Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2540
"หัวเลี้ยวหัวต่อสังคมเศรษฐกิจไทย"             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว มานิตา เข็มทอง สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
 

 
Charts & Figures

ตารางคาดหมายอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 4 สกุลในอาเซียน
ตารางแสดงจำนวนคนงานที่คาดว่าจะถูกเลิกจ้าง
ตารางแสดงความต้องการแยกตามระดับฝีมือระหว่างปี 2541-2544


   
search resources

ทนง พิทยะ
ธีระ อัชกุล
สม ศุภนคร
กุณฑล ศรีเสริมโภค
Economics




ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤตการเงินอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเวลานี้เริ่มขยายวงกว้างไปสู่ประเทศ "เสือ" เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสกุลเงินซึ่งในช่วงกลางเดือน ก.ค. สี่สกุลเงินอาเซียนถูกโจมตีจากนักเก็งกำไรจนปั่นป่วนไปหมด นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกมองว่ากรณีประเทศไทยเป็นเรื่องเฉพาะ และมีทางออกเรื่องนี้ได้ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ไทยเองนั้น แม้ส่วนมากจะยังไม่มีสายตามองโลกในแง่ร้าย เพราะไม่เชื่อว่าภายใต้โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจ การเมืองไทยปัจจุบันจะสามารถนำพาประเทศชาติฝ่าพ้นวิกฤติรอบนี้ได้ แต่ก็ยังมีคนคาดหวังในแง่ดีอยู่บ้าง เช่น หากการส่งออกไตรมาส 4 สามารถเพิ่มเป็น double digit ได้และโครงการ Amazing Thailand ประสบผลสำเร็จ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจกระเตื้องขึ้นได้เร็วกว่าที่คาด!?

การประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันพุธที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมาของแบงก์ชาติเป็นข่าวสำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่มีผลประโยชน์การลงทุนในประเทศไทย มันเป็นสิ่งที่คนส่วนมากคาดหวังว่าควรจะเป็นมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าแบงก์ชาต ิและกระทรวงการคลังภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเคยประกาศต่อสู้การเก็งกำไรซึ่งนำมาสู่การลดค่าเงินบาทอย่างถึงที่สุดก็ตาม

ผลจากการประกาศให้เงินบาทลอยตัวในวันนั้น ค่าเงินบาทก็ลดลงในทันทีราว 10-15% และภายใน 2 สัปดาห์ถัดมา ค่าเงินสกุลอื่น ๆ ของประเทศอาเซียนก็ถูกนักเก็งกำไรโจมตี จนเป็นเหตุให้มีการประกาศให้ค่าเงินลอยตัว (floated rate) หรือขยายแบนด์ (trading band) การเทรดของเงินอีก 3 สกุลก็คือ เงินรูเปียห์ (อินโดนีเซีย) เงินริงกิต (มาเลเซีย) และเงินเปโซ (ฟิลิปปินส์)

นักวิเคราะห์บางรายพยายามชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเป็นกรณีเฉพาะ ไม่ได้มีผลกระทบในลักษณะโดมิโนต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้หรือการที่ค่าเงินอื่นๆ ถูกโจมตีและได้รับผลกระทบไปด้วยนั้นก็เป็นเรื่องชั่วคราว (cyclical) บางคนกล่าวว่า "4 ประเทศอาเซียนหรือ The Asean Four" ยังมีช่องทางที่จะเติบโตได้อีก และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ด้วย (หนังสือพิมพ์) ไฟแนนเชียลไทมส์, 17 ก.ค. 1997


นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคาดหวังบทเรียนสอนใจรัฐบาล

บทวิเคราะห์ล่าสุดจากไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อ 17 ก.ค. 1997 มองสถานการณ์ความปั่นป่วนเรื่องค่าเงิน ของ 4 สกุลเงินอาเซียนว่าเป็นเพียง "อาเซียนไวรัส" และการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะหยุดยั้ง "ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของอาเซียน" ได้ (economic miracle)

บทวิเคราะห์ดังกล่าวได้อ้างคำพูดของนายพอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งสถาบัน MIT หรือ Massachesetts Institute of Technology ในสหรัฐฯ ผู้ซึ่งเคยทำให้ภูมิภาคนี้ตื่นตระหนกเมื่อ 2 ปีก่อนด้วยการคาดหมายจุดจบของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ ครั้งนี้เขากล่าวว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของจุดจบแห่งความมหัศจรรย์ดังกล่าว ทว่ามันเป็นเรื่องวงจรทางเศรษฐกิจ (cyclical)

อัตราการส่งออกที่เติบโตช้าลงในปีที่ผ่านมาเริ่มแสดงให้เห็นว่าการเติบโตหยุดนิ่งหลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศอาเซียนขยายตัวอย่างมากในกลางทศวรรษ 1990 ครุกแมนกล่าวว่า "การเติบโตขนาดนั้นก่อให้เกิดวิกฤติขึ้นในตัวเองได้" ส่วนนักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ มองว่ารัฐบาลอาเซียนต้องเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่นในการจัดการกับการไหลเวียนของเงินทุนระหว่างประเทศและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย

ประเด็นที่นักวิชาการเหล่านี้มองคือการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงที่เป็นมาเพราะใช้การลงทุนมหาศาล ใช้แรงงานราคาถูก มากกว่าที่จะเน้นปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการบวนการผลิต (efficiency & productivity)

การที่อัตราการส่งออกลดลงในปีที่แล้ว ไม่ได้เป็นสิ่งกระตุ้นให้มีความสนใจเรื่องการเพิ่มความสามารถในการผลิตและการเคลื่อนสู่กระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนมากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความสนใจในการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานน้อยมาก แต่ยังคงเน้นเพิ่มการลงทุนโดยเฉพาะในกิจการอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี ครุกแมนก็เห็นความสัมพันธ์กันน้อยมากเกี่ยวกับวิกฤติความปั่นป่วนของประเทศ Asean Four ครั้งนี้กับการจำกัดการเติบทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เขาคิดว่าการเจริญเติบโตไม่ได้ยุติลงทั้งหมดทั่วภูมิภาคแต่จะเกิดในลักษณะที่เป็นการหยุดนิ่งเป็นระยะเวลานานต่างหาก

จุดที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งก็คือวิธีคิดแบบ generalization ทั้งนี้พวกเขามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นกรณีเฉพาะ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดในประเทศอาเซียนอื่น ๆ ทั้งนี้แรงงานไทยมีความชำนาญต่ำมากเพราะมีการละเลยเรื่องระบบการศึกษามาเป็นเวลานาน เมื่อต้นทศวรรษ 1990 ก็มีการนำแนวคิดเรื่องการปล่อยเสรีภาคการเงินเข้ามาใช้ ซึ่งแนวคิดนี้ขัดแย้งกับนโยบายการกำหนดค่าเงินบาทที่ให้ผูกติดกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ สถาบันการเงินที่ถูกควบคุมอย่างหลวมๆ ได้ทำการกู้ยืมเงินทุนต่างประเทศระยะสั้นเข้ามาเป็นจำนวนมากซึ่งคาดหมายว่าในปี 1994-1996 สถาบันการเงินไทยกู้เงินต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือประมาณ 77.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งนี้เป็นตัวเลขที่เปิดเผยจากสถาบัน BIS ซึ่งหากเทียบเคียงกับประเทศ "เสือ" ตัวอื่น ไทยมีปริมาณเงินกู้สูงกว่ามาก

เมื่อสิ้นปี 1996 ธนาคารในฟิลิปปินส์ กู้เงินเข้ามารวม 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารในอินโดนีเซียมีการกู้ลดลง 1.1 พันล้านดอลลาร์ เหลือยอดคงค้างเพียง 11 พันล้านดอลลาร์

ศ. Rudi Dornbusch แห่ง MIT กล่าวว่าประเทศไทยมีความสามารถที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ไทยมีประวัติในแง่ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโอบอุ้มทางการเงินแก่ภาคธุรกิจมาตลอด โดยเฉพาะภาคการเงิน ภาระเร่งด่วนของรัฐในยามนี้คือการแก้ปัญหาหนี้เสียของกิจการสถาบันการเงิน ในแง่นี้ญี่ปุ่นน่าจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ธนาคารและบริษัทไทยได้

นอกจากนี้เขามองแง่ดีว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนไม่เหมือนประเทศละตินอเมริกา ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีสถานะของงบประมาณ (fiscal position) ที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราการออมในประเทศสูงกว่ามากด้วย นอกจากนี้ก็มีความสามารถจัดการหนี้และบริหารการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ามาก

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) นาย V.V Desai กล่าวว่า "ประเทศในกลุ่มอาเซียนยังมีช่องทางที่จะเติบโตได้อีกมาก และไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องเกิดวิกฤติความเชื่อมั่นต่อประเทศเหล่านี้"

อย่างไรก็ดี เหล่านักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นว่าเศรษฐกิจของอาเซียนยังมีความไร้ประสิทธิภาพอีกมาก เพราะได้ผลการะทบจากการลงทุนที่มีเข้ามาอย่างมหาศาลและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่คับแคบผิดพลาด ทั้งนี้สภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ดำเนินอยู่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

นักเศรษฐศาสตร์ไทยมองแง่ดีอย่างมีเงื่อนไข

อย่างไรก็ดีหากมองจากมุมของคนไทย มองดูตัวเองบ้างนั้น อาจพิจารณาได้ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อ 2 ก.ค. มีทั้งผลดีและผลเสีย

ผลดีคือ การลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินต่ำลง ในอนาคต ก็เป็นที่คาดได้ว่าเราจะสามารถส่งออกได้ดีขึ้น ทั้งน ี้เพราะ อัตรากำไร ที่ได้จากการส่งออกจะดีมาก แทบจะดีกว่าทุกภาคอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ดร. ธีระ อัชกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "สำหรับผมแล้ว การส่งออกเป็นหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราได้ เราต้องส่งออกให้ได้ และต้องให้ได้เป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งผมก็หวังว่าการส่งออกเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะได้เห็นตัวเลข 2 หลัก"

นอกจากนี้ ดร. ธีระมองด้วยว่า ผลดีอีกอย่างของการที่ค่าเงินลดต่ำลงคือ "ทำให้ปรับสู่ดุลยภาพมากขึ้น จะทำให้การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยดีขึ้น" ในที่นี้เขาหมายถึงการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้ทำได้ง่ายและเป็นที่นิยมเพราะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เนื่องจากใช้ระบบตะกร้าเงิน ที่ทำให้ค่าเงินบาทค่อนข้างแน่นอน ไม่หวือหวา การกู้เงินเช่นนั้น เนื่องจากได้มาง่าย ๆ ก็นำไปใช้ในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ในภาคการผลิต ถูกนำไปใช้ในภาคการผลิตที่มีลักษณะเป็นสินค้าล้นเกินอุปสงค์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นเมื่อมีการลอยตัวเงินบาทอ่อนลงมาอย่างนี้ การจัดสรรทรัพยากรพวกนี้ก็จะมีลักษณะเปลี่ยนไป ก็จะเป็นการแก้ปัญหาในอดีตพวกนี้ให้หมดไปด้วย ซึ่งหมายถึงการลงทุนที่ล้นเกินความต้องการด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะหมดไปด้วย

ผลอีกประการหนึ่งคือ การนำเข้าจะลดน้อยลงโดยเฉพาะ การนำเข้าเพื่อการบริโภค เนื่องจากต้นทุนสูง เพราะระดับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบนั้น ดร. ธีระมองว่า หากให้เวลาอีกสักพัก การนำเข้าวัตถุดิบก็จะต้องลดลงไปด้วย และจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนหรือ Supporting industry ขึ้นมาแทน ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยขึ้นมาด้วย

ประเด็นนี้สอดคล้องกับ สถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทย หรือ BOI ซึ่งสนับสนุนให้นักลงทุนเน้นส่งออกสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ๆ (value added) เพราะสามารถแข่งขันได้ดีกว่าและให้ผลกำไรสูงกว่าสินค้าที่ใช้การผลิตในลักษณะ labour intensive

นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่ลดต่ำลงก็อาจจะจูงใจให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศอีกระลอกได้หลังจากที่นักลงทุนต่างประเทศไม่มั่นใจเรื่องนโยบายค่าเงินมาระยะหนึ่ง (หากนับตั้งแต่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2538 ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์วิกฤติค่าเงินเปโซของเม็กซิโก เมื่อเดือนธันวาคม 2537)

ดร. ธีระอธิบายว่า "ในเมื่อค่าเงินบาทได้ถูกปรับลดมาในราคาที่นักลงทุนคิดว่าเหมาะสมแล้วหรือปรับลดลงมาจนรู้สึกว่าเงินบาทถูกเหลือเกิน ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ ทั้งนี้การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นไปได้เร็วเท่าใดขึ้นอยู่กับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ถ้าเราสามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้มากเท่าไร และในระยะเวลาที่เร็วมากเท่าไร เศรษฐกิจของเราก็จะฟื้นฟูกลับมาได้เร็วเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ ดร. ธีระ ตระหนักดีว่า การไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นแบบทะลักเข้ามาโดยไม่มีการบริหารหรือการรับมือที่ดีพอนั้น ทำให้เกิดปัญหามากเพียงใด และการกู้ยืมระยะสั้นด้วยเช่นกัน "เรามีประสบการณ์ที่บาดเจ็บมาแล้วว่า ไม่ดีเอา hot money ที่เป็นระยะสั้นมาไฟแนนซ์ ทำ infrastructure หรืออุตสาหกรรมที่เป็น long term project finance ผลเสียสูง หรือจะเข้ามาในลักษณะการลงทุนโดยตรงก็จะดี เป็นการย้ายฐานการผลิตเข้ามาอีก"

ทั้งนี้ในการลดค่าเงินบาทเมื่อ 13 ปีที่แล้ว มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างมหาศาล ซึ่งคาดหมายว่าในการลอยตัวค่าเงินบาทครั้งนี้จะได้รับผลกระทบเช่นนั้นอีกครั้ง

ด้านผลเสียนั้นเป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้นำเข้าบาดเจ็บทั้งหมด เพราะมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าเพื่อการบริโภค สินค้าจะมีราคาแพง ขณะที่ประชาชนมีอำนาจในการซื้อน้อยลง ทำให้กำไรของพวกเขาน้อยลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอัตตราเงินเฟ้อที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ราคาวัตถุดิบพื้นฐานต้องเพิ่มขึ้น อย่างน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ฝ่ายวิจัย บรรษัทฯ คาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6%-7% ตัว ดร. ธีระคิดว่าอยู่ที่ 6% และเขาเห็นว่าควรมีการพยายามดึงไม่ให้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มสูงขึ้นไปจนเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น และอย่าให้ปัจจัยทางการเมืองเข้ามาแทรกในเรื่องนี้ "เพราะต่างประเทศจะจับตาดูเรื่องนี้ หากค่าจ้างแรงงานของเราสูงขึ้นโดยไม่รองรับกับปัจจัยพื้นฐานก็ไม่เป็นผลดีต่อคนไทย เพราะไม่มีงานทำ และขายของไม่ได้"

การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินเป็นเรื่องดี

ต่อประเด็นเรื่องความจำเป็นในการกู้เงินต่างประเทศ ซึ่งเกิดเป็นข่าวขึ้นมาว่า ดร. ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปเจรจาเรื่องนี้ที่ญี่ปุ่นนั้น ดร. ธีระ มองว่าเป็นเรื่องดี "รัฐบาลมีหนี้สินน้อยมาก ต่ำกว่า 10% ของ GDP เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังมีเครดิตสูงมากในการระดมเงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาปรับโครงสร้างทางการเงิน แต่ที่ต้องระวังคือเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะไปจ่ายเขา เพราะทราบว่าจะกู้เป็นจำนวนมหาศาล"

การกู้เงินมีหลายแบบเช่น กู้จาก IMF กู้ในลักษณะ government to government หรือกู้ในตลาดบอนด์ แต่ถ้ากู้เป็นจำนวนมาก ๆ นั้น คงไม่สามารถทำในตลาดบอนด์ได้ เพราะตลาดไม่สามารถซึมซับได้ในครั้งเดียว ส่วนการกู้จาก IMF นั้นก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของเขา ซึ่งจะทำได้หรือไม่ เช่น การคุมเงินเฟ้อ คุมวินัยด้านการเงิน การคลัง และการกู้ในระดับประเทศนั้นอาจกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่นได้

อย่างไรก็ดี การกู้มาครั้งนี้ ดร. ธีระมองว่าน่าจะกู้มาเพื่อปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชน ซึ่งในเวลานี้ขาดแคลนเงิน และไม่สามารถระดมเงินจากต่างประเทศได้ "ปัญหาครั้งนี้ต้นตออยู่ที่ภาคเอกชนที่ไปกู้ระยะสั้นมาแล้วเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง รัฐบาลอาจกู้มาเพื่อปล่อยให้ภาคเอกชน ตรงนี้ในลักษณะ soft loan"

แต่แนวคิดนี้อาจได้รับการต่อต้านจากนักวิชาการอื่น ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในสถาบันการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มว่า ภาคเอกชนควรต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเต็มตัว ไม่ควรให้รัฐเข้าไปช่วยเหลืออีก โดยเฉพาะหากต้องนำเงินภาษีของประชาชนเข้าไปแก้ไขการล้มละลายของเอกชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ดร. ทนงเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยนั้นเขากล่าวว่า "ไม่ได้เดินทางไปกู้เงิน และไม่ได้มีแนวคิดในเรื่องนี้ แต่เดินทางไปทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นกับนักการเงินและนักลงทุนญี่ปุ่นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ"

เขาเปิดเผยว่ามีนักธุรกิจญี่ปุ่นในไทยถึง 20,000 คน และยังมีชาวญี่ปุ่นที่พำนักในประเทศไทยรวมกับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นอีกนั้นคิดเป็นจำนวนรวมกันกว่า 60,000 คน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการลงทุนในประเทศมากที่สุดในประเทศอาเซียน และเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย เขาจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะทำความเข้าใจกับนักธุรกิจญี่ปุ่น นอกจากนี้เขาได้เจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นให้เป็นระยะยาวและให้ความมั่นใจว่าเงินลงทุนและเงินกู้ของญี่ปุ่นจะไม่สูญหาย

ทั้งนี้มูลค่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเมื่อสิ้นปี 1996 เท่ากับ 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้คิดเป็นหนี้ภาคเอกชนประมาณ 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการกู้เงินมาช่วยสภาพคล่องในประเทศนั้น รมว. การคลังยังปฏิเสธเรื่องนี้โดยกล่าวว่า "ยังไม่มีความจำเป็นหรือเป้าหมายที่จะกู้เงิน"

อย่างไรก็ดี มีประเด็นน่าคิดประการหนึ่งว่าแบงก์ชาติได้ออกมาประกาศว่าจะตรึงค่าเงินหรือบริหารค่าเงิน (managed float) ที่อัตรา 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินของประเทศเพื่อบ้านเผชิญความปั่นป่วนอยู่ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. จึงน่าเป็นห่วงว่าจะต้องใช้เงินสำรองเพื่อตรึงค่าเงินที่อัตราแบงก์ชาติประกาศอีกหรือไม่ หลังจากที่เคยทำเช่นนี้มาก่อนในครึ่งปีแรกและปรากฏว่าเงินสำรองลดลงจากระดับ 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


ต้องรอเวลาให้ค่าเงินเข้าสู่ดุลยภาพ

ในประสบการณ์ของหลายประเทศที่ใช้นโยบายค่าเงินลอยตัว ปรากฏว่าต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งค่าเงินจึงจะปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ ซึ่งประสบการณ์ของประเทศสวีเดน ใช้เวลา 5 ปีในการกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด

ในกรณีของประเทศไทย ดร. ธีระมองว่า "เทียบกับประเทศที่มีการลดค่าเงินแล้วสถานภาพใกล้เคียงกับประเทศไทย ในเดือนแรกค่าเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนอีก 5-6 เดือนหลังจากนั้น การเปลี่ยนแปลงจะยังมีอยู่ค่อนข้างสูง แต่ก็ต่ำกว่าในช่วงเดือนแรก"

กล่าวให้ชัดในช่วงเดือนแรกค่าเงินจะผกผันระหว่าง 25.75 - 30 บาท และในช่วง 6 เดือนหลังจะอยู่ระหว่าง 29 - 32 บาท แต่ไม่ควรถึง 33 บาท และหลังจากนั้นครึ่งปีหลังของปีหน้า เป็นไปได้ว่าเงินบาทจะแข็งขึ้นมาอีกเล็กน้อย ไม่มาก หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเรียบขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงช่วงนั้นจะขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่นมีการส่งออกดีไหม ต่างประเทศสนใจลงทุนในประเทศไหม อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างไร งบประมาณขาดดุลหรือไม่

ดังนั้นค่าเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักธุรกิจจะต้องเข้าใจประเด็นนี้และมีสายตามองไปข้างหน้าให้มาก เพื่อที่จะปรับวิธีทำธุรกิจให้สอดคล้องกัน

การลอยตัวค่าเงินบาทครั้งเป็นวิธีที่ดีกว่าการลดค่าเงินบาท เพราะการลอยตัวค่าเงินบาทให้ผลใน 2 เรื่อง คือมีการลดค่าเงินบาท และได้เอาปัจจัยทางด้านการเมืองในอนาคตออกไป ซึ่งหมายความว่าหากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจกำหนดให้ค่าเงินบาทต้องลดลงอีก ค่าเงินก็จะลดลงมาโดยปริยาย ไม่มีใครต้องมาประกาศลดค่าเงิน หรือในทางกลับกัน หากพื้นฐานเศรษฐกิจดี ฟื้นตัวได้เร็ว ค่าเงินก็จะแข็งขึ้นโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี การใช้ระบบ managed float ยังเอื้อให้ทางการเข้ามาแทรกแซงได้ ดังที่แบงก์ชาติประกาศแทรกแซงค่าเงินที่อัตรา 30 บาท แต่การแทรกแซงค่าเงินนั้น ดร.ธีระมองว่า ควรทำใน 3 สถานการณ์คือ

- บริหารเงินสำรองเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

- บริหารการใช้จ่ายเงินตราต่างประเทศของหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีการใช้
จ่ายเงินต่างประเทศจำนวนมหาศาล เพราะมีผลกระทบต่อเงินสำรอง เช่น การซื้อเครื่องบิน ซื้อเรือดำน้ำของกองทัพ เป็นต้น

- เกิดเหตุการณ์ผิดปกติในการซื้อขายเงินที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งแบงก์ชาติควรเข้าแทรกแซง แต่สำหรับเหตุการณ์ซื้อขายปกติ แบงก์ชาติไม่ควรเข้าแทรกแซง

ส่วนการบริหารด้วยระบบตะกร้าเงินนั้น เป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติกำลังอยู่ในระหว่างการปรับหน่วยงานเหล่านี้ และสร้าง reference rate, indicative rate ใหม่มาใช้ตลาด

ปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่หมด

จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในครั้งนี้ ทำให้ต้องมีการประกาศประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่หมด ซึ่งในระยะที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงค่าเงิน อาจยากต่อการประกาศ อย่างไรก็ดี ดร.ธีระยังมองว่าตัวเลขการส่งออกยังคงอยู่ในอัตราการเติบโตที่ระดับ 7% ในเงื่อนไขที่ว่าไตรมาส 4 ของปีนี้ต้องมีการส่งออกมากกว่า 10% ตัวเลขการเติบโตรวมจึงจะอยู่ที่ระดับ 7% ได้

ด้านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องมีการปรับลง คาดว่าอยู่ในระดับ 4% - 4.5% ส่วนเงินเฟ้อที่เคยให้ไว้ในระดับ 4.5% ต้องปรับตัวเลขขึ้น น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% - 7%

การที่นักวิชาการบางค่ายให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าติดลบนั้น ดร.ธีระมองว่าอาจเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจถดถอยจนติดลบในเงื่อนไขที่ว่าอัตราดอกเบี้ยพุ่งเข้าใกล้ 20% ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี "ถ้าดอกเบี้ยเป็น 18%, 19% แล้วอยู่ตลอด 4-5 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจไทยคงถดถอยและติดลบแน่นอน"

อย่างไรก็ดี เขาคาดหวังในแง่ดีว่า "ถ้าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ในวงการ ในระดับ 14% - 15% แล้วสภาพคล่องดีขึ้นบ้างจากการที่เงินทุนต่างประเทศมีความมั่นใจไหลกลับเข้ามา หรือจากการที่รัฐบาลไประดมทุนจากต่างประเทศโดยตรงก็ตาม เศรษฐกิจก็คงชะลอตัวลงเหลือประมาณ 4.2% - 4.3% ไม่น่าจะติดลบ"

นอกจากนี้การที่มีผู้กล่าวพาดพิงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทยว่ามีการผิดพี้ยนไปมากนั้น ดร.ธีระมองว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น เขาอธิบายว่า

สาระสำคัญที่มีการบิดเบือนไปนั้นเนื่องจากการใช้ระบบตะกร้าเป็นตัวหลักใหญ่ ทำให้เงินบาทแพง ทำให้สิ่งต่างๆ ผลิตมาเพื่อตอบสนองการใช้ในประเทศ สู่ nontradable มากเกินไป แต่โดยส่วนรวมแล้วยังไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมายการพัฒนาในแผนฯ 8 และค่าเงินบาทที่คลาดเคลื่อนไปนั้น ก็ไม่ได้มากมายอะไร อยู่ในระดับ 10% - 20% เพราะฉะนั้นไม่ต้องถึงกับปรับตัวมากมายจากหน้ามือเป็นหลังมือ เศรษฐกิจคงไม่ต้องเจ็บปวดถึงขนาดติดลบ

ลักษณะ over supply ในบางภาคอุตสาหกรรมยังมี แต่ถ้าเศรษฐกิจสามารถกลับมาขยายตัวได้ คิดว่าปี 2541 น่าจะเป็นปีสร้างฐานอีกปี และในปี 2542 จะมีโอกาสมากที่จะเห็นการขยายตัวมากกว่า 7% หรือมากกว่านั้น

ดังนั้นการที่กล่าวกันว่าเศรษฐกิจเรา มีส่วนเกินเหลืออยู่เยอะนั้น โอกาสที่จะ absorb ให้กำลังการผลิตนั้นหมดไป ก็จะใช้เวลาไม่มากนัก 2-3 ปี ก็ทำได้ เพราะเศรษฐกิจไทยค่อนข้าง จะมีลักษณะ dynamic มาก

นอกจากนี้ ดร.ธีระ มองประเด็นที่มีการพูดกันมาก ว่าประเทศไทย จะเป็นเหตุให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ เผชิญปัญหา ในลักษณะเดียวกันนั้น เขาให้ความเห็นว่า "ผลทางด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุน คงจะมีบ้าง แต่สิ่งที่ไทยเผชิญอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่โรคที่จะแพร่เชื้อติดต่อได้ มันเป็นปัญหาภายในของเราเอง ไม่มีทางที่สิงคโปร์จะเป็นอย่างไทยได้ หรือบางประเทศที่เป็นเหมือนไทย เพราะเขาทำตัวเอง เขาปล่อยให้ค่าเงินของเขาแข็งไป ปล่อยให้มีการผูกขาดกิจการ ไม่มีการแข่งขัน การเล่นพรรคพวก การคอร์รัปชั่น เขาทำตัวเขาเองอย่ามาโทษเรา"

อาจกล่าวได้ว่ามุมมองนี้สอดคล้องกับทัศนะนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ในตอนต้นที่เห็นว่าความปั่นป่วนทางการเงินของไทยและประเทศ Asean Four เป็นไวรัส และเป็นเรื่อง cyclical เท่านั้น

วิกฤติแรงงานไทย

การที่โลกเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้หมด การพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะที่รุนแรงและเข้มข้นขึ้นด้วย ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในเสือตัวแรกๆ ที่ต่อไปนี้จะมิได้แข่งขันกับเพื่อนในภูมิภาคเดียวกันเท่านั้น แต่ต้องก้าวสู่เวทีการค้าโลกแล้ว การพัฒนาฝีมือแรงงานไทยจึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันแรงงานไทย ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในภาคการผลิตของไทยถูกมองว่าไม่สามารถสู้กับแรงงานต่างชาติหรือแรงงานจากเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เวียดนาม จีน เป็นต้นได้อีกต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อนาคตของแรงงานไทยเปลี่ยนไปก็คือ สภาพโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทยที่กำลังเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้นเป็นหลัก แรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตใหม่นี้ได้ก็ต้องถูกปลดหรือถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาวะการถูกเลิกจ้างนี้ถือ เป็นวิกฤติการณ์ที่สำคัญของแรงงานไทยในปัจจุบันทีเดียว แรงงานที่มีแนวโน้มถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในภาค อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมรองเท้า และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมของเด็กเล่น และของชำร่วย อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป และอาหารแช่แข็ง และอุตสาหกรรมอัญมณี (ตาราง2)

จากการสำรวจของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม คาดว่าในปี 2540 นี้จะมีการเลิกจ้างคนงานจำนวน 23,142 คนใน 24 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.3) จะเป็นคนงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวไว้ข้างต้น ตัวเลขแรงงานที่คาดว่าจะถูกเลิกจ้างนี้ เป็นตัวสะท้อนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึง คุณภาพของแรงงานไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือและขาดทักษะในกระบวนการผลิต ที่กำลังปรับเข้าสู่การผลิตสินค้าระดับ HIGH END ที่มีคุณภาพสูงและราคาสูงขึ้นด้วย

นอกจากนั้น การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นประจำทุกปีจนทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทยสูงกว่าแรงงานเพื่อนบ้านมาก นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่แสดงออกมาชัดเจน ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ เนื่องจากนายจ้างไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเมื่อเทียบกับคุณภาพที่จะได้รับ จึงต้องมีการจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่ามากขึ้น

ภาวะ "แรงงานถูกลอยแพ" จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศได้มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างให้มีทักษะฝีมือและความสามารถในการประกอบอาชีพอิสระ หรือสามารถกลับเข้าสู่การทำงาน ในภาคอุตสาหกรรมได้ต่อไป โดยทางกรมพัฒนาฯ จะประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งประสานงานกับกรมจัดหางานในเรื่องตำแหน่งงานที่ว่างและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมสามารถเข้าทำงานได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานได้ทันทีที่มีตำแหน่งงานว่าง

ทั้งนี้ การพัฒนาฝีมือแรงงานไทยนับเป็นงานที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่การขออนุมัติเงินงบประมาณจากรัฐบาลไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาเจียดจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2540 ล่วงหน้าไปก่อน

โดยรายละเอียดของเงินงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 83,598,800 บาทของกรมพัฒนาฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นเงินจำนวน 40,000,000 บาท ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเดือดร้อนของคนงานที่ถูกเลิกจ้าง และส่วนที่ 2 จำนวน 43,598,800 บาท ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและเป็นค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายของการบริหารงานทั่วไปของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน 17 แห่ง เงินในส่วนที่ 2 นั้นทางกรมพัฒนาฯ ต้องเจียดจ่ายงบประมาณปี 40 ไปก่อนหน้านั้น คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 40,020,000 บาท แบ่งเป็นเงินสำหรับการฝึกเตรียมเข้าทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ จำนวน 35,460,000 บาท ซึ่งจะทำการฝึกทั้งหมด 90 รุ่น ๆ ละ 30 คน รวม 2,700 คน ระยะเวลาการฝึก 3 เดือน และสำหรับฝึกเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานอีก 4,560,000 บาท โดยฝึกทั้งหมด 190 รุ่น ๆ ละ 30 คน รวม 5,700 คน ระยะเวลาการฝึก 60 ชั่วโมง

"โครงการนี้ถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่เราทำขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องจากมีภาวะการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราคิดว่าตัวเลขการถูกเลิกจ้างต้องมีเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่คงไม่ถึงกับมากจนเกิดความเดือดร้อนมากมาย จะเป็นเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ขาดฝีมือ และขาดประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น และงบประมาณที่เราตั้งขึ้นนี้ หากไม่พอก็สามารถขอเพิ่มได้ทันทีจากรัฐบาล โดยงบประมาณส่วนนี้เราใช้สำหรับแรงงานที่ใช้แรงงานจริง ๆ ที่จะกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ส่วนแรงงานที่มีความรู้อยู่แล้ว อย่างเช่นแรงงานที่อยู่ในธุรกิจสถาบันการเงินก็สามารถถ่ายเทไปทำงานที่อื่นได้" สม ศุภนคร อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานชี้แจง

สำหรับแผนการที่ทางกรมพัฒนาฯ ได้เตรียมไว้ก็คือ ให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการมาแจ้งความต้องการแรงงานฝีมือประเภทไหนบ้าง และจะมีการปลดคนงานจำนวนเท่าไร เมื่อไรและให้บรรดาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมารายงานตัวต่อทางกรมฯ เพื่อรับการพิจารณาว่า สมควรจะได้รับการฝึกอบรมเข้าสู่ความชำนาญในสาขาไหน

"ตัวเลขแรงงานที่มาติดต่อกับกรมฯ ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ ่ที่รู้ตัวว่ากำลังจะถูกเลิกจ้างนั้นรอให้ได้สิทธิในเงินค่าชดเชยก่อน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ระบุให้ลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปีจะได้เงินชดเชยจำนวน 6 เดือน แต่พวกนี้ต้องการให้ได้มากกว่าที่กฎหมายระบุเนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานมาเป็นเวลานานแล้ว จึงมีการต่อรองให้บวกค่าชดเชยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 เดือน และมีการเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารหารือรัฐบาลไปกดดันนายจ้าง แต่นายจ้างก็ไม่สนใจ เพราะถือว่าทำไปตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นหากอยากได้เงินเพิ่มก็ต้องฟ้องร้องกันเอง รัฐช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ" อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าว

สำหรับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการฝึกอบรม ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกลาง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี ภาคตะวันตกตอนบน จังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานวัดธาตุทอง ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา

ส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนนั้น สม ได้เปิดเผยว่า "ในเดือนสิงหาคมนี้ กรมพัฒนาฯ จะจัดสัมมนาเรื่อง ความต้องการแรงงานฝีมือของสถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยจะร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการเชิญผู้แทนจากกลุ่มสมาชิกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวน 100 แห่งมาร่วมแสดงความคิดเห็นที่จะให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือดำเนินการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิต และให้ข้อมูลในด้านความต้องการแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการพัฒนาแรงงานทั่วไป รวมทั้งต่อแรงงานที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานต่อไปในอนาคต"

แรงงานไทยจากภาคการเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

สำหรับโครงสร้างกำลังแรงงานไทยในปี 40 นี้ กระทรวงแรงงานฯ ได้ประมาณการว่า ประเทศไทยจะมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 60.602 ล้านคน แยกเป็นชาย 30.245 ล้านคน หญิง 30.357 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 33.62 ล้านคน ซึ่งแยกเป็นผู้ว่างงาน 1.17 ล้านคน และเป็นผู้มีงานทำจำนวน 32.45 ล้านคน โดยผู้ที่มีงานทำแยกเป็นผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการประมาณ 13.52 ล้านคน ในภาคเกษตรประมาณ 16.61 ล้านคน และที่เหลือรับราชการ ทั้งนี้จากประมาณการทางสถิตินี้ พบว่าโครงสร้างกำลังแรงงานของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยกำลังแรงงานในภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงจากระดับ 62% ของกำลังแรงงานทั้งหมดในปี 34 ในปัจจุบันเหลือเพียง 55% ของกำลังแรงงาน และจะลดลงเหลือ 49% ของกำลังแรงงานทั้งหมดในปี 44

นอกจากนี้ จากการประมาณการความต้องการแรงงานในปี 2541-2544 พบว่า ในตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 925,201 คน (พิจารณาตาราง 3) แยกเป็นความต้องการแรงงานกรรมการหรือแรงงานทั่วไปจำนวน 454,290 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.1 แรงงานช่างกึ่งฝีมือ 73,640 คน คิดเป็นร้อยละ 7.95 แรงงานช่างเทคนิคและช่างฝีมือประมาณ 135,538 คน คิดเป็นร้อยละ 14.64 พนักงานทั่วไปประมาณ 188,562 คน คิดเป็นร้อยละ 20.38 และที่เหลือเป็นวิศวกร ช่างชำนาญการ หัวหน้างานนักวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการและนักบริหาร ประมาณ 63,171 คน คิดเป็นร้อยละ 7.93 ซึ่งแรงงานกลุ่มหลังนี้เป็นแรงงานที่มีความรู้ความสามารถที่อธิบดีกรมพัฒนาฯ มีความเห็นว่า

"พวกนี้เป็นแรงงานที่มีความรู้ มีการศึกษาค่อนข้างสูง สามารถพัฒนาทักษะได้ด้วยตนเอง ทางกรมฯ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแล และบุคคลเหล่านี้ก็สามารถเปลี่ยนงานได้ทันที"

ทั้งนี้จากจำนวนประมาณการความต้องการแรงงานในช่วง 4 ปีข้างหน้า 925,201 คนนั้น มีจำนวน 397,740 คนที่ทางกรมฯ ต้องเร่งพัฒนายกระดับฝีมือ โดยในจำนวนแรงงานที่ต้องเร่งพัฒนานี้แบ่งเป็นช่างเทคนิค ช่างฝีมือและช่างกึ่งฝีมือ ที่มีความต้องเฉลี่ยประมาณปีละ 206,179 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 52.58 ของจำนวนแรงงานที่ต้องเร่งพัฒนา


"ค่าจ้างขั้นต่ำ" ปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข

ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นปัญหาสำคัญที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องทุกปี ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจในการแก้ไขอย่างจริงจัง

"ค่าจ้างขั้นต่ำของเราค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแรงงานจากพม่า จีน อินโดนีเซีย เวียดนามที่อยู่ที่ประมาณ 30-35 บาท แต่ของเรา 157 บาท ซึ่งถ้าเรายังคงรักษาระดับการขึ้นค่าจ้างให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็จะไม่สามารถสู้แรงงานต่างชาติได้ จากสถิติที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7% ต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นการพิจารณาจากอัตราค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ แต่จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการพบว่า ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นเพียง 3% เท่านั้น นี่เป็นจุดที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลยังคงปล่อยให้ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว" เป็นความเห็นของ รศ. ดร. กุณฑล ศรีเฉลิมโภค รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการกำหนดนโยบายค่าจ้างและรายได้ และคณะอนุกรรมการงานวิจัยการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ

ทั้งนี้ เกณฑ์ปกติที่ใช้ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำกันเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และค่าใช้จ่ายของลูกค้าอื่นที่ทำงานในลักษณะและสภาพเดียวกัน แต่ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวในทุกภาคอุตสาหกรรม และปัญหาคุณภาพของแรงงานไทยก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้นการที่จะพิจารณาค่าจ้างในปีนี้ก็จะต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ ซึ่ง ดร. กุณฑลก็มีความเห็นว่า

"ค่าแรงขั้นต่ำไม่จำเป็นต้องขึ้นทุกปี ทีนี้ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย ที่สำคัญคือความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและความสามารถที่จะอยู่ได้ของลูกจ้าง ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจอยู่ในขาลง และเมื่อดูจากความสามารถในการจ่ายของนายจ้างก็ค่อนข้างจะลำบากพอสมควร ฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องเลือกระหว่าง การจะให้คนส่วนใหญ่มีงานทำและมีรายได้ที่พอเลี้ยงตัวได้ กับการให้คนส่วนน้อยมีงานทำและมีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่มีคนจำนวนมากต้องว่างงาน ซึ่งจะเป็นที่มาของปัญหาทางสังคมตามมา"

สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีน ี้ยังไม่ได้สรุปอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกอบด้วยคณะบุคคล 3 ฝ่ายคือ ตัวแทนจากภาครัฐ 5 คนมีอธิบดีสม เป็นประธานกรรมการ ตัวแทนจากองค์การสภานายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน และการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะสิ้นสุดที่คณะกรรมการชุดนี้ จากนั้นส่งเรื่องให้รัฐมนตรีลงนาม เพื่อออกเป็นประกาศต่อไป

"กระบวนการทั้งหมดจะต้องสิ้นสุดก่อนเดือนสิงหาคมนี้ เพราะเราจะให้เวลาเดือนกว่ากับนายจ้าง เพื่อจะเตรียมตัวปรับ จากนั้นก็เสนอคณะรัฐมนตรีลงนามทันที ซึ่ง ครม. ไม่มีสิทธิทบทวนอะไรเลย มติของคณะกรรมการค่าจ้างฯ ถือว่าสิ้นสุดแล้ว โดยมตินั้นต้องเป็นเสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมที่ต้องมีครบ 15 เสียง และถ้าคณะกรรมการค่าจ้างฯ มีมติให้ประกาศใช้เป็น กม. ก็ให้นำเรื่องเรียนต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อลงนามในประกาศ และประกาศใช้ต่อไป" อธิบดีสมชี้แจง

ในขณะที่ ดร. กุณฑลมีความเห็นส่วนตัวว่า "ลูกจ้างส่วนใหญ่มีความเห็นให้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4.5% ซึ่งผมคิดว่ายังเป็นตัวเลขที่น้อย หากจะมีการปรับ ควรเลื่อนการพิจารณาไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งอาจจะเลื่อนไปพิจารณาปรับปลายปีเลยก็ได้ และต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างด้วย" ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่จะสรุปทุกอย่างก็คือ คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างฯ นั่นเอง

จากสถิติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่าบางปีมีการพิจารณาปรับขึ้นปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ในปี' 17, ปี' 32, ปี' 38 ส่วนปีอื่นมีการปรับปีละครั้งเท่านั้น โดยในปี' 39 ที่ผ่านมาได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 157 บาท โดยเพิ่มจากปี' 38 คิดเป็น 8.3% จากตัวเลขที่ขอให้ปรับขึ้นอีก 20 บาท แต่ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาปรับขึ้นสูงถึง 12 บาท ซึ่ง ดร. กุณฑลเห็นว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียวเมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ดร. กุณฑลยังได้เสนอประเด็นในการพูดถึงเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในปัจจุบันว่า "นายจ้างส่วนใหญ่จะเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปอิงกับการปรับเงินเดือนประจำปี ดังนั้นพอมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อไร บรรดานายจ้างก็นำไปปรับอัตราค่าจ้างประจำปีด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นภาระมากยิ่งขึ้น ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องกัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดขึ้นเพื่อช่วยคนที่เข้ามาทำงานใหม่ที่ยังไม่มีฝีมือ ให้พอเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น ดังนั้นนายจ้างควรแยกให้ออก เพื่อไม่เป็นภาระจนเกินไปในสภาวะเช่นนี้"

"แรงงานไทยไม่ควรมาต่อสู้ในเรื่องของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ควรปล่อยให้เป็นค่าแรงสำหรับแรงงานต่างชาติได้แล้ว" คำกล่าวนี้ต้องการจะสื่อว่า แรงงานไทยควรได้รับการพัฒนาฝีมือให้สามารถสร้างประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และค่าจ้างที่สูงขึ้นก็จะตามมาเอง

"จากค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เราเสียเปรียบต่างชาติ และแรงงานไทยที่เป็นแรงงานใช้กำลังก็จะขาดแคลนไปด้วย เนื่องจากนายจ้างสู้ค่าแรงไม่ไหว ต้องหันไปพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการด้านแรงงานให้ข้อมูลแก่รัฐบาลไปแล้วเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วว่า เมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานที่ปราศจากฝีมือ" ดร. กุณฑลชี้แจง และประเด็นนี้เองที่สอดคล้องกับสถานการณ์รงงานไทยในปัจจุบันที่ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ รวมทั้งในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตให้ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีที่สูงมากขึ้น

การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อรองรับวิกฤติการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น หากรัฐบาลเองต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหา ในระยะยาวควบคู่ไปด้วย นั่นคือ ระดับการศึกษาของแรงงานไทย หากระดับการศึกษาพื้นฐานของกำลังแรงงานโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง การพัฒนาทักษะการทำงานก่อนหรือภายหลังบรรจุเข้าทำงานก็จะมีความจำเป็นน้อยลง เนื่องจากระบบการศึกษาพื้นฐานมีส่วนช่วยในการสร้างทักษะการทำงานพื้นฐานให้แก่แรงงานอย่างพอเพียงกับการทำงาน หรืออย่างน้อยการศึกษาก็ช่วยให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะการทำงานได้ด้วยตนเอง หรือภายในเวลาที่รวดเร็ว แต่จากข้อมูลทางสถิติ พบว่ากำลังแรงงานไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 มีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ไม่มีความรู้เลยด้วย ดังนั้นเมื่อมีการปรับตัวในภาคอุตสาหกรรม แรงงานเหล่านี้ก็ไม่สามารถรับสถานการณ์ได้ทัน จึงเกิดเป็นปัญหาที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปแก้ไข

ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรใส่ใจแก้ไขในระยะยาว เพื่อรองรับการเติบโต ของประเทศในอนาคต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us