|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เทรนด์เกาหลีแรงไม่ตก "ลาเนจ" เตรียมนำเข้าแบรนด์น้องใหม่ "Iope" จากแดนโสม พร้อมพรีเซนเตอร์ "ลียองเอ" นางเอกแดจังกึม บุกตลาดเครื่องสำอางไทย หวังสร้างกระแส Koreannize สู่แฟชั่นถาวรชนญี่ปุ่น
เกมการแข่งขันในตลาดเครื่องสำอางบ้านเราร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้ามาบุกตลาดของเครื่องสำอางแบรนด์เกาหลีตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ผนวกกับอิทธิพลและความนิยมจากละครซีรี่ส์เรื่องยาวที่ดังข้ามปีอย่าง "แดจังกึม" สร้างกระแสให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและกล้าทดลองใช้แบรนด์เกาหลีได้ง่ายและมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องสำอางเกาหลีถูกจัดอันดับติด 1 ใน 6 กลุ่มสินค้าดาวเด่นของปี'49 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปีนี้จะมีแบรนด์ใหม่ๆจากแดนกิมจิเข้ามาทำตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งอาจมีบทบาทสำคัญกลายเป็นแฟชั่นที่ได้รับนิยมถาวรเช่นเดียวกับญี่ปุ่น
"การทำตลาดของแบรนด์เกาหลีที่นำเรื่องวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย โดยมีรัฐบาลช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เทรนด์เกาหลีจะกลายเป็นแฟชั่นระยะยาว และเป็นไปได้ว่าในกลุ่มเครื่องสำอางแบรนด์เกาหลีอาจแซงแบรนด์ญี่ปุ่นได้ภายในเวลาเพียง 3 - 4 ปี เพราะที่ผ่านมา เครื่องสำอางจากญี่ปุ่นจะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค เพราะมีจุดขายในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นการคิดค้นขึ้นเพื่อผิวชาวเอเชียโดยเฉพาะเท่านั้น โดยปีนี้บริษัทมีแผนนำเข้าแบรนด์ใหม่มาช่วยขยายตลาดเครื่องสำอางเกาหลีด้วย" สมรวรรณ รัตตกุล ผู้จัดการ กลุ่มผลิตภัณฑ์ ไมเนอร์ คอสเมติค บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการ รายสัปดาห์"
ปัจจุบัน เครื่องสำอางเกาหลีที่เข้ามาทำตลาดในไทยมีทั้งหมด 5 แบรนด์ ประกอบด้วย ลาเนจ , มิชา , เดอะ เฟช ช้อป , สกิน ฟู้ดส์ และ Etude โดยปีนี้คาดว่าจะมีแบรนด์น้องใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างน้อย 2 แบรนด์ ซึ่งไมเนอร์ คอสเมติค เป็นค่ายหนึ่งที่มีนโยบายนำเข้าแบรนด์ใหม่จากเกาหลีมาช่วยเสริมทัพ หลังจากเปิดตัวลาเนจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับบริษัท อมอร์แปซิฟิค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่เกาหลี เพื่อเลือกทำตลาดระหว่างแบรนด์ Iope (ไอโอเป้) และแบรนด์อมอร์แปซิฟิค โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ประมาณช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
เป็นไปได้ว่า ค่ายไมเนอร์ฯอาจเลือกแบรนด์ "Iope" เข้ามาทำตลาดต่อจากแบรนด์ลาเนจ ทั้งนี้เพราะความมีชื่อเสียงของพรีเซนเตอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้บริโภคไทยในขณะนี้ คือ ลียองเอ นางเอกละครซีรี่ส์เรื่องดังจาก แดจังกึม ที่นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความสนใจและกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดการทดลองใช้สินค้าได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการทำตลาดของลาเนจที่มี จอง จี ฮุน ดาราดัง มาเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุระหว่าง 25 - 30 ปี หรือแม้แต่แบรนด์มิชา (MISSHA) ที่นำเข้าโดยบริษัท แม็กซ์ แอนด์ ไมตี้ (ประเทศไทย) ก็มีแผนนำโปสเตอร์โฆษณาจากบริษัทแม่ ที่มี "เรน" นักร้องและนักแสดงของเกาหลีที่โด่งดังจากละครฟูล เฮาส์มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เจาะกลุ่มวัยรุ่นด้วย
"แม้พรีเซนเตอร์จะไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าคนไทยมากเท่าลูกค้าเกาหลี แต่จากความชื่นชอบ หรือรู้จักพรีเซนเตอร์ก็จะเป็นสิ่งที่เรียกความสนใจและความเชื่อถือแบรนด์ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการทดลองใช้สินค้าได้ไม่ยาก ดังนั้นบริษัทอาจนำแบรนด์ Iope เข้ามาทำตลาดต่อจากลาเนจ ส่วนแบรนด์อมอร์แปซิฟิคคาดว่าจะนำเข้ามาประมาณปี 2550 ทั้งนี้เพื่อช่วยเสริมทัพขยายตลาดเครื่องสำอางแบรนด์เกาหลีให้กว้างขึ้น"
สำหรับ Iope เป็นสินค้าในกลุ่มสกินแคร์ ที่มีภาพลักษณ์และราคาสูงกว่าแบรนด์ลาเนจ เฉลี่ยประมาณ 1,500 - 2,000 บาท เน้นเจาะกลุ่มผู้หญิงอายุ 28 ปีขึ้นไป ขณะที่ลาเนจเน้นผู้หญิงอายุประมาณ 25 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้พรีเซนเตอร์จะมีความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ แต่ พนักงานแนะนำสินค้าหรือพนักงานขาย (BA) ก็นับว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากสุด ดังนั้นแต่ละแบรนด์จึงให้ความสำคัญกับพนักงานขายเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะค่ายไมเนอร์ฯ ที่จัดให้พนักงานขายเป็นกลยุทธ์สำคัญอันดับ 1 ในการสร้างยอดขาย ตามมาด้วยการสร้างแบรนด์ คุณภาพสินค้า พรีเซนเตอร์ การขยายสาขา เช่น แบรนด์ลาเนจ จะมีการจัดงบประมาณ 5 - 6 แสนบาทต่อปีต่อครั้ง สำหรับการส่งพนักงานไปอบรมที่ต่างประเทศ
"จากพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย พบว่า จะให้ความเชื่อถือ BA มากกว่าพรีเซนเตอร์ ดังนั้นหาก BA สามารถอธิบายสินค้าและตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี ก็จะทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้มากที่สุด"
ด้าน การทำตลาดของลาเนจในปีนี้ บริษัทจะเน้นจัดกิจกรรมสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นหลัก หลังจากที่ปีก่อนเน้นขยายสาขาถึง 16 แห่ง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะขยายเพียง 1 - 2 แห่ง โดยเตรียมงบการตลาดประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผิว ซึ่งคาดว่าจะได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มให้การยอมรับสินค้าเกาหลีมากกว่าที่ผ่านมา โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าลาเนจมียอดขาย 60 ล้านบาทโตขึ้นประมาณ 30% จากปีก่อนที่มียอดขาย 40 ล้านบาท
การทยอยเข้ามาบุกตลาดเครื่องสำอางของแบรนด์เกาหลีในครั้งนี้ คงต้องจับตาดูต่อไปว่าเครื่องสำอางเกาหลีจะมาแรงเหมือนสินค้าตัวอื่นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆแบรนด์ผู้นำอย่างญี่ปุ่นคงไม่สามารถจะนิ่งนอนใจ หรือปรามาสว่าเป็นเพียงแบรนด์น้องใหม่ได้ เพราะที่ผ่านมาสินค้าเกาหลีหลายประเภทแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถเขยิบขึ้นมาเทียบชั้นกับญี่ปุ่น หรือแซงหน้าได้เช่นกัน
|
|
 |
|
|