ทำไมระบบทุนนิยมจึงประสบความสำเร็จในโลกตะวันตก แต่ล้มเหลวในที่อื่นๆ เฮอร์นานโด
เดอ โซโต้ นักเศรษฐศาสตร์ ชาวเปรูบอกว่า สาเหตุไม่ได้เป็นเพราะวัฒนธรรม การเมืองที่แตกต่างกัน
สภาพภูมิประเทศ หรือค่านิยมที่มีต่อการทำงานของผู้คน แต่เป็นเพราะว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในโลกตะวันตก มีระบบที่รับรองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของประชาชนทุน นิยมเกิดขึ้นในสหรัฐฯ
และอังกฤษ พร้อมๆ กับที่ รัฐบาลของสองชาตินี้ เปิดโอกาสให้ประชาชน จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ของตนได้โดยง่าย
ตรงกันข้ามกับประเทศกำลังพัฒนา ที่การ รับรองสิทธิความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของประชาชนมีข้อจำกัดมาก
ทำให้ทรัพย์สินเหล่านี้ เป็นทรัพย์สินที่ตายแล้วคือ ไม่สามารถใช้เป็น ทุน
เพื่อสร้างความมั่งคั่งได้ ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครอง และใช้ประโยชน์จากคนจนในโลกนี้มีมูลค่ารวมกันแล้ว
สูงถึง 9.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าไปในประเทศโลกที่สาม
ระหว่างปี 1989-1999 ถึง 20 เท่า และสูงกว่าเงิน ช่วยเหลือที่ประเทศร่ำรวยบริจาคให้ประเทศที่ยากจน
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เกือบ 100 เท่า
ถ้ามีกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถนำที่ดิน บ้านเช่า แผงลอย ที่ตนครอบครอง
หรือใช้ทำกิน ไปจดทะเบียนแสดงสิทธิได้ ประชาชนก็จะนำสิทธินี้ไปขอกู้เงินจากธนาคาร
ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่านายทุนเงินกู้ในตลาด หรือเอาสิทธิในการเช่าแผงลอย
ไปแปลงให้เป็นหุ้น ขายให้กับคนที่อยากมาร่วมลงทุน หรือเอาไปเป็น หลักฐานในการซื้อประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยง
ทรัพย์สินที่ตายแล้ว ก็จะถูกปลุกชีพ แปลง สิทธิเป็นทุน เอาไปหมุนเงินก้อนเล็กๆ
ให้ขยายเป็นเงินก้อนใหญ่ๆ ได้ต่อไป ประเทศก็จะไม่ต้อง พึ่งเงินทุนภายนอกมากเกินไป
เศรษฐกิจก็จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทุนในความหมายของเดอ โซโต้ ไม่ได้หมายถึงแรงงาน หรือเงิน แต่คือศักยภาพในการสร้างมูลค่าส่วนเกิน
ในหนังสือเล่มนี้ก็คือ กระดาษ แผ่นหนึ่ง ที่รับรองสิทธิในทรัพย์สินของคนยากจน
กระดาษแผ่นนี้จะเป็นสื่อดึงภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจในระบบ
ความลับของทุนก็มีอยู่แค่นี้แหละ
The Mystery of Capital เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2000 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีไปอ่านเจอเข้า และคงจะชอบใจไอเดีย แปลงสิทธิให้เป็นทุน ของเดอ
โซโต้ จึงนำเอาความคิดนี้ มาใช้เป็นนโยบายแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ซึ่งดังมากเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
และคงจะมีการผลักดันให้เป็นจริงภายในปีนี้หรือปีหน้า แต่จริงๆ แล้ว มันคืออะไร
ยังไม่มีความชัดเจน เพราะพูดกันไปคนละทางสองทาง ทำนอง คนรู้พูดเร็วไปหน่อย
คนไม่รู้ก็พูดมากเกินไป
อย่าได้นึกหัวเราะเยาะว่า รัฐบาลคิดอะไรไม่ออก ต้องไปลอกหนังสือเล่มนี้มาทำเป็นนโยบาย
และเชื้อเชิญเดอ โซโต้ ให้มาบรรยายเมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน เพราะว่า เดอ
โซโต้ คนนี้ไม่ธรรมดา เคยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ
เดอ โซโต้ เกิดที่ตอนใต้ของประเทศเปรู แต่โตที่เจนีวา เพราะบิดาเป็นนักการทูตที่นั่น
เขากลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่เปรู ต่อปริญญาโท ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อจบแล้วก็ทำงานกับแกตต์
(องค์การการค้าโลกในปัจจุบัน) แล้วถูกชักชวนให้ไปทำงานกับองค์กรของประเทศผู้ส่งออกแร่ทองแดงที่ปารีส
ก่อนที่ธนาคารสวิตแห่งหนึ่งจะซื้อตัวไป เป็นผู้บริหารของบริษัทวิศวกรรมในเครือ
ธนาคาร
เมื่ออายุได้ 39 ปี เดอ โซโต้ สั่งสมความมั่งคั่งในระดับที่ไม่ต้องเป็นห่วงกับชีวิตที่เหลือแล้ว
เขาหย่า และรู้สึกเบื่อกับชีวิตในต่างแดน จึงตัดสิน ใจกลับบ้าน สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเขามากก็คือ
ชีวิตของคนเปรูที่อพยพจากชนบทเข้ามาอยู่ในกรุงลิมา อาศัยอยู่บนที่ดินร้างของคนอื่น
เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง หาบเร่ แผงลอย เป็นโลกที่อยู่ นอกระบบกฎหมายโดยสิ้นเชิง
ปี 1983 เดอ โซโต้ ตั้งสถาบันชื่อ The Institute for Liberty and Democracy
เพื่อศึกษาปัญหาเศรษฐกิจของเปรู และผลักดันให้มีการปฏิรูปเพื่อช่วยคนจน สถาบันนี้วิเคราะห์ปัญหา
ความยากจนของคนเปรูว่า เป็นเพราะถูกเลือกปฏิบัติโดยกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายซ้ายของละติน
อเมริกา บอกว่า ชนชั้นกรรมาชีพถูกขูดรีดโดยระบบทุนนิยม
ปี 1986 เขาเขียนหนังสือเล่มแรก The Other Path วิเคราะห์ปัญหาความยากจนของคนเปรูและทางออก
ชื่อหนังสือนั้นจงใจตั้งเพื่อเสียดสี ชื่อกลุ่ม The Shinning Path ซึ่งเป็นกลุ่ม
มาร์กซิสต์ ติดอาวุธในเปรู หนังสือเล่มแรกนี้ทำให้ชื่อเดอ โซโต้ดังไปทั่วเปรู
แต่ว่าชีวิตต้องตกอยู่ในอันตราย สำนักงานของสถาบันถูกวางระเบิด ซึ่งคาดว่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มฝ่ายซ้าย
รถถูกถล่ม ด้วยปืนกล ตัวเขาและเมียคนใหม่ ตัดสินใจไม่มีลูก เพราะกลัวลูกจะไม่มีพ่อ
เดอ โซโต้ ดังมากๆ ในปี 1990 เมื่อ อัลเบอร์โต ฟูจิโมริ ชนะการเลือกตั้ง
เป็นประธานา ธิบดีเปรู และแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา เดอ โซโต้
มีโอกาสทำโครงการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน โดยแก้ไขกฎหมายจดทะเบียนรับรองสิทธิในอาคารของประชาชน
1.6 ล้านคน จากจำนวน 2.3 ล้านคน ที่ครอบครองอาคารที่ไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์
และดึงธุรกิจขนาดเล็ก 280,000 ราย เข้ามาอยู่ในระบบ
น่าเสียดายที่ไม่มีการประเมินผลของโครงการนี้ เพราะหลังจากนั้นอีก 2 ปี
เดอ โซโต้ ก็บอกลาฟูจิโมริ เพราะฟูจิโมริไม่ยอมปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยตามที่สัญญาไว้
การลาออกจากที่ปรึกษาทำให้เขามีเวลาว่าง พอที่จะรับเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำหลายๆ
ประเทศ เช่น วินเซ็นต์ ฟ็อกซ์ ประธานาธิบดีเม็กซิโก สมัย ที่ยังเป็นผู้ว่าการรัฐกัวนาฮัวโต
ลูกชายของประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัคของอียิปต์ก็ขอคำแนะนำในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจจากเขา
รวมทั้ง ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อนคือ โจเซฟ เอสตราดา และคนปัจจุบัน กลอเรีย
อาร์โรโย่ ทั้งหมดนี้เป็นลูกค้าของเขา ก่อนที่จะเขียน The Mystery of Capital
ออกมา
ประเทศไทยคงจะเป็นรายล่าสุดที่ใช้บริการ ของเดอ โซโต้ และดูเหมือนว่าในบรรดาประเทศ
ที่จ่ายสตางค์เพื่อให้เขาไปพูดให้ฟัง ยังไม่มีประเทศ ไหนเอาตัวรอดจากปัญหาความยากจนได้เลย
ประเทศไทยอาจจะเป็นรายแรกก็ได้
หนังสือเรื่อง The Mystery of Capital มอง ปัญหาความยากจนง่ายไปหน่อย การแปลงทรัพย์สินเป็นทุน
ถูกนำไปใช้แก้ปัญหาความยาก จนในเมืองใหญ่ อย่างลิมาของเปรู ซึ่งเป็นปัญหาที่มีคนอพยพจากชนบทเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมือง
แต่ว่า ปัญหาความยากจนของชาติกำลังพัฒนา คือปัญหาความยากจนในชนบท ซึ่งมีหลาย
สาเหตุ การไม่มีสิทธิในผืนดินเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ใหญ่กว่า
เช่น ประสิทธิ ภาพในการผลิต ปัญหาการขาดการศึกษา การแปลงสิทธิให้เป็นทุนเพื่อให้ชาวบ้านไปกู้เงินจากธนาคารมาได้
คงไม่สามารถทำให้ประชาชนพ้นจากความยากจนได้แน่
องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ น่าจะเข้า ใจปัญหาความยากจนได้ดีกว่าเดอ
โซโต้ ด้วยซ้ำ เดอ โซโต้ ไม่ได้อธิบายเหตุที่ทำให้คนจนไม่สามารถมีสิทธิในทรัพย์สินที่ตัวเองครอบครองอยู่
เขาเพียงแต่เน้นไปที่เรื่องขั้นตอนการขออนุญาตจดทะเบียนจากราชการว่า เต็มไปด้วยขั้นตอนมากมาย
ต้องใช้เวลานานหลายปีเท่านั้น
The Mystery of Capital ยังยกตัวอย่างของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 18 ยุคตื่นทอง
ที่รัฐบาล ท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ กับผู้บุกเบิกแผ่นดินรกร้างว่างเปล่า
ในภาคตะวันตก มาพิสูจน์แนวคิดของเขาว่า ถ้าให้ประชาชนมีสิทธิในทรัพย์สินแล้ว
ระบบทุนนิยมก็จะเดินหน้า สร้างความมั่งคั่งให้กับชาติได้
แต่ตัวอย่างนี้ คงใช้ไม่ได้กับโลกที่สามในวันนี้ ทวีปอเมริกาเหนือในตอนนั้น
เป็นแผ่นดินที่ยังบริสุทธิ์ มีพื้นที่ว่างเปล่าให้คนจับจองเป็นจำนวน มาก
แต่ในปัจจุบัน ที่ดินในประเทศกำลังพัฒนาถูกจับจองไปหมดแล้ว ไม่เหลือที่ที่จะให้คนจนนำ
มาแปลงเป็นสิทธิได้อีก
The Mystery of Capital เป็นหนังสือในทำนอง เทคนิค วิธีการ ที่หยิบไปใช้ได้ง่าย
แต่ไม่รับรอง ใช้แล้วจะเกิดผลเช่นไร