Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2540
"ทายาทเมอร์ด็อคแห่งอาณาจักรนิวส์คอร์ปที่นี่ไม่มีศึกสายเลือด แต่มีผู้ถือหุ้น"             
โดย รัศมี หาญวจนวงศ์
 


   
search resources

นิวส์ คอร์ป
รูเพิร์ท เมอร์ด็อค




อาณาจักรนิวส์คอร์ปมูลค่าหมื่นล้านมีภาพเสมือนหนึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ขณะนี้พฤติกรรมส่งทอดอำนาจแบบราชวงศ์เริ่มเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว คำถามว่าสมาชิกตระกูลเมอร์ด็อครุ่นที่ 2 รายใดจะได้สืบตำแหน่งนายใหญ่ของพ่อ ถูกคาดเดากันต่าง ๆ นานา ในขณะที่ยังมีข้อสงสัยเพิ่มมาอีกว่าหนทางของทายาทเหล่านั้นจะราบรื่นตามแต่ใจกำหนดของผู้เป็นพ่อเชียวล่ะหรือ ผู้ถือหุ้นอื่น ๆ อีก 69% เขาจะยอมอย่างว่าง่ายตามไปหมดหรือไร

นิวส์คอร์ปอเรชั่นอิงค์ เป็นมหาอาณาจักรสื่อสารมวลชนยักษ์ใหญ่ของโลก มีปริมณฑลแผ่ไพศาลไปใน 4 ทวีปบนพื้นฐานของกิจการด้าน โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ ฯลฯ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดจำนวน 31% คือรูเพิร์ต เมอร์ด็อค ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัท

รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ขึ้นชื่อนักว่ามีสไตล์การบริหารงานแบบเอกาธิปไตย เขาไม่เคยรีรอที่จะทำสิ่งใดแม้สิ่งนั้นจะเป็นการก้าวล้ำเส้นคณะกรรมการบริษัท ครั้งหนึ่งเขาเคยอนุมัติจ่าย 525 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าหุ้น 64% ในเอเชี่ยนสตาร์แซทเทิลไลท์โดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทเลย

การแจกตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงให้แก่บรรดาลูก ๆ วัยไม่ถึง 30 ปี จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดใจของใคร

ณ วัยทอง 66 ปี คนอย่างรูเพิร์ต เมอร์ด็อค คงต้องเตรียมความคิดไว้แล้วเรื่องทายาทสืบทอดมหาอาณาจักรของเขา เขาเคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า คงไม่ดีแน่ที่จะจากไปโดยไม่ตัดสินใจให้เรียบร้อย ไม่มีใครอยากทำร้ายความรู้สึกของลูก ๆ แต่ก็ไม่มีใครอยากเห็นลูก ๆ หันมาทำร้ายกันเอง

แต่ภาระที่น่าจะเฉพาะหน้ามากกว่า ซึ่งไม่แน่ว่าท่านประธานกรรมการจะแคร์เพียงไร คือการกำหนดยุทธศาสตร์การสลายแรงต่อต้านโครงการสืบทอดบัลลังก์แห่งนิวส์คอร์ป


ตรวจแถวศักยภาพเมอร์ด็อครุ่นที่ 2

รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ผ่านพิธีวิวาห์ 2 รอบ ในรอบแรกได้ธิดาเป็นพยานรัก 1 คน ส่วนรอบที่สองซึ่งยั่งยืนถึงปัจจุบัน เขาได้ธิดาอีก 1 คนกับบุตร 2 คน เท่ากับว่าเขามีหน่อเนื้อเชื้อไขทั้งสิ้น 4 คน ดังนี้ พรูเดนซ์ วัย 35 ปี เอลิซาเบธวัย 28 ปี แลชแลน วัย 25 ปี และเจมส์ วัย 24 ปี อย่างไรก็ตาม เฉพาะสามพี่น้องลูก ๆ ของคุณแม่แอนนาคนสวยเท่านั้นที่อยู่ในแถวจ่อคิว


แลชแลน : ตัวเก็งนายใหญ่นิวส์คอร์ปรุ่นที่ 2

แลชแลน บัณฑิตปริ๊นซตันสาขาปรัชญา ในฐานะบุตรชายคนโตของรูเพิร์ต เมอร์ด็อค ยืนหัวแถวเสมอเมื่อมีการคะเนถึงผู้สืบทอดอำนาจของเมอร์ด็อค ผู้พ่อ

เขาถูกวางตัวไว้ในสายงานสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ เช่น การเป็นผู้สื่อข่าวจูเนียร์ให้แก่เดอะไทมส์ที่ตีพิมพ์ในลอนดอน

ทันทีที่สำเร็จการศึกษา ในเดือนเมษายน ปี 1994 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของหนังสือพิมพ์ควีนสแลนด์ที่ตีพิมพ์ในออสเตรเลีย ส่งผลให้ฐานะ "ว่าที่" ทายาทนายใหญ่นิวส์คอร์ป ฉายแววรอบชื่อของเขาทันที

ภายในเวลาไม่ถึงปีต่อมา แลชแลนได้กระโจนบนสปริงบอร์ดของพ่ออีกคำรบหนึ่งขึ้น คว้าตำแหน่งบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาของหนังสือพิมพ์เดอะออสเตรเลียน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่วางแผงทั่วประเทศฉบับเดียวของออสเตรเลีย

ครั้นถึงเดือนกันยายน ปี 1996 แลชแลนได้ตำแหน่งสูงถัดขึ้นไปอีก คือ เป็นกรรมการผู้จัดการของนิวส์ลิมิเต็ด ถึงขั้นนี้ ความรับผิดชอบของเขาต้องขยายขอบข่ายออกสู่ด้านเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

แถมต่อมา ยังได้รับความรับผิดชอบเพิ่มเติมเป็นรองประธานกรรมการของสตาร์ เทเลวิชั่น ลิมิเต็ด สาขาเอเชียอีกตำแหน่งหนึ่ง

ราวกับเส้นทางไต่เต้าของแลชแลนยังไม่รวดเร็วสมใจ เดือนเมษายนปี 1997 นี้เอง รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ประกาศว่าแลชแลนจะได้แทนที่ เคน คาวลี่ย์ ลูกหม้อเก่าแก่ ซึ่งขณะนี้เป็นเบอร์หนึ่งของเครือข่ายงานทั้งหมดในออสเตรเลีย

ทางด้านเจ้าตัวพยายามหลีกเลี่ยงที่จะออกความเห็นต่อเสียงวิเคราะห์เส้นทาง "ว่าที่" ของเขา เขาใช้เทคนิคการปิดปากให้สนิทเข้าไว้เพื่อป้องกันไม่แสดง ทัศนะใด ๆ ที่อาจย้อนมาเปิดประเด็นให้ตนเองถูกวิจารณ์ได้

นับถึงปัจจุบัน ภาพลักษณ์ หนุ่มปัญญาชน สะอาด ขรึมสุภาพ ถ่อมตัวและไม่ร้อนรนอยากเป็นข่าว อันเป็นบุคลิก พระเอกอมตะตามจิตวิทยามวลชน ดูจะช่วยให้เขาอยู่รอดปลอดภัยจากปากเหยี่ยว ปากกรรไกรได้

เจมส์ : ฉลาด เจ้าความคิด เหมือนพ่อที่สุด

เจมส์ฉายแววของพ่อออกมามากที่สุด เขามีไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอและไม่ว่าเขาจะสนใจอะไร เขาจะทำสิ่งนั้นได้ดี

แต่อ้อนแต่ออกมา เด็กอ่อนหวานใจดีอย่างเจมส์เป็นคนเดียวในบ้านที่กล้าทดลองคิดทดลองทำในสิ่งที่สวนทางกับพ่อแม่ เขาเคยเป็นฮิปปี้คนเดียวของบ้าน เขาเคยไว้ผมยาวและใส่ต่างหู เขาเคยชมชอบที่จะเป็นนักมานุษยวิทยา เพราะวิชาชีพนี้อยู่นอกแวดวงธุรกิจของพ่อ แม้แต่การเรียนที่ฮาร์วาร์ด เขายังดร็อปออกมาโดยไม่ยอมใจอ่อนกับเสียงทัดทานจากพ่อ

แววนักธุรกิจของเขาปรากฏฉายประกายในช่วงที่เป็นนักศึกษานี่เอง เขาและเพื่อนอีก 2 คนตั้งบริษัททรอว์คัสเอนเตอร์เทนเมนท์เพื่อทำธุรกิจด้านการผลิตงานดนตรี สำหรับปี 1997 รอว์คัสมีโครงการออกผลงานดนตรี 30 อัลบั้ม โดยได้เซ็นสัญญากับวงดนตรีไว้ 8-9 วง พร้อมกับทำข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์จำนวนมากไว้กับค่ายดนตรีต่างประเทศและโปรดักชั่นเฮาส์หลายราย

อย่างไรก็ตาม เจมส์ตัดสินใจโดดเข้ามาโลดแล่นในอาณาจักรของพ่อเมื่อปลายปีที่แล้ว บนเงื่อนไขว่าเขาไม่จำเป็นต้องถอนตัวออกจากรอว์คัส หนำซ้ำ รอว์คัสได้นิวส์คอร์ปเป็นหุ้นส่วน เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1996 เขาได้กินตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายงานดนตรีและนิวมีเดีย ขณะนี้เขากำลังบุกเบิกด้านอินเตอร์เน็ต

ชั่วโมงนี้ของเจมส์คือความสนุกกับงาน เขายอมรับว่าเนื้องานในนิวส์คอร์ปมีความน่าตื่นเต้นและมีพลวัตมากมายกว่าที่คนทั่วไปมองเข้ามา


เอลิซาเบธ : ใคร ๆ บอกว่าเธอกระหายอำนาจ

เอลิซาเบธมีความงามแบบมารดา ความแข็งแกร่งแบบบิดา และความเขี้ยวแบบผู้หญิงเก่งอเมริกัน บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวาสซา (1986-1990) สาขาประวัติศาสตร์ยุโรปคนนี้ สมรสเมื่อปี 1993 และมีพยานรัก 2 คน สามีของเธอคือ เอลคิน ไพเอนิม ลูกครึ่งดัตช์-กานาเอียน ทายาทของผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านและนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของกานา

ชีวิตของเอลิซาเบธจะเกี่ยวข้องกับแวดวงโทรทัศน์เสมอ สมัยที่ยังเรียนอยู่ เธอกับเพื่อนเคยร่วมกันก่อตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของมหาวิทยาลัย

หลังจากเสร็จสิ้นภาระด้านการศึกษา เธอมุ่งสู่สายงานด้านโทรทัศน์ทันที สถานีโทรทัศน์ไนน์ เน็ตเวิร์ค ในออสเตรเลียเป็นสถานที่ฝึกการทำงานโทรทัศน์เชิงธุรกิจแห่งแรก สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นของตระกูลแพ็คเกอร์ คู่แข่งธุรกิจรายใหญ่ของนิวส์คอร์ปในออสเตรเลีย

หลังจากนั้นเส้นทางของเธอไม่ได้หลุดออกจากแวดวงโทรทัศน์เลย เธอได้สัมผัสงานบริหารด้านโทรทัศน์ในเครือข่ายของพ่อในหลายกรรมกลายวาระ อาทิ ผู้จัดการด้านการบริหารผังรายการและส่งเสริมรายการของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ในลอสแองเจลิส ผู้อำนวยการด้านรายการของสถานีเคเอสทียู ของฟ็อกซ์ในซอลท์เลคซิตี้ และผู้อำนวยการด้านการจัดหารายการของเครือข่ายเคเบิลทีวีเอฟเอ็กซ์ของฟ็อกซ์ในลอสแองเจลิส

ระยะเวลา 4 ปี สร้างความมั่นใจให้เธอมากพอจะกระโดดออกจากร่มเงาของนิวส์คอร์ป มาลงทุนด้านธุรกิจโทรทัศน์ให้เป็นกิจการของเธอและสามี

ในปี 1994 เธอก่อตั้งบริษัท อีพีคอมมิวนิเคชั่นส์ และด้วยเงินกู้ 31 ล้านดอลลาร์จากธนาคาร เธอซื้อสถานีโทรทัศน์เล็ก ๆ 2 แห่งในแคลิฟอร์เนีย เธอจัดการยกเครื่องสถานีโทรทัศน์ทั้ง 2 แห่งนี้อย่างขนานใหญ่ อาทิ ตัดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย และปรับโทนรายการทั้งด้านข่าวและด้านบันเทิงให้มุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น

ปฏิกิริยาปรากฏทั้งบวกและลบ เรตติ้งผู้ชมเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าโฆษณาเติบโตอย่างเห็นได้ชัด กำไรของสถานีขยายตัวในอัตรา 30% ทีเดียว แต่เสียงวิจารณ์ต่อความเปลี่ยนแปลงก็สาหัสเอาการ

ภาพของเธอปรากฏต่อชาวบ้านในอาการลูกเศรษฐีใหม่ซื้อของเล่นราคาแพง ดังนั้น เมื่อเธอขายสถานีโทรทัศน์ทั้งสองนี้ไปในราคา 47.3 ล้านดอลลาร์ ทำกำไรไป 12 ล้านดอลลาร์ คำวิจารณ์ทิ้งทวนจึงมีต่าง ๆ นานา แต่เธอได้เครดิตสูงมากในด้านศักยภาพทางธุรกิจ

การกลับสู่มหาอาณาจักรนิวส์คอร์ปในปี 1996 เอลิซาเบธได้กินตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปด้านโทรทัศน์ของบริติช สกาย บรอดคาสซิ่ง หรือ บีสกายบี ที่มี แซม ชิสโฮล์ม ลูกหม้อของพ่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทั้งนี้ นิวส์คอร์ป ถือหุ้น 40% ในบีสกายบี

ปัจจุบันนี้ เธอถูกจับตาทุกฝีก้าวว่า อีกเมื่อไรที่เธอจะอาศัยสปริงบอร์ดของพ่อกระโจนเข้าเบียดพื้นที่งานบริหารระดับแถวหน้าสุด และเมื่อถึงตอนนั้น ท่านผู้ชมคงได้รับความรู้ความบันเทิงเป็นอย่างยิ่ง


ที่นี่ไม่มีศึกสายเลือด

สามศรีพี่น้องสกุลเมอร์ด็อค แม้ไม่เคนจะเอ่ยให้เหล่าผู้หวังดีได้ยินว่าคนใดในกลุ่มพี่น้องที่ได้รับความยอมรับจากพี่ ๆ น้อง ๆ ให้ขึ้นรับผิดชอบสมบัติตระกูลต่อจากท่านพ่อ แต่ทุกคนจะฉลาดพูดเป็นทางประนีประนอมสะท้อนความรักใคร่สายใยระหว่างกันได้แนบเนียนยิ่ง

แลชแลนเคยยอมรับว่าอยากขึ้นทำงานแทนที่บิดา แต่ก็ออกตัวว่างานตรงนั้นเป็นงานสนุกที่ใคร ๆ ก็อยากทำ เส้นทางโปรโมตอย่างเอาจริงเอาจังที่เขาได้รับโดยสม่ำเสมอ ตั้งแต่สำเร็จการศึกษามา ทำให้ฐานะตัวเก็งสืบทอดอำนาจสูงสุดของเมอร์ด็อคผู้พ่อดูจะแข็งแกร่งนักในสายตาของนักวิเคราะห์

เอลิซาเบธไม่เคยปิดบังว่าเธอไม่เห็นว่าความเป็นหญิงจะมาเป็นอุปสรรคปิดกั้นเธอสู่ตำแหน่งสูงสุดของนิวส์คอร์ปได้ ทัศนะนี้ของเธอได้คะแนนสนับสนุนท่วมท้น ใครต่อใครยังเชื่อว่าเธอไม่มีวันจะละทิ้งเส้นทางสู่จุดสูงสุดอย่างแน่นอน

ส่วนน้องเล็กเจมส์ผู้ที่ให้ความเห็นอย่างโอบอ้อมว่านิวส์คอร์ปมีพื้นที่ให้พี่ ๆ ทุกคนครอบครองได้เหลือเฟือ มีภาพลักษณ์ว่าจะสนใจในศึกช่วงชิงบัลลังก์น้อยที่สุด แต่ศักยภาพของเขาในด้านความริเริ่มสร้างสรรค์ และพลังเชิงธุรกิจในการพลิกฝันเป็นจริง ดูจะเหมาะสมกับบุคลิกภาพพลวัตของนิวส์คอร์ป จนทำให้คิดว่าบัลลังก์ของพ่อนั้นจะตกถึงเขาได้ไม่ยาก ถ้าเขาปรารถนาอยากได้มันจริง

กระนั้นก็ตามหุ้น 31% บวกกับบารมีการเป็นผู้นำโดยธรรมชาติของเมอร์ด็อคผู้พ่อ จะสามารถแผ้วถางทางให้แก่ลูกได้ดังใจไปหมดหรือไม่ ใคร ๆ ก็อยากเห็นคำตอบ


สืบทอดบัลลังก์ : ไม่มองผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ได้หรือ

ระยะเวลาประมาณ 1 ปีของเอลิซาเบธในบีสกายบีคงจะเต็มไปด้วยรายละเอียดของทั้งรอยยิ้มและน้ำตา เส้นทางขณะนี้ของเธออาจจะสร้างร่องรอยน้ำตาตกในให้แก่หัวอกลูกน้องพ่อไม่ใช่น้อย ๆ

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ปี 1997 นี้เอง แซม ชิส โฮล์ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบีสกายบี และ เดวิด ช้านซ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบีสกายบี ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะลาออกด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ยิ่งกว่านั้นยังมีข่าวลือหนาหูว่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงอีกอย่างน้อย 4 ราย จะพากันตบเท้าลาออกตาม

ชิสโฮล์ม มีผลงานการพลิกฟื้นบีสกายบีจากสถานการณ์ขาดทุนสัปดาห์ละ 14 ล้านปอนด์ มาเป็นบริษัทที่สร้างผลกำไรได้มหาศาล ตัวเลขกำไรเมื่อปี 1996 สูงถึง 257 ล้านปอนด์ทีเดียว ส่วนช้านซ์ ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า น่าจะถูกวางตัวให้เป็นผู้รักษาการแทนชิสโฮล์มจนกว่าจะถึงจังหวะดันเอลิซาเบธขึ้นนั่งแทน แต่เขาคงไม่ต้องการรับหน้าเสื่อในโครงการสืบทอดอำนาจให้ใคร

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีในหมู่ผู้ถือหุ้นบีสกายบี เป็นไปในทิศทางติดลบอย่างรุนแรง มูลค่าตลาดรวมของบีสกายบี ณ วันอังคารที่ 17 มิถุนายน ก่อนที่ข่าวการลาออกจะถูกประกาศ อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านปอนด์ แต่เมื่อปิดตลาดหลักทรัพย์ไปในเย็นวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน ราคาหุ้นอ่อนตัวลงไปหุ้นละ 100 เพนซ์ คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปประมาณ 1,500 ล้านปอนด์

สถานการณ์นี้อาจจะถือเป็นสัญญาณเตือนระยะต้นสำหรับพฤติกรรมแจกอำนาจบริหารสู่มือลูก ๆ ตระกูลเมอร์ด็อค อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวเมอร์ด็อคอาจบอกว่าอาการขึ้นลงของราคาหุ้นไม่ใช่สาระหลักที่ต้องนำมาพิจารณา

แต่สิ่งที่ท่านผู้ชมจ้องมองอยู่คือ ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในเครือข่ายแมงมุมของนิวส์คอร์ป ว่าจะฮึกเหิม ว่าจะภักดีต่อบริษัทได้สม่ำเสมอเพียงไร เพราะนั่นย่อมส่งผลถึงความสามารถในการทำเงินของบริษัทโดยตรง ปัจจัยข้อนี้เป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นไม่อาจมองข้ามได้ นี่ยังไม่นับความรู้สึกต่อต้านที่อาจถูกแอบซ่อนไว้ในใจ รอจังหวะที่จะเผยออกมาแผลงฤทธิ์พร้อม ๆ กันเป็นหมู่คณะ

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า โครงสร้างของนิวส์คอร์ปไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว 100% ผู้ถือหุ้นใหญ่อื่น ๆ ส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทเหล่านี้อาจจ้องจะปรับเปลี่ยนอะไรต่ออะไรถ้าผู้ก่อตั้งที่กุมอำนาจบริหารสูงสุดวางมือจากไป มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทึกทักเอาง่าย ๆ ว่าใครต่อใครจะยอมให้สมาชิกตระกูลเมอร์ด็อคขึ้นเป็นนายใหม่ทันทีที่เมอร์ด็อคผู้พ่อตายจากไป

รายการทายาทเจ้าพ่อสื่อมวลชนรายนี้อาจไม่ใช่นวนิยายศึกสายเลือด แต่อาจเป็นนวนิยายศึกสายเลือดพบวิกฤตศรัทธาผู้ถือหุ้น แต่ด้วยวัยเพียง 66 ปีของรูเพิร์ต เมอร์ด็อค คุณพ่อตัวอย่างผู้นี้ยังมีเวลาวางหมาก เดินเกมสถาปนาเส้นทางสู่ดวงดาวให้แก่ลูกที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว

รักษาลมหายใจอย่าให้ขาดหายไปก่อนงานใหญ่จะเสร็จล่ะเป็นดี รูเพิร์ต เมอร์ด็อค

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us