"อินเด็กซ์"แตกไลน์ผลิตเก้าอี้สนามบินขายทั่วเอเชีย หลังซื้อไลเซนส์ AKABA จากประเทศสเปนติดตั้งให้สนามบินสุวรรณภูมิ ระบุผลิตได้ถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศถึง 50% คาดตลาดเฟอร์นิเจอร์ปี 49 โต 10% แนะออกดีไซน์สินค้าใหม่ ตลอดเวลา หวังหนีตลาดจีน
นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เฟิร์น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีแผน ที่จะผลิตเก้าอี้สนามบินจำหน่าย ภายใต้แบรนด์สินค้า AKABA จากประเทศสเปน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเก้าอี้สนามบินอันดับต้นๆของโลก โดยตั้งเป้าจำหน่ายในประเทศแถบเอเชีย ส่วนในยุโรปนั้นจะเป็นผู้ผลิตให้แก่ AKABA เป็นผู้จำหน่าย เพื่อไม่มีผลต่อการทำตลาด คาดว่าแผนการดำเนินการจะได้ข้อสรุปในเร็วนี้ ซึ่งการผลิตดังกล่าวบริษัทได้ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ แผนผลิตเก้าอี้สนามบินดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก บริษัทประมูลได้งานติดตั้งเก้าอี้สนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 20,000 กว่าที่นั่ง มูลค่า 70 ล้านบาท นับเป็นการติดตั้งเก้าอี้สนามบินที่มากที่สุดในโลก โดยบริษัทได้ซื้อไลเซนส์ของ AKABA แล้วนำมาผลิตเอง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการติดตั้งดังกล่าวถือว่าช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณได้กว่า 50% เนื่องจากหากสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีมูลค่าสูงถึง 150 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ทำให้บริษัทได้รับประมูลงาน คือ ด้านเทคนิค, กำลังการผลิต และการบริหารจัดการเรื่องระบบลอจิสติกส์
ปัจจุบันการติดตั้งคืบหน้าไปแล้ว 80% จากเดิมที่สามารถติดตั้งไม่นาน เนื่องจากผลิตเก้าอี้เสร็จแล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำให้ล่าช้าเนื่องจากทางสนามบินส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเพราะงานปูพื้นยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเฟอร์นิเจอร์สำนักงานในสนามบิน รวมมูลค่างานในสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมประมูลงานเฟอร์นิเจอร์สำนักงานกับหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะศูนย์ราชการย่านเมืองทอง ส่วนโครงการที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารทหารไทย, สำนักงานใหญ่บริษัท ฟอร์ด เป็นต้น
สำหรับภาพรวมของตลาดเฟอร์นิเจอร์ว่า จะมีอัตราการเติบโตควบคู่ไปกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือประมาณ 10% ส่วนการแข่งขันนั้น เชื่อว่าผู้จัดจำหน่ายมีจำนวนเท่าเดิม แต่ตลาดจะแข่งขันในเชิงการให้ประโยชน์สูงสุด เพราะตลาดเป็นของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคเป็น ผู้เลือกและตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง
"ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคเรียนรู้ มาก และมีความรู้ในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการก็พยายามให้ลูกค้ารับรู้ว่าของดีเป็นยังไง"
นอกจากการสร้างคุณภาพสินค้าแล้ว ยังต้องออกสินค้าดีไซน์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อหนีการก๊อบปี้สินค้าทั้งจากภายในประเทศและจากจีน, เวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่น่ากลัว เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งแรงงาน วัสดุ โดยเฉพาะกระจก ที่นำมาเป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจีนมีต้นทุนการผลิตกระจกต่ำกว่าไทยถึง 50% ในขณะที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้การแข่งขันยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสินค้า คือ ราคาและคุณภาพเป็นเครื่องชี้วัด
"ตลาดต่างประเทศ การแข่งขันหนักๆ มา 5 ปีที่ผ่านมานี้ แต่เราเคยเจอมา 10 ปีแล้ว และเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เราต้องปรับตัวเร็วไม่ใช่แค่ดีไซน์ เรามีจุดแข็งในเรื่องของสัญญาธุรกิจที่ทำกับคู่ค้า แต่จีนไม่มี หากส่งให้จีนผลิตอาจถูกก๊อบปี้สินค้าได้ซึ่งจีนมีข้อเสียตรงนี้ ความร่วมมือถือเป็นจุดแข็งของเรา" นายกิจจากล่าว
ส่วนการแข่งขันในไทยนั้นแม้ว่าจะมีผู้ส่งออกหลายรายที่หันกับเข้ามาทำตลาดในประเทศ แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจาก ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังขาดคุณบัติอีกหลายประการ ได้แก่ 1. แบรนด์สินค้าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในตลาดเป็นวงกว้าง 2. ช่องทางการจำหน่าย ที่มีจำนวนจำกัด 3. การดีไซน์สินค้า และ 4. ต้องคุมค่าคุ้มราคา ซึ่งจะเป็นตัวชีวัดว่าสินค้านั้นดีหรือไม่ดี และคุณสมบัติเหล่านี้ล้วนต้องใช้ระยะเวลาในการสร้าง
โดยในส่วนของบริษัท ได้พยายามพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น ในแต่ละปีจะออกแบบสินค้าดีไซน์ใหม่ประมาณ 250 แบบ ออกทุกไตรมาส ไตรมาสละกว่า 60 แบบ ปัจจุบันมีทีมดีไซเนอร์กว่า 20 คน และเพื่อให้สินค้าถูกออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ บริษัทจึงมีดีไชเนอร์จากประเทศอิตาลีมาออกแบบให้
นายกิจจากล่าวว่า เทรนด์เฟอร์นิเจอร์ในช่วงต่อจากนี้ไป จะเป็นรูปแบบไปในทิศทางเดียวกับที่อยู่อาศัย ที่มีความจำกัดในเรื่องของพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ Module sytem สามารถติดตั้งได้ง่ายและนำมาต่อประกอบการได้หากซื้อชิ้นต่อไปในภายหลัง
สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทใน ปี 2549 ตั้งเป้าเปิดสาขา อินเด็กซ์ ลิฟวิงมอลล์ ใหม่อีก 3 แห่ง โดยเดือนหน้าเปิด สาขาเพชรเกษม และบางใหญ่ เดือนเมษายนเปิดสาขาเชียงใหม่ และคาดว่าจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งในกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาส่วนพันธมิตรที่ซื้อไลเซนส์ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ขณะเปิดสาขาอินเด็กซ์แล้ว 3 สาขาและเปิดเพิ่มอีก 3 สาขาในปีนี้
ส่วนเป้ารายได้ตั้งไว้ที่ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นขายในประเทศ 50% ส่งออก 50% ใน 100 ประเทศ โดยเน้นประเทศใหญ่ อาทิ อเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับการลงทุนในระบบลอจิสติกส์ ซึ่งเป็นระบบ SAP และคลังสินค้าแห่งใหม่ย่านบางบอน มูลค่า 500 ล้านบาท พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 40 ไร่ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้เต็ม 100% ในช่วงกลางปีนี้
|