เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นไหน ความจำไม่เป็นใจ จำได้แต่ว่าต้องท่องอาขยาน Jack and Jill went up the hill to fetch a pale of water... และบทอื่นๆ อีกหลายบท ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ครูจะให้นักเรียนท่องอาขยานก่อนโรงเรียนเลิก ดิกชันนารีภาษาอังกฤษที่เห็นในบ้านเป็นของ ส.เสถบุตร ซึ่งรับใช้ "นักเรียน" ในบ้านทุกคน ยุคนั้นถือเป็นดิกชันนารีที่ดีที่สุด และยังอยากคิดว่าเป็นดิกชันนารีฉบับมาตรฐาน แม้จนทุกวันนี้ น่ายินดีที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชได้ดำเนินการปรับปรุงใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ในระยะแรกๆ การเปิดดิกชันนารีมิใช่เรื่องง่าย ต้องไล่เรียงตัวอักษรเป็นโกลาหลพอๆ กับการเปิดพจนานุกรมไทย ความชำนาญมากับกาลเวลา
เมื่อเรียนชั้นสูงขึ้น ศัพท์ภาษาอังกฤษเริ่มยากและซับซ้อน จึงต้องหาซื้อดิกชันนารีภาษาอังกฤษไว้หนึ่งเล่ม จำได้ว่าอาจารย์วิลเลียม วอเรน (William Warren) ให้แต่งประโยคภาษาอังกฤษ โดยกำหนดคำมาให้ พยายามคิดประโยค แต่แต่งไม่ได้สักที ดังนั้นจึงตัดสินใจเปิดดิกชันนารี Webster และลอกประโยคนั้นส่งอาจารย์ เออแน่ะ อาจารย์แก้เสียเละเชียว ให้รู้ไปว่าเว็บสเตอร์หรือจะสู้วิลเลียม วอเรน
เมื่อเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส มองหาดิกชันนารีภาษาฝรั่งเศส-ไทย เลือกของศาสตราจารย์ น.อ.พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ร.น. ฉบับที่มีคำแปลภาษาอังกฤษด้วย ใครเลยจะนึกว่า วันหนึ่งจะได้เรียนหนังสือกับท่าน แต่แทนที่ท่านจะสอนภาษาฝรั่งเศส กลับสอนแปลภาษาอังกฤษ ทำให้เกือบร้องเพลงชาติอเมริกันได้ ก็ Star-Spangled Banner ไงล่ะคะ สาวน้อยใกล้ตัวมาเรียนหนังสือที่ปารีส ถามหาดิกชันนารีภาษาฝรั่งเศส-ไทย แล้วต้องผิดหวัง เพราะ "อา" มีแต่ของพระเรี่ยมฯ นี่แหละ
ยุคที่เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยนั้น ดิกชันนารีภาษาฝรั่งเศสที่สมบูรณ์มีอยู่ฉบับเดียวคือ Larousse ผู้เรียนภาษาฝรั่งเศสจะถือ Larousse ฉบับพ็อกเก็ตบุ๊กควบคู่ไปกับดิกชันนารีของพระเรี่ยมฯ แปลกแต่จริง ไม่เคยมี Larousse ในครอบครองเลย ประกอบกับได้ยินกิตติศัพท์ของดิกชันนารีใหม่ที่ชื่อ Le Petit Robert ว่า ดีกว่า Le Petit Larousse มากมายนัก ด้วยเหตุนี้เมื่อมาศึกษาต่อในฝรั่งเศส ดิกชันนารีภาษาฝรั่งเศสเล่มแรกที่ซื้อคือ Le Petit Robert
ได้ตระหนักว่า Le Petit Robert เป็นคู่มือในการทำงานด้วย เพราะต้องแปลและเขียนภาษาฝรั่งเศสทุกวัน ถึงกระนั้นยังหวนหา Le Petit Larousse ด้วย เพราะบางคำไม่มีใน Le Petit Robert แต่ไปพบใน Le Petit Larousse จึงจำต้องมีดิกชันนารีทั้งสองเล่มในครอบครอง
อันที่จริงดิกชันนารีสองเล่มนี้มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัด Le Petit Robert ถือเป็นคัมภีร์ภาษาฝรั่งเศส เน้นตัวภาษาอย่างเดียว ในขณะที่ Le Petit Larousse นั้นเสมือนเอนไซโคพีเดียฉบับย่อย เพราะรวมนามเฉพาะส่วนหนึ่ง แยกแยะรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนที่เกี่ยวข้องกับศัพท์ตัวนั้นๆ เช่นคำว่า รถยนต์ จะให้ศัพท์ส่วนต่างๆ ของรถยนต์ เป็นต้น อีกทั้งมีรูปประกอบด้วยการออกตัวของ Le Petit Robert ทำให้ Le Petit Larousse ซวดเซไปพักใหญ่ๆ กว่าจะปรับกระบวนสู้ใหม่
Le Petit Larousse ถือกำเนิดในปี 1905 โดยสำนักพิมพ์ Hachette Livre จน ถึงปัจจุบัน ขายได้ 57 ล้านเล่ม ฉบับที่ขายดีที่สุดคือฉบับปี 2000 และ 2004 ซึ่งเป็นฉบับครบรอบ 100 ปี โดยขายได้ฉบับละ 1 ล้านเล่ม ฉบับปัจจุบันประกอบด้วยศัพท์สามัญนาม 59,000 คำ วิสามัญนาม 28,000 คำ และรูปภาพอีก 500 รูป
ในปี 1967 สำนักพิมพ์ Editis จึงออกดิกชันนารีชื่อ Le Petit Robert และดังเปรี้ยงปร้างทันที นอกจากนักเรียนนักศึกษาแล้ว ผู้ที่ต้องเขียนหนังสือในการทำงานต่างมีคัมภีร์เล่มนี้เป็นคู่มือ ในปี 1974 Editis จึงออกดิกชันนารีอีกเล่มหนึ่งเกี่ยวกับนามเฉพาะ หรืออีกนัยหนึ่งวิสามัญนามโดยใช้ชื่อ Le Petit Robert II-Noms propres ส่วนเล่มที่เป็นศัพท์ธรรมดาเป็น Le Petit Robert I ซึ่งมีศัพท์ทั้งหมด 60,000 คำ
เคยคิดว่าดิกชันนารีเล่มหนึ่งคงใช้ได้ตลอดชีวิต เป็นความเข้าใจที่ไร้เดียงสาจริงๆ ด้วยว่า ภาษามีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาครอบคลุมชีวิตประจำวัน ดิกชันนารีที่ซื้อในปี 1972 จึงไม่สามารถยังประโยชน์ได้ บอกยก Le Petit Robert ให้สาวน้อยใกล้ตัวเมื่อเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส หลานน้อยมองเมิน บอกว่าเก่าเกินไปแล้ว Le Petit Larousse หันมาใช้กลยุทธ์ การตลาดโดยเน้นการปรับปรุงใหม่ทุกปีด้วย ว่าได้ทำการสำรวจความคิดเห็น พบว่าร้อยละ 47 ซื้อดิกชันนารีเพราะมีศัพท์ใหม่ นอกจากนั้น Le Petit Larousse ยังจ้างอาร์ทิสต์ให้เขียนรูปการ์ตูนประกอบศัพท์ใหม่ ฉบับปี 2005 นั้นขายได้กว่าหนึ่งล้านเล่ม เพราะเป็นฉบับที่ฉลองครบ 100 ปี ความพิเศษอยู่ที่การจ้างดีไซเนอร์ดังอย่างคริสติออง ลาครัวซ์ (Christian Lacroix) เขียนรูปภาพประกอบ
ฝ่าย Le Petit Robert ใช่ว่าจะอยู่นิ่งเฉยด้วยว่าเพิ่มศัพท์ใหม่ปีละ 70 คำ แต่ยังคงยึดมั่นในการเป็นดิกชันนารีภาษาฝรั่งเศส และไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแนวไปเป็นดิกชันนารีเชิงเอนไซโคพีเดีย
ชาวฝรั่งเศสจะซื้อดิกชันนารีใหม่ทุก 7 หรือ 8 ปี ครอบครัวฝรั่งเศสร้อยละ 82 มี Le Petit Larousse Illustre ในครอบครองร้อยละ 43 ใช้ Le Petit Robert และร้อยละ 24 ซื้อดิกชันนารีที่พิมพ์โดย Hachette
ทันทีที่ลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล พ่อแม่จะซื้อดิกชันนารีให้เป็นคู่มือ ซึ่งจะประกอบด้วยศัพท์ 2,000 คำ และต้องซื้อเล่มใหม่ทุกสามปีเมื่อลูกเรียนชั้นสูงขึ้น ดิกชันนารีสำหรับเด็กอายุระหว่าง 7-12 ปีจะมีศัพท์ 20,000 คำ เมื่อขึ้นชั้นมัธยม จำนวนศัพท์เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 คำ หรือ 57,000 คำใน Le Petit Larousse Illustre ในแต่ละปียอดขายดิกชันนารีโดยรวมสูงถึงหนึ่งล้านเล่ม แต่เดิมมีสำนักพิมพ์ 5 แห่งเท่านั้นที่ครองตลาดดิกชันนารี กล่าวคือ Larousse, Robert, Hachette, Hatier และ Fleurus ล่าสุดสำนักพิมพ์ Gallimard ตระหนักถึงความเติบโตของตลาดดิกชันนารี จึงออกดิกชันนารีสำหรับเด็กเล็ก อายุระหว่าง 4-7 ขวบ ชื่อว่า Mon premier dictionnaire ในขณะเดียวกัน Larousse มองเห็นความจำเป็นในการทำหนังสืออ้างอิง จึงออก Encyclopedie nomade สำหรับนักเรียน ไม่ได้เรียงศัพท์ตามลำดับตัวอักษร แต่จัดหมวดหมู่หัวเรื่อง
อินเทอร์เน็ตอาจเข้ามามีบทบาทสูงในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน หากกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าดิกชันนารีที่เป็นหนังสือเล่มยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม จำได้ว่ามีปทานุกรมเล่มเล็กๆ ต่อมาถึงมีพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ศัพท์เกิดใหม่ทุกวัน ไม่ทราบว่ามีการปรับปรุงพจนานุกรมให้ทันสมัยหรือไม่ ฉบับที่อยู่ในครอบครองพิมพ์ในปี 2525
แต่ศัพท์บัญญัติประเภท ละมุนภัณฑ์ ไม่เอานะคะ
|