|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"กรุงไทย-ทหารไทย" ใช้จุดแข็งสร้างโอกาสโครงการ เมกะโปรเจกต์ แย่งมาร์เกตแชร์ปล่อยกู้ มั่นใจเป็นแบงก์ใกล้ชิดและเป็นพันธมิตรภาครัฐ "กรุงไทย" โชว์กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ ลูกค้าเก่า ดึงมาร์เกตแชร์ปล่อยกู้กว่า 10% เน้นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง "ทหารไทย" สนใจโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเพราะเป็นผู้ถือหุ้นและลูกค้ามาก่อน หวังมาร์เกตแชร์ปีนี้กว่า 12%
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารให้ความสนใจที่จะปล่อยสินเชื่อในโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยได้เตรียมเม็ดเงินไว้สำหรับการปล่อยกู้หลายหมื่นล้าน ซึ่งธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเคยเป็นลูกค้าธนาคารบ้างแล้วหรือเป็นลูกค้าใหม่ ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้รับเหมาประมาณ 6-7% ของสินเชื่อทั้งหมด โดยโครงการที่ธนาคารให้ความสนใจคือ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน
นายปรีชา ภูขำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารให้ความสนใจเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ทั้งด้านการปล่อยกู้โดยตรง รวมทั้งการให้บริการหรือสนับสนุนด้านอื่น เช่น การเป็นที่ปรึกษา ออกหนังสือค้ำประกัน ฯลฯ ซึ่งในปีนี้คาดว่ารัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญด้านโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน และระบบน้ำเป็นหลักก่อน เนื่องจากมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศธนาคารจะใช้จุดแข็งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้ว
รวมทั้งธนาคารยังได้เปรียบทางด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งจุดแข็งดังกล่าวเชื่อว่าสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้ในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อหรือให้บริการด้านการเงินต่างๆ ในโครงการเมกะโปรเจกต์ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเตรียมความพร้อม หากรัฐบาลประกาศโครงการและมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ชัดเจนแล้ว ธนาคารก็พร้อมที่จะลุยธุรกิจทันที
"เรามั่นใจถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด รวมทั้งได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐหรือวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชนที่อยู่ในกลุ่มเกี่ยวข้องกับเมกะโปรเจกต์ รวมทั้งสภาพคล่องของแบงก์ต้นทุนต่ำมีเหลือเพียงพอที่จะปล่อยกู้ให้โครงการได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถแข่งขันกับแบงก์อื่นๆ ได้" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสกล่าว
สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีมูลค่าทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 5 ปีนั้น ธนาคารคาดว่าจะสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดเกี่ยวกับเงินกู้ประมาณ 10% ซึ่งถือว่าเป็นมาร์เกตแชร์ที่สูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยธนาคารได้ปล่อยกู้ให้แก่ภาครัฐในปี 2549 นี้เติบโตประมาณ 10% จากฐานเงินกู้ทั้งหมด 100,000 ล้านบาท หรือประมาณ 25,500 ล้านบาท จะเป็นการปล่อยกู้ให้เมกะโปรเจกต์ในสัดส่วน 5% ของเงินกู้ภาครัฐ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปีนี้คงจะยังไม่มีการเบิกเงินไปใช้ในโครงการฯ คาดว่าในปี 2550 จะเป็นปีที่ใช้เงินในโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างเต็มที่
"การแข่งขันปล่อยสินเชื่อภาครัฐในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแบงก์จะใช้กลยุทธ์ความได้เปรียบต้นทุน และความใกล้ชิดมาเป็นจุดแข็ง รวมทั้งช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แบงก์กรุงไทยถือว่าเป็นแบงก์ใหญ่ได้เปรียบมากกว่าในช่วงดอกเบี้ยที่ต่ำ" นายปรีชาชี้แจง
ทหารไทยมั่นใจปล่อยกู้รถใต้ดินเพราะถือหุ้นใน BMCL
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารให้ความสนใจโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างมาก โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน เนื่องจากบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BMCL เป็นลูกค้าของธนาคารมาก่อน และธนาคารยังเป็นผู้ถือหุ้น ประมาณ 3-4% ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะ ได้รับความไว้วางใจจากรถไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2549 นี้การใช้เงินกู้ของโครงการเมกะโปรเจกต์มีน้อยมาก หรืออาจจะไม่มีเลย เนื่องจากรายละเอียดโครงการยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ในช่วงนี้ธนาคารอาจจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันพันธบัตร หรือการช่วยระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ หลังจากนั้นในปี 2550 เชื่อว่าจะมีรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้อย่างเต็มที่
สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ในปีนี้ น่าจะเป็นโครงการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจมากที่สุดก่อน คาดว่าจะใช้เม็ดเงินในการระดมทุน โครงการปีนี้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และธนาคารน่าจะมีมาร์เกตแชร์ในการปล่อยกู้ประมาณ 12% และในโครงการทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลได้ประกาศโครงสร้างการระดมทุนมาแล้ว โดยจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินโดยตรง 40% ที่เหลือจะเป็นการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งมองว่าแนวโน้มตลาดตราสารหนี้จะเริ่มคึกคัก การระดมทุนในปีนี้น่าจะอยู่ที่ตลาดตราสาร ซึ่งธนาคารจะหารายได้จากการเป็นที่ปรึกษา หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้
|
|
 |
|
|