|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การโดยสารเครื่องบินเป็นเวลานานๆนับชั่วโมง ปัจจุบันค่อนข้างสะดวกสบายตลอดการเดินทาง เพราะรายล้อมไปด้วยความบันเทิงไม่ว่าจะดูหนังหรือฟังเพลง ขณะที่การให้บริการบนเครื่องบินไม่ว่าการเสริฟอาหารและเครื่องดื่มของพนักงานต้อนรับบนเครื่องมักจะเป็นภาพที่มีให้เห็นจนชินตา แต่การให้บริการบนเครื่องบินดังกล่าวกำลังถูกผู้ประกอบการธุรกิจแอร์ไลน์พลิกผันเนรมิตนวัตกรรมบริการพิเศษด้วยรูปแบบใหม่หวังมัดใจแฟนพันธุ์แท้ให้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง
ภาพการแข่งขันที่ร้อนแรงของธุรกิจสายการบินเวลานี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาและสร้างยุทธวิธีทุกรูปแบบออกมาเพื่อแผ่ขยายอณาจักรและเพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าตัวเองให้มีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในภาคพื้นดินหรือบนท้องฟ้า หากแต่ว่าคนที่คลิกไอเดียใหม่ๆก่อนใครและนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมย่อมได้เปรียบคู่แข่งทางธุรกิจ
ตัวอย่างที่เริ่มเห็นกันบ้างแล้วได้แก่ลุ่มสายการบินสัญชาติฮ่องกงอย่างคาเธ่ย์ แปซิฟิค ที่เปิดให้บริการพิเศษบนเครื่องบินเป็นสายการบินแรกที่นำมาใช้กับกลุ่มลูกค้าที่เดินทางประจำและเป็นสมาชิกของสายการบินแบบสะสมไมล์ โดยมีทีมงานไว้ให้บริการโดยเฉพาะนอกเหนือจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องที่มีอยู่แล้ว
“สิ่งนี้ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและจะกลับมาใช้บริการของสายการบินอีกครั้งเมื่อมีการเดินทางด้วยเครื่องบิน”ยงยุทธ ลุจนตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดประจำประเทศไทยและพม่า เล่าถึงเหตุผลของการเปิดให้บริการพิเศษ
แน่นอนเมื่อมีการแข่งขันบนภาคพื้นดินไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ช่องทางการจัดจำหน่ายตั๋ว การโปรโมตสินค้าหรือแม้แต่เรื่องของราคาค่าตั๋วถูกที่มักจะนำมาเป็นตัวเลือกสุดท้ายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นสำหรับลูกค้าให้ตัดสินใจเร็วขึ้น รวมถึงการออกแคมเปญโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลต่างๆ ทุกอย่างล้วนแต่เป็นกลยุทธ์บนภาคพื้นดินที่ถูกหยิบนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัดในตัวเองส่งผลทำให้ธุรกิจการบินยังคงมีการแข่งขันที่ย่ำอยู่กับที่เสมอมา
ยงยุทธ เล่าว่า การให้บริการบนเครื่องบินแม้ว่าจะมีพนักงานต้อนรับที่ให้บริการอยู่แล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะสร้างให้เกิดความแตกต่างคือการให้บริการดับเบิ้ลบริการ คือ ตั้งทีมบริหารจัดการขึ้นมาเพื่อไว้คอยต้อนรับและดูแลลูกค้าที่เดินทางประจำหรือสมาชิกสะสมไมล์ รวมไปถึงลูกค้าระดับวีไอพี
“การทำแบบนี้เป็นบริการที่สร้างจุดขายใหม่ให้กับตัวคาเธ่ย์ฯเอง และคาดว่าไม่มีสายการบินอื่นที่ไหนเขาทำกัน แต่อย่างน้อยการที่ได้เริ่มทำการตลาดก่อนก็จะสามารถค้นพบวิธีและแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนใครด้วยเช่นกัน”ยงยุทธ์ กล่าว
TGยกสปานวดกันบนฟ้า
ขณะเดียวกันการบินไทย สายการบินแห่งชาติในประเทศไทยนอกจากจะมีบริการบนเครื่องด้วยการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม แถมด้วยพักผ่อนสายตาด้วยการดูหนังฟังเพลงในเส้นทางระยะไกล การสร้างแนวคิดแบบก้าวกระโดดของ สมใจนึก เองตระกูล บิ๊กบอสค่ายการบินไทยก็ปิ้งไอเดียบรรเจิดจะเปิดให้บริการที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน
ส่งผลให้การบินไทยเตรียมนำ สปา เปิดให้บริการสำหรับ ผู้โดยสารสายการบินไทย รวมทั้งผู้โดยสารที่ เข้ามาประเทศไทยรอการต่อเครื่องเดินทางไปประเทศอื่น จะเปิดให้บริการนวดคลายเส้น นวดฝ่าเท้า หรือนวดทั้งตัว เพื่อให้ผู้โดยสารที่ เดินทางอยู่บนเครื่องบินเป็นระยะเวลานานสามารถคลายเส้นได้ และคงไม่นานเกินรอ
“การบินไทยจะนำหมอนวดแผนโบราณที่มีความชำนาญการคลายเส้น ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจสปามาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ใช้บริการของสายการบินไทย โดยเมื่อผู้โดยสารเดินทางและอยู่ระหว่างการต่อเที่ยวบินไปยังประเทศอื่นๆ 2-3 ชั่วโมง จะเปิดให้บริการนวดคลายเส้นให้กับผู้โดยสาร เพราะ ผู้โดยสารเดินทางอยู่บนเครื่องบินเป็นเวลานานจะได้สบายตัวและหายปวดข้อ”สมใจนึก การันตีว่ามีแน่นอน
นอกจากบริการในระหว่างการต่อเที่ยวบินแล้ว การบินไทยยังจะให้บริการนวดสปาบนเครื่องบินของสายการบินไทยด้วย เชื่อว่าบริการดังกล่าวนอกจากเป็นการช่วยให้ผู้โดยสาร สบายตัวในช่วงระหว่างการเดินทางและการต่อเที่ยวบินแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจ สปาและสมุนไพรของไทย ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกด้วย
จึงไม่แปลกเลยที่การบินไทยจะใช้กลยุทธ์เกี่ยวกับสปาเข้ามาใช้ในธุรกิจการบินเพื่อผ่อนคลายให้กับผู้โดยสารที่ต้องใช้เวลานานๆในการเดินทางให้เกิดความประทับใจสร้างกระบวนการทางการตลาดแบบ CRM ได้อย่างลงตัว กอปรเส้นทางที่บินตรงของการบินไทยในปี 49 ที่มีอยู่ในมือจะเป็นการต่อยอดเพื่อให้ลูกค้าได้มีสิทธิ์ใช้บริการสปา นวัตกรรมบริการใหม่บนเครื่องด้วยเช่นกัน
โดยการบินไทยจะมีการปรับปรุงเส้นทางเดิม และปรับเพิ่มเที่ยวบินสำหรับเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก เช่น เส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก จะเพิ่มจากเดิมสัปดาห์ละ 4 เที่ยว เป็น 5 เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส เพิ่มจากเดิมสัปดาห์ละ 3 เที่ยว เป็น 4 เที่ยวบิน พร้อมปรับลดเที่ยวบินในเส้นผู้โดยสารน้อย เช่น กรุงเทพฯ-นิวซีแลนด์
ไทยแอร์เอเชียเน้นกิจกรรมบันเทิง
ในยุคที่ใครๆก็บินได้ทำให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์)สร้างความโดดเด่นและมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่องในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา จนก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆของวงการบินในเมืองไทย
ใครเลยจะรู้ว่าเพียงระยะเวลาปีกว่าๆ ของสายการบินอย่าง ไทยแอร์เอเชียภายใต้การบริหารจัดการของ CEO ทัศพล แบเลเว็ลด์ จะมีอิทธิพลต่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจให้ถึงที่หมายโดยไม่ใส่ใจกับการบริการภายในเครื่องบิน และที่สำคัญ จ่ายน้อยกว่าสายการบินปกติจนทำให้ยอดตัวเลขผู้ใช้บริการตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงสิ้นปี 48 ที่ผ่านมามีสูงถึงกว่า 3 ล้านคน
“แต่ก็ใช่ว่าจะทิ้งความสำคัญด้านบริการบนเครื่องไปคงไม่ได้ เพราะอย่างน้อยกว่าที่จะเข้ามาบริหารสายการบินก็เคยอยู่ในแวดวงเอนเตอร์เทนเม้นท์มาก่อน ดังนั้นคาดว่าจะหยิบนำประโยชน์ตรงนี้มาใช้กับธุรกิจการบินให้มากที่สุด อาจจะมีรายการทอค์กโชว์บนเครื่องบินหรือมีกิจกรรมให้ผู้โดยสารได้ร่วมสนุกในช่วงเทศกาลต่างๆ”ทัศพล กล่าว
แน่นอนกิจกรรมสอดแทรกบนเครื่องบินคือกลยุทธ์ที่ไทยแอร์เอเชียหยิบจับนำไปใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างสินค้ากับผู้ซื้อจนต้องกลับมาใช้บริการอีกครั้ง...จึงเป็นเรื่องไม่แปลกนักที่ตลอดทั้งปี 49 ตัวเลขจะถูกกำหนดวางไว้สูงถึง 3 ล้านคนที่จะเข้าไปใช้บริการสายการบินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม และหลังจากนี้ไปจับตาดูการเปลี่ยนแปลงปรับโฉมครั้งใหญ่ของไทยแอร์เอเชีย กับบทบาทบนท้องฟ้าในปี 49 นี้ ซึ่ง ทัศพล ประกาศว่าจะไม่มีใครเหมือนและจะไม่เหมือนใคร
จากนี้ไปภาพของบริการบนเครื่องบินอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะมีบริการที่แปลกแตกต่างจากที่เห็นกันอีกมากมาย บริการบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะมีก็อาจยกขึ้นไปใว้บนเครื่องบินก็เป็นได้
|
|
|
|
|