แบงก์ชาติปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 49 จาก 4.5-6.0 มาอยู่ที่ 4.75-5.75% ยกเหตุ "ส่งออกขยายตัว-ลงทุนภาคเอกชนเพิ่ม"ช่วยขับเคลื่อน ออกตัวว่าอาจจะได้แค่กรอบขั้นต่ำ 4.75% ด้านปัจจัยเสี่ยงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและราคาน้ำมันที่อาจสูงขึ้นกว่าที่คาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อลดอยู่ที่ 3.5-5.0% เหตุเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวจากราคาน้ำมัน และเงินบาทแข็งค่า
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2549 ว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 4.75-5.75% จากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ในระดับ 4.5-6.0% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ถึง 81% ส่วนปี 2548 จะขยายตัว 4.5%
"ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจปี 2549 ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะมาทาง 4.75% มากกว่าที่ขยายตัวได้ ในด้านสูงคือ 5.75% โดยในไตรมาสแรกของปี เศรษฐกิจจะขยายตัว 5.5-7% ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 4.5-6.5% ไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3.5-5.5% และไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 3.5-5.5% เช่นเดียวกับไตรมาสที่ 3" นางอัจนากล่าว
ทั้งนี้ ธปท.มองว่าปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดัน ให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง คือภาคการส่งออกที่ประมาณการว่าจะขยายตัว ในอัตราที่ 10-12% ซึ่งสูงกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่ 7.5-10% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกและประเทศคู่ค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า ที่คาดการณ์ไว้ และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่คาดว่าการนำเข้าจะขยายตัว 8-10% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 6-8.5% ส่วนดุลการค้าของไทยในปี 2549 จะยังคงขาดดุลใน ระดับใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 7,000-9,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ แต่ดุลบริการที่ปรับตัวดีขึ้นจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ขาดดุล 2,000-4,000 ล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 2,500-4,500 ล้านบาทในการประมาณการครั้งก่อน
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนภาคเอกชนที่จะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดย ธปท.คาดการณ์ว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 9.5-10% สังเกตได้จากการใช้กำลังการผลิตที่เริ่มเต็มกำลังการผลิตในหลายภาคและอัตราผลตอบแทน (กำไร) สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายอย่างเห็นได้ชัด
ในส่วนของการลงทุนภาครัฐนั้น ธปท.ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 12.5-13.5% เดิมที่อยู่ในระดับ 16-17% เนื่องจากเห็นว่าเม็ดเงินจริงในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์) ยังไม่มีการเบิกจ่ายในปี 2549 นี้ โดยคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนเมกะโปรเจกต์เพียง 53% ของงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น หรือในส่วนของภาครัฐประมาณ 70,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 65,000 ล้านบาท
"การลงทุนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความมั่นใจของภาคธุรกิจ แต่จากการสำรวจพบว่าความมั่นใจของภาคธุรกิจต่อเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นใน 3 เดือนหลังของปี 2548 และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ปัจจัยทางการเมือง และความมั่นใจในรัฐบาลก็มีผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนด้วย ซึ่งแม้ว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในปีที่ผ่านมา จะไม่ดี แต่การลงทุนยังขยายตัวได้ในอัตรา 11-12% และปีนี้ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นน่าจะน้อยกว่าปีก่อน"นางอัจนา กล่าว
สำหรับการบริโภคภาครัฐ และเอกชนนั้น ธปท.ประมาณการว่าจะยังมีแรงขยายตัวได้ในอัตรา 3.5-4.5% ลดลงจากปี 2548 ที่ขยายตัว 5-6% โดยการขยายตัวจะมาจากรายได้เกษตรกร ที่ยังขยายตัวได้ในอัตราที่สูงมากและสัดส่วนคนมีงานทำที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากลดลงต่อเนื่อง
นางอัจนา กล่าวต่อถึงเสถียรภาพภายในประเทศว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2549 จะอยู่ที่ 3.5-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2-3% หากราคาน้ำมันดิบดูไบไม่เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 57.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น และ ธปท.ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเปลี่ยนจากลบเป็นบวก ส่วนอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร กลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น ธปท. คาดว่าจะอยู่ในทิศทางขาขึ้นเช่นกัน และน่าจะยุติการปรับขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาของปี 2549 ที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ตามที่คาดการณ์ คือความเชื่อมั่นของนักลงทุน ราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง รวมทั้งค่าเงินภายใต้ปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯและการปรับนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯเป็นแนวโน้มทรงตัว
นางอัจนา ยังกล่าวถึง การประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2550 ด้วยว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2550 จะขยายตัวในอัตรา 4.5-6% ขณะที่อัตรา เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2-3.5% หากราคาน้ำมันไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาจนเกินไป และปี 2550 เป็นปีที่ 3 ที่ไทยจะขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด โดยขาดดุลการค้า 7,000-10,000 ล้านบาท และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2,000-5,000 ล้านบาท การส่งออกขยายตัว 6-9% ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 7-10% การลงทุนภาครัฐ และเอกชนขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับปี 2549 ที่ 10-11% และการบริโภค ภาครัฐ และเอกชนขยายตัวในอัตรา 3.5-4.5%
|