กองทุนสำรองเลี้ยงชีพผวาตลาดหุ้นผันผวนทยอยทิ้งหุ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นปี 48 เผยยอดขายสุทธิกว่า 6 พันล้าน บาท หลังบอบช้ำผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีก่อนหน้า ดำดิ่งจนโงหัวไม่ขึ้น บอร์ดกองทุนสำรองฯสั่งลดสัดส่วนการลงทุน
จากการสำรวจของ "ผู้จัดการรายวัน" ภาพรวมธุรกิจกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ ณ สิ้นปี 2548 ยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง แม้บางส่วนผู้ประกอบการที่เตรียมจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะชะลอจัดตั้ง กองทุนเพื่อรอความชัดเจนในการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่รัฐบาลมีแนวคิดเป็นแหล่งเงินออมภาคบังคับให้แก่ประชาชน
โดย ณ สิ้นปี 2548 พอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 345,895.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2547 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 305,462.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40,433.67 ล้านบาท
สำหรับพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นสามัญในปี 2548 ปรากฏว่า โดยภาพรวมบริษัทจัดการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญลง โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2548 พอร์ตการลงทุนในหุ้นสามัญลดลงเหลือเพียง 35,868 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2547 มีพอร์ตลงทุนในหุ้นสามัญกว่า 41,879.66 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 6,011.66 ล้านบาท
โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2548 มีการลดสัดส่วนลงทุน ต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ในเดือนมกราคม 2548 พอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นสามัญมียอดขายสุทธิ 908.03 ล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์มียอดซื้อสุทธิ 2,634.01 ล้านบาท เดือนมีนาคมขายสุทธิ 4,101.47 ล้านบาท เดือนเมษายนขายสุทธิกว่า 4,625.68 ล้านบาท
สำหรับพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นสามัญในเดือนพฤษภาคม 2548 มียอดซื้อสุทธิ 2,146.98 ล้านบาท เดือนมิถุนายน ซื้อสุทธิ 192.29 ล้านบาท เดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 1,584 ล้านบาท เดือนสิงหาคม ขายสุทธิ 409.27 ล้านบาท เดือนกันยายนซื้อสุทธิ 3,098.61 ล้านบาท เดือนตุลาคม ขายสุทธิ 562.69 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายน ขายสุทธิ 233.11 ล้านบาท และเดือน ธันวาคม ขายสุทธิกว่า 1,656.29 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) กล่าวว่าแนวโน้มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องในส่วนของการส่งเม็ดเงินเข้าสมทบเพิ่ม แต่สำหรับการจัดตั้งกองทุนใหม่ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจจัดตั้งกองทุนใหม่ เนื่องจากยังรอความชัดเจนในการจัดตั้งกองทุน บำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจ จัดตั้ง เนื่องจากเกรงว่า ต้องส่งเงินสมทบทั้งในส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนภาคบังคับ
"ต้องยอมรับว่าแม้เม็ดเงินในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เพราะผู้ประกอบการหลายรายชะลอการตัดสินใจตั้งกองทุนเพื่อรอความ ชัดเจนการจัดตั้ง กบช. ที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดจัดตั้งเพื่อเป็นแหล่ง เงินออม และนำเงินบางส่วนไปใช้ลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของรัฐบาลในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าที่มีมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้าน บาท"
สำหรับสาเหตุที่ทำให้พอร์ตการ ลงทุนในตลาดหุ้นของบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปรับตัวลดลง เนื่องจากในช่วงปี 2547 กองทุนสำรอง เลี้ยงชีพที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ผลตอบแทนจากการลงทุนต่างติดลบตามแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นที่มีความผันผวนมาก และผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นตามดัชนีตลาดปรับตัวลดลงกว่า 14% ซึ่งในส่วนของผลการดำเนินงาน ของบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละแห่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
"ในปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ละกองทุนมีนโยบายลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นลงเพื่อป้องกัน ความเสี่ยงจากการลงทุน เพราะประเมินว่าแนวโน้มน่าจะมีความผันผวน ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในตลาดหุ้นปรับตัวลดลงตาม"
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปีนี้ หลาย บลจ.พยายามที่จะทำความเข้าใจกับลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีความเข้าใจการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับที่ต่างกัน โดยเฉพาะในส่วนของ Employee's Choice เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการ ลงทุนที่มีความแตกต่างกัน และสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง
|