหน้าที่แตกต่างกันไป ส่วนนายสมบัษร กล่าวว่า การสร้างแบรนด์สินค้าในปัจจุบันมีมากขึ้น อาทิ การจัดแฟชั่นโชว์หรือจัดงานออร์แกไนซ์ รวมถึงโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนหรือการเลือกสื่อให้ตรงกับสินค้ามากที่สุด
จุดแข็งและจุดอ่อนแบรนด์ไทย
สำหรับจุดแข็งแบรนด์ไทยในการก้าวสู่สากลได้นั้น คือ คนไทยมีศิลปะในการแต่งตัวที่ดีและสวย , การมีวัตถุดิบที่ดีอยู่หลายอย่างทั้งกลุ่มแฟชั่นและอัญมณี ที่สำคัญแรงงานไทยมีทักษะและมีฝีมือดี โดยเฉพาะฝีมือทางด้านเจียรนัยเพชร ฯลฯ ซึ่งตรงนี้เรายังได้เปรียบจีนและเวียดนามถึงแม้ค่าแรงของ 2 ประเทศนี้จะถูกกว่าก็ตาม
"จุดอ่อนของแบรนด์ไทย คือ การขาดการทำวิจัยหรืออาร์ แอนด์ ดี อย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ทางภาครัฐเห็นจุดอ่อนแล้ว จึงมีการส่งเสริมทางด้านนี้ เช่น การตั้งศูนย์ทีซีดีซี เป็นต้น นอกจากนี้เรื่องกระบวนการผลิตของไทยยังเป็นต้นน้ำอยู่หรือรับจ้างผลิตอยู่ ตรงนี้เห็นได้จากลิขสิทธิ์ไทยที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศพบว่ายังน้อยมาก ส่วนเรื่องโอกาสที่ไทยจะเป็นเซ็นเตอร์ของเอเชียนั้นก็เป็นไปได้ แต่ติดตรงที่คนต่างชาติยังมองเมืองไทยว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่ ขณะที่เรื่องภาพลักษณ์ประเทศไทยยังไม่เป็นเมืองแฟชั่น คงต้องใช้เวลาในการสร้างภาพลักษณ์ตรงนี้นานพอสมควร" เป็นคำกล่าวของนางนวลพรรณ
ส่วนนายภาณุ กล่าวเสริมว่า แบรนด์ไทยยังด้อยกว่าแบรนด์อินเตอร์มาก ทั้งในเรื่องของเงินทุน การผลิต คุณภาพสินค้า และโรงงาน ฯลฯ ซึ่งแบรนด์ไทยยังต้องมีการพัฒนาอีกไกลถึงจะตามทัน ในส่วนของดีไซน์เนอร์ไทยนั้นจะเห็นได้ว่ามีความอิสระสูงและมีฝีมือ แต่ยังขาดเรื่องความต่อเนื่องในการทำงานอยู่
บทบาทภาครัฐต่อแฟชั่นไทย
รัฐบาลชุดนี้ให้การสนับสนุนเรื่องแฟชั่นไทยอย่างชัดเจน เห็นได้จากโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น ซึ่งตรงนี้ นายภาณุ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดี และเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของภาครัฐ แต่ควรมีการติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง
ส่วนนายกุลวิทย์ ฉายความเห็นว่า โครงการทั้ง 11 โครงการที่อยู่ในกรุงเทพเมืองแฟชั่นยังไม่สามารถลิงค์กันได้ ถือเป็นจุดอ่อนที่ควรแก้ไขในครั้งต่อไป รวมถึงผู้นำโครงการจะต้องเป็นคนที่รู้เรื่องแฟชั่นเป็นอย่างดีถึงจะบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านนายสมบัษร์ กล่าวว่า สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานบางกอก แฟชั่นวีค 2005 ที่ผ่านมา คือ เรื่องบายเออร์หรือผู้ซื้อที่ทางภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ และสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ในเวลานี้ถือเป็นกระแสและเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อวงการแฟชั่นไทย
|