|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ไวไว เบอร์สองของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เร่งมือรับดีมานด์ตลาดที่มีการเติบโตฉลุยมาตั้งแต่ปี 48 วางกลยุทธ์ตีตลาดมาม่า 2 ด้าน ส่งหมูสับต้มยำ เขย่าส่วนแบ่งตลาดมาม่าต้มยำกุ้ง พร้อมตามประกบด้วยควิก เพื่อชิงชัยส่วนแบ่งตลาด สะสมคะแนนกับลูกค้ากับวัยเรียน
ในทุกๆปีการออกแคมเปญส่งเสริมการขายในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะอยู่ช่วงไตรมาสที่ 2 หรือประมาณกลางปี แต่ปี 2549 นี้ ค่ายไวไว ระเบิดแคมเปญ “รวยทันใจ ไวไวให้โชค”ออกมาตั้งแต่ต้นปี เริ่มในวันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ รวมระยะเวลา 4 เดือนนั้น เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าค่าย ไวไว จะเข้ามารุกตลาดอย่างหนัก ที่สำคัญ เพื่อต้องการปั้นรสชาติหมูสับต้มยำให้แจ้งเกิดในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้ได้ โดยมองเห็นโอกาสทางการตลาดนานับปราการ
ประการแรก เนื่องจากจุดขายของหมูสับต้มยำ มีรสชาติใกล้เคียงกับต้มยำกุ้ง ของมาม่า ซึ่งรสชาตินี้ก็จะเป็นอาวุธสำคัญที่มีศักยภาพมากพอที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งให้มาเป็นของค่ายไวไวได้ไม่ยากนัก เนื่องจากโอกาสที่ผู้บริโภคซึ่งชื่นชอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง จะเกิดการเปลี่ยนใจในบางโอกาส และหันมาทดลองกินรสหมูสับต้มยำนั้นค่อนข้างเป็นไปได้สูง เพราะทั้งสองมีจุดขายด้านรสชาติจัดจ้านที่เหมือนๆกัน
ขณะเดียวกันสำหรับพฤติกรรมของผู้บริโภคมี 2 กลุ่มคือ
1.เจาะจงแบรนด์และรสชาตินั้น เพราะแต่ละแบรนด์เป็นเบอร์หนึ่งของรสชาตินั้น ขณะเดียวกันถ้ากินต้มยำกุ้งรีคอลถึงแบรนด์หนึ่ง ถ้าเป็นหมูต้มยำ ก็เป็นอีกแบรนด์ เพราะแต่ละแบรนด์มีจุดขาย
2. ไม่ยึดติดกับแบรนด์และรสชาติ ชอบการทดลองรสชาติใหม่ๆ เพราะราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เป็นอุปสรรคกับการทดลองรสชาติใหม่ๆ โดยพฤติกรรมการซื้อจะเลือกหยิบแบรนด์ละซอง ผสมผสานกันไปหลากหลายรสชาติ ถ้ามีรสชาติใหม่ออกมาทำตลาดก็พร้อมจะทดลองมากินอีกรสชาติหนึ่ง โดยในวันนี้อาจจะกินต้มยำกุ้ง หมูต้มยำ ต้มโค้ง
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของทุกๆแบรนด์ในการทำตลาดให้ลูกค้าของคู่แข่งกลายมาเป็นของลูกค้าตัวเอง ถ้าสามารถออกแคมเปญและพัฒนาสินค้าที่น่าสนใจออกมา เพื่อดึงดูดลูกค้าที่พร้อมจะทดลองสินค้าใหม่
ประการที่สอง ต้องการสร้างความแข็งแกร่งและมั่นคงให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำหมูสับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มียอดขายฮิตอันดับสองของค่ายไวไว
เหตุผลดังกล่าว ทำให้สินค้าตัวนี้จึงเป็นความหวังและเป็นตัวสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีรสชาติต้นตำหรับ ปรุงสำเร็จ เป็นหัวหอกในการสร้างยอดขายอันดับหนึ่งให้กับบริษัท
ประกอบกับ เมื่อโฟกัสตลาดในแง่ของส่วนผสมรสชาติต่างๆที่วางขายในท้องตลาดนั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติที่โปรดปรานและเป็นที่นิยมของลูกค้า เมื่อไล่เลียงตามลำดับยังคงเป็นรสต้มยำกุ้ง 26% ตามมาด้วยรสหมูสับ รสปรุงสำเร็จ และรสหมูสับต้มยำ
ในจุดนี้เองที่รสชาติหมูสับต้มยำกำลังมาแรง โดยใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปี ก็สามารถไต่ลำดับขึ้นมาเป็นสัดส่วนรสชาติที่มีขนาดตลาดใหญ่อันดับสี่ของตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้สภาพการแข่งขันในปัจจุบันนี้คู่แข่งทั้งสองแบรนด์คือ มาม่า และยำยำ กระโดดลงมาร่วมชิงแชร์ในสังเวียนหมูสับต้มยำด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญมีความจำเป็นอย่างมาก ที่ไวไว จะต้องรีบออกมาปกป้องตลาดรสหมูสับต้มยำอย่างต่อเนื่อง เพราะรสชาตินี้ ไวไวเป็นผู้นำตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งของตลาดรวม
สุชัย ตันติยาสวัสดิกุล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด กล่าวกับ ผู้จัดการรายสัปดาห์ว่า “ รสชาติหมูสับต้มยำ ที่มีสัดส่วน 8% ของตลาดรวมนั้น 6% เป็นของแบรนด์ไวไว และการที่เราจะเป็นลีดเดอร์รสชาตินี้อยู่คือการผลักดันทำให้ตลาดนี้ขยายตัวกว้างมากขึ้น ”
ประการต่อมา เป็นการเคลื่อนไหวที่ทำกิจกรรมการตลาด เพื่อเปิดเกมรุกอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดการสื่อสารการตลาด หลังจากออกหนังโฆษณาหมูสับต้มยำ ที่ไฮไลต์เรื่องจุดเด่นความหอมของกลิ่นมะนาวในไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มความถี่ของการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ “ไวไว”ให้มากขึ้น โดยกิจกรรมทั้งหมดได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ซึ่งก็ทำให้ส่วนแบ่งตลาดต้มยำหมูสับของค่ายไวไว ช่วงไตรมาสที่ 4 ขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 6% จากเดิมมีส่วนแบ่ง 5%
สำหรับปีนี้ใช้งบการตลาด 315 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 8% ส่วนยอดขายของบริษัทปีนี้ตั้งเป้า 3,400 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 7-8% จากปีที่ผ่านมา 3,160 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากไวไว 57% ควิกซองและถ้วย 27% เส้นหมี่อบแห้ง 14% ซือดะบะหมี่จับตลาดมุสลิม 2%
ส่วนการขยายช่องทางจำหน่าย ที่มีสัดส่วนผ่านโมเดิร์นเทรด 40% เทรดดิชัลนัลเทรด 60% จะมีการขยายเข้าไปในพื้นที่ไฮไลท์ในช่องทางร้านค้าปลีกให้คลอบคลุมมากขึ้น ส่วนฐานลูกค้าหลักของไวไว จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ส่วนภาคอีสาน จะมีการส่งทีมขายที่มี 70 หน่วยทั่วประเทศ เข้าไปขยายตลาดให้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้สามารถเข้าถึงร้านค้าได้ 5 หมื่นแห่ง จากร้านค้าทั่วประเทศจำนวน 2-3 แสนราย
ตลาดรวมโตต่อเนื่อง
สำหรับสภาพการแข่งขันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปีนี้มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่องจากปี 2548 ที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีอัตราการเติบโตสูงถึง 8% ซึ่งเป็นเมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตเพียง 4% และปัจจัยที่ส่งผลทำให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จเติบโตขึ้นนั้นคือ
1. ผู้บริโภคต้องการประหยัด การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะมีราเป็ราคาถูก
2.ผู้ทำตลาดแต่ละค่ายออกรสชาติใหม่ๆมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดการทดลองสินค้าตามมาด้วย
3. ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทุกค่ายหันมาอัดแคมเปญโปรโมชั่นมากกว่าปกติ และมีความถี่ขั้นต่ำ 2-3 แคมเปญ โดยจะมี 1 แคมเปญใหญ่ที่เป็นกิจกรรมจับกลุ่มแมส และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในร้านค้า
ทั้งนี้ การที่แต่ละค่ายหันมาให้ความสำคัญกับแคมเปญโปรโมชั่น เพราะมองเห็นโอกาสทางการตลาดในใช้กลยุทธ์ชิงโชคเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า รางวัลจะเป็นสิ่งจูงใจลูกค้าเพิ่มความถี่การบริโภคทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น และมียอดขายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20 %
สองแบรนด์แยกกันตีตลาด
นอกจากนั้น การที่ผู้บริโภคที่อายุมากขึ้นลดการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น ยังทำให้ในช่วงหลังนี้ผู้เล่นในตลาดทุกค่ายปรับวิธีการสื่อสารการตลาดใหม่ๆให้สามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นิสิตและนักศึกษาที่อาศัยในหอพัก เนื่องจากปัจจัยด้านความสะดวกรวดเร็ว ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ 2. เป็นกลุ่มคนทำงาน
เหตุผลดังกล่าว ทำให้ทุกแบรนด์โฟกัสแคมเปญการการสื่อสารตลาด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้ามุ่งไปยังกลุ่มวัยรุ่น แม้กลุ่มนี้มีกำลังซื้อไม่มาก แต่จะเป็นลูกค้าในอนาคตข้างหน้า
สำหรับการปรับวิธีทำตลาดให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายใหม่เช่น กรณีของแบรนด์ไวไว และควิก ซึ่งเป็นสินค้าจากบริษัทเดียวกันมีการแยกแบรนด์ และวางตำแหน่งให้มีความชัดเจนทั้งเรื่องฟังชัลนัลตัวสินค้า กลุ่มเป้าหมายอายุต่างกัน และแนวทางการสื่อสารตลาด การสร้างแบรนด กิจกรรมการตลาดของทั้งสองแบรนด์แยกจากกันอย่างชัดเจน เพราะว่าผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีไลฟ์สไตล์ เป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกัน
“จุดนี้เป็นข้อดีของเรา ในแนวทางที่ว่า ถ้าเรากำลังพูดคุยกับกลุ่มอายุน้อย สามารถพูดได้ตรงๆจากกิจกรรมการตลาดที่จัดออกไปตรงกับกลุ่มนี้ ขณะที่เราสื่อสารกับคนทำงาน กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน แนวทางการสื่อสารไปอีกแนวทางหนึ่ง แต่ถ้ารวมทั้งสองกลุ่มมาอยู่ในแบรนด์เดียวกัน ใช้การสื่อสารสองแมสเสจ คุยกับผู้ใหญ่ และกลุ่มเด็ก ผู้บริโภคจะสับสนว่าตกลงเป็นแบบไหนดี ”
สำหรับการวางตำแหน่งสินค้านั้น “ แบรนด์ไวไว ได้ความเชื่อถือเรื่องเส้นเหนียวนุ่ม ภาพที่มีทั้งรสเผ็ด รสจืดผสมกันอยู่ เน้นจับกลุ่มลูกค้านักศึกษาใกล้จบ คนทำงานรุ่นใหม่ พ่อบ้านแม่บ้าน อายุระหว่าง 20-35 ปี ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้กิจกรรมลักษณะประเภทดนตรี การแสดง และเข้าไปสนับสนุนงานประเพณี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมรอบนอกต่างจังหวัด
ส่วนแบรนด์ควิก การรับรู้ในใจของผู้บริโภคของควิกจะรู้ว่ามีรสจัดจ้าน เผ็ด เน้นจับกลุ่มอายุน้อยลงมาระหว่าง 15-25 ปี การสื่อสารตลาดและกิจกรรมจะมุ่งไปในเรื่องการศึกษา การกีฬา ควิกฟุตซอล และโครงการแนะแนวการศึกษากับเด็กม.ปลายที่เตรียมเอนทรานซ์ โดยกิจกรรมการตลาดทั้งหมดสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายทั้งสองที่แตกต่างกัน
ความเคลื่อนไหวของมาม่า และยำยำ ซึ่งเป็น 2 แบรนด์หลักในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ได้มีการปรับการสื่อสารตลาดในปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมาม่า มีการปรับโทนโฆษณามาใช้พรีเซ็นเตอร์หนังโฆษณากลุ่มเด็ก และกลุ่มแมส และการออกแคมเปญส่งเสริมการขายที่แปลกใหม่เช่น การชิงโชคแตะขอบอวกาศเป็นต้น
อย่างไรก็ตามแนวทางการโฆษณาที่พยายามสื่อไปสองแนวทางนี้ อาจไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากผู้บริโภคสับสนในเนื้อหาที่สื่อถึงคน 2 กลุ่ม ภายใต้แบรนด์เดียวพร้อมๆกัน
ส่วนค่ายที่ทุ่มงบโฆษณา เพื่อเร่งรุกตลาดกลุ่มวัยรุ่นมากเป็นอันดับหนึ่งคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยำยำ มีการใช้งบโฆษณาสัดส่วน 43% ของงบโฆษณาของอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 600 ล้านบาท ตามมาด้วยมาม่า 30% และไวไว 27%
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่ค่ายเบอร์สามของตลาดทุ่มทุนใช้งบการตลาดมากที่สุดในอัตรา 200 % ของส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่เพียง 15% นั่นก็เพราะว่ายำยำมีความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งสินค้าที่อยู่ในเครือหลายๆตัวเป็นผู้นำของแคทธิเกอรี่ทั้งนั้น ดังนั้นจึงพร้อมที่จะนำกำไรจากสินค้าอื่นเข้ามาแจ้งเกิดที่แบรนด์ยำยำ
ที่สำคัญ สถานการณ์ในขณะนี้ยำยำต้องเร่งเครื่องไม่ให้เบอร์หนึ่งคือมาม่า ที่มีส่วนแบ่งตลาด 52 % และไวไว และควิก 28% ทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดแล้วส่วนแบ่งตลาดของยำยำอาจจะลดลง ทำให้ต้องพยายามสร้างสินค้าตัวนี้ให้ขยายตัวและอยู่ได้ต่อไปในอนาคต
ส่วนแบ่งตลาดบะหมี่สำเร็จรูป
- มาม่า 52%
- ไวไว 20%
- ควิก 8%
- ยำยำ 15%
- อื่นๆ 5%
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบ่งตามรสชาติ
- ต้มยำกุ้ง 26%
- หมูสับ 23%
- หมูสับต้มยำ 8%
- ปรุงสำเร็จ 9%
- ต้มยำกุ้งน้ำข้น 6%
- อื่นๆ 28 %
พฤติกรรมเลือกแบรนด์ของผู้บริโภค
- ภักดีต่อแบรนด์และติดรสชาติที่เป็นเบอร์หนึ่ง 50%
- ไม่ยึดแบรนด์ พร้อมทดลองถ้ามีรสชาติใหม่ออกมา 50 %
การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จแบ่งตามพื้นที่
- กรุงเทพ 33%
- ภาคอิสาน 21%
- ภาคเหนือ 19%
- ภาคกลาง 19%
- ภาคใต้ 8 %
|
|
|
|
|