ความคลี่คลายของเหตุการณ์มักจะทำให้มนุษย์แสดงภูมิปัญญาได้ในแบบฉลาดเท่า
ๆ กัน แต่ก่อนเกิดเหตุการณ์มนุษย์ก็มักจะมืดแปดด้านไปหมด เรื่องเช่นนี้เป็นจริง
ไม่ว่าจะในกรณีเงินบาทลอยตัว และอินเตอร์เน็ต
ในกรณีอินเตอร์เน็ต สังคมไทยมักจะได้ยินคำพูดในทำนองค่าบริการแพง แต่พอถามว่า
แพงอย่างไร? น้อยคนนักที่จะตอบได้ เดือดร้อนถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(TDRI) ต้องตั้งคณะวิจัยกันอย่างจริงจัง
การเปรียบเทียบค่าบริการอินเตอร์เน็ตว่า ถูกหรือแพง ไม่ง่ายเหมือนเปรียบเทียบค่าแท็กซี่แน่
ๆ แต่ระยะหลัง ดร. กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ และเรื่องอื่น
ๆ เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตได้อย่างน่าสนใจ
อย่างน้อยเธอก็พูดด้วยน้ำใสใจจริงมิใช่หรือ?
วงการไอทีมีผู้หญิงเก่งอยู่ไม่น้อย ดร. กนกวรรณก็เป็นคนหนึ่งที่ทั้งเก่งและทั้งสวยทีเดียว
สองปีกว่ามาแล้วที่เธออยู่ในฐานะผู้บริหารของบริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชี่ยล
อินเตอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ชั้นแนวหน้า
ในชื่อบริการว่า "เคเอสซี คอมเน็ต" มีผู้ร่วมผลักดันงานคือ ศาสตราจารย์
ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน รั้งตำแหน่งประธานกรรมการ
แต่แรก ดร. กนกวรรณ ค่อนข้างจะถูกมองว่าเป็นพระอันดับแบบสวย ๆ งาม ๆ มี
ดร. ศรีศักดิ์คอยฝึกปรือประคับประคองอยู่เคียงข้าง แต่เดี๋ยวนี้สายตาที่ทอดไปยังเธอเปลี่ยนไปในเชิงยอมรับ
ผู้บริหารวัยสามสิบกว่า ๆ ท่านนี้มีฝีมือและฝีปากคมคายขึ้นทุกวัน เนื่องจากการเป็นไอเอสพีมิใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
แต่ละปัญหามิใช่จะแก้ง่าย ๆ เช่น ปัญหาค่าเช่าวงจรแพงก็ต้องคุยกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทหุ้นลม ปัญหาสายโทรศัพท์ใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ
หรือใช้ได้เพียง 25% ของจำนวนหมายเลขที่ทำสัญญาเช่าก็ต้องคุยกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) สองหน่วยงานนี้ออกจะยิ่งใหญ่คับฟ้า ยากที่ใครจะแตะต้องได้
ปัญหาคุณภาพบริการ ผู้ใช้ก็โยนบาปให้กับไอเอสพีเพราะไม่เข้าใจเนื้อแท้ของปัญหาว่า
เกิดจากหน่วยราชการที่ประพฤติเยี่ยงเจ้าใหญ่นายโต ในภาวะเช่นนี้ ทางเลือกของ
ดร. กนกวรรณ คือ ถ้าไม่คิดเป็นหญิงแกร่ง ก็ต้องกลายเป็น "หญิงกรอบ"
นั่นเอง
ดูเหมือนเธอจะเลือกอย่างแรก "ผู้ที่ทำอินเตอร์เน็ตขาดทุนกันทุกราย
แต่คนก็มักจะตั้งคำถามว่า ขาดทุนแล้วทำไมถึงทำล่ะ ดิฉันก็ขอตอบว่า ที่เราทำก็เพราะยังมีความหวังว่าระบบกฎเกณฑ์ต่าง
ๆ มันจะดีขึ้น คราวนี้ถ้าถามว่าขาดทุนแล้วยังอยู่ได้อย่างไร ก็คงต้องตอบว่า
อาศัยสายป่านยาว" ดร. กนกวรรณกล่าว
ในความเข้าใจของเธอ ไอเอสพีทั้งสิบสองราย ต่างเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยการ "learning
By Doing" มิใช่รู้ตื้นลึกหนาบางไปเสียทุกเรื่อง เพียงแค่เห็นว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มน่าสนใจ
ก็โดดเข้ามาทำ เข้าทำนองจะตกรถไฟขบวนนี้ไม่ได้ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งพบปัญหา
ดร. กนกวรรณไม่เห็นด้วยที่จะนำบริการอินเตอร์เน็ตไปเปรียบเทียบกับ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
และบริการเพจเจอร์ เพราะถือว่า อินเตอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญสูงสุด
ก่อให้เกิดธุรกิจตามมาอีกมากมาย นอกจากนี้เธอยังเน้นเป็นพิเศษว่า "โทรศัพท์และเพจเจอร์ถือได้ว่า
เป็นธุรกิจที่ได้สัมปทานจึงมีมาร์จินที่จะเอาไปจ่ายแก่หน่วยงานของรัฐได้ในขณะที่อินเตอร์เน็ตนั้นเข้าข่ายเปิดเสรีไปแล้ว
มีการแข่งขันสูง จึงยากที่จะมีผลกำไรไปจ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐ"
เดิมทีดูเหมือน กสท. หวังคุมกำเนิดอินเตอร์เน็ต โดยจะให้มีไอเอสพีแค่ 2-3
รายและเคเอสซี ก็หลงเชื่อ แต่แล้ว กสท. ก็ทานกระแสคัดค้านไม่ไหว อนุมัติให้มีไอเอสพีไปแล้วถึง
12 ราย เคเอสซีจึงพบการแข่งขันหนักหน่วงถึงขั้นตัดราคา
ดร. กนกวรรณจึงดูจะเงียบต่อไปไม่ได้แล้ว จึงกล้าแสดงความเห็นสวนทาง กสท.
โดยไม่คร้ามเกรง ก็ใช่ว่า กสท. จะพอใจหรอกเพราะท่าทีเช่นนี้เป็นการสะท้อนความขัดแย้งระหว่างไอเอสพีกับ
กสท. หลังจากถ้อยทีถ้อยอาศัยในแบบไอเอสพีต้องอัดอั้นมาโดยตลอด
เมื่อไม่นานมานี้ ดร. พานิช เหล่าศิริรัตน์นักวิชาการแห่งสำนักเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ
(NTC) ก็เคยวิจารณ์ กสท. ในงานสัมมนาครั้งหนึ่งว่า "ถ้าอยากให้การบริการอินเตอร์เน็ตมีคุณภาพก็ต้องเลิกการผูกขาดของ
กสท." ทำให้ผู้บริหารบางระดับของ กสท. ไม่พอใจมาก
"เขาคงไม่รู้สินะว่าในการสัมมนาวันนั้น ก็มีคนของ กสท. เข้าไปฟังอยู่ด้วย
เขาวิจารณ์ กสท. อย่างไม่มีเหตุผล ต่างก็เป็นหน่วยงานราชการด้วยกันแล้วมาด่ากันทำไม"
แหล่งข่าวใน กสท. กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ปัญหาเฉพาะหน้าของ ดร. กนกวรรณในเวลานี้ ก็คงจะเป็นเรื่องพิษเงินบาทลอยตัว
ส่งผลกระทบไอเอสพีและวงการไอทีหนักหน่วง เพราะย่อมทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและยูสเซอร์ก็คงชะลอการใช้บริการ
อย่าว่าแต่เป็นสมาชิกอินเตอร์เน็ตเลย เอาแค่จะซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่มาทำฉุยฉาย
ก็คงต้องชะลอการซื้อออกไปก่อน แนวโน้มรายได้ของไอเอสพีในปีนี้จะลดลง และแอพพลิเคชั่นด้านบริการที่ไม่สำคัญ
ก็ย่อมจะถูกตัดไป
นี่เป็นเรื่องที่ ดร. กนกวรรณพอทำใจได้ เพราะเป็นวงจรขึ้นลงของเศรษฐกิจ
อีกทั้งในระยะที่ผ่านมา ก็มีเรื่องที่ทำให้เธอมีความสุขใจจนพอจะหักลบกันได้คือ
การได้รับดุษฎีบัณฑิตด้านอินเตอร์เน็ต เป็นคนแรกของประเทศไทย โดยที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
(ABAC) จัดพิธีประสาทปริญญาให้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
วิทยานิพนธ์ชิ้นสำคัญของ ดร. กนกวรรณ คือ "รหัสลับอินเตอร์เน็ต"
มีศาสตราจารย์ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมานเป็นที่ปรึกษา ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารการประชุมประจำปีครั้งที่
13 ของสมาคมนานาชาติด้านการจัดการ ซึ่งจัดประชุมที่ประเทศแคนาดา นอกจากนี้ยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารการประชุมของสมาคมนานาชาติด้านการประมวลข้อมูล
ซึ่งจัดประชุมที่สหรัฐอเมริกา
เปรียบเทียบกันแล้ว ปัญหาเงินบาทลอยตัวกับปัญหาจากหน่วยงานรัฐ เช่น กสท.
และ ทศท. ประการหลังดูเหมือนจะทำให้เธอรู้สึก "คาใจ" มากกว่า เพราะค่าบริการที่แพง
ตลอดจนสายโทรศัพท์ที่เต็มไปด้วยความคับคั่งก็อาจทำให้ลูกค้าหันไปตั้งเว็บไซต์ที่ต่างประเทศ
ทำให้ไอเอสพีไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน แต่การที่จะทำให้บริการอินเตอร์เน็ตในไทยมีราคาถูกเหมือนในสหรัฐอเมริกา
ดร.กนกวรรณก็เชื่อว่ามิใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ
อันที่จริงการที่จะมีคนไปใช้เว็บไซต์ที่ต่างประเทศป้องกันไม่ได้ เพราะการใช้งานของแต่ละคนต่างกัน
บริษัทที่ติดต่อกับต่างประเทศจะไม่ตั้งเว็บไซต์ในไทย เหตุผลคือลูกค้าอยู่ที่อเมริกา
ติดต่อไปที่นั่นจะคุ้มกว่า
"อเมริกาเป็นศูนย์รวมของอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องเสียค่า leased line
(สายเช่า) มาถึงไทย ค่าบริการจึงถูกกว่า ทำอย่างไรเมืองไทยก็มีค่าบริการถูกกว่าไม่ได้แน่
แต่ถ้าเมืองไทยเป็นศูนย์กลางของอินเตอร์เน็ต อเมริกาต้องต่อเข้ามาที่ไทยบ้าง
ถ้าราคายังไม่ลด อันนี้มาว่ากันได้เลย"
ยามว่างจากงานบริหาร ดร. กนกวรรณก็จะหย่อนใจอยู่กับการจัดดอกไม้ จนสิ่งนี้กลายเป็นนิสัยประจำตัวไปแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้การสะสมแจกันจึงเป็นงานอดิเรกที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกัน
วันนี้ ดร. กนกวรรณสามารถพูดคุยถึงเรื่องเหล่านี้ได้อย่างอ่อนโยนและมีสีสันต่างจากการพูดถึงอินเตอร์เน็ตในลีลาเร้าใจมากขึ้นทุกที