|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"ทักษิณ" ฟุ้งต่างชาติสนใจโมเดิร์ไนซ์ ขณะที่เอกชนหวั่นประมูลไร้กรอบเปิดกว้างเสนอทุกรูปแบบยิ่งทำให้ล็อคง่ายขึ้น ถามรายละเอียดการประเมินข้อเสนอที่ดีเป็นอย่างไร ชี้ 3 เดือนทำข้อเสนอไม่ทัน "พงษ์ศักดิ์" ยันไม่ขยายเพิ่ม วงในเผยจับตาซิโน-ไทยร่วมซีเมนส์ เล็งสีแดง ช.การช่างจับกับบิลฟิงเกอร์ฯ และมิตซูบิชิ ส่วนอิตาเลียนไทยฯ จะร่วมกับซีติกและกลุ่มฝรั่งเศส
วานนี้ (26 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม Conference of Interested Parties, Thailand: Partnership for Development ว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเชื่องช้าไม่ปรับตัวก็จะล้าหลัง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงดำเนินการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง และเร่งพัฒนาประเทศไทยสู่กระบวนทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งรักษาศักยภาพการแข่งขันในโลกโลกาภิวัตน์
การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ที่ทันสมัยและแข่งขันได้ ดังนั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญระดับโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินการ รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถจัดหาได้ การบริหารจัดการที่ดีที่สุดในการดำเนินการและบำรุงรักษา และเลือกข้อเสนอทางการเงินที่ดีที่สุด ที่เหมาะสมกับวินัยทางการเงินการคลังของไทย ไม่ว่าจะเป็น เงินสด สินค้าเกษตร หรือการเงินรูปแบบอื่นๆ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เรียกว่า กรอบการดำเนินการเพื่อประเทศไทยที่ทันสมัย (The Kingdom of Thailand Modernization Framework) หรือ KTMF มีความหมายแอบแฝง คือ K หมายถึง ความรู้ T คือเทคโนโลยี M คือ การบริหารจัดการ และ F คือการเงิน และทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความทันสมัย
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ขอบข่ายความร่วมมือนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด มีรูปแบบ เปิดกว้างและยืดหยุ่น โดยมีการแบ่งกรอบความร่วมมือออกเป็น 5 สาขากว้างๆ คือ
1. เกี่ยวข้องกับก่อสร้างและสาธารณูปโภค ซึ่งจะเน้นในด้านระบบการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร และการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
2.เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงระบบการแปลงของเสียเป็นพลังงาน และการสร้างข้อมูลพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และแผนที่ดิจิตอลของทรัพยากรธรรมชาติ
3. ด้านเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาระบบพื้นฐานในการจัดตั้งเครือข่ายของรัฐบาลในการบริการประชาชน ทุกกระทรวงต้องใช้การให้บริการข้อมูลแบบ on-line และระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อรองรับบริการสาธารณะและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4. ด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งต้องปรับไปสู่ความทันสมัย ถือเป็นความจำเป็นต่อภาพลักษณ์ของชาติด้านความมั่นคง
และ 5.จะประกอบด้วยสาขาต่างๆ ทั้งเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และการให้บริการด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอทางเทคนิคได้ ถึงวันที่ 28 เมษายน 2549 โดยส่งถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะให้ยื่นข้อเสนอทางการเงินที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังได้กำหนดไว้ได้
พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าวภายหลังการประชุม Conference of Interested Parties, Thailand : partnership for Development ว่า เอกชนจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมประมูลในโครงการต่างๆ ทำให้รัฐมีโอกาสเลือก และได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยกฎและข้อระเบียบต่าง ๆ ไม่ใช่ข้อจำกัดในการยื่นข้อเสนอ ทำให้ไทยได้ของดี เหมาะสมกับราคา และสามารถชำระค่าใช้จ่ายได้
" กลุ่มแรกที่สนใจมากที่สุดเป็นกลุ่มของรถไฟฟ้า กับกลุ่มเรื่องน้ำ จะมีคนสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องของการก่อสร้างส่วนใหญ่ ปรากฎว่ามาขอผู้รับเหมาไทยเข้ามาเป็นคนยื่น เขาบอกว่าเขาขนมาไม่ไหว เขาขนมาแต่ความรู้และขนคนหลักๆมาไม่กี่คน นอกนั้นใช้ไทยหมดเท่ากับเอาเงินต่างประเทศมาทำ เงินจะไหลเข้าประเทศไทยเยอะ "
สำหรับบรรยากาศการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีนักธุรกิจจากหลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส มีนักธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า 100 คน นอกจากนี้จากสังเกต พบว่ามีผู้บริหารระดับสูง (ซีอีโอ) กว่า 10 บริษัททั้งไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจเช่นกัน ซีอีโอบริษัท ซีเมนต์ ซีอีโอบริษัทอิตาเลียนไทย เป็นต้น
นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นักธุรกิจบางประเทศ เป็นเพียงแค่ตัวแทนบริษัท จากต่างประเทศหรือ ตัวแทนบริษัทภายในประเทศไทย รวมทั้ง Subcontract โดยเฉพาะบางรายมีการส่งตัวแทนเพียง 1 คนเพื่อเข้าฟังการนำเสนอกลุ่มย่อย 2 - 3 กลุ่ม ทั้งนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการจากกระทรวงต่าง ๆที่เป็นเจ้าของเมกกะโปรเจกต์ด้วย
**เอกชนเข้าร่วมกว่า 400 คน
แหล่งข่าวนักลงทุนรายหนึ่งให้ความเห็นว่าในส่วนของนักลงทุนที่เข้าร่วมสัมมนาในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Transit Development) และ การพัฒนาระบบ Logistics และ Integrated Transport) นั้นมีประมาณ 400 ราย โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจแต่ยังคงกังวลเรื่องขั้นตอนการทำข้อเสนอการลงทุน หลักเกณฑ์การพิจารณาของภาครัฐและระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอ 3 เดือนที่น้อยเกินไป
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะไม่มีการขยายเวลายื่นข้อเสนอให้นักลงทุน และเห็นว่า 3 เดือนเพียงพอ แต่นักลงทุนอาจไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายในการทำข้อเสนอมากจึงอยากให้ขยายเวลา ซึ่งหลังจากเสนอเทคนิคทั้งหมดมาแล้วหลังวันที่ 28 เม.ย.2549 หากต้องการเสนอเพิ่มเติมก็ยังสามารถเสนอได้ในช่วงที่คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินโครงการลงทุนพิเศษของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2549 ที่ครม.เห็นชอบนั้นจะครอบคลุมให้การประมูลเมกะโปรเจ็กต์นี้ไม่ต้องขอยกเว้นเรื่องพ.ร.บ.ฮั้ว แต่จะหารือกันอีกครั้งว่าจะขัดกับกฎหมายอะไรบ้างหรือไม่
นักลงทุนส่วนใหญ่สอบถามเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้า เรื่องรายละเอียดของการพิจารณาวิธีการประเมินข้อเสนอ ซึ่งยืนยันว่าข้อเสนอทางเทคนิคจะต้องมีทั้งเส้นทาง การเดินรถพร้อมทั้งวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การบำรุงรักษาและการบริหารจัดการด้วย เพราะทั้งหมดจะเป็นส่วนประกอบว่าข้อเสนอทางเทคนิคมีประสิทธิภาพหรือไม่
"ผมเชื่อว่านักลงทุนจะเสนอแผนขยายระบบรางได้ครอบคลุมทุกเส้นทาง โดยข้อเสนอของนักลงทุนต้องสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการจราจรแออัด จึงเปิดกว้างให้นักลงทุนสามารถยื่นข้อเสนอได้อย่างไม่จำกัดรูปแบบ เส้นทางและการลงทุน แต่รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสาร"
**โยนเอกชนคุย BTS เชื่อมสายสีเขียวเอง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีข้อสงสัยกรณีการลงทุนโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวและสีน้ำเงิน โดยสายสีเขียวนั้นหากนักลงทุนสนใจจะลงทุนจะต้องไปเจรจากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีผู้รับสัมปทานก่อนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดกับบีทีเอสเพราะรัฐให้ความเคารพในสัมปทานที่ทำกับเอกชน ซึ่งเงื่อนไขในสัมปทานที่ปรับปรุงมาจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอการลงทุนด้วยซึ่งจะต้องทำให้ตรงกับความต้องการของรัฐบาล หรือหากไม่ต้องการเจรจากับบีทีเอสก็สามารถเสนอแนวเส้นทางใหม่ ที่ไม่ต้องเชื่อมกับสายสีเขียว เช่ย เชื่อมกับสายสีแดงแทนก็ได้
ส่วนกรณีส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล รับสัมปทานการเดินรถอยู่นั้น เอกชนจะต้องดูเรื่องIRR เพราะปัจจุบัน IRR ของสายสีน้ำเงินที่ให้บริการแล้วอยู่ที่ 12% หากเส้นทางขยายเพิ่มผู้โดยสารจะมากขึ้น ค่าโดยสารจะลดลง
**ไม่เชื่อโปร่งใส-เอื้อบางกลุ่ม
แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างยอมรับว่า การที่รัฐบาลเปิดกว้างให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้อย่างเต็มที่นั้น อาจมีข้อครหาในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่มได้ ซึ่งในส่วนนี้ทางนักลงทุนหลายรายได้มีการซักถามผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา เพราะการไม่กำหนดกรอบหลักเกณฑ์ ทำให้การพิจารณาไม่มีกรอบที่ชัดเจน การทำให้การเปรียบเทียบคุณสมบัติอาจทำได้ยากกว่า
โดยนายชอง ปิแอร์ โกโร่ รองประธาน บริษัท อัลสตรอม ด้านการขนส่ง ภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า ค่อนข้างลำบากใจกับเงื่อนไขของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้นักลงทุนทำให้ทุกอย่าง ทั้งออกแบบ เงินทุน ก่อสร้าง รวมทั้งกรอบการพิจารณาคัดเลือก เพราะประมูลปกติการตัดสินก็ยากอยู่แล้ว และจะนำไปสู่การได้งานที่ยากขึ้น ซึ่งอัลสตรอมสนใจรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีเอกชนรายใดได้รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายไปทั้งหมด คงต้องมีหลายราย
**ติงให้เวลาทำข้อเสนอน้อยไป
นายโลธ่า เฮอร์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า รูปแบบการประมูลดังกล่าวเคย จีน และฟิลิปปินส์เคยใช้ แต่ไทยมีมูลค่ามากกว่า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตกลงว่าจะร่วมทุนกับใครบ้าง ซีเมนส์มองทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทไทย เพราะต้องพึ่งพาเรื่องแรงงาน อย่างไรก็ตาม ต้องนำข้อมูลไปศึกษาก่อน และเห็นว่า เวลา 3 เดือนอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำข้อเสนอการลงทุน และในเดือนก.ย. 2549 ไม่น่าจะพิจารณาตัดสินเสร็จเนื่องจากขั้นตอนของภาครัฐค่อนข้างมาก มีคณะกรรมการหลายชุดและต้องเข้าคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ รายละเอียด ของข้อกำหนดยังไม่ชัดเจน และรัฐควรจะบอกต้นทุนของโครงการด้วย
**วงในเผยพันธมิตรเก่าจับมือแล้ว 4 กลุ่ม
รายงานข่าวแจ้งว่า การรวมกลุ่มของนักลงทุนเริ่มมีความชัดเจนแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการเปิดเผย ขณะนี้มีประมาณ 4 กลุ่มใหญ่ เช่น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะจับกับ บริษัท ซีเมนส์ ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมที่ร่วมทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน (แอร์พอร์ตลิงค์) ในขณะนี้ โดยให้ความสนใจในรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-มหาชัย) และ(มักกะสัน-ตลิ่งชัน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะร่วมกับบริษัท บิลฟิงเกอร์ฯ และมิตซูบิชิ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะร่วมกับบริษัท ซีติก ซึ่งค่อนข้างน่าจับตาเพราะจีนค่อนข้างได้เปรียบเรื่องต้นทุน และกลุ่มนักลงทุนจากฝรั่งเศส ที่มีความพร้อมทั้งบริษัท ออกแบบ ก่อสร้าง ผลิตรถไฟฟ้า
**อิตัลฯ ร่วมซีติก
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อิตัลไทยจะร่วมกับบริษัท ซีติกของประเทศจีนเข้ามาลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งซีติกมีศักยภาพ ทั้งเทคโนโลยี การเงิน โดยบริษัทจะเน้นเรื่องการก่อสร้างและแรงงาน ซึ่งขณะนี้ อิตัลไทยฯได้จับมือกับซีติกเพื่อทำรถไฟฟ้าในประเทศอิหร่าน มูลค่า 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย
**อารียายันร่วมชิงหวังบูมพัฒนาที่ดิน
นายมนัส ศุภศิริลักษณ์ ผู้ประสานงานโครงการ บริษัทอารียาพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า จะจับมือกับไชน่า เรลเวย์ แต่ยังไม่สามารถกำหนดเส้นทางที่สนใจ แต่เชี่อมั่นว่าเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ เพราะมีการกำหนดแผนในการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละเส้นทางด้วย โดยสิ่งที่เป็นห่วงคือการกำหนดเวลายื่นข้อเสนอ 3 เดือน อาจไม่พอ
**บีกริม-ซีเมนส์สนสีแดง
นายหริณ เลธนะสมิทธิ์ ผู้จัดการห.ส.น.บี.กริม แอนโก (หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์) กล่าวว่า บี.กริมจะร่วมกับซีเมนส์ ที่ทำแอร์พอร์ตลิงค์ด้วยกันและสนใจรถไฟฟ้าสายสีแดง เพราะจะต่อกับแอร์พอร์ตลิงค์ รวมทั้งสนใจสายสีน้ำเงินและสีเขียวด้วย และหลังจากฟังการนำเสนอวิธีการของรัฐก็เห็นว่าค่อนข้างชัดเจนทั้งขั้นตอนวิธีการนำเสนอเอกสาร ซึ่งการเปิดกว้างเป็นเรื่องที่ดีเพราะนักลงทุนจะสามารถคิดได้อย่างเต็มที่
ด้านนายไมตรี ศรีนราวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากเส้นทางดังกล่าว ในส่วนของเส้นทางเดิมในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 200,000 คนต่อวัน แต่หากมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายแล้วเสร็จจะทำให้เส้นทางเป็นโครงข่ายครบวงกลมสามารถมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 คนต่อวัน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าประกอบด้วย 10 สาย ส่วนลอจิสติกส์มี 7 โครงการคือ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการปรับปรุงทางรถไฟ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกชั้น 3 และโครงการก่อสร้างทางด่วนสายศรีนครินทร์-บางนา-สมุทรปราการ
|
|
 |
|
|