|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จวกยับดีลขายชินคอร์ปขายประเทศ ฟันธงเป็นโมฆะ ทำนิติกรรมอำพราง ต่างชาติถือหุ้นเกิน 70% ผิดเจตนารมณ์กฏหมาย "อภิสิทธิ์"โต้"ทักษิณ" ไม่มีใครอิจฉา ถามหาความชอบธรรมนายกฯ ขายหุ้นเอาเงินออก จี้ให้เปิดข้อเท็จจริง "สนธิ" ทวงสิทธิการบิน-ดาวเทียมเป็นของประเทศ "เจิมศักดิ์" อัดแม้วอกตัญญูวอนคนไทยขอชื่อพระราชทาน"ไทยคม"คืน ด้าน”สมเกียรติ”ซัดกฎหมายโทรคมนาคมล้ำเส้น WTO เอาประโยชน์เข้าตัว "ชูวิทย์" จวกคนขายก๋วยเตี๋ยวยังถูกรีดเลือดจากปู ด้าน ก.ล.ต.โยนกลอง ตลท.รับผิดชอบสอบอินไซด์ สภา นสพ.มีมติร่วมมือสภาทนายความจับตาซื้อขายหุ้นบิ๊กล็อตกระทบสื่อมวลชน
จากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกมาตอบโต้ผู้วิจารณ์การซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ ว่า เป็นคนขี้อิจฉาและไม่ใช้สมองซีกขวาคิด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนเรียกร้องเป็นเรื่องพื้นฐาน จริยธรรมของผู้นำประเทศ ตนขอยืนยันว่าไม่มีความอิจฉาตาร้อนใดๆ ทั้งสิ้น นายกรัฐมนตรีควรใช้สมองทั้งสองซีกและที่สำคัญ คือ อย่าใช้แต่สมองควรใช้จิตสำนึกด้วย
การซื้อขายหุ้นชินคอร์ปมีหลายเรื่องที่ไม่ตรงไปตรงมา ผมคิดว่าวันนี้ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงให้โปร่งใสว่า เงินที่ขายหุ้นได้ไปอยู่ที่ไหนอธิบายว่าทำไมจะไม่เอาบริษัทลูก หรือมีเจตนาอย่างไรเกี่ยวกับบริษัทลูกทำไมไม่ซื้อหุ้นตรงนั้น ควรบอกให้ชัดเจน เพราะสิ่งที่นายกฯพูดมีสิ่งที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ได้ไปชี้แจงต่อหน่วยงานที่เป็นทางการ
ทั้งนี้ในวันแถลงข่าวมีการพูดชัดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เมื่อวาน(25 ม.ค.) นายกฯบอกว่าถ้าเขาอยากได้บริษัทลูกเขาไม่ไปไล่ซื้อบริษัทลูกหรอกเขาไปซื้อบริษัทแม่ ขณะเดียวกันตอนที่บอกกับ ก.ล.ต. กลับบอกว่าผู้ซื้อไม่มีเจตนาครองงำหรือทำกิจการในบริษัทลูก แสดงให้เห็นว่าไม่ตรงไปตรงมา
"ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นนักธุรกิจคงไม่มีใครว่าอะไร แต่วันนี้ท่านต้องรู้ว่าอยู่ในฐานะอะไร และคำชี้แจงขณะนี้ก็ขัดแย้งกับสิ่งที่เคยพูดโดยสิ้นเชิง ที่บอกว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ตอนนี้กลับยอมรับว่า 4-5 ปีที่ผ่านมามีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ จึงต้องให้ครอบครัวขายหุ้นออกไป ซึ่งหากทำอย่างตรงไปตรงมา คงไม่มีใครติดใจนายกรัฐมนตรี และหากกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ไม่ได้มาเอื้อประโยชน์หรือถูกนำมาใช้เฉพาะกรณีนี้ และหากธนาคารแห่งประเทศไทย ปฏิบัติเช่นเดียวกับทุกคนที่นำเงินออกนอกประเทศ รวมถึงหากคำวินิจฉัยเรื่องภาษีอากรไม่เปลี่ยนไปมาเพื่อจะมารองรับส่วนนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครติดใจ"
ที่สำคัญยังต้องดูถึงประเด็นอื่นๆ ด้วยทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย ผลประโยชน์ และความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจสื่อสารมวลชนต่างๆ ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีมองเพียงเป็นเรื่องธุรกิจก็เท่ากับนายกฯไม่มีความเหมาะสมในการบริหารประเทศ
นายกฯเคยปราศรัยกับนักธุรกิจว่าคนที่รักชาติต้องไม่ไปจดทะเบียนตั้งบริษัทในต่างประเทศ ขณะนี้สิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ก็จะถูกทยอยนำออกมา อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของพรรคกำลังติดตามรายละเอียดการซื้อขายหุ้นดังกล่าวอยู่ โดยจะมีการสรุปข้อมูลอย่างเป็นระบบ ส่วนจะนำเสนออย่างใดจะมีการพิจารณาต่อไป
*ขายชินฯ ยกสิทธิประเทศให้สิงคโปร์
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการายวัน กล่าวว่า ผมคิดว่าพวกเราไม่มีใครอิจฉาริษยาเขาหรอก ที่เขามีเงินถึง 74,000 ล้านบาท แต่ว่าน่าจะตั้งคำถามถามบางคำถาม ยกตัวอย่าง สายการบินไทยแอร์เอเชีย มาเลเซียถือหุ้นอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ วันนี้สิงคโปร์มาถืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับสายการบินนี้เป็นต่างชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ในเมืองไทยแล้วใช้สิทธิการบินของประเทศไทย ถามว่าใครอนุญาต
สอง การที่ขายหุ้นชินคอร์ปซึ่งเป็นเจ้าของ บมจ.ชินแซทเทิลไลท์ (SATTEL)ที่เป็นเจ้าของไทยคม และไอพีสตาร์ ดาวเทียมทุกๆ ดวงที่จะถูกยิงขึ้นไปบนอากาศนั้น จะต้องมีที่เขาเรียกว่าที่จอดดาวเทียม ซึ่งจะต้องขออนุญาตต่อองค์กรอวกาศ สิทธิในการจอดดาวเทียมของชิน ของไทยคม และของไอพีสตาร์ เป็นสิทธิของประเทศไทย ขอในนามประเทศไทย วันนี้เรายกให้กับประเทศสิงคโปร์ไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนไอทีวีเป็นโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นบนกองเลือดของประชาชนสมัยพฤษภาทมิฬ วันนี้เราได้อนุญาตให้สิงคโปร์มาเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
สุดท้าย ตราครุฑที่ได้รับพระราชทาน ปรัชญาของการพระราชทานตราครุฑก็คือ บริษัทคนไทยที่ประกอบกิจการมานาน ทำให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งมีปูนซิเมนต์ไทยก็ได้ตราครุฑ เบียร์สิงห์ก็ได้ตราครุฑ หลายๆ อัน แต่วันนี้ตราครุฑอันนี้อยู่ในบริษัทที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ กล่าวว่า การขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กฯ 49.595 เปอร์เซ็นต์ และก็มีบริษัท nominee มาถือหุ้นแทนอีก ทำให้หุ้นชินคอร์ป ไปตกอยู่ในมือของเทมาเส็กฯ ถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์นั้นครั้งนี้ยังผิดกฎหมาย เจตนารมณ์ของกฎหมาย หนึ่ง สงวนอาชีพไว้ สอง เกิดเหตุการณ์สงคราม อย่างกิจการดาวเทียม กิจการวิทยุโทรทัศน์ ถ้าเกิดมันเกิดภาวะสงครามขึ้น ใครจะคุมได้ ดังนั้นจึงได้บัญญัติไว้ชัดว่า ต่างชาติจะถือหุ้นได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์
"แปลว่ากระทำการผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่ว่าถูกกฎหมาย ก.ล.ต.นั่งอยู่ข้างบนนี่เห็นแล้ว เม็ดเงินที่เข้ามา มาทั้ง nominee มาทั้งซื้อหุ้น รวมแล้วมันเกิน แล้วคุณนั่งดูกฎหมายฉบับนี้ คุณนั่งดูอยู่ได้อย่างไร คุณรู้อยู่นี่ว่าบัดนี้เม็ดเงิน เทมาเส็กฯถือหุ้นอยู่เท่าไร แต่กลับบอกว่า การที่ปล่อยให้เขาใช้อุบาย หรือใช้ช่องว่างของกฎหมายออก นั่นถือ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องดูแล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะปฏิเสธว่านี่เขาซื้อหุ้นในตลาด ถูกต้องตามกฎหมาย นั่นคุณพูดมุมเดียว ไม่พูดภาพรวมทั้งหมดว่าหุ้นทั้งหมดในที่สุดไปอยู่ในมือของใคร และถ้าไปอยู่ในมือของเทมาเส็กเกินกว่าสัดส่วนตามกฎหมาย ถือว่าขณะนี้ปฏิบัติผิดกฎหมายแล้ว การจำหน่ายถ่ายโอนไปนั้นเป็นการฉ้อฉล ตามกฎหมายจะต้องถูกยกเลิกเพิกถอน ให้กลับมาอยู่ในเจตนารมณ์ของกฎหมาย
*ถามถึงแอมเพิลริช นายกฯ ยิ้ม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงถึงกรณีที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความลงเว็บไซต์ โดยระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้จดทะเบียนตั้ง แอมเพิล ริช ที่หมู่กาะบริติชเวอร์จิ้นไอร์แลนด์ โดยคนของครอบครัวนายกฯ มีชื่อถือหุ้น 329,200,000 หุ้น นั้น นายกฯ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว เพียงแต่ยิ้มเท่านั้น
*ชูวิทย์ย้ำเลี่ยงภาษี
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ตนในฐานะนักบัญชีที่ศึกษากฎหมายไปด้วยและมีอาจารย์ชื่อ นายอรัญ ธรรมโน อดีตอธิบดีกรมสรรพากร สอนไว้ว่าการให้สิ่งของ หรือหุ้นโดยเสน่ห์หาต้องมีขอบเขต และสอนว่าการเก็บภาษีจากคนจนแต่ไม่กลับภาษีในตลาดหลักทรัพย์ ดูเจตนารมย์ของกฎหมาย เพราะการไม่เก็บภาษีในตลาดเพราะต้องการดึงดูด ให้คนมาเล่นหุ้น มีการซื้อขาย แต่กรณีที่มีการขายสูงถึง7.3 หมื่นล้าน โดยไม่เสียภาษี เหมือนกลับเป็นการเลี่ยงภาษี
"ผมเชื่อว่ามีการวางแผนมาแล้ว หากคนเป็นพ่อบอกว่า เป็นเรื่องที่ลูกๆ คิดเองได้ ลูกก็คงไม่ต้องไปลอกข้อสอบเขาจนเป็นข่าวหรอก และที่นายกฯพูดตลอดว่าตัวเองเป็นนักเรียนทุนของรัฐแต่ขายหุ้นได้เป็นหมื่นล้านกลับไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว และกรมสรรพากรกลับนั่งนับชาวก๋วยเตี๋ยวแม่ค้า แล้วเก็บภาษีจากชาวบ้านมันหมายความอย่างไร"
การขายหุ้นครั้งนี้เป็นนิติกรรมอำพราง โดยการตั้งบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และแอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด โดยใช้ชื่อของ นายพงศ์ สารสิน ที่มีการมีทุนจดทะเบียนเพียง160 ล้านบาท แต่กลับกู้เงินได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท แถมมีการแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นได้ จาก 25% เป็น 50 % จัดตั้งบริษัทวันที่ 19 ม.ค. แต่มีการซื้อกันวันที่ 23 ม.ค.มันไม่บ้าไปหน่อยเหรอ การซื้อหุ้นโดยการทำ นิติกรรมอำพรางถือว่าการซื้อขายเป็นโมฆะ คนไทย โดนหลอกทั้งชาติและตนยืนยันจะชี้แจงเรื่องนี้
นายชูวิทย์ กล่าวว่า นายกฯ เป็นคนดีที่ผมไม่คบแล้วกัน ผมไม่อิจฉาแต่สงสารประเทศชาติ ผมจบ ม.ธรรมศาสตร์ และท่านอรัญสอนไว้ที่สอนให้รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และฝากถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถ้าจะลาออกก็ออกไปเลย เพราะราคาหุ้นบริษัทของคนในรัฐบาลขึ้นไม่เคยถูกแขวนป้ายอะไร แต่พอเป็นของบริษัทอื่นหุ้นขึ้นกลับถูกแขวนตลอด
นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโสสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การผ่อนผันให้กลุ่มเทมาเส็กฯซึ่งเข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ปไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นชินแซทฯ,ไอทีวี และซีเอส ล็อกซอินโฟนั้นเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามประกาศ ก.ล.ต.ปี 2545 โดยที่ผ่านมาก็มีการพูดว่าทำไมก.ล.ต.ไม่ปกป้องรายย่อย ซึ่งตามเกณฑ์การเทคโอเวอร์นั้นมี 2 ข้อคือปกป้องรายย่อย และ ต้องระมัดระวังไม่ให้เกณฑ์เข้มเกินไป เพราะจะทำให้การเทคโอเวอร์เกิดได้ยากไม่เกิดการพัฒนา
ทั้งนี้ การให้ผ่อนผันนั้นไม่ใช่อำนาจของ ก.ล.ต.แต่เป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเข้าถือครองหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภายนอก ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช ก็เป็นหนึ่งผู้ร่วมร่างประกาศดังกล่าว
โดยที่ผ่านมา ในประเทศไทย มีกรณีที่ขอผันผ่อน 5 กรณี ซึ่งมีการอนุมัติผ่อนผัน 3 บริษัทคือ TMB กับ TCMC โปลิฟิค กับ สวีเดนมอเตอร์ และ โปลิฟิค กับ สแกนดิเนเวียลีสซิ่ง ไม่ผ่อนผัน 2 บริษัท คือ SCC กับ NPC GS-YUASA กับ YUASA
สำหรับราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์แอดวานซ์ที่ต่ำกว่าราคาตลาดนั้น ก็เป็นข้อกำหนดตั้งแต่ปี 2545 ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากเข้าร่วมกันพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่า ประกอบด้วย นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกรณ์ จาติกวณิช นางจงกลณี โดยสมบูรณ์ นายมนตรี ศรไพศาล นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ฯลฯ ไม่เห็นสมควรที่จะมีการใช้ราคาตลาด อ้างอิงเพราะไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง
“หน้าที่ของ ตลท.จะต้องให้บริษัทชี้แจง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ ก.ล.ต. การตรวจสอบอินไซด์ก็เช่นกัน ซึ่ง ก.ล.ต.ก็ต้องรอข้อมูลจาก ตลท. นอกจากนี้ มีผู้ที่เสนอให้มีการทบทวนในเรื่องเกณฑ์การเทคโวเวอร์นั้น ก.ล.ต.ก็ยินดีที่จะรับฟัง ส่วนเรื่องการขายกิจการที่เป็นสัมปทานเป็นเรื่องของกระทรวงที่ดูแลธุรกิจนี้"
ส่วนกรณีนางสาวพิณทองทา และ นายพานทองแท้ ชินวัตร รับโอนหุ้นชิน 329 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท แต่ไม่ปรากฎการทำรายการบิ๊กล็อตในกระดานนั้นทาง ก.ล.ตต้องไปขอดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่ในส่วนการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 ล่าช้า ตลท.มีหน้าที่ตรวจสอบว่าเพราะอะไร
ทั้งนี้วานนี้(26ม.ค.)ยังปรากฏการซื้อขายรายการใหญ่(บิ๊กล็อต)หุ้นชิน 11 รายการ มูลค่า 23.60 ล้านหุ้นมูลค่าการซื้อขาย 1,142.49 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 48.40 บาท
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กทม. กล่าวว่า อยากถาม พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ไม่รู้สึกละอายเลยหรืออย่างไร "ผมเห็นว่าคนไทยควรจะต้องร่วมกันเรียกร้องให้ผู้ทำธุรกิจ เพื่อขอชื่อ”ไทยคม” คืน และนายกฯควรที่จะต้องขอพระราชทานอภัยโทษเสียด้วย เพราะตอนที่ขอพระราชทานเชื่อก็อ้างว่าเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ธุรกิจของคนประเทศไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ตอนี้ในเมื่อไม่ใช่ธุรกิจของคนไทยแล้วก็ต้องคืนนามพระราชทานด้วย"
นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว.สุพรรณบุรี กรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เห็นด้วยที่สังคมจะเรียกร้องขอชื่อ”ไทยคม”คืน จากกลุ่มเทมาเส็กฯ และนายกฯทักษิณ ก็ควรจะขอพระราชทานอภัยโทษ การทำเช่นนี้เท่ากับกลุ่มชินวัตรเอาสมบัติชาติไปขายต่างชาติ เนื่องจากจริงๆกิจการโทรคมนาคม เป็นธุรกิจพิเศษ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เกี่ยวกับทหาร และการพัฒนาประเทศ การศึกษา รัฐบาลควรจะเป็นผู้ดูแลเองไม่ควรเอาไปขายให้ต่างชาติ
แต่ในทางตรงกันข้ามรัฐต้องดูแลเอง อย่างมากหากใครต้องการก็น่าจะทำได้แค่มาขอเช่าหรือขอสัมปทาน เพราะตำแหน่งที่ตั้งดาวเทียมเป็นตำแหน่งของประเทศต้องดูแลโดยรัฐ และการจัดสรรคลื่นความถี่ก็ควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เป็นคนพิจารณาจัดสรร ไม่ใช่เอกชนนำขายเอกชนเช่นนี้
สำหรับพ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคมของไทยที่เปิดให้ต่างชาติถือได้ถึง 49% ก็เป็นการกระทำที่เกินข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งไม่มีประเทศไหน เขาทำกัน เพราะตามหลักข้อตกลงWTO กำหนดว่าไม่จำเป็นต้องให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 20% เพราะWTO เห็นว่าเรื่องกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการสาธารณะ แต่ในที่สุดเมื่อนายกฯทักษิณเข้ามาเป็นรัฐบาลสมัยที่สอง ก็สามารถผ่านกฎหมายนี้ได้จากที่เมื่อ4ปีก่อนไม่สามารถผ่านได้ เห็นได้ชัดว่านายกฯมีความพยายาม เอาสมบัติชาติมาเป็นสมบัติตน และขายต่างชาติเอาประโยชน์เข้าตัว ชัดเจน
*สภานสพ.จับตาบิ๊กล็อตกระทบสื่อ
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้แสดงความกังวลและห่วงใยกรณีการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีผลต่อทรัพย์สินสาธารณะ นโยบายสาธารณะของประเทศ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ของสังคม และต่ออาชีพสื่อมวลชนโดยรวม โดยอาศัยช่องทางของกฎหมายที่เปิดให้ทุนต่างประเทศสามารถเข้ามาครอบงำและถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคม กิจการสื่อสาธารณะ สื่อมวลชน เช่น สถานีโทรทัศน์ คลื่นอากาศ หรือสัมปทานดาวเทียมที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำให้เกิดข้อสงสัยและความไม่แน่ใจว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศต่อไปหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯมีมติให้ร่วมมือกับสภาทนายความในการติดตามตรวจสอบการซื้อขายหุ้นดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสื่อสารของชาติ และสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ก่อนจะกำหนดมาตรการในการแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ต่อไป
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ทางสภาทนายความกำลังเฝ้าดูอยู่ใน 2 ประเด็น คือ เรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตและความมีจริยธรรม ที่ใช้กุศโลบายในการแปลความกฎหมายเพื่อไม่ต้องเสียภาษีนั้น และความมั่นคง
“การที่กฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกายกเว้นนั้น เป็นการยกเว้นการขายหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลได้หุ้นมาฟรีตามการแปลความของกรมสรรพากร แล้ววันใดก็ตามที่นำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ วันที่เข้าในตลาดหลักทรัพย์อาจจะยังไม่ขายก็ได้ ดูว่าหุ้นนี้เข้าไปพักอยู่ที่โบรกเกอร์คนไหน ก็หมายความว่ามีความประสงค์จะขายแล้ว เมื่อมีความประสงค์จะขาย ต้องนำราคาของวันที่ฝากโบรกเกอร์นั้นเป็นราคาที่ถือว่าได้รับเงินได้ ได้กำไร ต้องเสียภาษีเงินได้ เช่นว่าราคาเมื่อวาน 42 บาท เดิมทีได้มา 10 บาท ส่วนต่างอีก 32 บาทนี้ ต้องเสียภาษี ส่วนที่ไปขาย 42.5 นั้น ส่วนที่เป็น 0.5 ไม่ต้องเสียภาษีเพราะเป็นกำไรในตลาดหลักทรัพย์ในฐานะที่ขายเป็นหลักทรัพย์ พวกเราถูกหลอกให้หลงประเด็น ที่จริงต้องเสียภาษี นี่คือแง่มุมทางวิชาการที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสภาทนายความในวันที่ 27 ม.คนี้” นายเดชอุดมกล่าว
อีกประเด็น ระบบโทรคมนาคมของประเทศเป็นความมั่นคงของประเทศ รัฐธรรมนูญมาตรา 40 ก็ระบุว่า เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณ สภาทนายความกำลังให้คณะทำงานดูข้อเท็จจริงว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันนั้น สูงเกินปกติหรือไม่ ซื้อขายตามพระราชบัญญัติโทรคมนาคมหรือไม่ คนที่ถือแทนน่าจะถือว่าผิดกฎหมาย ทำให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำระบบโทรคมนาคมของประเทศ
|
|
|
|
|