พลันที่สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแถลงผลงานในรอบ 6
เดือนที่ผ่านมาหลังการเข้ารับตำแหน่ง สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความภูมิใจของรัฐมนตรีหนุ่มผู้นี้ก็ตรงที่
สามารถเร่งรัดโครงการระบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากโครงการที่หลายคนแทบจะสิ้นหวังอย่าง
"โฮปเวลล์" ได้
สุวัจน์เน้นย้ำว่ามีความคืบหน้าอย่างมากในยุคที่เขารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีคนเก่าก่อนที่ผ่านมา
แต่บนความภาคภูมิใจเพราะสามารถเร่งรัดให้เกิดโครงการยักษ์ได้นั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า
โฮปเวลล์เหลือเวลาให้ต่อรองกับกระทรวงคมนาคมของไทยได้มากที่สุดภายในปี 2541
เท่านั้น
ซึ่งหากนับถอยหลังกันแล้ว เหลือเวลาอีกอย่างมากไม่ถึง 18 เดือนที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากฮ่องกงจะเนรมิตโครงการระยะแรกให้ทันตามกำหนด
แม้ฝ่ายไทยยังมีความพยายามเชื่อมั่นว่า กอร์ดอน วู ประธานกรรมการบริษัท
โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด จากฮ่องกง คงจะไม่ใช่นักธุรกิจข้ามชาติที่หลอกลวงคว้าสัมปทานขนาดใหญ่ไปถือครองด้วยสิ่งตอบแทนก็คือการพัฒนาที่ดินผืนงาม
ของกรุงเทพมหานครก็ตาม
เพราะจากการที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอังกฤษให้ได้ใช้คำนำหน้าว่า
"เซอร์" ได้นั้น คงเป็นการรับประกันคุณภาพของเจ้าของบริษัทก่อสร้างแห่งนี้ได้
แต่มีความเชื่อในอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่า เซอร์กอร์ดอน วู คงไม่สามารถสานฝันของเขาในประเทศไทยได้สำเร็จเพราะอุปสรรคที่มากมายนับตั้งแต่เริ่มตัดสินใจทุ่มการลงทุนมาแผ่นดินนี้
จากการไม่มีแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเงินที่ชัดเจนส่งมาให้
กอร์ดอน วู เคยวาดฝันกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่าจะช่วยสร้างรายได้ทดแทนการลงทุนระบบขนส่งสาธารณชนได้อย่างมาก
แต่ก็ไม่เป็นไปตามคาด เพราะวางแผนไว้ผิดเป้าหมายทุกกรณี
นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักธุรกิจฮ่องกง ติดขัดในการลงทุนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ของนักลงทุนต่างถิ่นก็คือ ความไม่เข้าใจในระบบการทำงานของหน่วยงานรัฐไทย
และการประสานงานต่างหากที่ทำให้โฮปเวลล์ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับขนาดยักษ์ไม่ได้สักที
กอร์ดอน วู เชื่อมั่นในการเป็นบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ จากการที่มีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเป็นหลักรับรอง
ทั้งทางหลวงในประเทศจีน และโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ ขณะที่โครงการขนาดใหญ่อย่างในประเทศไทยนี้คงไม่มีใครกล้าเข้ามาทำอย่างแน่นอน
หลายคนบอกว่า กอร์ดอน วูไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานในประเทศไทยเลยว่า
หากคุณเป็นบริษัทก่อสร้างที่ต้องเข้ามาใช้พื้นที่ขนาดมหาศาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก
และอยู่ในความดูแลของหลายหน่วยงาน คุณจะต้องทำอะไรบ้าง แม้เจ้าตัวจะเทียวบินไปมาระหว่างไทยกับฮ่องกงหลายสิบครั้งเพื่อเจรจากับผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลไทย
หรือแม้แต่ผู้ประสานงานฝ่ายไทยคืออนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ จากซีทีไอมาช่วยสานงานให้กับข้าราชการการเมือง
และกอร์ดอน วูด้วยก็ตาม
สิ่งที่กอร์ดอน วู สามารถทำได้ก็คือการประสานงานกับบุคคลระดับบน แต่เมื่อลงในรายละเอียดนั้นกลับผิดคาด
เพราะอุปสรรคมีมากมายกว่าที่คิด
ด่านแรกคือการรถไฟแห่งประเทศไทย เจ้าของสัมปทาน ผู้เป็นผู้ดูแลที่ดินซึ่งโฮปเวลล์จะเข้าไปทำประโยชน์
โฮปเวลล์ไม่มีรายละเอียดแผนเพื่อจะโยกย้ายถ่ายเทพื้นที่อาคารที่อยู่ในความดูแล
ส่งมาให้ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ
การประสานงานที่ชัดเจน ระหว่างเจ้าของสัมปทาน และผู้รับสัมปทานก็ไม่มีเนื่องจากความเข้าใจพื้นฐานการทำงานที่แตกต่างกัน
ความรอบคอบของหน่วยงานก็เป็นอีกด่านหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท. ผู้ปฏิบัติงานย่อมอยู่ในฐานะที่ไม่กล้าให้รายละเอียดด้านเทคนิคก่อสร้างผ่านเลยไปโดยไม่ตรวจสอบ
เพราะผู้รับผิดชอบอาจมีความผิดทางวินัยที่ละเลยงานที่สำคัญเพราะการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มาตรฐาน
อาจจะสร้างปัญหาได้ในอนาคตภายหลังการใช้งาน
ยิ่งข้ามหน่วยงาน เรื่องการก่อสร้างที่ต้องไปโยงใยกับหน่วยงานอื่น เช่น
กรุงเทพมหานคร ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ กรมทางหลวง ก็ยิ่งวุ่นวายสับสนมากไปอีก
ขณะที่คนซึ่ง กอร์ดอน วู ส่งมาควบคุมการปฏิบัติงานนั้นก็ไม่ใช่คนไทย อันเป็นเหตุผลมาจากความไม่ไว้ใจฝ่ายเจ้าของท้องถิ่นหรือไม่นั้นไม่อาจตอบได้
แต่ผู้บริหารที่มาดูแลในบางเรื่องก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องรอให้กอร์ดอน
วู เป็นผู้ชี้ขาด ยิ่งเมื่อไม่เข้าใจเรื่องขั้นตอนการทำงานด้วยแล้ว ก็ส่งผลให้งานออกมาได้ล่าช้าเช่นกัน
ในระดับผู้บริหารประเทศคือ รัฐบาลไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบบ่อยมาก
หากนับแล้ว ตั้งแต่เริ่มโครงการจนมาปัจจุบัน กอร์ดอน วู ต้องเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วถึง
7 คนในระยะเวลาเกือบ 7 ปีนับตั้งแต่เริ่มเซ็นสัญญา
ทุกรัฐมนตรี และทุกรัฐบาลไม่มีใครกล้าตัดสินใจ หรือไม่ทันได้ตัดสินใจดำเนินการที่ชัดเจนกับโครงการโฮปเวลล์
บนเงื่อนไขมาตรการที่ว่าหากดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับโฮปเวลล์ก็คือการปรับ
แต่สัญญาก็ไม่ได้มีระบุไว้ว่าจะให้ปรับได้ ในเมื่อบริษัทยังอยู่ในช่วงของการก่อสร้างตามกำหนด
นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่าบริษัทไม่สามารถทำงานได้ทันซึ่งก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์นานพอดู
เรื่องบอกเลิกสัญญายิ่งทำได้ยากกว่า เพราะหมายถึงผลกระทบในระยะยาวที่จะตามมา
ตั้งแต่การถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ภาพพจน์ที่ย่ำแย่ลงไปอีกของประเทศไทยจากนักลงทุนต่างชาติ
การหาเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการทดแทน ซึ่งคงยากยิ่งกว่า เนื่องจากมูลค่าลงทุนที่จะสูงขึ้น
กับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มกับการลงทุน
ผนวกกับโครงสร้างเหนือผิวดินที่โฮปเวลล์ดำเนินการไปแล้ว จะกลายเป็นอนุสรณ์ที่ตอกย้ำถึงความล้มเหลวในสัมปทานด้านระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่
ของไทยในยุคที่เศรษฐกิจบูมสุดขีด แต่ขาดการวางแผนระยะยาวรองรับ
สิ่งเหล่านี้ช่วยยืดระยะเวลาให้กับกอร์ดอน วูได้เพื่อไปวิ่งเต้นหาแหล่งเงินกู้มาสนับสนุนโครงการ
และตอนนี้สถานการณ์ของกอร์ดอน วูก็งวดเข้ามาทุกที เมื่อผู้รับเหมาก่อสร้างทำท่าจะไม่ทำงานต่อ
และกอร์ดอน วูต้องบินไปต่างประเทศเพื่อเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหาเงินมากอบกู้โครงการ
กระทรวงคมนาคมต้องเตรียมการเมื่อรู้แน่นอนว่าในปี 2541 โครงการโฮปเวลล์ไม่สามารถก่อสร้างระยะแรกช่วงยมราช-รังสิตได้เสร็จทันแน่นอนก็คือ
การเปิดโต๊ะเจรจากับกอร์ดอน วู อีกครั้ง โดยเปิดทางเลือกสายใหม่ว่ารอมชอมกับโฮปเวลล์ว่าจะยังก่อสร้างได้ต่อไปหรือไม่
แม้ระยะเวลาจะล่าช้าออกไปอีกประมาณ 1-2 ปี เพราะกระทรวงคมนาคมยังไม่กล้าตัดเยื่อใยกับโฮปเวลล์
อีกแนวทางหนึ่งก็คือ เปิดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นแม่งานหลักที่จะทำการก่อสร้างเองแล้วปรับโครงสร้างของระบบทางรถไฟยกระดับเสียใหม่
ไม่ให้ซับซ้อนจนยากแก่การลงทุนมากเกินไป
หากเป็นอย่างหลัง ฝ่ายการรถไฟฯ ก็ต้องตั้งหลักให้ได้ว่า จะหาแหล่งเงินและผู้รับเหมาก่อสร้างมาได้อย่างไร
เพราะคงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณายาวนานมากพอสมควร โครงการที่ล้มเหลวขนาดนี้
ย่อมหาแหล่งเงินทุนได้ลำบาก ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจของไทย กับค่าเงินบาทลอยตัว
มูลค่าการก่อสร้างย่อมต้องสูงขึ้นมหาศาล
แม้จะเป็นไปได้ แต่ทางเลือกนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้น เพราะมังกรผงาดอย่างกอร์ดอน
วู ย่อมไม่ยอมให้ธุรกิจของตนเอง ต้องเสียท่าจากโครงการในประเทศไทย อันจัดได้ว่ามีมูลค่าลงทุนสูงสุดของโฮปเวลล์
หากเกิดเช่นนั้นจริง ตัวโฮปเวลล์เองก็อาจต้องหมดสภาพไปพร้อมกับโครงการด้วย