เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้ไปเยือนเวียดนาม ในคณะที่ไปด้วยกันนั้น หลายคนอุทานออกมาว่า
เวียดนามล้าหลังกว่าบ้านเราสัก 20 ปีได้ เมื่อพิจารณาว่าเมืองที่เจริญ ที่สุดคือ
เมืองโฮจิมินห์ หรือในชื่อเดิมก่อนที่เวียดนามเหนือ (ในสมัยนั้นยึดได้) คือ
ไซง่อน บรรยากาศไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯ เมื่อหลายสิบปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นถนนเล็กๆ
แคบๆ ทางเท้าที่ดูไม่สะอาด ตึกแถวสองชั้นตามริมถนน และร้านขายของโชวห่วยมากมายตามถนนสายต่างๆ
ซึ่งน่าใจหายเมื่อคิดถึงร้านเล็กๆ เหล่านี้ในบ้านเรา ซึ่งคงจะหมดไปในไม่ช้าภายใต้กฎหมายผังเมือง
และการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมของรัฐบาลชุดนี้
ตึกสูงใหญ่มีให้เห็นไม่มากนักในนครที่เคยเป็นที่พำนักของทหารจีไอ เมื่อครั้งเข้ามาตั้งฐานทัพในเวียดนาม
บ้านเมืองเนืองแน่นไปด้วยรถจักรยานยนต์ที่ขับกันด้วยความเร็วสม่ำเสมอ ไม่ฉวัดเฉวียน
หรือเสียงดังรบกวน โสตประสาทแบบในบ้านเรา
สิ่งที่ดูแปลกตาอยู่สองสามอย่างในความรู้สึกของผมคือ ร้านขายโทรศัพท์มือถือ
และบาร์หรือผับห้องแถวแบบในบ้านเรา
เฉพาะร้านโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับผมที่พบว่า ร้านเหล่านี้เปิดขายกันเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนร้านขายนาฬิกาในบ้านเราเมื่ออดีต
และร้านเหล่านี้เปิดเป็น สิบๆ ร้านบนถนนสายเดียวกันเหมือนบ้านเราที่เป็นแหล่งขายเพชรแถบบ้านหม้อ
แต่น่าแปลกที่เราไม่ค่อยจะเห็นคนพูดโทรศัพท์มือถือตามที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่ร้านค้าเหล่านี้มีจำนวนมาก
สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนในคณะของเรารู้สึกว่า แม้บ้านเราจะมีปัญหาเศรษฐกิจ
แต่ความเจริญเราก็ดีกว่าเวียดนามมาก นี่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกไม่สบายใจบางอย่างขึ้นมา
ลองคิดดูว่าเวลาเราเห็นความเจริญของประเทศแถบเอเชียด้วยกันอย่างญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์
พวกเราก็มักจะรู้สึกอิจฉาและอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าทำไมเราจึงไม่สามารถพัฒนาให้ได้อย่างประเทศทั้งสอง
แต่พอเราเห็นสภาพบ้านเมืองของพม่า กัมพูชา หรือเวียดนาม เราก็มักจะรู้สึกอย่างที่ผมกล่าวข้างต้นคือ
รู้สึกว่าเรายังพัฒนากว่าเขามาก เราโชคดีที่ไม่เจอปัญหาอย่างเขา
แต่นั่นคือสิ่งที่เรามักจะมองและวัดความพัฒนาหรือความเจริญจากสิ่งที่มองเห็นจากภายนอก
นั่นคือความ เจริญทางเศรษฐกิจ
ผมไม่ค่อยได้ยินใครอิจฉาสภาพความเป็นอยู่หรือวัฒนธรรมที่สงบและไม่เร่งรีบอย่างลาว
หรืออาจจะเป็นเพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นกันนัก และนั่นคงไม่ใช่ประเด็นที่จะเขียนถึงในคราวนี้
อย่างไรก็ตาม เรามักจะวางตำแหน่งของประเทศเราแบบนี้อยู่เสมอ คือ แย่กว่าบางประเทศ
และดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศ (ในแง่ของเศรษฐกิจและความเจริญของโครงสร้างพื้นฐาน)
สิ่งที่เราไม่ค่อยจะคิดกันนักคือ ตำแหน่งของความ เจริญของประเทศเราที่เราวางไว้ในระดับแย่กว่าบางประเทศแต่ดีกว่าอีกหลายๆ
ประเทศนั้น ที่จริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปตลอด มันมีพลวัตของมันอยู่
หากลองมองย้อนกลับไปในอดีต เราอาจจะตกใจเมื่อพบว่าในอดีต เราเคยวางอีกหลายประเทศว่าด้อยกว่าเรา
แต่ปัจจุบัน เราอาจจะพบว่าหลายประเทศนั้นอยู่ในระดับที่สูงขึ้น หรือ อย่างน้อยที่สุดความเจริญในแง่ของวัตถุก็ไม่ห่างจากเรามากนัก
เช่น มาเลเซียคงมีน้อยคนที่จะมองว่ามาเลเซียอยู่ในระดับที่เรามองลงไป กระทั่งสิงคโปร์เองก็ตาม
เราเพิ่งมองสิงคโปร์ด้วยความรู้สึกแบบอิจฉาไม่กี่สิบปีนี้เอง
ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้ผมอดนึกตั้งคำถามไม่ได้ว่า เป็นไปได้ไหมว่าคนไทยเรากำลังหลอกตัวเอง
หรือถูกหลอกด้วยความรู้สึกเชิงสัมพัทธ์
เวลาเราแย่ เราก็มองคนที่แย่กว่าเราเพื่อปลอบใจหรือทำให้ความรู้สึกของเราดีขึ้น
เวลาเผลอไปมองคนที่เขาดีกว่าเรา ผู้บริหารประเทศก็จะรีบกระตุกให้เรามองความเป็นจริงของเราพร้อมกับสำทับว่ามันเปรียบเทียบ
กันไม่ได้ ประเทศเขา (ที่เจริญกว่าเรา) ไม่เหมือนกับประเทศเรา
การมองเชิงสัมพัทธ์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการปลอบใจตนเอง และไม่คิดที่จะขวนขวายในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
มันไม่ทำให้เรารู้สึกสะดุดกับปัญหาหลายอย่างที่เห็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันทำให้เราเฉื่อยชาที่จะคิดว่าประเทศที่เราเคยมองว่าอยู่ในระดับเดียวกับเรา
หรือต่ำกว่านั้นเขาผ่านเราขึ้นไปได้อย่างไร
ความรู้สึกที่ได้จากการคุยกับคนเวียดนามคือ เขาแสดงออกว่าเขาด้อยกว่าประเทศเราในแง่ของเศรษฐกิจ
แต่ผมรู้สึกได้เลยว่าสิ่งที่เขาพูดได้อย่างภูมิใจและไม่ปิดบังความภูมิใจนั้นเลยก็คือ
ความรู้สึกว่าคนเวียดนามรักชาติและสามารถยอมตายเพื่อมาตุภูมิของเขาได้
บางทีนี่อาจจะเป็นสิ่งที่คนไทย หรือผู้บริหารประเทศ ไม่ใส่ใจกับมัน เราจะรู้สึกถึงความเป็นชาติและแสดงมันออกมาเมื่อมีกีฬาระหว่างไทยกับชาติอื่น
รัฐบาลจะเจ็บร้อนแทนคนไทยเมื่อมีการแสดงจากชาติอื่นในลักษณะที่รัฐรู้สึกว่าเขาไม่ให้เกียรติ
หรือแทรกแซง กิจการของประเทศ (ด้วยการ วิพากษ์วิจารณ์)
แต่ความรู้สึกเป็นชาติที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกันนั้นมีน้อย
ผมจำได้ว่าในสมัยฟองสบู่แตกใหม่ๆ มีการเรียกร้องให้คนในรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ
และข้าราชการระดับสูง ลดผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับจากรัฐลง แต่เสียงตอบรับเบามาก
และทุกอย่างก็เงียบไปในสายลม ในช่วงหลายปีหลังกลับมีการเสนอให้ปรับเงินเดือนของหลายวิชาชีพสูงขึ้น
โดยข้ออ้างเรื่องศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพมากกว่าเรื่องของเหตุและผลที่เป็นจริง
เราไม่ค่อยได้เห็นการพัฒนาหรือการเปลี่ยน แปลงที่วางอยู่บนความรู้สึกของความเป็นชาติ
หรือทำเพื่อเพื่อนร่วมชาติ แต่เรามักจะเห็นนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำโดยตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ร่างไว้
ซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านั้นกลายเป็นตัวแทนของการทำเพื่อคนไทย พอนานวันเข้าการทำงานก็กลายเป็นการตอบสนองต่อนโยบายหรือคนร่างนโยบาย
คนทำงานลืมว่าที่จริงแล้วการทำงานนั้นทำเพื่อตอบสนองเจ้าของประเทศ คือคนไทยทุกคน
นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นข้าราชการไม่ว่าจะชั้นผู้น้อย หรือชั้นผู้ใหญ่หลายรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต
โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่านักการเมืองมี ส่วนเกี่ยวข้อง และคนเหล่านี้ทำเนื่องจากเกรงกลัวในอำนาจและบารมีของนักการเมือง
นั่นก็คือคนไทยที่มีเลือดเนื้อหายไปจากความคิดของคนเหล่านี้ เหลือเพียงนาย
และความต้องการของนาย (ภายใต้ภาพลักษณ์ของคำว่านโยบาย)
การมองประเทศที่แย่กว่าเรา โดยปราศจากการคิดถึงความเป็นชาติจึงเป็นเพียงสิ่งที่สร้างความสบายใจไปวันๆ
หนึ่ง จนกระทั่งเมื่อเรามองไม่เห็นใครอยู่ต่ำกว่า เรา นอกจากตัวเราเอง