|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2549
|
|
เทสโก้ คาร์ฟูร์ แมคโคร ชื่อเหล่านี้คงคุ้นหูกันดีสำหรับชาวไทย ซึ่งหันมาจับจ่ายอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตสายพันธุ์นอกมากขึ้น แทนการไปจ่ายกับข้าวที่ตลาดเหมือนแต่ก่อน
แม้จะมีกระแสต่อต้านแผนการขยายธุรกิจของซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ตามจังหวัดต่างๆ ออกมาเป็นระยะ แต่ก็ดูเหมือนว่าแรงต้านนี้จะไม่มีผลกระทบต่อยอดขายและการเติบโตของซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ในไทยแต่อย่างใด
แต่ในประเทศที่ผู้บริโภคไม่เกรงกลัวกับการออกเสียงปกป้องสิทธิของตนอย่างในประเทศอังกฤษแล้ว ร้านค้าปลีกขนาดยักษ์ทั้งหลายต้องคิดหนัก หากต้องการเปิดสาขาใหม่ เพราะกระแสต่อต้านซูเปอร์มาร์เก็ตจากประชาชนและร้านค้ารายย่อยนั้น นับวันจะได้รับเสียงตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ
ในบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยกัน เทสโก้มีผลประกอบการโดดเด่นที่สุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน เทสโก้ประกาศว่ากำไรของตนพุ่งทะลุหลัก 2 พันล้านปอนด์แล้ว นับเป็นยอดกำไรสูงสุดของร้านค้าปลีก เท่าที่เคยมีมาในประวัติธุรกิจค้าปลีกของอังกฤษ ปัจจุบันเทสโก้เป็นองค์กรที่จ้างงานมากที่สุดในอังกฤษ มีคนงานทั่วประเทศ 237,000 คน หากเทสโก้เป็นประเทศ ก็จะมีรายได้ประชากร (GDP) เป็นอันดับที่ 71 ของโลก ซึ่งน้อยกว่ารายได้ของกัวเตมาลานิดหน่อยเท่านั้น (จากรายการ Newsnight ของบีบีซี 15 พ.ย.2005)
ความสำเร็จเกินตัวทำให้เทสโก้ถูกต่อต้านจากประชาชนมากขึ้นเป็นเงาตามตัวชุมชนเล็กๆ อย่างเชอริ่งแฮม (Sheringham) ในนอร์โฟล์ค (Norfolk) ซึ่งมีประชากรแค่ 7,000 คนนั้นสามารถต่อสู้ไม่ให้เทสโก้มาเปิดสาขาแถวบ้านตนได้สำเร็จมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ซึ่งเทสโก้เองก็ไม่ย่อท้อ คอยยื่นเรื่องขอประกอบการอยู่ทุกปีเช่นกัน ชาวเชอริ่งแฮมให้เหตุผลว่า การเปิดสาขาของเทสโก้ไม่ได้ทำให้เงินสะพัดในชุมชนแต่อย่างใด เพราะรายได้ทุกบาททุกสตางค์ของเทสโก้จะถูกแปรไปเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหมด ผิดกับร้านค้าเล็กๆ ในชุมชน ซึ่งพอได้เงินมาก็เอาไปใช้จ่ายอุดหนุนร้านอื่นในละแวกเดียวกัน เป็นการหมุนเวียนและกระจายรายได้ในชุมชนมากกว่า นอกจากนี้หากเทสโก้เข้ามาตั้งสาขาเมื่อไร อาคารสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีดับเพลิง หรือ Community Centre ก็จะต้องถูกทุบทิ้งเพื่อเคลียร์พื้นที่ให้เทสโก้สร้างลานจอดรถแทน พื้นที่ส่วนรวมเหล่านี้จะสูญหายไปพร้อมๆ กับการดับของ community spirit ของคนในละแวกนั้น
การต่อสู้ของชาวเชอริ่งแฮมตลอดสิบปีนี้ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเทสโก้งัดกลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ขึ้นมาใช้ เพื่อกดดันให้สภาเทศบาลของเชอริ่งแฮมอนุมัติให้ห้างเปิดสาขาให้ได้ สมาชิกสภาคนหนึ่งเล่าว่า ตัวเขาเองได้รับจดหมายล็อบบี้จากเทสโก้ไม่รู้กี่ฉบับ และทุกครั้งที่สภาเรียกประชุมเพื่อพิจารณาใบสมัครขอประกอบธุรกิจที่เอกชนยื่นเรื่องเข้ามานั้น ทางเทสโก้จะให้ตัวแทนโทรไปล็อบบี้กับสมาชิกสภาแต่ละคนถึงที่บ้านก่อนวันประชุม 1 คืนเสมอ เท่านั้นไม่พอ เทสโก้ยังจัดแคมเปญหาแนวร่วมกับชาวเชอริ่งแฮมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม ล่าลายเซ็นหาผู้สนับสนุน เขียนใบอุทธรณ์ยื่นต่อสภาเทศบาล แถมยังทำการตลาดทางโทรศัพท์กับชาวบ้านอย่างหนักหน่วง กลวิธีของเทสโก้นั้นไม่ต่างจากวิธีที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเลยแม้แต่น้อย ผิดกันตรงที่เทสโก้มีงบหาเสียงมากมายมหาศาล ซึ่งหลายพรรคเทียบไม่ติด
ไม่ใช่แค่ชุมชนเล็กๆ อย่างเชอริ่งแฮมเท่านั้นที่ต่อต้านเทสโก้ ประชาชนในเมืองใหญ่อย่างลิเวอร์พูลก็คัดค้านการขยายพื้นที่ของเทสโก้เช่นกัน เพราะเกรงว่าหากทางห้างปรับปรุงพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้นไปอีกแล้วล่ะก็ ปัญหารถติดและปัญหามลภาวะจะยิ่งแย่ไปกว่าเก่า แต่แม้ว่าสภาท้องถิ่นของลิเวอร์พูลจะไม่อนุมัติแผนขยายธุรกิจของเทสโก้นี้ รัฐบาลกลางของโทนี่ แบลร์ เองกลับอนุมัติไฟเขียวให้ ซึ่งตอนนี้ชาวลิเวอร์พูลบางกลุ่มต่างกำลังดูทีว่าจะอุทธรณ์เรื่องถึงศาลฎีกาดีหรือไม่ (BBC 19 ธ.ค.2005)
เมื่อเปิดร้านขนาดยักษ์ไม่ได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงหันไปเร่งเปิดสาขาเล็กๆ สไตล์ร้าน 7-11 กลางใจเมืองกัน แต่ก็มิวายถูกประชาชนและรัฐกีดกันอย่างหนัก ล่าสุด เมืองบาร์เนท (Barnet) ทางตอนเหนือของลอนดอน ปฏิเสธที่จะให้เทสโก้เปิดร้าน Tesco Express ของตน ในตัวเมือง เพราะเกรงว่าการขายของแบบห้ำหั่นราคาของ Tesco จะทำให้ร้านเล็กๆ ที่อยู่มาก่อนต้องปิดตัวลงเพราะแข่งด้วยไม่ไหว (The Independent 11 ม.ค.2006)
อาจารย์ Ian Clarke แห่งมหาวิทยาลัย Lancaster ได้ทำวิจัยเรื่องทัศนคติของผู้บริโภคต่อซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วสรุปว่า แม้ชาวอังกฤษจะชอบไปจับจ่ายซื้อของกับห้างใหญ่ๆ แต่หลายคนก็เริ่มรู้สึกเบื่อกับความจำเจของห้างเหล่านี้กันแล้ว หลายคนอยากเห็นร้านเล็กๆ กลับมาเปิดกิจการกันเหมือนเดิม (BBC 12 เม.ย.2005) การเปิดสาขาของห้างยักษ์ใหญ่ทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศ ทำให้หน้าตาของเมืองแต่ละเมืองในอังกฤษนั้นเหมือนกันหมด ราวกับไปทำโคลนนิ่งกันมา องค์กร New Economics Foundation จึงเรียกประเทศอังกฤษว่าเป็น Clone Town Britain ไปแล้ว
เอ็นจีโอของอังกฤษหลายแห่งอย่าง Friends of the Earth ต่างรวมตัวกันต่อต้านเทสโก้ โดยสร้างเว็บไซต์ชื่อ www.tescopoly. org ด้วยเหตุผลว่า ยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้และแอสด้า (ซึ่งมี Wal Mart ของอเมริกาเป็นเจ้าของ) นั้น นอกจากจะขายตัดราคาร้านค้าเล็กๆ แล้ว การยัดเยียดขายของลดราคาในปริมาณมาก ยังเป็นการส่งเสริมให้คนอังกฤษอ้วนทางอ้อม เพราะของที่ห้างสามารถลดราคาแล้วยังทำกำไรได้อยู่นั้น มักเป็นอาหารขยะที่ต้นทุนต่ำกำไรสูง เช่น มันฝรั่งทอดและน้ำอัดลม ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำตาลและไขมัน แต่ผักผลไม้สด ซึ่งเป็นอาหารสำคัญนั้น ทางห้างกลับขายแพงกว่าร้านเล็กๆ เสียอีก ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนยืนยันได้ว่าจริง ผักผลไม้สดที่ขายกันในซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษนั้น มีราคาแพงกว่าที่พ่อค้ารายย่อยขายกันในตลาดสดถึง 2-3 เท่าตัว
ซูเปอร์มาร์เก็ตสามารถลดราคากระหน่ำได้ ก็ด้วยการไปกดราคาเอากับซัปพลายเออร์อีกต่อหนึ่ง ผู้ปลูกองุ่นชาวแอฟริกาใต้ที่ส่งองุ่นมาขายในอังกฤษหลายรายถึงกับล้มละลาย เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษใช้วิธีแข่งกันลดราคา เช่น จัดแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 แล้วไปกดราคาเอากับผู้ผลิต โดยจ่ายราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ทำให้ผู้ปลูกองุ่นหลายคนถึงกับต้องขายไร่ทิ้งเพราะแบกหนี้ไม่ไหว (BBC 12 ส.ค.2005) นอกจากนี้รายงานจาก Competition Commission ซึ่งตรวจสอบความประพฤติของซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ เมื่อปี 2000 พบว่า ห้างหลายแห่ง รวมทั้งเทสโก้บังคับให้ซัปพลายเออร์รับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ของห้าง โดยที่ซัปพลายเออร์มักไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่า ทางห้างจะทำการลดกระหน่ำ
อังกฤษกำลังจะเจริญรอยตามอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในวิถีการกิน คนอังกฤษเผชิญปัญหาโรคอ้วนมากที่สุดในยุโรป เพราะส่วนใหญ่หันไปกินอาหารขยะ และซื้ออาหารตุนครั้งละมากๆ ตามห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตแถวชานเมืองอย่างชาวอเมริกัน ผิดกับฝรั่งเศส ที่ถือว่าอาหารไม่ใช่สินค้า แต่เป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับชีวิต
Joanna Blythman ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Shopped : the Shocking Power of British Supermarkets กล่าวว่าสามปีที่ได้ใช้ชีวิตในฝรั่งเศส ทำให้เธอได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของร้านค้าเล็กๆ ในสังคมที่นั่น คนฝรั่งเศสมองการไปซูเปอร์ฯ ซื้อกับข้าวตุนไว้เยอะๆ สัปดาห์ละครั้งของชาวอังกฤษว่า เป็นเรื่องประหลาด ทั้งๆ ที่เมื่อครั้งที่ผู้เขียนอยู่ที่แคนาดานั้น สัปดาห์ละครั้งยังถือว่าถี่ไปด้วยซ้ำ เพราะชาวแคนาดาและอเมริกันชนมักซื้ออาหารกันทีเต็มรถเข็น แถมยังตุนอาหารแช่แข็งไว้กินเป็นเดือนๆ อีกนอกจากตู้เย็นขนาดมหึมาแล้ว หลายบ้านยังมีตู้แช่แข็งต่างหากอีก 1 ใบด้วย (อย่างนี้ไม่ต้องกลัวสงคราม) แต่ชาวฝรั่งเศสจะพิถีพิถันกับการกินมากกว่า เพราะเขาคิดกันว่าอาหารดีๆ นั้นไม่มีวันหากินได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เอาแต่ขายของถูกแต่ไร้ซึ่งคุณภาพ สู้ไปอุดหนุนร้านเล็กๆ ที่ขายอาหารคุณภาพดีของท้องถิ่นไม่ได้ แรงหนุนจากประชาชนจึงทำให้ร้านค้ารายย่อยของฝรั่งเศสยังพออยู่รอดกันได้
เห็นเขาส่งเสริมเพื่อนร่วมชาติด้วยกันแล้วก็ชื่นใจแทน แล้วไทยเราล่ะ จะปล่อยให้วิถีชีวิตของตนตกอยู่ในอุ้งมือของซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ไปเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ
|
|
|
|
|